แซงซ้ายบนขอบทาง..พฤติกรรมมักง่าย อันตราย!
นี่คือเหตุการณ์จริงจากผู้เขียน…วันหนึ่งในช่วงบ่ายที่ร้อนอบอ้าวกลางเดือนกรกฎาคม มีหน้าที่ต้องไปทำข่าวแถวๆ ถนนบางนา-ตราด จึงจำเป็นต้องขึ้นทางด่วนจากงามวงศ์วานไปลงบางนาเพื่อความรวดเร็ว แม้ว่าทางด่วนในกรุงเทพจะไม่ได้ทำให้เดินทางได้ “ด่วน” ตามชื่อ แต่จำเป็นเพราะน่าจะเป็นทางที่เร็วที่สุด แต่แล้วเรื่องมันเกิดขึ้นจากตรงนี้
นึกถึงสภาพพื้นทางบนทางด่วนที่เต็มไปด้วยยนตรกรรมหลากหลายยุคที่ค่อยเคลื่อนตัวอย่างช้าๆ สลับกับหยุดนิ่ง ผู้เขียนขับรถอยู่ในเลนขวา แต่ด้วยจังหวะที่รถคันหน้าขับแช่อยู่ในเลนขวาด้วยความเร็วช้าคงที่ มีพื้นที่ด้านหน้าที่ว่างอยู่ราว 4 คันรถ ผู้เขียนจึงตัดสินใจเปิดไฟเลี้ยวซ้ายเปลี่ยนเลนมาทางซ้ายสุด เพราะเห็นว่าค่อนข้างคล่องตัวกว่า ถึงจะรถติดจนทำความเร็วไม่ได้ แต่ยังดีที่พอไหลไปได้เรื่อยๆ
เมื่อขับไปได้สักพักจู่ๆ มีรถหรูคันงามแซงซ้ายมาอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ไม่ทันได้ระมัดระวังเพราะไม่คิดว่าจะมีใครขับแซงมาจากขอบทางด้านซ้าย ทันใดนั้นรถคันที่ขับตามท้ายกลับแซงซ้ายตามขึ้นมากันเป็นขบวนทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่มีรถคันใดขับแซงซ้ายเลยสักคันเดียว สังเกตเห็นรถคันที่อยู่ข้างหน้าเลี้ยวรถหลบมาทางขวากะทันหันเหมือนกับตกใจและกลัวรถจะเฉี่ยวชนกันขึ้น ผู้เขียนเองจึงขอหลบไปทางขวาเล็กน้อยเพื่อความชัวร์และปลอดภัย จากนั้นรถค่อยๆ ขยับทำความเร็วได้เพิ่มขึ้น แล้วหยุดชะงักสลับกับค่อยๆ ขยับช้าๆ จนเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น! เมื่อถึงจุดที่ทำให้ “ช้า” ก็ต้องร้องอ๋อ เพราะรถคันที่แซงซ้ายขึ้นมานั้นพยายามเบียดกลับเข้ามาในทางอีกครั้ง
ผู้เขียนมีมารยาทพอ จึงใจดีกระพริบไฟเพื่อให้ทางรถคันนั้นเบี่ยงเข้ามาในทาง แต่ในส่วนลึกของสันดานนั้นกลับแช่งชักหักกระดูกอยู่ในใจ เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวแล้ว ยังไม่เคารพสิทธิการใช้ผิวทางร่วมกัน และยังอาจจะเป็นต้นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนกันอีกด้วย
เรื่องแบบนี้อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของการจราจรภายในกรุงเทพมหานครเมืองฟ้าอมรแห่งนี้ แต่แท้จริงแล้ว “นี่คือพฤติกรรมที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ” และที่หนักไปกว่านั้นคือ กลายเป็นต้นแบบให้เกิดการเลียนแบบ เพราะคันหน้าไปได้ รถของฉันก็ต้องไปได้ด้วยเช่นกัน โดยที่สมองคงไม่ฉุดคิดว่า กำลังทำผิดอย่างมหันต์ที่ต้องกล่าวกันแบบนี้และอาจจะฟังดูแรงไปหน่อย แต่หากเทียบกันอันตรายที่เกิดขึ้นนั้นมันยังน้อยเกินไปเสียด้วยซ้ำ
ผิวทางในบ้านเราดูจะสร้างมาไม่ได้เหมาะสมกับการใช้งานของรถทุกประเภทเท่าใดนัก แต่สำหรับทางบนทางด่วน ถือว่าทำได้ค่อนข้างเหมาะสมแล้ว มีการตีเส้นแบ่งทางการจราจรที่ชัดเจน ขอบทางด้านซ้ายมี “เส้นทึบ” ตีเอาไว้ ซึ่งมีพื้นที่มากพอให้รถคันหนึ่งขับผ่านไปได้ โดยปกติแล้วขอบทางด้านซ้ายบนทางด่วนจะถูกเว้นเอาไว้เพื่อให้รถฉุกเฉินขับผ่านและให้รถที่เสียหรือต้องการความช่วยเหลือจอดเปิดไปฉุกเฉินที่ขอบทางด้านซ้าย ไม่ได้เปิดทางที่เปิดเป็น “เลนพิเศษ” ตามใจปรารถนา “ยกเว้นแต่เจ้าพนักงานจราจรใช้อำนาจตามกฎหมายเปิดให้ขอบทางด้านซ้ายเป็นช่องทางจราจรพิเศษในช่วงเวลาเร่งด่วนเท่านั้น” หรือในบางเส้นทางจะมีป้ายกำกับจราจรเอาไว้ชัดเจนว่าสามารถขับรถบนขอบทางด้านซ้ายบนทางด่วนได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งปกติแล้วจะเป็นช่วงเวลา 6.00 – 9.00 น. และ 16.00 – 19.00 น. เป็นต้น ไม่ได้อนุญาตให้ขับเข้ามาตลอด 24 ชั่วโมง แต่พฤติกรรมที่พบเห็นกันอยู่นี้ พูดได้ว่าเป็นการ “ลักไก่” และจะมาอ้างว่า “ไม่รู้กฎหมาย” ไม่ได้เช่นกัน
หากถามถึงความผิด แน่นอนว่าการแซงซ้ายบนขอบทางผิดอยู่แล้ว แต่ในหลายเส้นทางไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยบังคับใช้กฎหมาย จึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้ขับรถไม่ได้ให้ความสนใจและไม่เคยเห็นว่ามีการจับกุม กลายเป็นความเคยชินไปเสียอย่างนั้น แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร..คำตอบง่ายมาก แต่ทำยาก นั่นคือ ผู้ขับรถจำเป็นต้องเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด รู้จักผิด รู้จักถูก อาจจะรู้สึกหงุดหงิดบ้างที่ทางข้างหน้าไปไม่ได้ แต่ขอบทางด้านซ้ายว่างก็อยากขับใช้ทางนั้นไปให้เร็วที่สุด (ผู้เขียนรู้สึกอย่างนั้นเช่นกัน แต่ละอายใจเกินไป แถมยังทำงานข่าวสายรถยนต์และเป็นถึงกรรมการบริหารสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย ไม่อยากทำผิดให้เสียสถาบัน) เรื่องนี้ต้องถามใจตัวเองดูแล้ว ว่าจะเลือกทำแบบไหน “อยากเสี่ยงหรืออยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกหลาน”
หากจะโต้แย้งว่ากฎหมายจราจรปัจจุบันมันเก่ามันล้าหลัง ขอให้ดูตัวอย่างตามภาพนี้
นี่เป็นภาพที่ประเทศเวียดนาม (ขับชิดขวา) เห็นเส้นทึบแบ่งขอบทางด้านขวาหรือไม่ เห็นรถจักรยานยนต์ที่ขับอยู่บนทางนั้นแล้วรู้สึกอยากขับไปบนทางนั้นแล้วขับรูดขวายาวๆ หรือเปล่า….หากคิดอย่างนั้น คุณจะโดนปรับหลักหมื่นบาททันที เพราะขอบทางด้านขวาเป็นทางสำหรับรถจักรยานยนต์และรถฉุกเฉินเท่านั้น อีกทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยสอดส่องอยู่ห่างๆ รวมทั้งมีกล้องจับภาพความละเอียดสูงเป็นพยานชั้นเลิศอีกต่างหาก ซึ่งที่เวียดนามมีกฎหมายจราจรที่คล้ายกับเมืองไทย แต่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ขอบทางด้านขวา (ในเวียดนาม) รถยนต์ “ห้าม” ใช้ทางนั้น นอกจากฉุกเฉิน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคนต้องสวมหมวกกันน็อค และขับชิดขอบทางด้านขวาเท่านั้น รวมทั้งมีการจำกัดความเร็วชัดเจน ในตัวเมืองไม่เกิน 60 กม./ชม. นอกเมืองไม่เกิน 90 กม./ชม. เท่านั้น แต่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่ากฎหมายเป็นเรื่องน่ารำคาญ กลับทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นได้น้อยลงสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนเมืองไทย
ขอฝากเรื่องนี้เอาไว้เป็นแง่คิด หากมีความคิด มีสติ และมีความรับผิดชอบ กรุณาหยุดพฤติกรรมแซงซ้ายบนขอบทาง เพราะวันหนึ่งอาจมีรถฉุกเฉินที่ใช้ขอบทางด้านซ้ายที่มีคนที่คุณรักอยู่ในนั้น และกำลังรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาล แต่กลับมาติดขัดที่รถหลายคันเข้ามาร่วมใช้ทางที่ไม่ควรจะใช้..ขอฝากเอาไว้ไตร่ตรองดูนะครับ
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th