แป๊บเดียวเฟื่อง เรื่อง “โช้คอัพ” เรียนรู้ เลือกได้ ใช้เป็น
สำหรับแฟนๆ ที่นิยมชมชอบการตกแต่งรถยนต์ สิ่งที่ทุกคนอยากจะเปลี่ยนหลังจากไปโดนล้อมาสักชุด ก็คือ “โช้คอัพ” หรือ Shock – Absorber เพื่อจะลดความสูง หรือ โหลด ลงให้สวยงามหน่อย และ หวังผลเรื่องการเกาะถนนที่เหนือกว่าของเดิม โช้คอัพมันก็มีหลายแบบ เช่น น้ำมัน, น้ำมันกึ่งแก๊ส, กึ่งแก๊สกึ่งน้ำมัน, แก๊สแรงดันต่ำ, สตรัทปรับเกลียว ฯลฯ จนไปถึงโช้คอัพเทพๆ แบบ Mono Tube, Twin Tube ไปยันแบบ “ซับแทงค์” อันนั้นจะเหลาเป็นขั้นต่อไป คราวนี้ เรียนรู้เรื่องพื้นฐานโช้คอัพกันก่อนครับ…
หน้าที่ของโช้คอัพ : ตามชื่อเลย “Shock – Absorber” เขียนอย่างนี้ จริงๆ อ่านว่า “ช็อค – แอบซอร์บเบอร์” ไม่ใช่ Choke – Up อะไรทั้งนั้น แต่คนไทยก็จะเรียก โช้คอัพๆ หรือ “โช้คๆ” ก็ว่ากันไป แปลว่า “อุปกรณ์ซับแรงกระแทก” หน้าที่ของมัน คือ “หน่วงและหยุดการเต้นของสปริงและช่วงล่างให้เร็วที่สุด” เมื่อช่วงล่างทำงาน สปริงยืดยุบ โช้คอัพด้านใน จะมี “ชุดวาล์วและน้ำมัน” สร้างความหนืด มันจะคอยซับแรงกระแทก ถ้าไม่มีโช้คอัพ หรือ โช้คอัพเสีย สะเทือนทีรถก็จะเด้งๆๆๆๆๆๆๆ ไปอีกสามชาติ เวลาขับก็จะโคลงเคลงเหมือนเรือ แต่ถ้าโช้คอัพที่มีประสิทธิภาพ รถจะมีการเกาะถนนที่ดี นุ่มนวล มั่นใจ นี่คือหน้าที่ของมัน แต่จะดีแค่ไหนนั้น ก็อยู่ที่เกรดของโช้คอัพ และ เกรดของรถยนต์คันนั้นๆ ด้วยครับ…
โช้คอัพน้ำมัน : ปกติแล้ว โช้คอัพทุกชนิด จะต้องมี “น้ำมัน” ที่มี “ความหนืด” (Viscosity) บรรจุอยู่ด้านในเป็นสารตั้งต้นอยู่แล้ว โช้คอัพแบบนี้ จะมี “น้ำมันล้วน” อยู่ด้านใน เป็นโช้คอัพแบบพื้นฐานสำหรับรถบ้านขับใช้งานทั่วไป ที่เน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก และ ราคาไม่แพง ข้อเสีย คือ เมื่อขับยาวๆ เจอถนนไม่เรียบ โช้คอัพทำงานหนักต่อเนื่องนานๆ น้ำมันจะเกิดความร้อนสูง ทำให้ “โช้คอัพสูญเสียความหนืด” หรือ “เฟด” (Fade) รถก็จะย้วยๆ โยนๆ เด้งๆ โคลงๆ เกาะถนนด้อยลง เรียกพวกมาครบเลย แต่สมัยนี้อาการไม่ค่อยมากเหมือนรุ่นเก่าๆ เพราะน้ำมันมีคุณภาพสูงขึ้น ทนต่อความร้อนได้สูงขึ้น รักษาความหนืดได้เสถียรกว่า จริงๆ แล้ว โช้คอัพน้ำมันล้วนแบบดีๆ เลยก็มีนะครับ แต่ราคาจะสูง เพราะต้องใช้น้ำมันเกรดสูงจริงๆ ถึงจะไม่เฟดที่ความร้อนสูง คนไทยเลยไม่นิยมกันเท่าไร…
โช้คอัพแก๊ส : จากข้อเสียของโช้คอัพแบบน้ำมัน ก็เลยจัดการ “อัดแก๊สไนโตรเจน” เสริมเข้าไป โดยที่น้ำมันยังมีอยู่นะครับ !!! แก๊สไนโตรเจน ซึ่งมีคุณสมบัติ คือ “โมเลกุลใหญ่ เกิดฟองได้ยาก” มีความเสถียรมากกว่า ด้านในก็จะมีลูกสูบเคลื่อนที่อิสระ (Floating Piston) กั้นห้องแก๊สกับน้ำมัน อธิบายง่ายๆ ก็คือ แก๊สจะมีแรงดัน คอยดันให้โช้คอัพ “ยืดกลับ” (Rebound) เร็วขึ้น เพื่อ “กดล้อให้ติดถนนมากที่สุด” เพิ่มการเกาะถนนให้มัน “กระชับ” หรือ “เฟิร์ม” คนที่ขับรถเร็ว จะนิยมใช้โช้คอัพแก๊ส แต่ข้อเสียก็คือ “มีความแข็งกระด้างกว่าน้ำมัน” มันจะออก “ปึ้กปั้ก” กว่า ต้องทำใจ แต่ตอนนี้โช้คอัพแก๊สก็พัฒนาเรื่องวาล์วด้านในไปเยอะแล้ว ความแข็งกระด้างยังน้อยลง ก็ขึ้นอยู่กับเกรดของ และ การติดตั้ง เป็นสำคัญ เพราะถ้า “ผิดสโตรก” จะกลายเป็นเกวียนทันที…
โช้คอัพแก๊สกึ่งน้ำมัน, แก๊สแรงดันต่ำ, แก๊สแรงดันสูง : อันนี้ความคิดผมนะ เหมือนเป็น “คำโฆษณา” มากกว่า ไอ้แก๊สกึ่งน้ำมัน มันก็ “เรื่องปกติ” อยู่แล้วครับ อย่างที่บอกมาตะกี้นั่นแหละ ส่วน “แก๊สแรงดันต่ำ” ไม่มีอะไรครับ ก็อัดแก๊สด้วยแรงดันต่ำ ลดความแข็งกระด้าง เน้นใช้งานทั่วไปอยู่ แต่เหนือกว่าน้ำมันล้วนหน่อยๆ ส่วน “แก๊สแรงดันสูง” อันนี้ก็จะอัดแก๊สแน่นขึ้น เอาไว้ “แรด” ขับเร็ว ก็มีความแข็งกระด้างเพิ่มขึ้น ประมาณนี้แหละครับ…
การอัดโช้ค : มันเป็นการปรับแต่งโดยการเอาของเดิมมาทำ ทางร้านก็จะ “เปลี่ยนเบอร์น้ำมันให้หนืดขึ้น” และ “อัดแก๊สแรงดันสูงขึ้น” สำหรับคนงบน้อย จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่ได้ต่อต้าน เพียงแต่ “ช่างที่ทำจะต้องมีความรู้อย่างถ่องแท้ มีอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ” ที่สำคัญ “ควรมีแท่นทดสอบโช้คอัพ” (Dyno Test) เพื่อดูการทำงานที่ได้มาตรฐาน ไม่ใช่ “การคาดเดา” หรือ “เอาแค่รู้สึก” ทำมา 4 อัน ไม่เท่ากันเลย แบบนี้ก็ “บรรลัยเกิด” ละครับ…
เรื่องของ “โช้คอัพ” นี้ เอาจริงๆ รายละเอียดมันเยอะมากๆ บางที “ยึดติดไม่ได้” บางอันสังคมบอกว่าไม่เจ๋ง แต่พอใส่กับรถคันนี้ คนขับคนนี้ กลับแฮปปี้ บางอันว่าเจ๋งนักหนา แต่เราอาจจะไม่ชอบมันเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น “อย่าเลือกเพราะเขาว่า” ให้ “พิจารณาตัวเองว่าชอบแบบไหน” และทำใจว่า “ไม่มีอะไรได้ทุกอย่าง” ครั้งหน้า เราจะมาเรียนรู้กับโช้คอัพระดับ Advance ที่เป็นของโมดิฟายเกรด
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th