โตโยต้า ยังไม่สนรถยนต์ไฟฟ้า ลั่นไทยไม่พร้อม ทุ่ม 2 หมื่นล้าน มุ่งผู้นำตลาดรถไฮบริด
โตโยต้าแถลงยอดขายรถยนต์ในปี 2560 ทำให้รู้ว่าโตโยต้าในปีที่แล้ว ยอดหดหายไป 2% ซึ่งทางโตโยต้าก็ยอมรับกับการทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะเปิดตัวรถใหม่ออกมาช่วยกระตุ้นในช่วงปลายปีก็ตาม แต่อย่างรก็ตามโตโยต้าก็ไม่ยอมแพ้ พร้อมคาดการณ์ว่าปีนี้ตลาดรวมต้องไปแตะที่ 900,000 คัน โดยในปี2561 นี้ ทางโตโยต้าจึงประกาศตั้งเป้าหมายปีนี้ไว้ที่ 300,000 คัน และเปิดเผยแผนการลงทุน โดยทุ่มทุนกว่า 20,000 ล้านบาท กับโครงการรถยนต์ไฮบริด
โตโยต้า คือหนึ่งในค่ายรถยนต์ที่ทำการยื่นขอการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดในประเทศไทยไปตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ บีโอไอ อนุมัติแผนการส่งเสริมการขยายกิจการให้กับ โตโยต้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles – HEV) เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของรายละเอียดที่เคยมีการเปิดเผยออกมาตั้งแต่ปีก่อนพบว่า โตโยต้าจะมีกำลังผลิตปีละ 70,000 คันต่อปี, การผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ปีละประมาณ 70,000 ชิ้น และชิ้นส่วนยานพาหนะปีละประมาณ 9,100,000 ชิ้น เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,016 ล้านบาท โดยโครงการจะมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศคิดเป็นมูลค่าประมาณ 13,314 ล้านบาทต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเกตเวยซ์ซิตี้ จังหวัดฉะเชิงเทรา
การตั้งเป้ายอดขายรถยนต์ 3 แสนคันในปีนี้ของโตโยต้า จึงเป็นการประกาศทวงคืนในทุกตำแหน่งที่เคยครอบครอง โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนทุกด้าน ตั้งแต่พัฒนาโปรดักต์ใหม่ให้ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ไปจนถึงการเตรียมผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทยเพื่อรองรับตลาดกลุ่มรถไฮบริด และรถไฟฟ้าในอนาคต
โตโยต้า ค่อนข้างจะมีความชัดเจนเรื่องไฮบริดเป็นอย่างมาก และดูยังไม่มองไปไกลถึงรถไฟฟ้ามากนัก เพราะโตโยต้ามองว่าการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังติดปัญหาเรื่องแบตเตอรี่ จึงต้องมีกลุ่มรถไฮบริดเป็นสะพานเชื่อมอย่างน้อย 10 ปี เนื่องจากรถอีวียังมีปัญหาหลายจุด โดยเฉพาะสถานีชาร์จไฟ ตลาดน่าจะเป็นของรถยนต์ไฮบริด 80% และจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในระยะเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในส่วนของแบตเตอรี่ที่บีโอไอกำหนดว่าต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตในประเทศปี 2563 นั้น ทางบริษัทคาดว่าจะทำได้เร็วขึ้นเป็นปี 2562 ส่วน ณ เวลานี้ ยังคงนำเข้าแบตเตอรี่จากต่างประเทศ
นาย นินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า จะให้ค่ายรถยนต์ทำอย่างเดียวคงไม่ได้ ทุกคนต้องช่วยกัน แต่เมื่อมองแค่รถยนต์ไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Electric Vehicle) มันจะให้เกิดเร็วๆ คงยาก เพราะเรื่องการจูงใจการนำไฟฟ้ามาใช้ก็ไม่มี, ขายต่อราคาก็ต่ำ, แถมแบตเตอรี่ตอนนี้วิ่งได้สั้น แถมต้นทุนสูง ที่สำคัญสิทธิประโยชน์ให้คนทำสถานีชาร์จก็น้อย ดังนั้นรถยนต์ที่อาศัยไฟฟ้าภายนอกทั้ง PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และ BEV ต่างเติบโตได้ยาก เพราะอิงกับระยะทางวิ่ง, ระยะเวลาการชาร์จไฟ และราคาที่สูง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าประเภท HEV (Hybrid Electric Vehicle) ที่อาศัยเครื่องยนต์สันดาปเป็นหลัก และมีต้นทุนแบตเตอรี่ต่ำ ยังคุ้มค่าในการลงทุน และซื้อขายมากกว่า
ขณะเดียวกัน Toyota ยังมองรถยนต์ไฟฟ้ากลุ่ม FCEV (Fuel Cell Electric Vehicle) ผ่านการใช้ Hydrogen เป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน เพราะถือเป็นพลังงานสะอาด และเหมาะสมในแง่ต้นทุน รวมถึงน้ำหนักของตัวระบบขับเคลื่อนทั้งหมดเบากว่า BEV ที่มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้ไปได้ไกลกว่าเช่นกัน ส่วน EV น่าจะเหมาะกับรถคันเล็กมากๆ เช่นรถนั่งคนเดียว และถ้าขยับขึ้นมาที่รถยนต์นั่ง HEV, PHEV และ FCEV จะเหมาะสมกว่า เพราะสามารถจุแบตเตอรี่ที่เพียงพอต่อการใช้งาน และไม่ถ่วงน้ำหนักมา ส่วนถ้าเป็นรถยนต์ขนาดใหญ่ การเลือก FCEV คือทางออกที่ดีที่สุด เพราะช่วยลดน้ำหนักในการบรรทุก และวิ่งได้ในระยะที่ไกลกว่า
ทั้งนี้ Toyota ประเทศไทยมีการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในเชิงพาณิชย์แล้ว ภายใต้ชื่อ Ha:mo โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก เดินทางได้คนเดียว และให้บริการแค่ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในช่วงแรก ก่อนจะขยายไปที่อื่นๆ เช่นในพื้นที่สยามสแควร์ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสม
สุดท้าย การทุ่มงบประมาณ กว่า 20,000 ล้านบาทกับโครงการรถยนต์ไฮบริด เป็นจำนวนเงินมหาศาลที่คงไม่ใช่การลงทุนเพื่อผลิตรถเพียงรุ่นเดียวเป็นแน่ อนาคตเราคนไทยจึงน่าจะได้เห็นไฮบริดรุ่นใหม่ ๆจากโตโยต้ามากยิ่งขึ้น
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ข้อมูลบางส่วน :brandinside.asia
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th