โอนรถอย่างไร ไม่ให้เป็น “จำเลย” !!!
เรื่องของการ “ซื้อขายรถยนต์” โดยเฉพาะ “รถมือสอง” ทั้งหลาย ที่จะต้องมีการ “โอนกรรมสิทธิ์” มาเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ ซึ่งขั้นตอนการโอน จะต้องมีความ “รัดกุม” ที่สุด เพราะเราไม่สามารถทราบถึง “ประวัติโดยแท้จริง” ของผู้ขาย (กรณีเราซื้อ) หรือ ผู้ซื้อ (กรณีเราขาย) โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือแม้แต่จะรู้จักกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “ปลอดภัย” เราก็ไม่ทราบอีก จะมี “หมกเม็ด” อะไรมาหรือไม่ ถ้ารู้ไม่ทันก็กลายเป็น “เหยื่อ” เสียเอง และบางทีมันอาจจะทำให้เกิด “คดีความ” ตามมาด้วย ควรรู้อย่างยิ่ง ไม่ว่ามือใหม่หรือมือเก่า พลาดมาก็เสียหายทั้งนั้นแหละครับ…
- เช็คเอกสารให้ครบถ้วน “เท่านั้น” : การซื้อขาย จะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตัวรถ “ตัวจริง” มาแสดงให้เราดู หลักๆ ก็ “เล่มทะเบียนรถ” เน้น “เล่มจริงเท่านั้น” !!! ประเภทจะขายรถแล้วเอา “สำเนา” ถ่ายเอกสารมาให้ดูเฉยๆ ไม่มีเล่มจริงมาด้วย อ้างนู่นอ้างนี่ เล่มอยู่กับญาติโยมคนนั้นคนนี้ ซื้อแล้วจะรีบเอามาให้ทีหลัง “โปรดอย่าฟัง” เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เจอแบบนี้รีบปล่อยผ่านไปเลย, เอกสารบริษัทประกัน, เอกสารใบเสร็จ พรบ., เอกสารของไฟแนนซ์ ฯลฯ ต้องมีความชัดเจนทั้งหมด และต้อง “จบที่หน้างาน” ไม่มีการหลังไมค์ อย่าใจดีหลงเชื่อคำกล่าวอ้างต่างๆ ถ้าคนขายบริสุทธิ์ใจจริง จะต้อง “มีเอกสารตัวจริงพร้อมและถูกต้อง” เท่านั้น…
- อย่า “โอนลอย” : กรณีการ “โอนลอย” นี้ จะเป็นเรื่องของ “ผู้ขาย” หมายถึงการเซ็นเอกสารมอบอำนาจและกรรมสิทธิ์ไว้ แล้วให้ “ผู้ซื้อ” ไปดำเนินเรื่องการโอนเอาเอง เกิดจากความ “ไม่สะดวก” หรือ “ขี้เกียจ” ที่จะไปขนส่งของผู้ขาย แบบนี้ “มีความเสี่ยง” เพราะถ้าผู้ซื้อไม่ไปโอน มันก็ยังเป็นชื่อเรา หากผู้ซื้อขับรถคันนี้ไปทำอะไรที่ “ผิด” เช่น ขับรถชนแล้วหนี เมื่อคนจำทะเบียนได้ไปแจ้งความ มันจะมาถึงเราที่เป็นผู้ครอบครอง เรื่องมันวุ่นครับ และวุ่นหนักกว่านั้น เอารถไปทำสิ่งผิดกฏหมายร้ายแรง เช่น ขนยาเสพย์ติด เกิดมันทิ้งรถหนี เจอสืบมาหาเราก็ซวย ส่วนของ “ผู้ซื้อ” ที่ผู้ขายโอนลอยมาให้ ก็อย่าเชื่อใจ เพราะเราไม่ทราบว่า “เอกสารถูกต้องจริงทั้งหมดหรือไม่” เดี๋ยวนี้มันมีขั้นตอนการโกงเยอะแยะและแนบเนียน (ไว้ค่อยมาเหลาในตอนต่อไป) เพราะฉะนั้น ไม่แนะนำเรื่องการโอนลอย เว้นแต่จะเป็นคนที่เราสนิทใจด้วยจริงๆ แต่ให้จำไว้ว่า “รู้หน้าไม่รู้ใจ” คนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่าใจดีในเรื่องที่มีความเสี่ยงครับ…
- “โอนที่ขนส่ง” และ “ทำเอกสารซื้อขาย” ชัวร์สุด : คำตอบสุดท้าย ถ้าจะแน่นอนที่สุด ก็ “โอนที่ขนส่ง” ยอมเสียเวลาหน่อย แต่ทุกสิ่งอย่าง “สามารถตรวจสอบได้” ต่อหน้าเจ้าหน้าที่รับเรื่อง อันนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย ถ้าคุณจะซื้อรถคันนั้นจริงๆ ก็บอกคนขายไปเลยว่า “โอนขนส่งนะครับ” บางทีคนขายก็บอกคนซื้อเองเพราะก็กลัวเหมือนกัน แต่ถ้าบอกแล้วเจอออกลูก “ยึกยัก” ไม่ไป อ้างนู่นนั่นนี่ ก็อย่างที่บอก “อย่าไปสนใจมัน” รีบปล่อยผ่านแล้วหาคันอื่นดีกว่าครับ อย่าอยากได้จนหน้ามืดตามัว เดี๋ยวคดีจะมาหาแล้วจะหาว่าไม่เตือน…
เรื่อง: อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th