โอ้โห! ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV สิ้นเปลืองเฉลี่ย 26.3 กม./ลิตร!!
แทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะจากที่ทดสอบรถมาหลายรุ่นหลายเทคโนโลยี ยังไงมาตรฐานการขับของตัวเองจะรู้ดีว่าถ้าขับแบบนี้จะทำให้รถมีอัตราสิ้นเปลืองอยู่ในช่วงไหน แต่สำหรับ ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV รุ่นนี้ ทำให้ยอมรับเลยว่านอกจากจะเป็นรถในกลุ่มบีเซกเม้นต์ เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร เป็นรถซิตี้คาร์ Full Hybrid ที่มีราคาถูกที่สุดในตลาดจะทำอัตราสิ้นเปลืองได้ถึง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร ด้วยการขับใช้งานจริง ไม่ปั้นตัวเลข ซึ่งบางคันทำตัวเลขได้แย่ที่สุดยังทำได้ถึง 21 กิโลเมตรต่อลิตร…งานนี้มีใครประหยัดกว่านี้อีกมั้ย!
เรื่องของรูปลักษณ์และการตกแต่งภายในขอข้ามไปเลยแล้วกัน จะได้เข้าประเด็นกันตรงๆ ว่าทำไมมันถึงประหยัดได้ขนาดนี้ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV มีอัตราสิ้นเปลืองได้แจ่มขนาดนี้ มาจากความฉลาดของระบบล้วนๆ เพราะขนาดลองขับแบบไม่ค่อยฉลาดอย่างผู้ทดสอบด้วยแล้ว คิดว่ายังไงก็ต้องได้ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นแน่แท้ ซึ่งระบบขับเคลื่อนที่ฮอนด้าใช้ชื่อว่า Sport Hybrid Intelligent Multi-Mode Drive หรือ i-MMD เข้ามารับหน้าที่จัดการในทุกเรื่อง ทำให้การใช้พลังงานเกิดความคุ้มค่าและขับสนุกนั่นเอง
โดยระบบ i-MMD ที่ว่านี้จะผสานการทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว (Traction Motor และ Motor Drive) เข้ากับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร Atkinson-Cycle DOHC i-VTED 4 สูบ 16 วาล์ว ที่ส่งพละกำลังผ่านเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้าแบบ E-CVT และแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ที่มีขนาดเล็กแค่ 1 kWh (48 เซลล์ 4 โมดูล) สร้างพละกำลังด้วยเครื่องยนต์ได้ 98 แรงม้า ที่ 5,600-6,400 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 127 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500-5,000 รอบต่อนาที และพละกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าได้ 109 แรงม้า ที่ 3,500-8,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 253 นิวตัน-เมตร ตั้งแต่ 0-3,000 รอบต่อนาที ถือว่าเป็นตัวเลขแรงบิดที่สูงมากหากเทียบกับพิกัดตัวถัง ซึ่งมีตัวเลขจากโรงงานที่เคลมความประหยัดเอาไว้ 27.8 กิโลเมตรต่อลิตร แต่ตัวเลขที่ทำได้จริงค่อนข้างมีความใกล้เคียงกันมาก แถมรักษ์โลกด้วยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 85 กรัมต่อกิโลเมตร เท่านั้น
ในเส้นทางทดลองขับเริ่มต้นจากทอสคาน่า เขาใหญ่ มาที่ศูนย์ฝึกอบรมฮอนด้า นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ขับแบบไม่ได้เน้นการประหยัด ไม่ได้ต้องการปั้นตัวเลข ดูตัวเลขเฉลี่ยจากกลุ่มแรกทะลุ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันทุกคัน เลยคิดว่าจะพยายามขับให้สิ้นเปลืองที่สุด ใช้คันเร่งและเบรกแบบที่ไม่ต้องการให้ประหยัด แต่ผลที่ได้กลับออกมาตรงกันข้าม ซึ่งเส้นทางในช่วง 100 กิโลเมตรแรกส่วนใหญ่เส้นทางเป็นเนินสลับกับทางราบ เมื่อสังเกตที่หน้าจอแสดงผลการจ่ายไฟและชาร์จไฟของระบบไฮบริดจะเห็นว่ามันมีการสลับการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์และแบตเตอรี่ได้รวดเร็ว แถมยังไม่รู้ตัวอีกว่าตอนนี้รถกำลังใช้น้ำมันหรือใช้แบตเตอรี่หากไม่ดูที่หน้าจอแสดงผล (รถคันนี้ไม่มีปุ่ม EV ด้วยนะ)
แต่ด้วยความอยากรู้ว่าแบตเตอรี่ที่แสดงผลอยู่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน การทดลองจึงเกิดขึ้น บนพื้นฐานของคำตอบจากวิศวกรญี่ปุ่นที่บอกว่ามันสรุปตัวเลขได้ยากว่าทำความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน เพราะระบบจะทำการปรับให้ตามการขับของแต่ละคน ซึ่งผลที่ได้มันผันแปรแบบที่วิศวกรญี่ปุ่นให้คำตอบเอาไว้จริงๆ
เริ่มจากช่วงที่แบตเตอรี่มีเปอร์เซ็นต์อยู่ราวๆ 40% คลึงแป้นคันเร่งแบบค่อยๆ ไล่ความเร็วทำความเร็วได้ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วจึงตัดเป็นการทำงานของเครื่องยนต์ แต่พอเป็นช่วงเนินลงเขาทำความเร็วได้ถึง 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างขับไปมีการชาร์จไฟกลับเข้ามาในแบตเตอรี่ตามเงื่อนไข จากการเบรก การถอนคันเร่ง รวมทั้งการกดแป้น Paddle ด้านซ้าย เพื่อให้มีระดับการชาร์จไฟที่มากขึ้น (แป้น Paddle Shift ที่ติดตั้งมาไม่ได้ใช้กับการเปลี่ยนเกียร์ แต่เป็นการปรับเพื่อเพิ่มหรือลดระดับของการชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่) เมื่อแบตเตอรี่เกือบเต็มสามารถทำความเร็วได้สูงถึง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งขับไปได้ระยะหนึ่ง แบตเตอรี่เริ่มลดลง เครื่องยนต์จะเข้ามาทำงานอย่างต่อเนื่องและราบเรียบทันที นั่นเท่ากับว่าถ้าเราไม่ได้มองดูหน้าจอแสดงผลการจ่ายไฟและชาร์จไฟของระบบไฮบริด จะไม่รู้เลยว่ารถกำลังใช้พลังงานจากเครื่องยนต์หรือแบตเตอรี่ แต่ที่สังเกตดูจะเห็นว่ามันสามารถชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่ได้เร็วมาก
โดยการชาร์จไฟกลับเข้ามาสู่แบตเตอรี่ หากขับในเกียร์ D เมื่อถอนคันเร่งหรือเบรก และดูที่เข็มมาตรวัดการชาร์จที่ด้านซ้ายล่างที่เป็นแถบสีเขียว จะเห็นว่าเข็มจะกวาดลงมาราวๆ 20% และเมื่อกดแป้น Paddle ด้านซ้ายที่เป็นเครื่องหมายลบ (-) ที่ปรับได้ 3 ระดับ เข็มจะกวาดลงมา 30-50% แล้วลองเปลี่ยนเป็นเกียร์ B และทำแบบเดียวกัน หากถอนคันเร่งหรือเบรก เข็มจะกวาดลงมา 50% แล้วกดแป้น Paddle เข็มจะกวาดลงมา 70-90% เลยทีเดียว ซึ่งหากเป็นช่วงลงเนิน เข็มจะกวาดลงมาจนสุด นั่นเป็นการบอกว่าถ้าต้องการชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ให้ได้มากที่สุด ต้องใช้เกียร์ B พร้อมกับ Paddle – ลองคิดดูเล่นๆ ว่า หากขับลงเขาอย่างขับลงจากดอยอินทนนท์ลงมาพื้นราบ แทบจะไม่ได้ใช้น้ำมันเลยทีเดียว
แป้น Paddle ที่ไม่ได้มีไว้เปลี่ยนเกียร์ แต่มีไว้สำหรับปรับระดับการชาร์จไฟเข้าสู่แบตเตอรี่
นั่นทำให้ในช่วงแรกที่ขับลงมาจากเส้นเขาใหญ่เลี้ยวซ้ายมาทางหลวงชนบท 1016 มาออกทางร้านอาหารแดลี่ควีน ถนนมิตรภาพ เส้นทางช่วงนี้เป็นทางเนินสลับอยู่เกือบตลอดเส้นทาง จึงสามารถชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ได้อย่างต่อเนื่อง ใช้จังหวะเร่งแซงอยู่บ่อยครั้ง โดยรวมยังถือว่าขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์มากกว่าพลังงานจากแบตเตอรี่ ทำให้สรุปครึ่งทางแรกทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้ 22 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจมากแล้ว
แต่เมื่อขับต่อในเส้นทางครึ่งที่เหลือที่ส่วนใหญ่เป็นทางราบ และขับมาทางด่วนบางประอินเข้ารามอินทรา เป็นเส้นทางตรงยาว เลยตั้งใจลองใช้เทคโนโลยีความปลอดภัย ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda Sensing) ที่ติดตั้งมาให้เป็นประโยชน์ ซึ่งระบบนี้เป็นระบบความปลอดภัยขั้นสูงที่นำมาติดตั้งเป็นครั้งแรกในกลุ่มรถซิตี้คาร์ ซึ่งด้วยการทำงานของกล้องมุมมองกว้างด้านหน้าที่ช่วยตรวจจับวัตถุบนท้องถนน ช่วยแจ้งเตือนผู้ขับขี่และช่วยควบคุมในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่มีทั้งระบบช่วยเบรก, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน, ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ, ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ และระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ ทำให้การขับเส้นทางยาวๆ แบบนี้ปลอดภัยมากขึ้น
ว่าแล้วก็ปล่อยให้ระบบทำงาน เปิดตั้งความเร็วอัตโนมัติที่ 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วดูจอแสดงผลการชาร์จไฟอยู่เรื่อยๆ จะเห็นว่าระบบจะปรับการใช้พลังงานโดยคนขับไม่รู้ตัวเลยว่าตอนนี้ใช้อะไรอยู่ นอกจากจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ที่ดังเข้ามา (เสียงเครื่องยนต์ดังเบามาก นอกจากกดคันเร่งแซงใช้รอบเครื่องแบบเต็มที่ถึงจะได้ยินเสียงเครื่องยนต์ที่ดังแบบแน่นๆ ให้อารมณ์เร้าใจดีมาก) หลังจากปลดครูสคอนโทรลกลับมาขับควบคุมตามปกติ จนมาถึงศูนย์ฝึกอบรมฮอนด้าที่บางชัน กดเปิดดูตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองถึงกับอึ้งไปเลย เพราะตัวเลขแสดงผลอยู่ที่ 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างเชื่อถือได้ เนื่องจากการแสดงผลตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองของรถในสมัยใหม่นี้ค่อนข้างแม่นยำกว่าในอดีตมาก อย่างมากผิดเพี้ยนไม่น่าเกิน 2 กิโลเมตรต่อลิตร ตัวเลขก็ยังคงอยู่ระดับ 24 กิโลเมตรต่อลิตร อยู่ดี…เอาเป็นว่าขับจากเขาใหญ่มากรุงเทพระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไปแค่ 1 ขีดเท่านั้นเอง มีใครให้ประหยัดกว่านี้อีกมั้ยในกลุ่มนี้
ผลที่ได้ตามภาพนี่ล่ะ แต่ระยะกิโลเมตรมีการแบ่งครึ่งเส้นทางเอาไว้ ระยะ 94.6 กม.นี้ เริ่มจาก ปตท.สามชาย สระบุรี มาถึง ศูนย์ฝึกอบรมฮอนด้าที่บางชัน แต่ก่อนหน้านั้นอีก 100 กม. ทำได้ที่ 22 กม./ลิตร
สรุปในภาพรวม ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV หน้าตาเฉียบคมตามสไตล์ซิตี้ ห้องโดยสารกว้างขวางนั่งสบายทั้งตอนหน้าและหลัง พวงมาลัยมีอัตราทดรอบที่แม่นยำ ไม่หนัก ช่วงล่างนุ่มนวล การเก็บเสียงภายในห้องโดยสารทำได้ดีกว่าซิตี้รุ่นปกติ ติดตั้ง ฮอนด้า เซนส์ซิ่ง (Honda Sensing) เหมือนกับที่อยู่ใน ฮอนด้า แอคคอร์ด เพียงแต่ตัดบางฟังก์ชั่นออกไปเท่านั้น การส่งพละกำลังต่อเนื่องขับสนุก ให้ความมั่นใจในจังหวะการเร่งแซง อัตราเร่งจัดจ้าน เสริมด้วยเสียงเครื่องยนต์ในจังหวะเร่งแซงที่ดังแน่นๆ ให้อารมณ์ความสนุกแบบเต็มที่ และที่สำคัญที่สุด มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยที่ดีที่สุดในกลุ่มทำได้ถึง 26.3 กิโลเมตรต่อลิตร จากการทดลองขับใช้งานจริง จะมีจุดติอยู่บ้างคือ ระบบความบันเทิงยังรองรับแค่ Apple Car Play ยังไม่รองรับ Android Auto และไม่มีปุ่ม EV เอาไว้กดเพื่อใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ล้วนๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ ฮอนด้า ซิตี้ e:HEV RS ราคาค่าตัว 839,000 บาท ยังเป็นราคาของรถไฮบริดในกลุ่มซิตี้คาร์ที่น่าสนใจที่สุดในตอนนี้อีกด้วย..พูดเลยว่างานนี้ฮอนด้าทำการบ้านมาดีมาก แทบจะไม่มีที่ติเลยในด้านของการขับสนุก ความปลอดภัย และความประหยัดจนต้องร้องว้าวกันเลยทีเดียว
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th