ไฟตัดหมอก ควรมีลักษณะใด ใช้เมื่อใด
หนึ่งในอุปกรณเกี่ยวกับแสงสว่างที่ผู้ผลิตรถยนต์มักมีมาให้ในเกรดสูงของรถยนต์คือ ไฟตัดหมอก หรือบางทีหากรถที่ซื้อไม่มีไฟตัดหมอกมาให้ผู้ซื้อรถก็อาจจะไปติดเพิ่มเองทั้งเพื่อประโยชน์ใช้งานในด้านความสว่างเมื่อเดินทางหรือติดเพื่อความสวยงามเพื่อให้บริเวณกันชนหน้าบริเวณสำหรับติดไฟตัดหมอกไม่เป็นแค่วัตถุสีดำติดไว้ รวมทั้งยังดูคล้ายกับเกรดสูงของรถด้วย อย่าไรก็ตามผู้ขับรถหลายคนทั้งที่มีไฟตัดหมอกติดมาให้ตั้งแต่ออกจากโชว์รูมหรือติดเพิ่มเองเพื่อความสวยงามอาจแทบไม่เคยใช้ไฟตัดหมอกเลยเพราะไม่รู้ว่าจะใช้ตอนไหนเนื่องจากไม่เคยเจอกับหมอกหนาจนต้องใช้ หรือบางคนก็อาจใช้โดยผิดวัตถุประสงค์ ดังนั้นลองมาทำความรู้จักกับไฟตัดหมอกว่าตามกฎหมายแล้วจริงๆ ควรมีลักษณะอย่างไร และควรใช้เมื่อไรนอกจากตอนที่มีหมอกหนาบนถนน
ลักษณะของไฟตัดหมอก
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ได้ระบุเกี่ยวกับไฟตัดหมอกเอาไว้ว่า “รถคันใดจะมีโคมไฟหน้ารถเพื่อใช้ตัดหมอกก็ได้ โดยติดหน้ารถข้างละหนึ่งดวงอยู่ในระดับเดียวกัน ใช้ไฟแสงขาวหรือแสงเหลืองมีกำลังไฟเท่ากัน ไม่เกินดวงละ 55 วัตต์ สูงจากพื้นทางราบไม่เกินกว่าระดับโคมไฟแสงพุ่งไกล (ไฟสูง) และโคมไฟแสงพุ่งต่ำ (ไฟต่ำ) ศูนย์รวมแสงต้องอยู่ต่ำกว่าแนวขนานกับพื้นทางราบไม่น้อยกว่า 2 องศา หรือ 0.20 เมตร ในระยะ 7.50 เมตรและไม่เฉไปทางขวา”
ตอนไหนที่ควรใช้ไฟตัดหมอก
1 หมอกหนา
แน่นอนว่านี่คือหน้าที่โดยตรงของไฟตัดหมอกเพราะอุปกรณ์ให้ความสว่างของรถนี้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้รวมทั้งชื่อไฟตัดหมอกยังบอกอย่างชัดเจน ซึ่งการใช้ไฟตัดหมอกในสถานการณ์ที่มีหมอกหนานั้นไม่ได้มีเฉพาะในช่วงฤดูหนาวเท่านั้น แต่ในบางประเทศยังรวมไปถึงเมื่อขับรถขึ้นภูเขาหรือพื้นที่มีความสูงซึ่งมักมีหมอกหนาตอนเช้าหรือตอนกลางคืนจนทำให้มีทัศนวิสัยไม่ดีด้วย
2 ฝนตก
อีกสถานการณ์ที่ไฟตัดหมอกมีประโยชน์และอาจใช้ได้บ่อยกว่าในบ้านเราก็คือ เมื่อมีฝนตกหนักจนทำให้มองเห็นทางข้างหน้าได้ลำบากไม่ต่างกับมีหมอกหนา เพราะคุณสมบัติในการกระจายแสงของไฟตัดหมอกจะช่วยให้เป็นที่สังเกตเห็นได้ง่ายขึ้นจากรถที่สวนทางมา รวมทั้งเป็นการเพิ่มทัศนวิสัยการมองของตนเองไปด้วย
3 ขับฝ่ากลุ่มควัน
อีกสถานการณ์ที่อาจพบได้บ่อยในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนคือกลุ่มควันหนาจากการเผาหญ้าข้างทางหรือจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม จนอาจทำให้ผู้ขับรถต้องผ่านช่วงที่มีควันหนาจนมองเห็นทางข้างหน้าได้ในระยะไม่เกิน 50 เมตร ซึ่งในสถานการ์นี้ผู้ขับรถก็ควรใช้และสามารถใช้ไฟตัดหมอกได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
4 หลังฝนหยุดตกตอนกลางคืน
หากสงสัยว่าทำไมจึงควรใช้ไฟตัดหมอกหลังฝนหยุดตกตอนกลางคืน เหตุผลก็คือเมื่อฝนหยุดตกแล้วถนนยังคงเปียกชื้น ทำให้แม้เปิดไฟสูงผู้ขับก็อาจพบว่าไม่ค่อยสว่างนัก การใช้ไฟตัดหมอกเพิ่มความเข้มของแสงจึงเป็นวิธีที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้ รวมทั้งยังช่วยลดการสะท้อนของน้ำที่อยู่บนผิวถนนไปด้วย ช่วยให้มองเห็นเส้นทางจราจรต่างๆ และป้ายบอกทางได้ชัดเจน
ใช้ไฟตัดหมอกพร่ำเพรื่อ ผิดรูปแบบจากที่กฎหมายกำหนดถูกปรับได้
จาก พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม ปี พ.ศ. 2536 ที่ระบุการใช้ไฟตัดหมอกไว้ว่า สามารถใช้ได้ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีหมอก ควัน หรือฝุ่นละอองจนเป็นอุปสรรคอันอาจทำให้เกิดอันตรายขณะขับรถและต้องไม่มีรถอยู่ด้านหน้าหรือสวนมาในระยะแสงไฟ 150 เมตร รวมไปถึงการมีข้อกำหนดเกี่ยวกับทั้งลักษณะของแสงไฟ และตำแหน่งการติดตั้งไฟตัดหมอกที่รถ ทำให้หากมีการใช้ไฟตัดหมอกพ่ำเพรื่อไม่เป็นตามเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งลักษณะของไฟตัดหมอกไม่เป็นไปตามประเภทและลักษณะที่กำหนด จะทำให้มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ดังนั้นแม้มีหลายสถานการณ์ที่ควรใช้ไฟตัดหมอก แต่ก็ควรใช้อย่างเหมาะสมด้วย และที่สำคัญคือไม่ควรใช้แทนไฟหน้า
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th