10 สปอร์ตญี่ปุ่นแห่งยุค ‘90
ยุคหนึ่งรถสปอร์ตญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในเมืองไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 1990 ซึ่งเป็นการเปิดเสรีรถยนต์นำเข้า และนี่คือ 10 รถสปอร์ตญี่ปุ่นที่เปิดตัวขายในช่วงทศวรรษที่ 1990 ที่เราคิดว่าเทพ และโดนใจมากที่สุดสำหรับนักซิ่งในบ้านเรา
1.Toyota Supra JZA80 : สุดยอดรถสปอร์ตจาก Toyota ที่ใครๆ ก็รู้จักดี ทั้งในส่วนของสปอยเลอร์หลังทรง U ควำที่ใครๆก็ชอบแซวว่าเหมือนกับราวตาผ้า และเครื่องยนต์ 6 สูบเรียงที่ในปัจจุบันแทบจะสูญพันธุ์ไปจากตลาดแล้ว ซึ่งที่อยู่ใต้ฝากระโปรงของ Supra คือ 2JZ-GTE สำหรับ Supra มีช่วงอายุในการทำตลาดในระหว่าง 1978-2002 รวมด้วยกัน 4 เจนเนอเรชั่น แต่ที่ดังมากสุด คือ รุ่นสุดท้าย A80 ที่วางขายในระหว่างปี 1993-2002 โดยว่ากันว่า Toyota วางแผนจะนำชื่อของ Supra กลับมาอีกครั้ง แต่ก็โดนเลื่อนมาตลอดจนกระทั่งถึงตอนนี้ ซึ่งมีข่าวยืนยันค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ตัวรถจะอ้างอิงต้นแบบรุ่น FT-1 และมีค่าตัวราว 60,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือ 2.2 ล้านบาทเมื่อวางขายจริง
2.Honda NSX : ความฝันของ Honda ในการไล่เป็นผู้นำรถด้านรถสปอร์ต และเป็นการนำองค์ความรู้จากสนามแข่ง F1 มาต่อยอดเป็น Road Car ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยเป้าหมายของการพัฒนา NSX (New Sportcar eXperimental) คือ การยกระดับตัวเองให้เทียบเคียงกับผู้ผลิตรถสปอร์ตอย่าง Ferrari ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาตั้งเป้าว่า NSX จะต้องเยี่ยมในระดับเดียวกับ 328 ตัวรถถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 1984 จนกระทั่งกลายมาเป็นรุ่นขายจริงเมื่อปี 1989 และทำตลาดนานถึงปี 2005 ก่อนที่จะเลิกผลิต และ Honda ก็ไม่ได้มีตัวแทนเข้ามาทำตลาดจนกระทั่งถึงปี 2015 จึงเปิดตัวเจนเนอเรชั่นที่ 2 ออกมา
3.Mazda RX-7 FD3S : รถสปอร์ตเครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยมหมุนอย่าง Rotary เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือเจนเนอเรชั่นที่ 2 ก่อนที่จะได้รับความนิยมแพร่หลายกับเจนเนอเรชั่นที่ 3 ในรหัส FD3S ที่เปิดตัวออกสู่ตลาดเมื่อปี 1991 และทำตลาดจนถึงปี 2002 กับเครื่องยนต์ Rotary แบบ 2 โรเตอร์ที่มีความจุ 1,300 ซีซี พร้อมเทอร์โบคู่ ที่รีดกำลังออกมาได้ 255-280 แรงม้าขึ้นอยู่กับรุ่นย่อย จากนั้นก็หายไปจากตลาดและมีรุ่น RX-8 ออกมาแทนที่แบบไม่ค่อยตรงกลุ่มสักเท่าไร
4.Nissan Silvia S14 : จริงอยู่ที่ S13 อาจจะดัง แต่ที่ฮิตมากสำหรับตลาดโลกรวมถึงเมืองไทย คือ S14 กับรูปร่างที่สวยและสปอร์ตขึ้นจาก S13 รวมถึงยังมีทางเลือกของความเร้าใจกับเครื่องยนต์ในตระกูล SR ทั้งตัวธรรมดา และตัวแรงในรหัส SR20DET ที่มีกำลังในระดับ 215 แรงม้า และในตลาดบางแห่งเช่นในสหรัฐอเมริกา ยังมีทางเลือกของเครื่องยนต์ในรหัส KA24DE แบบ 2,400 ซีซีด้วย และขายในชื่อ 240SX
5.Honda Civic Type-R EK9 : ใครจะคิดว่าแฮทช์แบ็กแรงได้ และไม่น่าเชื่อว่า Honda จะพัฒนาเครื่องยนต์บล็อกเดียวมาเพื่อรถยนต์รุ่นเดียวโดยเฉพาะ ซึ่งนั่นทำให้ Civic Type-R ในรหัส EK9 มีความโดดเด่นกับขุมพลัง B16B ที่รีดกำลังจนหยดสุดท้ายแบบไม่ต้องพึ่งเทอร์โบ โดยแค่ความจุ 1,600 ซีซี แต่ Honda ปรับปรุงให้รอบจัดด้วยกำลังสูงสุด 185 แรงม้า ที่ 8,200 รอบ/นาที ส่วน Redline เริ่มที่ 8,500 รอบ/นาทีเลยทีเดียว
6.Mitsubishi 3000GT : สปอร์ตรุ่นใหญ่ของ Mitshubishi ที่ผลิตและพัฒนาเพื่อขายทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาที่มีขายผ่านชื่อ Dodge Stealth ด้วย โดยเป็นสปอร์ต 2+2 ที่นั่งในสไตล์ GT ที่มีความสวยและดุดัน พร้อมกำลังจากเครื่องยนต์วี6 3,000 ซีซี ที่มีทั้งรุ่นแคมเดี่ยว 162 แรงม้า และทวินแคม แบบไม่มีเทอร์โบ 218 แรงม้า และเทอร์โบคู่ 280-324 แรงม้า
7.Subaru SVX : เมื่อนึกถึง Sunaru คนส่วนใหญ่ในยุคนั้นจะนึกถึงแต่ Impreza แต่ความจริงแล้ว Subaru ก็มีสปอร์ตเหมือนกันและมาแบบครั้งเดียวเท่านั้นนั่นคือ SVX ที่ได้รับการออกแบบโดบ Giorgetto Giugiaro และขายระหว่างปี 1991-1996 ด้วยเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 6 สูบนอน 3,300 ซีซี 231 แรงม้า
8.Nissan Skyline GT-R R34 : ความคลาสสิคของรถสปอร์ตยุค 90 จากญี่ปุ่นถ้าไม่มีรุ่นนี้ ไม่ได้ ก็แล้วแต่ว่าใครชอบรุ่นไหน R32 R33 หรือว่ารุ่นสุดท้ายก่อนกลายเป็น GT-R อย่าง R34 ซึ่งว่ากันว่ารุ่นนี้เป็น GT-R ที่สวยและไฮเทคที่สุดในบรรดา GT-R ที่ยังอ้างอิงชื่อกับสเป็กจาก Skyline และความคลาสสิคของเครื่องยนต์ 6 สูบเรียง RB26DETT
9.Subaru Impreza Coupe : Rare Item ที่ว่ากันว่าหากยากเอาเรื่องเพราะ Subaru ผลิตออกมาขายในช่วงสั้นๆ โดยใช้พื้นฐานของ Impreza ตระกูล N-Series หรือ GC และที่หายากหน่อยคือรุ่น 22B-STi Version มีการเพิ่มตัวถังเป็น Wide-Body พร้อมแอโรพาร์ตแบบจัดเต็ม เครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 4 สูบ 2,200 ซีซี เทอร์โบ รีดกำลังออกมาได้ 300 แรงม้าตามสเป็กจากโรงงาน มีแค่ 424 คันในโลก
10.Toyota MR2 : สปอร์ตเครื่องยนต์วางกลางลำที่โด่งดังของ Toyota ซึ่ง 2 รุ่นแรกคอนเซ็ปต์ในการพัฒนาที่ชัดเจนของการเป็นสปอร์ตคูเป้ และหลังคาแบบ T-Bar แต่ดูเหมือนว่าพอเข้ารุ่นที่ 3 แนวคิดนี้จะเปลี่ยนไปและทำให้มันกลายไปเป็นโรดสเตอร์พร้อมกับใช้ชื่อว่า MR-S ในที่สุด
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th