1980 BMW R100CS
“คลาสสิกสปอร์ต” โมเดลโยนหินของรุ่น “ทับเจ็ด”
1R100CS ยังคงถือเป็นรถรอยต่อของ “ยุคคลาสสิก” ที่มีภาพลักษณ์ค่อนข้างชัดเจน มันมีหน้ากากโม่ง ทว่า กลับหยิบเอาล้อแม็กลายใหม่มาใส่ในแบบที่แปลกตา ทว่า ในเครื่องยนต์ ระบบไฟฟ้า ช่วงล่าง และเบรก กลับเป็นเทคโนโลยีที่ “ดีที่สุดของยุค” ที่ได้รับการประยุกต์เข้ามาใช้
BMW R100 หรือศัพท์นักเล่นเรียกขานว่า “ทับเจ็ด” (Slash 7) มันคือความหลากหลายของพันธุกรรมรุ่นการผลิตจากโรงงานของ BMW ที่เสนอความหลากหลายทางรสนิยม อาทิ T, S, CS, RS, RS Classic, RT, RT Classic, TIC, R และ GS แม้จะแตกหน่อมามากมายหลายหน้าตา ทว่า ก็เกิดขึ้นจากพื้นฐานของเครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ Airheads-Boxer 2 สูบนอน ความจุ 980 ซี.ซี. ซึ่งพัฒนาขึ้นครั้งแรกในปี 1976
เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยอากาศ Airheads-Boxer 2 สูบนอน ความจุ 980 ซี.ซี. ที่พัฒนาขึ้นอีก 10% จนได้ความจุใหม่ที่ 70 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 7,000 รอบ/นาที
BMW R100CS หนึ่งในโมเดลที่สร้างลุคแตกต่างในแบบ Classic Sport (CS) ไลน์ผลิตที่เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1980 จากพื้นฐานเครื่องยนต์บล็อกต้น R100/7 ขนาด 60 แรงม้า ได้รับการขัดเกลาจนได้เพิ่มเป็น 70 แรงม้าที่รอบเครื่องยนต์ 7,000 รอบ/นาที…เพราะเป็นการส่งต่อโปรดักชันในทศวรรษใหม่ R100CS จึงได้อานิสงส์เป็นพาร์ทเทพๆ ในหลายจุด โดยเฉพาะเมื่อเครื่องยนต์นั้นแรงขึ้น “ระบบเบรก” จึงเป็นอะไรที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ จากเดิมที่เป็น “ดิสก์เดี่ยว” ก็ปรับเปลี่ยนมาใช้เบรกแบบ “ดิสก์คู่” ซึ่งนั่นรวมถึงพัฒนามันจากโมเดลของปี 1976 ที่เป็น “ดิสก์เคเบิล” เชื่อมสู่ปั๊มไฮดรอลิกที่ซ่อนไว้ใต้ถังน้ำมัน มาเป็นแม่ปั๊มที่ยึดรวมเข้ากับแฮนด์ (ขวา) มันลดขั้นตอนและชัวร์กว่า แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพราะ BMW ร่วมคิดค้นและพัฒนาร่วมกับ Brembo เจ้าพ่อเบรกระดับโลก
เบรกหน้าดิสก์คู่ ที่พัฒนาร่วมกับ Brembo กับล้อ Snowflake ลายที่แปลกตา ส่วนผสมที่ลงตัวความพิเศษของ BMW R100CS นอกจากจะเป็นสปอร์ตมีหน้ากากแล้ว ยังรวมถึงล้อลายใหม่ที่เรียกว่า “Snowflake” ที่หล่อจากวัสดุอะลูมิเนียม มันสวย และดูคลาสสิกไปในตัว ทว่า เชื่อหรือไม่ ล้อรุ่นนี้กลับพบปัญหาที่ตามมาภายหลัง มันมีแนวโน้มที่จะแตกหักได้จากกระบวนการผลิต ทาง BMW จึงเรียกรถรุ่นนี้กลับเข้ามาเพื่อทำการปรับเปลี่ยนแก้ไข
1980 BMW R100CS ได้รับการอัปเกรดในส่วนของคาร์บูเรเตอร์ด้วย BMW กลับมาคอนแท็กกับ BING อีกครั้ง และผลิตระบบจ่ายเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพรุ่นใหม่เข้ามา มันช่วยให้ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ดีขึ้นถึง 10% เลยทีเดียว นั่นยังรวมถึงระบบสตาร์ตเครื่องยนต์ที่เลือกใช้เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดอีกด้วย
ระบบช่วงล่างนั้นก็ได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเป็นระบบเทเลสโคปิก ขนาด 36 มม. ส่วนซัพหลังเป็นระบบสวิงอาร์ม ติดตั้งด้วยโช้คซัพแบบคู่ และใช้มันสืบเนื่องถึงปี 1984 ก่อนที่โรงงานจะพัฒนาระบบ Monolever ในปี 1986 และ Paralever ในปี 1988
เพราะเกิดในไลน์ของรถเที่ยวไปในตัว มีพาร์ท รั้วกันล้ม ตะแกรงท้าย มาให้สำหรับสายเที่ยวที่พิสมัยขนสัมภาระ
เพราะเกิดขึ้นในครอบครัวที่มีลูกหลายคน มันเหมือนการ “โยนหินถามทาง” ไปในตัว โมเดลไหนขายดี ก็ได้รับการสานฝันต่อไป…เมื่อ…โลกโอบอุ้ม R100RS, RT และ GS ก็ไม่แปลกที่ CS จะยื้อชีวิตมาได้ถึงปี 1984 เท่านั้น แถมยอดผลิตจริงก็มีเพียง 4,038 คันเท่านั้น ทว่า หนึ่งในจำนวนนั้นก็ลัดฟ้าถึง “ประเทศไทย” แถมยังมีเรื่องเล่ามากมายให้ได้ซึมซับสำหรับรถสปอร์ต…คันนี้!!!
STORY : NUIAJS
PHOTO : Kwang GPI.Photo Dep.