22 ปีที่ไม่มี Senna
ใครที่เป็นแฟน F1 ตัวยงคงทราบดีว่าเมื่อถึงวันที่ 1 พฤษภาคม ถือเป็นวันแห่งการสูญเสียของวงการ เพราะนี่คือวันที่ยอดนักแข่งชาวบราซิล ไอร์ตัน เซนน่า ต้องจบชีวิตลงด้วยวัยเพียงแค่ 34 ปีหลังประสบอุบัติเหตุในรายการซานมารีโน่ กรังด์ปรีซ์เมื่อ 22 ปีที่แล้ว
สำหรับแฟนๆ ที่ติดตามการแข่งขัน F1 คงทราบดีถึงฝีมือ พรสวรรค์ และความยอดเยี่ยมในการเป็นนักแข่ง F1 และก็จริงอยู่ที่แม้ว่าเขาจะเป็นแชมป์โลกประเภทนักแข่ง F1 น้อยกว่าที่ฮวน มิเกล ฟานจิโอ, อแลง พรอสต์ หรือมิชาเอล ชูมัคเกอร์ทำได้ แต่ต้องยอมรับว่านี่คือ ชื่อนักแข่งคนแรกๆ ที่มักจะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ เวลายิงคำถามที่ว่า ‘ใครคือนักแข่ง F1 คนแรกที่คุณนึกถึง’ ซึ่งแน่นอนว่าคำถามนี้จะต้องถามแฟน F1 ที่มีอายุสักหน่อย
ไอร์ตัน เซนน่า หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Ayrton Senna da Silva เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1960 ที่เมืองเซา เปาโล ประเทศบราซิล และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 1994 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว ซึ่งเขาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในระหว่างการแข่งขันรายการซานมารีโน่ กรังด์ปรีซ์ ที่สนาม Autodromo Enzo e Dino Ferrari หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า อิโมล่า
อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าชื่อของเซนน่า มีความยิ่งใหญ่และอยู่ในความทรงจำของแฟนๆ และจากการสำรวจของนิตยสาร Autosport ของอังกฤษ โพลล์เมื่อปี 2009 ระบุว่าเขาคือนักแข่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในตำนาน F1 จากนักแข่งทั้งในอดีตและปัจจุบันจำนวน 217 คนที่ถูกคัดเลือกขึ้นมา แม้ว่าจะคว้าแชมป์โลกเพียงแค่ 3 ครั้ง (1988,1990, 1991) เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่านักแข่งที่ประสบความสำเร็จในสนามแข่งตามรายนามที่เขียนถึงข้างต้น
10 ปีนับจากปี 1984-1994 ในชีวิตการเป็นนักแข่งของเซนน่าซึ่งร่วมหัวจมท้ายเพียง 4 ทีมตลอดการเป็นนักแข่งอาชีพ (Toleman, Lotus, McLaren และ Williams) เขาครองและเคยครองสถิติในแวดวง F1 หลายอย่าง เช่น
-การเป็นนักแข่งที่คว้าแชมป์โมนาโก กรังด์ปรีซ์ ซึ่งเป็น Street Circuit มากที่สุดจำนวน 6 ครั้ง (1987,1989, 1990, 1991, 1992, 1993) และสถิตินี้อาจจะโดนทำลายได้ ถ้ามิชาเอล ชูมัคเกอร์สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้เพิ่มเติมในตลอดช่วงสัญญา 3 ปีที่เขากลับมาลงแข่งขัน F1 อีกครั้งในนามทีมเมอร์เซเดส จีพี เพราะในตอนนี้ชูมัคเกอร์ทำได้ 5 ครั้งเท่ากับเกรแฮม ฮิลล์ พ่อผู้ล่วงลับของเดมอน ฮิลล์ แชมป์โลก F1 ปี 1996
-การเป็นนักแข่งที่ออกสตาร์ทในตำแหน่งโพล โพซิชั่นมากครั้งที่สุด ซึ่งตัวเลขจำนวน 65 ครั้งของเซนน่ายืนยงคงกะพันตั้งแต่ปี 1994 และกว่าที่จะมีคนมาแทนที่ได้ก็ต้องรอจนถึงปี 2006 ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นชูมัคเกอร์นั่นเอง ซึ่งรวมแล้วชูมี่ทำเอาไว้ 68 ครั้งตลอดการเป็นนักแข่งอาชีพตั้งแต่ปี 1991-2006
ขณะที่สถิติในการคว้าแชมป์กรังด์ปรีซ์มากครั้งที่สุดนั้น เซนน่าทำได้เพียง 41 สนาม อยู่ในอันดับที่ 3 โดยเป็นรองชูมัคเกอร์ (91 สนาม) และพรอสต์ คู่ปรับตลอดกาลของเขา (51 สนาม)
นอกจากจะได้รับการยอมรับในเรื่องของฝีมือแล้ว เซนน่ายังขึ้นชื่อในเรื่องความดุดันของการขับ ซึ่งตรงนี้พรอสต์และชูมัคเกอร์เคยเจอมาแล้ว โดยเหตุการณ์ที่โด่งดังมากคือ การแข่งขันเจแปนีส กรังด์ปรีซ์ในปี 1989 และ 1990 ยุคที่ทั้ง 2 คนขับเคี่ยวกันตั้งแต่ยังเป็นเพื่อนร่วมทีมแม็คลาเรนจนมาถึงปีที่แยกฝั่งกันคนละค่าย
ในปี 1989 เซนน่าและพรอสต์เป็นเพื่อนร่วมทีมแม็คลาเรน-ฮอนด้า ซึ่งกำลังขับเคี่ยวแย่งชิงตำแหน่งแชมป์โลกประเภทนักแข่ง แต่คะแนนและอันดับของพรอสต์ดีกว่า ซึ่งเหตุการณ์มาเกิดขึ้นตอนช่วงท้ายของการแข่งขัน เพราะรถแข่งของทั้งคู่เกี่ยวกัน พรอสต์หลุดออกจากสนามและกลับมาไม่ได้ ขณะที่เซนน่าให้เจ้าหน้าที่สนามช่วยเข็นจนกลับมาลงแข่งได้และเข้าพิตเพื่อเปลี่ยนชิ้นส่วนที่เสียหายก่อนที่จะจบการแข่งขัน แต่สุดท้ายก็โดนจับดิสควอลิฟาย และแชมป์โลกก็ตกเป็นของพรอสต์ไป
ส่วนในปี 1990 เหตุการณ์เกิดขึ้นในรายการนี้ พร้อมกับบริบทที่คล้ายๆ กัน คือ ทั้งคู่กำลังไล่บี้เพื่อตำแหน่งแชมป์ โดยเซนน่าออกสตาร์ทในตำแหน่งโพล โพซิชั่น ส่วนพรอสต์ซึ่งย้ายไปอยู่กับเฟอร์รารี่ออกสตาร์ทในอันดับที่ 2 แต่ทว่าการจัดเรียงอันดับออกสตาร์ทบนกริดตามปกติแล้วอันดับที่ดีกว่าในแถวหรือ Row เดียวกันจะต้องอยู่ในตำแหน่งฝั่งซ้ายมือที่สามารถเข้าไลน์ที่ได้เปรียบในช่วงโค้งแรก
แต่ปรากฏว่าตำแหน่งสตาร์ทของเซนน่าในสนามซึซึกะกลับอยู่ขวามือ ซึ่งเสียเปรียบในการหาไลน์เข้าโค้งแรกให้กับพรอสต์ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 2 และทางเซนน่ากับเพื่อนร่วมทีมคือแกร์ฮาร์ด แบร์เกอร์ได้ยื่นหนังสือประท้วงไปทางกรรมการสนาม ซึ่งกรรมการสนามก็ยอมรับ แต่ทาง FISA ซึ่ง Jean Marie Balestre กลับปฏิเสธถึงเรื่องนี้ และก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ผลก็คือ เซนน่าประกาศว่าถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ การแข่งขันไม่พ้นโค้งแรกแน่นอน และก็เกิดขึ้นจริง เมื่อเขาชนพรอสต์ในช่วงโค้งแรกจนออกจากการแข่งขันไปทั้งคู่ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีการลงโทษตามมา ก็เลยทำให้เซนน่าได้เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ของตัวเอง เช่นเดียวกับทางแม็คลาเรน-ฮอนด้าที่ได้แชมป์โลกประเภททีมผู้ผลิต
มีการวิจารณ์กันในวงกว้างถึงเรื่องนี้ว่าเป็นเพราะจงใจหรืออุบัติเหตุ แต่ที่แน่ๆ เรื่องของการแก้แค้นจากปี 1989 ถูกนำมาเกี่ยวโยง และพรอสต์ เองก็ให้สัมภาษณ์ว่า ‘เซนน่าเป็นบุคคลที่ไร้ค่าจริงๆ’ และพรอสต์กล่าวยอมรับในภายหลังว่าตัวเองเกือบจะเลิกแข่งรถหลังจากเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น (แต่พรอสต์ก็เลิกแข่งจริงหลังคว้าแชมป์โลกในปี 1993 กับทีมวิลเลี่ยมส์)
ความจริงแล้วเรื่องนี้ เป็นผลมาจากทาง Balestre ที่มีส่วนในการทำให้เซนน่ารู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ เพราะว่าเขาสลับตำแหน่งในการออกสตาร์ทจากที่ควรจะเป็นหลังจากที่พรอสต์ออกสตาร์ทในอันดับที่ 2 ซึ่งทำให้ทางเซนน่าถึงกับต้องประท้วงถึงเรื่องนี้ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นในที่สุด เพราะ Balestre มีส่วนทั้งในเรื่องของการจับเขาดิสควอลิฟายจนพลาดแชมป์โลกในปี 1989 และพยายามที่จะทำให้เขาเสียเปรียบกับการแข่งขันในปีนี้อีกด้วย
เรื่องทุกอย่างจบลงด้วยการชำระแค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน แต่ก็เกิดบาดแผลที่ไม่สามารถเยียวยาได้ระหว่างนักแข่ง 2 คนที่เคยเป็นเพื่อนร่วมทีมกัน
ในปี 1993 หลังจากที่ฮอนด้าแยกทางจากแม็คลาเรน ทีมแข่งของรอน เดนนิสไม่ได้มีศักยภาพเพียงพอที่จะคว้าแชมป์อีกต่อไป เพราะในยุคนี้ รถแข่งเข้าสู่การผูกขาดชัยชนะของเครื่องยนต์วี10 จากค่ายเรโนลต์ และทีมวิลเลี่ยมส์ เซนน่าเหลือสัญญากับแม็คลาเรนจนจบการแข่งขันซีซั่น 1993
ขณะที่แม็คลาเรนยังไม่สามารถหาทางออกเกี่ยวกับการต่อสัญญาได้ เพราะยังไม่สามารถหาพันธมิตรทางด้านเครื่องยนต์ที่ดีพอจะยกระดับทีมและมัดใจเซนน่าได้ วิลเลี่ยมส์ก็ได้ยื่นมือเข้ามาปั่นป่วนวงการอีกครั้ง โดยจัดการทาบเซนน่าเข้ามาร่วมทีมในปี 1994 ทั้งที่พรอสต์ นักแข่งของทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์โลกในปี 1993 ยังเหลือสัญญาอีก 1 ปี ตรงนี้เชื่อว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้พรอสต์ตัดสินใจรีไทร์ออกจากการแข่งขัน เพราะดูแล้วทางพรอสต์เป็นคนที่มีบุลลิกยอมอ่อนและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ามากกว่าเซนน่าที่ออกแนวดุดัน พร้อมชนทุกสถานการณ์
ในปี 1994 ถือ เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎทางวิศวกรรม ระบบช่วยเหลือนักแข่งในการขับทั้ง ABS หรือระบบช่วงล่างแบบปรับระดับได้ถูกยกเลิก และวิลเลี่ยมส์ FW16 เป็นตัวแข่งที่มีความเร็วเป็นเยี่ยม แต่ก็ถูกระบุว่าเป็นรถแข่งที่ขับยากรุ่นหนึ่ง และเซนน่าก็ให้ความเห็นว่าตัวรถมีอาการแปลกๆ ตั้งแต่ช่วงซ้อมแล้ว ซึ่งเซนน่าก็ใช้รถแข่งรุ่นนี้ลงแข่งใน 2 สนามแรก และไม่สามารถแข่งขันจนจบ เรียกว่าเป็นการออกสตาร์ทที่แย่ที่สุด เพราะลงแข่ง 2 สนามโดยไม่มีคะแนนติดมือกลับมา แม้ว่าจะออกสตาร์ทในตำแหน่งโพล โพซิชั่นก็ตาม
สนามที่ 3 ในรายการซานมารีโน กรังด์ปรีซ์ คือ การแข่งขันครั้งสุดท้ายของเซนน่าอย่างที่หลายคนทราบ เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน เมื่อรถของเขาแหกโค้ง Tamburello และพุ่งเข้าชนกำแพงด้วยความเร็วในระดับ 220 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เขาได้รับบาดเจ็บอย่างหนักเนื่องจากถูกกระแทกด้วยชิ้นส่วนของตัวรถที่ศีรษะ ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล
ส่วนสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุในครั้งนั้นก็ยังเป็นปริศนาจนถึงทุกวันนี้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย : กรังด์ปรีซ์ ออนไลน์ GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าว รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ทดสอบรถ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th