3 ขั้นตอนง่ายๆ ในการต่อภาษีรถ
สำหรับเจ้าของรถยนต์อายุการใช้งานเกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์อายุการใช้งานเกิน 5 ปี นำรถเข้าตรวจสภาพกับ ตรอ. ก่อนชำระภาษีรถออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ได้ทันที ซึ่งมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ
การชำระภาษีรถประจำปีถือเป็นหน้าที่ของเจ้าของรถที่ต้องดำเนินการเป็นประจำทุกปี ซึ่งหากรถยนต์ที่ใช้อยู่นั้นยังมีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี หรือรถจักรยานยนต์มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี เจ้าของรถสามารถชำระภาษีรถประจำปีผ่านระบบออนไลน์ของกรมการขนส่งทางบกได้ทันที และในปัจจุบันรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งานนานกว่านั้น สามารถยื่นชำระผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้วเช่นกัน เพียงแต่ต้องผ่านการตรวจสภาพรถจากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) ก่อน จึงจะสามารถชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ได้ทั้งที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ และแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax ดังนั้น เพื่อให้เจ้าของรถมีความพร้อมและสามารถดำเนินการชำระภาษีรถประจำปีล่วงหน้าได้อย่างง่ายดาย กรมการขนส่งทางบกจึงแนะนำขั้นตอนการชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1 ตรวจสอบวันครบอายุภาษีรถประจำปี เพื่อวางแผนการชำระภาษีรถประจำปีล่วงหน้า โดยปกติวันครบอายุภาษีรถจะตรงกับวันที่และเดือนในการจดทะเบียนรถครั้งแรก ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากคู่มือรถ หรือเครื่องหมายการเสียภาษี หรือตรวจสอบที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th/ ที่เมนู สอบถามข้อมูลค่าภาษีรถประจำปี ปรากฏข้อมูลทั้งวันครบอายุภาษีรถ อัตราค่าภาษีที่ต้องชำระ และหากเป็นรถที่เข้าข่ายต้องนำไปตรวจสภาพรถก่อนระบบจะแจ้งให้เจ้าของทราบด้วย ซึ่งเมื่อทราบวันครบกำหนดแล้ว สามารถวางแผนชำระภาษีรถประจำปีล่วงหน้าได้ 90 วันก่อนวันครบกำหนดชำระภาษี
2 เตรียมเอกสารหลักฐาน ประกอบด้วย คู่มือรถฉบับจริง หรือ สำเนา, หลักฐานการทำประกันภัยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และหากเป็นรถที่เข้าข่ายต้องตรวจสภาพ เช่น รถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี ให้นำเข้าตรวจกับสถานตรวจสภาพรถก่อน
3 ชำระภาษีรถประจำปีออนไลน์ ที่เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th และแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้ว รอรับเครื่องหมายการเสียภาษีและใบเสร็จรับเงินทางไปรษณีย์ ภายใน 5 วันทำการ นับจากวันชำระเงิน ส่วนการชำระภาษีรถประจำปีผ่านแอปพลิเคชัน DLT Vehicle Tax สามารถเลือกช่องทางรับเครื่องหมายการเสียภาษีทางไปรษณีย์ภายใน 5 วันทำการ หรือสำหรับผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกพิมพ์เครื่องหมายการเสียภาษีได้ด้วยตนเองที่ตู้ Kiosk ที่ติดตั้งในสำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครได้อีกหนึ่งช่องทาง