4 รถซิ่งสุดฮิตยุค 90 !! ใครทันรถพวกนี้ยกมือขึ้น
หลังจากยุครถซิ่งบนถนนวิภาวดีแถวๆหน้าผับดังอย่าง the palace หมดไปชาวแก๊งรถซิ่งรุ่นเดอะ ก็เริ่มโตขึ้น ต่อมาในยุคหลังเริ่มมีถนนหลายเส้น ที่ในเวลานั้นเป็นที่รวมตัวของแก๊งรถจากหลากหลายสำนัก แต่ละสำนัก แต่ละแก็ง ต่างโมดิฟายรถกันอย่างเต็มที่ทั้ง บอดี้ เครื่องยนต์ ช่วงล่าง จุดหลักๆก็เห็นจะมีที่บางใหญ่ และ เลียบด่วนรามอินทรา ตรงปั๊ม Jet เลียบด่วน ก่อนออกถนนรามอินทรา เราเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านยังคงจำได้ สมัยที่รถซิ่งทั้งหลายนัดเจอกันตามปั๊ม นั้งคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน นึกสนุกหน่อยก็ออกไปประลองกัน (มันผิดกฎหมายนะครับ อิอิ) ช่างเป็นช่วงที่แก๊งรถซิ่งบูมจริงๆครับ และรถยนต์ในสมัยนั้นที่ฮิตๆนำมาโมดิฟายกันเยอะก็มีไม่กี่รุ่น วันนี้เรามาย้อนอดีตกันมาในขณะนั้นรถยนต์ยอดฮิตมีอะไรบ้าง
Nissan Cefiro A31
คันนี้เลยตอนในยุคนั้นวัยรุ่นหลายคนใฝ่ฝันที่จะได้มาครอบครอง เพราะมันช่างลงตัวเหลือเกินเพราะวางเครื่องแล้วจบ แถมขับหลังอีกต่างหาก Cefiro A31 นั้น ขายในญี่ปุ่นในช่วง พ.ศ. 2531-2537 โดยการออกแบบช่วงล่างจนถึงห้องโดยสารนั้นได้ต้นแบบมาจาก นิสสัน สกายไลน์ (skyline) ที่เน้นห้องเครื่องมากกว่าห้องโดยสารถึงแม้จะเป็นรถซีดานขนาดใหญ่ แต่ห้องโดยสารนั้นไม่ได้ใหญ่อย่างที่คิด เพราะออกแบบมาในแนวรถสปอร์ต ในประเทศไทย Cefiro A31เข้ามาช่วงระหว่าง พ.ศ. 2533-2539 ในครั้งแรกที่เปิดตัวมีราคากว่า 1,000,000 บาท แพงกว่าคู่แข่งทั้งโตโยต้า โคโรน่า ฮอนด้า แอคคอร์ด มิตซูบิชิ กาแลนต์ และมาสด้า 626 จนกระทั่งต่อมาในช่วงปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่เหลือเพียง 700,000 บาทกว่าๆ
รถคันนี้มีจุดเด่นตรงที่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ (ในสมัยนั้น)มาลงในรถ เช่น ระบบการเปิดไฟหน้า และควบคุมแสงหน้าปัดอัตโนมัติ โดยมีตัวรับแสงคอยจับปริมาณแสง และส่งข้อมูลไปที่ระบบอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อมืดลง ไฟจะสว่างขึ้นโดยอัตโนมัติ ระบบจับสภาพพื้นถนน เป็นต้น หลังจากที่ยกเลิกการผลิตไปแล้วนั้น A31 ยังคงได้รับความนิยมมากมาย รวมทั้งในประเทศไทยด้วย เนื่องจากเป็นรถขับหลังที่มีรูปทรงสปอร์ต ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่ง และที่สำคัญคือมีราคาที่ถูกลงมากเมื่อเทียบกับรถในระดับเดียวกัน กลุ่มวัยรุ่นและค่ายรถแข่งต่างๆ นิยมรถรุ่นนี้เพราะว่ามันเป็นรถขับเคลื่อนล้อหลัง ซึ่งสามารถนำมาใช้สำหรับการแข่งขันยอดนิยมอย่าง Drift ได้ เนื่องจากรถขับเคลื่อนล้อหลังรุ่นอื่นๆ จะเป็นรถที่มีราคาแพงหลายเท่าตัว Cefiro A31 จึงเป็นตัวเลือกแรกๆ สำหรับกีฬาชนิดนี้ นอกจากการแข่งดริฟท์แล้ว ยังนิยมใช้ในการแข่งขัน Drag ด้วย เนื่องจาก A31 มีห้องเครื่องขนาดใหญ่ สามารถวางเครื่อง 6 สูบแถวเรียงหรือเครื่องแบบ V8 ได้อย่างสบายๆ ส่วนมากนิยมวางเครื่องยนต์ 2JZ ของโตโยต้ากัน หรือไม่ก็ตรงยี่ห้อหน่อยเป็นเครื่อง RB26 ของนิสสัน ต้องยอมรับครับว่าเครื่องยนต์ 2 ตัวนี้ยอดฮิตทีเดียวเพราะโมดิฟายง่าย แรง อะไหล่ เยอะ
Honda Civic EG 3D
ฮอนด้า ซิวิค โฉมที่ 5 โฉมนี้ มีการผลิตมาทั้งสิ้น 4 รุ่นปี ตั้งแต่รุ่นปี พ.ศ. 2535 – พ.ศ. 2538 มีตัวถัง 3 แบบ คือแบบคูเป้ 2 ประตู, hatchback 3 ประตู และแบบซีดาน 4 ประตู มีระบบเกียร์ 2 ระบบ คือเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด และเกียร์ธรรมดา 5 สปีด มีเครื่องยนต์ 2 ขนาด คือ 1.3, 1.5, 1.6 และ 1.8 ลิตร พ่อค้ารถในไทย นิยมเรียกโฉมนี้ว่า “โฉมเตารีด” โฉมนี้ เป็นโฉมที่รูปลักษณ์ภายนอกของซีวิคเริ่มเปลี่ยนไป เพราะ 4 โฉมแรก ภายนอกจะมีลักษณะตรง แล้วหักเป็นมุมๆ ทำให้มีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่โฉมนี้จะเริ่มเปลี่ยนเป็นความโค้งมน และโฉมจากนี้ จะเพิ่มความโค้งมนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงโฉมล่าสุด ที่มีความโค้งมนมาก
ในประเทศไทย นอกจากการขายตัวถังแบบ 4 ประตูแล้ว ยังมีการขายตัวถังแบบ 3 ประตูด้วย โดยรุ่นซีดานนำมาจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2535 ส่วนรุ่น 3 ประตูนำมาจำหน่ายเมื่อปี พ.ศ. 2536 เป็นซีวิคโฉมแรกในประเทศไทยที่มีการนำรุ่น 3 ประตูมาจำหน่าย นอกจากนี้ ในประเทศไทย ช่วงกลางๆ ของโฉมนี้ ซีวิคเริ่มเปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์แบบหัวฉีด แทนระบบคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งสังเกตได้จากตัวอักษรที่อยู่ท้ายรถจะมีตัวไอเล็กภาษาอังกฤษ (i) ต่อท้าย (แบบ LXi, EXi, ฯลฯ) แต่ถ้าไม่มี i ต่อท้าย (LX, EX, ฯลฯ) แปลว่า ซีวิคคันนั้นยังใช้เครื่องคาร์บูเรเตอร์ ซึ่งรถที่ใช้ระบบหัวฉีด จะใช้เชื้อเพลิงคุ้มค่า และนอกจากนี้ เครื่องหัวฉีด สามารถเติมน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ (แก๊สโซฮอล์ E10) ได้ ซึ่งยิ่งช่วยผู้ใช้ประหยัดมากขึ้นไปอีก ในขณะที่เครื่องแบบคาร์บูเรเตอร์ ไม่เหมาะสมที่จะใช้แก๊สโซฮอล์ คันนี้วัยรุ่นนิยมนำมาวางเครื่อง VTEC กันที่นิยมมาคือ B16A และ B16B หรือไม่ก็ B16B กระกบกับทอนล่าง B20 รับรองแรงเสียงดังลั่นทุ่งแน่นอน
Mitsubishi LANCER E-CAR
โฉมนี้ เป็นที่รู้จัก และเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย รุ่นนี้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2534-2539 วงการรถตั้งชื่อโฉมนี้ว่า โฉม E-CAR ซึ่งมีการนำเข้ามาขายเป็นจำนวนมาก มีความทนทาน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 22 ปี ก็ยังสามารถเห็นแลนเซอร์โฉมนี้ได้ทั่วไปตามท้องถนน ในประเทศไทย แลนเซอร์โฉมนี้ มีทั้งการใช้เป็นรถส่วนตัว รถครอบครัว และแต่งเป็นรถสปอร์ต ต่อมาเมื่อปี 2538 Lancer E-CAR ได้ยกเลิกการจำหน่าย 1.3 และ 1.8 เปลื่ยนระบบจ่ายเชี้อเพลิงในรุ่น 1.5 จากคาร์บูเรเตอร์เป็นระบบหัวฉีด ECi-MULTI และนำรุ่น 1.6 มาประกอบในประเทศ หลังจากนั้นมีการปรับโฉมเล็กน้อยในรุ่น 1.5 โดยขอบประตูจะเป็นสีเดียวกับตัวรถ ซึ่งของเดิมเป็นสติกเกอร์สีดำ เปลื่ยนกระจังหน้าใหม่แบบซี่ และเพิ่มไฟเบรกดวงที่สามในห้องโดยสาร และในรุ่น 1.6 มีการเปลื่ยนล้อแม็กซ์เป็นขนาด 14 นิ้ว เพิ่มไฟตัดหมอกหน้า และสปอยเลอร์หลังเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และปรับเปลื่ยนฝาครอบชุดดรัมเบรกหลัง E-Car นับจากปี 2538 เป็นต้นมา เปลื่ยนคอมเพรสเซอร์แอร์ที่ใช้น้ำยาเบอร์ R134A ตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลดการใช้น้ำยาแอร์แบบ R12 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2539 Lancer E-CAR ได้ปรับโฉมโดยเปลื่ยนล้อแม็กซ์ลายใหม่ เปลื่ยนกันชนให้มีลักษณะยาวและหนาขึ้น รวมถึงเปลื่ยนกระจังหน้าใหม่ เปลื่ยนท่อร่วมไอดีในรุ่น 1.5 โดยตัวอักษรคำว่า ECi-MULTI จะเล็กลง และนำรุ่น 1.3 กลับมาเพื่อตอบสนองลูกค้าระดับล่าง
แต่ว่า ในตัวถังนี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้สร้างรถรุ่นใหม่ขึ้นมา เป็นเนื้อหน่อของแลนเซอร์ ซึ่งรถรุ่นที่ “แตกหน่อ” ออกมานี้ คือ Mitsubishi Lancer Evolution ซึ่งมีสมรรถนะสูงกว่าแลนเซอร์ธรรมดา เนื่องจากสร้างมาสำหรับการเป็นรถสปอร์ตแรลลี่โดยเฉพาะ แต่แลนเซอร์ อีโวลูชั่น ไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยนัก ด้วยเพราะผู้ซื้อนิยมนำรถแลนเซอร์ธรรมดาไปแต่งสปอร์ตเองมากกว่า นอกจากนี้ อัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของไทยในยุคนั้นที่ค่อนข้างสูง ก็มีผลทำให้รถแลนเซอร์ อีโวลูชั่น (ของจริง) ซึ่งผลิตในต่างประเทศ มีราคาในประเทศไทยแพงกว่ารถแลนเซอร์ทั่วไปมาก วัยรุ่นเลยชอบมาก เพราะสามารถสนำไปวางเครื่อง 4G 63T หรือไม่ก็เครื่องตระกูล 4G ของรถสปอร์ตขับ 4 ล้อ อย่างอีโวลูชั่น ได้พอดิบพอดีไม่ต้องแปลงเยอะ แถมเจ้า E-CAR วัยรุ่นนิยมนำไปแปลงให้เป็น อีโวลูชั่น แบบง่ายๆได้อีกด้วย
TOYOTA COROLLA AE101
โฉมนี้ เปิดตัวครั้งแรกใน พ.ศ. 2534 โฉมนี้ ได้เริ่มมีการผลิตเกียร์ธรรมดา 6 สปีดขึ้น ควบคู่กับการผลิตรถเกียร์ธรรมดา 5 สปีด และเกียร์อัตโนมัติ 4 และ 3 สปีด เครื่องยนต์ยังมีระบบดีเซล (2.0 ลิตร) และเบนซิน (1.3 , 1.5 , 1.6 , 1.8 ลิตร) ทันทีที่เปิดตัวในไทย โคโรล่าโฉมนี้ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ยอดการจองรถทะลุ 10,000 คันอย่างรวดเร็วกว่าที่โรงงานคิดไว้มาก และยอดจองยังมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้โรงงานโตโยต้าสำโรงจะเร่งผลิตเต็มที่ งัดแผนสำรองมาใช้ แม้กระทั่งสั่งนำเข้ารุ่น LX Limited จากญี่ปุ่นมา 1,000 คัน และเพิ่มราคาขายคันละ 5,000 บาท เพื่อลดการจองซื้อ ก็ยังไม่ทันกับความต้องการของลูกค้า จนสุดท้ายต้องมีการก่อสร้างโรงงานโตโยต้าเกตเวย์ สำหรับทำการประกอบรถยนต์นั่งโดยเฉพาะ
รูปแบบตัวถังมี 6 รูปแบบ เหมือนโฉมโดเรมอน ได้แก่ sedan 4 ประตู , hatchback 3 กับ 5 ประตู , coupe 2 ประตู , liftback 3 ประตู และ station wagon 4 ประตู โฉมนี้ พ่อค้ารถในไทย เรียกว่า “โฉมสามห่วง”เพราะเป็นโฉมแรกของโคโรล่า ที่ตราสัญลักษณ์วงรีไขว้สามวง(สามห่วง)ถูกนำมาใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของโตโยต้า (ก่อนหน้านี้ใช้เขียนเป็นอักษร TOYOTA ไม่ใช่สัญลักษณ์สามห่วง) โฉมสามห่วง เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลโคโรล่า เพราะก่อนนี้ โคโรล่าจะมีลักษณะเป็นรูปทรงเหลี่ยมๆ แต่โฉมนี้ จะเริ่มเปลี่ยนจากความเหลี่ยม เป็นความโค้งมน และรถตั้งแต่โฉมสามห่วงเป็นต้นมา ก็มีความโค้งมนมากขึ้นเรื่อยๆ และโคโรล่าโฉมนี้ เครื่องยนต์แบบคาร์บูเรเตอร์ในรถเก๋งค่อยๆ หายไป จนในที่สุดก็เลิกผลิตไป กลายเป็นแบบหัวฉีดทั้งหมด รถรุ่นนี้แก๊งซิ่งในประเทศไทยนิยมนำมาวางเครื่องยนต์ตระกลู 3S-GTE Air,3S-GTE Non Air , 3S-GTE Direct Coil , 3S-GTE หรือไม่ก็พวกตระกลู 4A-FE, 4A-GE, 4A-GE 20V, 4A-GZE เป็นต้น แรงซะใจมากครับพูดเลย
Mazda 323 Astina POP-UP
หรือชาวไทยรู้จัดกันดีในชื่อรุ่นไฟ POP-UP Astina รุ่นนี้ มีรหัสตัวถัง BG ตอนที่เข้ามาประกอบขายในเมืองไทย รูปทรงที่ออกแนว Sport ต่างจากรถทั่วไปในสมัยนั้น โดยเฉพาะไฟหน้าแบบ Popup อันเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกรถรุ่นนี้ โดยใจวัยรุ่นในยุคนั้นไปแบบเต็มๆราคาตอนเปิดตัวอยู่ที่ 720,000 บาท แพงเอาเรื่องครับ เพราะ Toyota Collola ราคา 5 แสนปลายเอง
Mazda ออกแบบรถรุ่นนี้ไว้ไปในทาง Sport มาก โดยรูปทรงจะเป็นรถ Hatch back 5 ประตู ด้านหน้าต่ำ ด้านท้ายโด่ง ไฟหน้าแบบซ่อนเก็บได้ (Popup) ตามแบบฉบับของรถ Sport ในสมัยนั้น ด้านข้างจะมีเส้นขอบตัวถังลากยาวจากช่วงไฟหน้ารถ ไปยังท้ายรถ กระจกบานหน้าและหลังลาดเอียง โดยประตูบานท้ายออกแบบเป็น Spoiler ในตัว และมีที่ปัดน้ำฝนหลังมาให้ด้วย ห้องโดยสารมีขนาดไม่ใหญ่นัก มีอุปกรณ์ที่จำเป็นในสมัยนั้นมาครบทั้ง กระจกไฟฟ้า, เซ็นทรัลล็อค, พวงมาลัย Power แบบ 3 ก้าน ปรับระดับขึ้น-ลงได้ แต่ยืดหดไม่ได้, เทป และวิทยุ กับลำโพงคู่หน้า เบาะนั่งเป็นทรงซิ่งกึ่งๆBucket Seat ใช้วัสดุหุ้มเป็นผ้ากำมะหยี่ ตำแหน่งเบาะนั่งคู่หน้าต่ำมาก และไม่สามารถปรับขึ้นลงได้ เบาะด้านหลัง แม้จะมีเข็มขัดนิรภัยให้ 3 ที่นั่ง แต่เนื่องจากเบาะนั่งด้านหลังทางซ้ายและขวาจะเป็นหลุมลงไป หากมีผู้โดยสารนั่งตรงกลางคงลำบากน่าดู
Mazda Astina รุ่นนี้มีเครื่องยนต์และเกียร์ให้เลือกแบบเดียวคือ BPD 1.8 จ่ายน้ำมันด้วยระบบหัวฉีด EGI คู่กับเกียร์ธรรมดา 5 สปีด 140 แรงม้า ที่ 6,500 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 16.6 กก.ม. ที่ 4,700 รอบ/นาที ช่วงล่าง และระบบกันสะเทือนทั้งด้านหน้า และด้านหลังเป็นแบบแมคเฟอร์สันสตรัท อิสระ 4 ล้อ โดยจุดเด่นของระบบช่วงล่างของ Mazda ในสมัยนั้นอยู่ที่ด้านหลัง ที่ Mazda เรียกว่า TTL (Twin Trapezoidal Link) หรือปีนกคู่ พอมาถึงมือวัยรุ่นในยุคนั้นนิยมหาเครื่อง BP 1800 TURBOมายัดแทนเครื่องเดิม
และนี่คือรถยนต์ 4 รุ่นยอดฮิตของวัยรุ่นในยุคนั้นแบบเด่นๆที่เห็นเต็มท้องถนนในยุคนั้น ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าท่านที่เกิดทันในยุคนั้นหลายท่านคงต้องมี 1 ใน 4 รถยนต์พวกนี้แน่นอน
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
ขอบคุณภาพ : www.xo-autosport.com/www.gettinlow.com /www.boostcruising.com