4 สิ่งที่ BIKER ควรมี และวิธีเลือก
ยุคสมัยนี้การขี่มอเตอร์ไซด์ดูเหมือนจะฮ๊อตฮิตมาก ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง เพราะนอกจากมันจะสะดวกรวดเร็ว มันส์เร้าใจ แล้ว มันยังสามารถช่วยคุณประหยัดเวลาไม่ต้องเบื่อกับรถติด และออกเดินทางไปท่องเที่ยวขี่ไปกับกลุ่มเพื่อนที่ละหลายๆคัน อีกทั้งการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการออกทริปขี่มอเตอร์ไซด์นี้มันยังได้อารมณ์อริสระอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน แต่อยากว่าครับข้อดีมี ก็ต้องมีข้อเสียหลักๆเลยคือมอเตอร์ไซด์มันไม่มีอะไรมาหุ้มร่างกายเราเหมือนขับรถ เวลาเกิดอุบัติเหตุรถชนรถล้ม เนื้อลงพื้นล้วนๆครับรับรองเจ็บแน่นอน อย่างที่เห็นจากหลายๆคลิปในอินเตอร์เน็ต
แต่เราจะทำอย่างไร หรือมีอุปกรณ์อะไรช่วยให้ผ่อนหนังเป็นเบาได้มั้ย วันนี้เรามี 4 สิ่งที่ควรต้องมีก่อนออกไปออกทริป หรือควรใส่ทุกครั้งก่อนขี่มอเตอร์ไซด์ เพราะอุปกรณ์เซฟตี้ นับว่าเป็นตัวช่วยที่สำคัญสำหรับชาว Biker นอกจากจะมีความเท่แล้วยังช่วยป้องกันได้จริงๆ อีกด้วย แต่ก็มีปัญหาอยู่นิดหน่อยคือ วิธีเลือกในการใช้งาน เพราะอุปกรณ์แต่ละค่ายที่ทำออกมามีความแตกต่างกันมาก ทั้งสรีระและขนาด เลือกอย่างไรจึงจะเหมาะ แล้วใช้งานได้อย่างคุ้มค่า เรามาดูกันว่าการเลือกใช้อุปกรณ์เซฟตี้ที่สำคัญและจำเป็นมีอะไรบ้าง
- หมวกนิรภัยหรือ หมวกกันน๊อค สิ่งจำเป็นอันดับแรกที่สิงห์นักบิดทุกคนต้องมี เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ป้องกันอวัยวะที่สำคัญและบอบบางที่สุดในร่างกาย ดังนั้นการเลือกซื้อหมวกกันน๊อคแต่ละใบ ควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งมีอยู่หลายประเภทตามราคา หมวกทางยุโรบอเมริกาก็จะเป็น DOT ในขณะที่ญี่ปุ่นก็จะเป็น JIS นี่เป็นมาตรฐานขั้นพื้นฐานในการทดสอบ ถ้าเป็นหมวกที่ใช้เฉพาะทางหรือหมวกที่ต้องการความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนมากก็จะให้ผ่านมาตรฐานของ SNELL ซี่งส่วนใหญ่จะเป็นหมวกที่ใช้ในการแข่งขัน
มาดูวิธีการเลือกหมวกกันน๊อค หมวกแต่ละค่ายมีรูปทรงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับประเทศที่ผลิต ซึ่งถ้าแยกออกมาจะมี 2 ทรงเท่านั้น คือ ทรงเอเชีย และ ทรงยุโรป ซึ่งมีความแตกต่างทางสรีระของศีรษะ เพราะของยุโรปความกว้างช่วงหน้าผากจะมีความแคบกว่าของเอเชีย ทำให้คนไทยอย่างเราที่มีศีรษะกลม นำของยุโรปมาใส่ก็จะมีอาการบีบรัดที่หน้าผากและหู เวลาซื้อต้องลองหลายๆ แบบ เอาที่ใส่สบายที่สุด ที่สำคัญต้องกระชับ ไม่หลวม เพราะถ้าหลวมเวลาที่เราบิดคอหมวกจะไม่หมุนตาม อีกอย่างเรื่องอายุการใช้งาน เพราะผู้ผลิตได้บอกไว้ว่า “หมวกกันน๊อคมีอายุการใช้งาน 2 ปี” นับตั้งแต่วันที่ใช้ ไม่ใช้วันที่ผลิตนะครับ
- เสื้อเกราะอ่อน คือเสื้อแจ็คเก็ตที่มี Guard ป้องกันอยู่ตามจุดสำคัญของร่างกายภายในเสื้อ เช่น หัวไหล่ ข้อศอก หรือแผ่นหลัง ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้เวลาเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้เสื้อเกราะอ่อนสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของเสื้อแต่และแบบ เช่น การระบายความร้อน การลดไฟฟ้าสถิตย์ และลดแรงต้านของลม โดยส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ เกราะอ่อนแบบหนัง และ เกราะอ่อนแบบผ้า
เกราะอ่อนแบบหนัง จะมีคุณสมบัติพิเศษคือไม่ต้านลม และลดการเกิดไฟฟ้าสถิตย์ นอกจากนั้นจะได้เรื่องความคงทน ป้องกันได้ดีกว่าแบบผ้า เพราะหนังจะเหนียวกว่าผ้า แต่มีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับความนิยมในเมืองนอกที่มีอากาศไม่ร้อน แต่ถ้าใช้ในเมืองไทยก็ต้องมีทนร้อนกันนิดหน่อย แต่มันเท่อย่าบอกใครเชียว
ส่วนเกราะอ่อนแบบผ้า มีให้เลือกอยู่ 2 ชนิด คือ แบบผ้าเต็มตัว และ แบบระบายความร้อน การใช้งานเหมือนกับเสื้อหนัง คือช่วยปกป้องร่างกายเราไม่ให้กระทบกับพื้นโดยตรง หลักๆ จะมี Guard ที่หัวไหล่ ข้อศอก และแผ่นหลัง ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปตามวัสดุและยี่ห้อ ข้อดีคือเป็นเสื้อที่มีความเหมาะสมกับอากาศเมืองไทยมาก
การเลือกซื้อเสื้อเกราะอ่อนนั้น “ต้องลอง” อย่างเดียวเช่นกัน อย่ายึดติดกับไซส์เสื้อ อย่าลืมว่าเสื้อแต่ละยี่ห้อผลิตกันคนละประเทศ ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับสรีระคนในประเทศนั้นๆ การลองเสื้อประเภทนี้ต้องแนบตัว กระชับ ไม่หลวมจนเกินไป เพราะเวลาขี่รถ Big Bike ลมจะเข้ามาปะทะตัวแรงมาก ถ้าเสื้อใหญ่เกินไปก็จะเกิดอาการต้านลม ส่วนถ้าแน่นเกินไปก็จะอึดอัดไม่สบายตัวเวลาขี่
- ถุงมืออีกอุปกรณ์ป้องกันที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะว่าการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง สิ่งแรกที่จะสัมผัสพื้นก่อนก็คือมือนั้นเอง ถุงมือจะมีหน้าที่เป็นการ์ดช่วยป้องกันเวลาเราล้มหรือกระแทกพื้น คุณสมบัติหลักๆ ของมันก็คือ จะมีการ์ดแข็งบริเวณข้อของนิ้วมือ โดยทั่วไปจะเป็นการ์ดพลาสติกแข็ง หรือการ์ดคาร์บอน เพื่อป้องกันกระดูกนิ้วข้อมือของเรา นอกจากนั้นถุงมือประเภทนี้จะมีความหนาและเหนียวเป็นพิเศษ เพื่อทนต่อการเสียดสี ช่วยลดอาการบาดเจ็บของมือเราได้มากเลยทีเดียว ส่วนวัสดุที่ใช้มีทั้งหนังแท้ หนังเทียม และผ้า ขึ้นอยู่กับการใช้งาน สำหรับการเลือกซื้อถุงมือขี่มอเตอร์ไซค์ อย่างแรกต้องแยกชนิดออกเสียก่อน ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ถุงมือแบบข้อสั้น และ ถุงมือแบบข้อยาวถุงมือข้อยาวจะมีความ Safety มากกว่า เพราะมีชิ้นพลาสติกหรือหนังช่วยป้องกันตั้งแต่ข้อมือขึ้นมาถึงแขน ส่วนใหญ่ใช้อยู่ในระดับการแข่งขันที่ใช้ความเร็วมากๆ ส่วนถุงมือข้อสั้นจะมีคุณสมบัติคล้ายกับถุงมือแบบข้อยาว แต่ความสามารถในการใช้งานอาจจะด้อยกว่าถุงมือแบบข้อยาวนิดหน่อย ตรงที่ช่วย Safety บริเวณข้อมือ นอกนั้นก็คล้ายๆ กัน ส่วนใหญ่จะใช้งานในเมืองเป็นหลัก เพราะสะดวก คล่องตัว ไม่เกะกะ
การเลือกซื้อถุงมือ อย่างแรกก็ต้องดูความเหมาะสมว่าเราใช้งานรถในรูปแบบไหน ถ้าในเมืองก็ต้องการความคล่องตัว แต่ถ้าใช้งานหนักอย่างแข่งขัน ก็ต้องใช้ในลักษณะ Safety เต็มที่แบบถุงมือข้อยาว เมื่อรู้ความต้องการแล้วก็ต้องลองใส่ เพราะมือของแต่ละคนไม่เท่ากัน เอาตามความถนัด ห้ามเลือกถุงมือที่ไซส์ใหญ่เกินไป เนื่องจากเวลาเราบีบคลัทช์ บีบเบรค ถุงมือที่ใหญ่เกินไปจะเคลื่อนที่มาเสียดสีกับนิ้วได้
รองเท้า ก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ร้องเท้าสำหรับใส่ขี่รถ Big Bike จะมีให้เลือก 2 แบบคือรองเท้าบูทยาว (ข้อยาว) และ รองเท้าหุ้มส้นธรรมดา (ข้อสั้น) ความแตกต่างของรองเท้า 2 แบบนี้ก็คือ การใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ไม่เท่ากัน เพราะรองเท้าแบบบูทยาวส่วนใหญ่จะใช้ในสนามแข่งป้องกันข้อต่างๆ บริเวณเท้า อาทิ ข้อเท้า ตาตุ่ม และนิ้วเท้า ให้ได้รับการบาดเจ็บน้อยที่สุด แต่ถ้านำมาใช้งานบนท้องถนนอาจจะเกะกะไปซักหน่อย แตกต่างจากรองเท้าหุ้มส้นธรรมดาที่ได้รับการออกแบบให้ใช้งานในเมือง เพื่อความสะดวกคล่องตัวสูง แต่ก็ให้การป้องกันบริเวณข้อเท้า ตาตุ่ม และนิ้วเท้าเช่นกัน ไม่รวมถึงหน้าแข้งเพราะไม่มีการ์ดปิดบังไว้
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th