มารู้จัก 5 โรคใหม่ที่เป็นแล้วอาจทำใบขับขี่ไม่ได้ในอนาคต
ตามที่มีข่าวออกมาว่าทางกรมการขนส่งทางบกกำลังพิจารณาเพิ่ม 5 โรคใหม่ที่ผู้เป็นจะไม่สามารถทำใบขับขี่ได้จากเดิมที่กำหนดไว้แล้ว 5 โรคคือ โรคเท้าช้าง, โรควัณโรคในระยะแพร่เชื้อ, โรคเรื้อน, โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคติดสารเสพติดให้โทษ โดยโรคใหม่ที่มีข่าวออกมาว่าทางกรมการขนส่งทางบกกำลังหารือกับแพทย์สภาเพื่อเพิ่มเข้ามาให้เป็นโรคที่ไม่สามารถทำใบขับขี่ได้คือโรคลมชัก, โรคเบาหวาน, โรคความดัน, โรคอารมณ์สองขั้ว และโรคออทสติกหรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 ซม. โดยจะมีการสรุปให้ทัน 120 วันนับตั้งแต่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ลองมาทำความรู้จักกับ 5 โรคใหม่ที่ผู้เป็นอาจทำใบขับขี่ไม่ได้ในอนาคตกันว่าอาการเป็นอย่างไร เพราะแม้บางโรคเหล่านี้จะคุ้นหูแต่บางคนอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
โรคลมชัก
โรคลมชักเป็นโรคที่เกิดจากการมีคลื่นไฟฟ้าผิดปกติในสมองทำให้สมองส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดทำงานมากเกินปกติจึงทำให้เกิดอาการชัก โดยเกิดขึ้นได้จากทั้งความผิดปกติทางโครงสร้างสมองซึ่งมีสาเหตุมาจากรอยโรคในสมองเช่นเนื้องอกสมอง เส้นเลือดสมองผิดปกติ, พันธุกรรม, โรคติดเชื้อเช่นไข้สมองอักเสบ, ภาวะความไม่สมดุลย์ของสารน้ำ เกลือแร่ และน้ำตาล รวมทั้งสาเหตุจากภูมิคุ้มกัน
สำหรับอาการของโรคลมชักที่พบได้บ่อยมี 4 ลักษณะคืออาการชักเฉพาะที่ (ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว) เช่นอาการชา หรือกระตุกของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งซ้ำๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้, อาการชักแบบเหม่อลอยซึ่งจะมีอาการข้างต้นนำมาก่อนจากนั้นผู้ป่วยมักทำปากขมุบขมิบหรือเกร็งหรือขยับไปมา เคลื่อนไหวแขนขาอย่างไร้จุดหมายโดยไม่รับรู้สิ่งรอบข้าง, อาการชักแบบกระตุเกร็งทั้งตัว เป็นอาการชักที่เรียกว่า “อาการชักทั่วทุกส่วน” หรือที่เรียกว่าลมบ้าหมู และสุดท้ายคืออาการชักแบบเหม่อนิ่งคือการที่ผู้ป่วยจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายระยะเวลาสั้นๆ คล้ายเหม่อ 2-3 วินาที แล้วจึงกลับมาทำสิ่งที่ทำค้างอยู่ต่อ
โรคเบาหวาน
นี่คือโรคที่ได้ยินกันบ่อยหรือรู้จักกันแทบทุกคน แต่หลายคนอาจไม่ได้รู้รายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้นักว่าจริงๆ แล้วคืออะไร โรคเบาหวานคือโรคที่เกิดความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลีนซึ่งผลิตจากตับอ่อน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ โดยมี 4 ชนิดคือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 ซึ่งเกิดจากตับอ่อนถูกทำลายโดยภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ขาดอินซูลีน มักพบในเด็ก, โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้อต่ออินซูลีนมักพบในผู้ใหญ่ หรือผู้ที่น้ำหนักเกินหรืออ้วน โดยเป็นโรคเบาหวานที่พบมากที่สุด, โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะเช่นโรคของตับอ่อน โรคทางต่อมไร้ท่อ และสุดท้ายคือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์
โดยโรคเบาหวานจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า นอกจากนี้เมื่อปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำลงก็จะส่งผลให้ความสามารถในการขับขี่รถลดลงตามไปด้วย
โรคความดัน
โรคความดันหรือโรคความดันโลหิตมี 2 ลักษณะคือความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตต่ำ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความดันโลหิตของคนเราจะไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทำหรือความเครียด โดยปกติแล้วค่าความดันโลหิตของคนเราอยู่ที่ประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่ไม่ควรสูงเกินกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งหากสูงเกินกว่านี้อาจถูกวินิจฉัยว่าความดันโลหิตสูง และหากต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอทอาจเป็นภาวะความดันโลหิตต่ำ
โดยทั่วไปโรคความดันโลหิตสูงมักพบได้ในผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 40-50 ปีขึ้นไป พบมากในคนอ้วน บุคคลที่มีอารมณ์รุนแรงเคร่งเครียด ตื่นเต้น ตกใจง่าย รวมไปถึงผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน รวมทั้งจากกรรมพันธุ์ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีรสเค็มมากเกินไปก็ยังเป็นสาเหตุของความดันสูงได้ ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเป็นเวลานานจะมีอาการใจสั่น ตาพร่ามัว หรืออาจมีเลือดกำดาวไหลร่วมด้วย และอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่นที่อันตรายตามมา นอกจากนี้การที่หัวใจทำงานหนักก็อาจส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้
ส่วนความดันโลหิตต่ำอาจมีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ การใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงโรคและภาวะต่างๆ ที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ อาการของภาวะความดันโลหิตต่ำคือ เวียนหัว หน้ามืด เป็นลมกระทันหัน ใจสั่น ใจเต้นแรง ตาพร่าเบลอ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย กระหายน้ำ
โรคอารมณ์สองขั้ว
โรคอารมณ์สองขั้วหรือ Bipolar Disorder เป็นอีกโรคที่ได้ยินกันบ่อยมากขึ้นในยุคปัจจุบัน โดยโรคนี้เป็นความผิดปกติทางอารมณ์อย่างหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้ากับช่วงที่อารมณ์ดีหรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้จะกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย สำหรับสาเหตุของโรคเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยเช่น มีความผิดปกติของการสื่อประสาทหรือโครงสร้างในสมอง ความเครียด และพันธุกรรม
อาการของโรคอารมณ์สองขั้วในขณะที่มีลักษณะที่แตกต่างกันคือ ช่วงอารมณ์ดีหรือหงุดหงิดมากกว่าปกติ จะทำให้มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้นหรือคิดว่าตัวเองเป็นใหญ่, นอนน้อย, พูดมากกว่าปกติหรือพูดไม่หยุด, ความคิดแล่นเร็ว, วอกแวกง่าย, อยากทำอะไรหลายๆ อย่างในช่วงเวลานั้น และหมกมุ่นกับกิจกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา ในขณะที่ช่วงอารมณ์ซึมเศร้าจะทำให้ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวันแทบทุกวัน, สนใจกิจกรรมต่างๆ ลดลง, เบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารมากเกิน, นอนไม่หลับหรือหลับมากไป, กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้ามากขึ้น, อ่อนเพลีย, รู้สึกตนเองไร้ค่า, สมาธิลดลง และคิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อยๆ
โรคออทิสติกหรือตัวเตี้ยผิดปกติ 90 ซม.
ออทิสติกเป็นกลุ่มโรคที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมอง ทำให้เกิดปัญหาด้านพัฒนาการทางภาษาและสังคม รวมทั้งพัฒนาการด้านอื่น ซึ่งปัจจุบันแม้ไม่มียาหรือวิธีทางการที่รักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีวิธีการดูแลและรักษาเพื่อให้เด็กที่เป็นออทิสติกสามารถพัฒนาทักษะการเข้าสังคม และการสื่อสาร ให้ดีขึ้น และใช้ชีวิตตามปกติได้ อย่างไรก็ตามจากที่ทางกรมการขนส่งทางบกมีแนวทางว่าอาจไม่ให้ผู้ป่วยโรคนี้ทำใบขับขี่จะเป็นในส่วนของผู้ที่มีความสูงผิดปกติ
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th