5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมมากในประเทศไทย หลายท่านสนใจที่จะเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสักหนึ่งคันนั้น เราจะต้องรู้อะไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลให้อ่านกันครับว่าก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องรู้อะไรบ้างมาอ่านกันครับ
- วิ่งไกลได้แค่ไหน
ก่อนอื่นเลยเราต้องดูระยะทางในการวิ่งซะก่อนว่ารถยนต์ไฟฟ้าคันที่เราหมายตานั้นมันสามารถวิ่งได้ไกลแค่ไหน ต่อ การชาร์จเต็ม 100 % แน่นอนระยะทางที่ผมว่าเหมาะกับการใช้งานที่สุดคือประมาณ 400 กิโลเมตร ขึ้นไปส่วนค่าคำนวนต่างๆที่ต่อท้ายระยะทางวิ่ง คือค่ามาตรฐานของแต่ละโซน เดี๋ยวเรามาดูกันว่าค่าไหนแม่นยำที่สุด
NEDC
New European Driving Cycle เป็นมาตรฐานเก่าที่ใช้งานในทวีปยุโรปตั้งแต่ช่วงปี 1980 เป็นต้นมา ซึ่งจะเป็นการทดสอบการขับขี่ตามทฤษฎีการใช้งานรถยนต์รุ่นนั้นๆ ซึ่งทำให้ตัวเลขการทดสอบมีความแตกต่างจากการใช้งานในโลกความเป็นจริงเนื่องจากทดสอบภายใต้สถานการณ์การขับขี่ที่จำกัด และเป็นการจำลองการขับขี่บนถนนในเมืองและนอกเมืองเท่านั้น ไม่ได้ทดสอบการขับขี่บนทางหลวงและการหยุดนิ่งด้วย ความน่าเชื่อถือของมาตรฐาน NEDC จึงน้อยกว่ามาตรฐานอื่น ๆ
CLTC
China Light-Duty Vehicle Test Cycle เป็นมาตรฐานการทดสอบรถยนต์ของประเทศจีน ซึ่งรถยนต์ที่จัดจำหน่ายในประเทศจีน โดยส่วนมากแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนมักจะใช้มาตรฐานนี้ในการทดสอบ การทดสอบนี้จะทดสอบขับขี่ด้วยความเร็ว 3 แบบ ทั้งความเร็วต่ำ – กลาง – สูง รวมถึงการทดสอบเบรก และการใช้พลังงานขณะรถจอดหยุดนิ่งด้วย ซึ่งมีมาตรฐานและแม่นยำกว่า NEDC นิดนึง
EPA
Environmental Protection Agency สำหรับค่าที่วัดได้จาก EPA ถือว่าใกล้เคียงกับ WLTP เพราะการทดสอบมีหลายรูปแบบมาตรฐานการทดสอบรถยนต์ที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา ขั้นตอนการทดสอบจึงเข้มงวดมาก EPA เลยกลายเป็นมาตรฐานที่แม่นยำที่สุดนั่นเอง และรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในอเมริกาทุกคันก็ต้องผ่านมาตรฐานนี้ด้วย
WLTP
Worldwide Harmonised Light Vehicle Test Procedure เป็นมาตรฐานการวัดระยะทางที่ใช้งานอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากกว่า NEDC และ CLTC จะถูกใช้งานกับรถยนต์แบรนด์ยุโรปโดยบังคับให้รถยนต์ทุกคันที่จัดจำหน่ายในประเทศเครือสหภาพยุโรป ต้องวัดด้วยมาตรฐานนี้ ซึ่งเป็นค่าที่ได้มาตรฐาน แม่นยำ ค่อนข้างตรง และน่าเชื่อถือมากที่สุด
- ชาร์จเร็วได้แค่ไหน
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า นั้นคือการชาร์จไฟ เพราะการชาร์จเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ไฟฟ้านั้นเร็ว หรือช้า ในสเปคส่วนใหญ่จะมีบอกกำลังสูงสุดที่รถรับได้สำหรับการชาร์จเร็ว เช่น แรงดัน 355V ก็จะส่งมาน้อยกว่า 800V เป็นต้น เป็นการวัดความสามารถในการรับพลังงานไฟฟ้าของแบตเตอรี่นั้นเอง ปล. แต่สุดท้ายก็ต้องขึ้นอยู่กับ กระแสไฟทีตู้ชาร์จส่งออกมาด้วย ซึ่งในประเทศไทยตู้ชาร์จปล่อยกระแสแรงๆมีน้อยมาก
- แบตเตอรี่ที่ใช้เป็นแบบไหน
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-ion Battery : Li-ion)
เป็นแบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในวงการรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยมีจุดเด่นคือน้ำหนักเบา อายุการใช้งานนาน ให้พลังงานสูง จ่ายไฟได้เสถียร ชาร์จเร็ว เป็นแบตเตอรี่ประเภทเซลล์แห้ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่าแบตเตอรี่ประเภทอื่น ๆ
แบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต (Lithium-iron Phosphate)
ถัดมาเป็นแบตเตอรี่ลิเธียมที่มีการพัฒนาให้ใช้แร่ฟอสเฟตเป็นตัวเก็บประจุไฟฟ้าและทำงานแทนแร่อย่างนิกเกิลและโคบอลต์ ทำให้มีความเสถียรและปลอดภัยในการใช้งานมากกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ถูกนำไปใช้ใน Tesla Model 3, Ford Mustang Mach-E และ BYD บางรุ่น
แบตเตอรี่โซลิดสเตด (Solid State)
แบตเตอรี่โซลิดสเตด เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของวงการรถยนต์ไฟฟ้า มันสามารถชาร์จไฟฟ้าได้เร็วกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนถึง 4-6 เท่า และมีความปลอดภัยมากกว่า เป็นการนำอิเลกทรอไลต์ชนิดแข็งมาใช้เก็บประจุไฟฟ้าให้ความเสถียร แถมยังมีระยะเวลาในการเก็บนานกว่า โดยยังอยู่ในช่วงพัฒนาจากค่ายรถยนต์ชั้นนำต่างๆ คาดว่าจะมีการนำแบตเตอรี่โซลิดสเตสมาใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าจริง ๆ ในปี 2025 เป็นต้นไป
- ติดตั้งแบตเตอรี่แบบไหน
Cell To Pack (CTP)
เป็นเทคโนโลยีที่ในแบตเตอรี่แพ็คจะประกอบด้วยเซลล์แบตเตอรี่โดยตรง ไม่ต้องใช้โมดูล ลดส่วนประกอบในโครงสร้างและสายไฟของแบตเตอรี่โมดูลออก ลดต้นทุนและลด process ในการประกอบแบตเตอรี่ แต่ CTP ก็มีข้อจำกัดคือ การบำรุงรักษา และการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ยุ่งยากขึ้น จากเดิมที่สามารถเปลี่ยนเป็นโมดูลเป็นก้อนๆ เมื่อโมดูลใดโมดูลหนึ่งเสียหาย ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยกแพ็คเมื่อเซลล์แบตเตอรี่ใดเสียหาย
Cell to Body (CTB)
เป็นการพัฒนาต่อยอดจาก CTP โดยใช้ตัวถังรถเป็นโครงสร้างหลักของแพ็คแบตเตอรี่ แทนที่จะใช้โครงสร้างแยกต่างหาก ง่ายๆคือ การนำเอาเซลล์แบตเตอรี่รวมเข้ากับตัวถังรถโดยตรง ตัวรถทำหน้าที่ปกป้องเซลล์แบตเตอรี่จากการกระแทก และความเสียหายอื่นๆได้ดีขึ้น นอกจากนี้การออกแบบยังช่วยให้ติดตั้งเซลล์แบตเตอรี่ได้แน่นหนาขึ้นช่วยลดความเสี่ยงที่เซลล์แบตเตอรี่จะเคลื่อนตัวและเกิดการลัดวงจรหรือระเบิดได้ และยังเพิ่มความแข็งแรงของตัวถังรถ ต้านแรงบิดของตัวถังเพิ่มความปลอดภัยเมื่อเกิดการชน ข้อเสียคือ มีความซับซ้อนในการออกแบบ ต้นทุนสูง การเข้าถึงและซ่อมแซมเซลล์แบตเตอรี่ ทำได้ยากเนื่องจากถูกผสานรวมเข้ากับตัวถังรถนั้นเอง
CTC (Cell-to-Chassis)
การออกแบบโดยเอาพื้นของห้องโดยสารออกแล้วใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถแทน โดยออกแบบให้ผสานเข้ากับคานและส่วนอื่นๆ ของห้องโดยสาร ข้อดีของ Cell to Chassis คือทำให้ผลิตได้ง่ายมากขึ้นและทำเวลาผลิตได้เร็วขึ้น เป็นการลดต้นทุนอื่นๆ ทำให้ราคารถออกมาดีขึ้น และตัวถังจะมีความแข็งแรง มั่นคง และ มีความบาลานซ์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้รูปแบบอื่นๆ ด้วย ข้อเสียของมันคือ ถ้าแบตเตอรี่เกิดการเสียหายการถอดเปลี่ยนแบตเตอรีนั้นทำได้ยากมากๆ หรือไม่ก็อาจจะต้องเปลี่ยนทั้งตัวถังเลยก็เป็นได้
- ควรใช้มอเตอร์กี่ตัว
การเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้นควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการ และไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต โดยรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไปจะมีรุ่นมอเตอร์เดี่ยว และมอเตอร์คู่ ซึ่งความแตกต่างระหว่างมอเตอร์เดี่ยว และมอเตอร์คู่ คือแน่นอนมอเตอร์คู่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่ามอเตอร์เดี่ยวในด้านของสมรรถนะ ความแรง แต่มันก็จะต้องแลกมาด้วยการที่ใช้พลังงานมากกว่ามากจึงทำให้ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชารจ์หนึ่งครั้งน้อยลง พูดง่ายๆวิ่งได้น้อยกว่ามอเตอร์เดี่ยวนั้นเอง ถ้าพูดเอาตามหลักการใช้งานทั่วไป ของรถไฟฟ้านั้นคือความประหยัด เน้นระยะทางการวิ่ง ไม่ได้เน้นไปที่ความแรง ซึ่งมอเตอร์เดี่ยวก็แรง และขับสนุกมากอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณไม่แคร์กับระยะทางวิ่งที่น้อยกว่า แต่อยากได้ความแรง และออฟชั่นแบบจัดเต็มจัดหนัก มอเตอร์คู่ คือคำตอบของคุณครับ
5 ข้อควรรู้ก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th