7 วิธีขับขี่ปลอดภัยไปกับลูกรัก
พ่อแม่ทุกคนคงเคยผ่านเหตุการณ์ต่อไปนี้มาบ้างแล้ว เวลาที่กำลังนั่งรถไปเที่ยวต่างจังหวัดกับครอบครัว หรือขับรถไปร้านอาหารนอกเมือง
แล้วลูกน้อยของคุณก็เกิดงอแงขึ้นมาเสียอย่างนั้น ทั้งร้องไห้และไม่ยอมนั่งนิ่งๆ แต่ลองคิดดูว่าขนาดผู้ใหญ่ยังรู้สึกเหนื่อยล้าเวลานั่งอยู่ในรถเป็นชั่วโมง ก็คงจะเข้าใจความรู้สึกนั้นได้ แต่เด็กน้อยที่กำลังเกรี้ยวกราดก็อาจจะรบกวนสมาธิของผู้ขับขี่ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ การทนฟังเสียงเด็กร้องอาจทำให้หงุดหงิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรีบรับมือทันที เด็กๆ อาจจะแค่เบื่อ หิว หรืออยากลงจากรถไปวิ่งเล่น เรามี 7 วิธีที่จะทำให้ลูกน้อยของคุณปลอดภัย และนั่งอยู่ในรถอย่างมีความสุข
1. ซื้อเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็ก เข็มขัดนิรภัยและถุงลมนิรภัยนั้นออกแบบมาสำหรับผู้โดยสารที่สูงกว่า 145 เซนติเมตร และหนักกว่า 36 กิโลกรัม ดังนั้นเด็กทารกและเด็กเล็กควรให้นั่งรัดเข็มขัดอย่างปลอดภัยที่เบาะหลัง บนเก้าอี้นิรภัยสำหรับเด็กที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับอายุ ส่วนสูง และน้ำหนักของเด็ก ย้ำนะครับ เด็กควรจะใช้เก้าอี้นิรภัยที่เหมาะสมตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มโดยสารรถแล้วเด็กจะชินกับการนั่งเก้าอี้นิรภัยระหว่างอยู่บนรถไปเอง
2. หมั่นเปลี่ยนเก้าอี้นิรภัย เด็กๆ โตเร็ว พ่อแม่จึงต้องเตรียมซื้อเก้าอี้และเบาะนิรภัยใหม่ให้เหมาะกับอายุ ความสูง และน้ำหนักของลูก ตลอดช่วงวัยเด็ก ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังข้อผิดพลาดบางเรื่อง เช่น การกลับที่นั่งนิรภัยให้หันไปด้านหน้าหรือใช้เบาะนิรภัยเร็วเกินไปไม่เหมาะสมกับขนาดของเด็ก
3.ติดตั้งเก้าอี้นิรภัยให้ถูกต้อง เพราะหลายครั้งที่พ่อแม่มีการติดตั้งเก้าอี้นิรภัยผิดวิธี พ่อแม่ควรจะต้องตรวจเช็คให้แน่ใจว่าติดตั้งเก้าอี้นิรภัยอย่างถูกต้องและอ่านคู่มือการใช้เก้าอี้นิรภัยรวมถึงคู่มือการใช้รถอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถุงลมนิรภัยอาจเป็นอันตรายต่อเด็กถึงชีวิต ดังนั้นจึงห้ามติดตั้งเก้าอี้นิรภัยแบบหันหลังใกล้กับถุงลมนิรภัยที่ยังใช้การได้ โดยปกติแล้ว เก้าอี้นิรภัยจะมีเข็มขัดนิรภัยติดมาด้วย แต่เพื่อการป้องกันอีกขั้น ให้เลือกซื้อเก้าอี้นิรภัยที่มีอุปกรณ์ติดตั้งตามมาตรฐาน ISOFIX เก้าอี้นิรภัยดังกล่าวจะสามารถล็อคติดกับเบาะรถได้อย่างพอดี
4.เป็นแบบอย่างที่ดี การตระหนักถึงความปลอดภัยนั้นเริ่มต้นที่ผู้ดูแลเด็ก ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นจะต้องเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องให้กับเด็กเอง ถึงแม้ทุกวันนี้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าไปมากแล้ว เข็มขัดนิรภัยก็ยังเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ดีที่สุดเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พ่อแม่จึงควรรัดเข็มขัดนิรภัยเป็นตัวอย่างให้แก่ลูกๆ
5.ตั้งกฎระเบียบบนรถ พ่อแม่ควรตั้งกฎข้อบังคับในรถให้ลูกปฏิบัติตามสำหรับเด็กที่โตพอจะเข้าใจได้แล้วกฎพื้นฐานสำหรับครอบครัวก็คือ ให้ขออนุญาตก่อนเมื่อต้องการเปิดหน้าต่างหรือเปลี่ยนเพลง
6.ตั้งกฎระเบียบนอกรถ เมื่ออยู่ด้านนอกรถเด็กอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากรถได้ ดังนั้นจึงไม่ควรละสายตาจากเด็กเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีรถคนขับรถที่กำลังจอดหรือถอยอาจมองไม่เห็นเด็กตัวเล็กๆได้ ให้จูงมือเด็กเมื่ออยู่ข้างนอก บนฟุตบาท และบริเวณลานจอดรถ
7.ดึงดูดความสนใจให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย
นำหนังสือหรือของเล่นที่เด็กชอบขึ้นรถไปด้วยเพื่อให้เด็กไม่เบื่อและป้องกันการรบกวนสมาธิคนขับขนมและเครื่องดื่มก็สามารถช่วยให้เด็กสงบลง และอย่าลืมแวะเข้าห้องน้ำเด็กอาจจะบ่นว่าหนาวหรือร้อนเกินไปจึงควรหมั่นตรวจสอบอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศที่บริเวณเบาะหลัง และห้ามทิ้งเด็กไว้บนรถโดยลำพังเด็ดขาดอุณภูมิที่สูงเกินไปเพียงชั่วครู่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตความร้อนอาจทำเกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรงต่างๆ รวมไปถึงการกระทบกระเทือนทางสมองโดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษ
บางครั้งถึงจะทำตามวิธีเหล่านี้แล้ว เด็กก็อาจจะยังบ่นหรือดิ้นอยู่ที่เบาะหลัง คุณพ่อคุณแม่ควรจะใจเย็นและหาที่ปลอดภัยเพื่อจอดรถพักหากจำเป็น และให้ระมัดระวังเวลาขับขี่บนท้องถนนอยู่เสมอ เพราะเจ้าตัวน้อยบนเบาะหลังกำลังเฝ้ามองคุณซึ่งจะส่งผลถึงพฤติกรรมการขับขี่ของลูกเมื่อเติบใหญ่ในวันข้างหน้า
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ภาพ :9monthsandforever.co.uk
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th