7 ข้อควรรู้ เมื่อไฟแนนซ์มา ยึดรถ !! ยึดเองไม่ได้จำไว้ – Grandprix online
7 ข้อควรรู้ เมื่อไฟแนนซ์มายึดรถ จากที่เป็นข่าว สาวถูกไฟแนนซ์ทวง ยึดรถ หลังค้างจ่าย 7 งวด เหยียบคันเร่งพุ่งชน ทับขาหนึ่งในพนักงานบาดเจ็บ
แต่ก็เห็นกันบ่อยในสังคมเมืองไทย จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรามองแบบเป็นกลางไม่เข้าข้างฝั่งไหน สาวที่ค้างส่งค่างวดรถก็ผิดและไม่สมควรทำแบบนี้ครับ ผิดที่ค้างส่งค่างวดรถถึง 7 เดือน ซึ่งผมเชื่อว่าทางธนาคารต้องสั่งฟ้องไปแล้ว แต่ทางฝั่งไฟแนนซ์ หรือธนาคารใหญ่นั้นก็ผิดครับ ผิดที่ไม่ควบคุมดูแลพนักงาน หรือบริษัทที่รับจ้างทวงของพวกนี้ ส่งคนไปยึดรถโดยไม่มีสำสั่งจากศาลอันนี้ผิดแบบเต็มๆครับ
เอาละครับเหตุการณ์มันเกิดขึ้นไปแล้ว หวังว่าคงจะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกนะครับ บ้านเมืองมีกฎหมายปล่อยให้กฎหมายตัดสินดีกว่าครับคุยกันดีๆอย่าใช้อารมณ์ดีที่สุด เราควรพูดคุยสอบถามไปยังบริษัทไฟแนนซ์นั้นๆก่อนว่าส่งคนมาจริงหรือเปล่าเช็คให้แน่ใจ แต่อย่างไรก็ตามอย่าเพิ่งยอมให้ยึดรถไปเด็ดคาดนะครับ วันนี้เรามีข้อมูลดีๆมาฝากกันว่าเมื่อไฟแนนซ์จะทำการยึดรถเราควรทำอย่างไร
วิธีรับมือหากท่านกำลังถูกไฟแนนซ์ขู่ยึดรถ ให้ใจเย็น ๆ ไม่ต้องตกใจนะครับไฟแนนซ์สามารถยึดรถได้ต่อเมื่อผิดชำระค่าเช่าซื้อ 3 เดือนขึ้นไป หรือต้องมีคำสั่งจากศาลเท่านั้น
- คุณจงจำไว้ว่า ไฟแนนซ์จะสามารถยึดรถเราได้ต่อเมื่อ เราค้างชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกันขึ้นไป ก่อนยึดรถอีก 1 เดือน รวมเป็น 4 เดือน ซึ่งบางครั้งอาจจะนานกว่านี้ด้วยซ้ำ ซึ่งถ้าไฟแนนซ์ยึดรถก่อนหน้านี้จะมีความผิดตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งคุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องสัญญาดังนั้นผู้เช่าซื้อต้องอย่ายอมให้ยึดรถ และให้เรียกตำรวจมาเป็นพยานหากเราไม่ยินยอมให้ยึดรถ ไฟแนนซ์ไม่สามารถบังคับ หรือข่มขู่เราได้
- ไฟแนนซ์มักขู่เรียกค่าเสียหายสูง ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่สามารถเรียกค่าใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ การค่าเสียหายเรียกได้ตามค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ดังนั้นผู้เช่าซื้ออย่าวิตก
- หากเราไม่ยินยอมให้ยึดรถ ไฟแนนซ์จะยึดรถไม่ได้ และถ้ามีการบังคับขู่เข็ญ หรือไล่ให้ผู้เช่าซื้อลงจากรถ หรือกระชากกุญแจรถไป หรือแม้แต่เอากุญแจสำรองมาเปิดรถ และขับหนีไปถือว่าทำความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และถ้ากระทำการโดยมีอาวุธหรือร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพราะฉะนั้นถ้ามีคนกระทำการดังกล่าวให้ถ่าย รูปหรือบันทึกเสียงไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งความดำเนินคดีอาญาได้เลย สามารถแจ้งความได้ทันทีหากถูกบังคับ หรือยึดรถไปด้วยวิธีไม่สมัครใจ
- ข้อนี้สำคัญครับ ถ้าคุณไม่ได้แคร์การติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโร ไม่ควรให้ไฟแนนซ์ยึดรถไม่ว่าในกรณีใด ๆ เพราะถ้าถูกยึดรถแล้วเราก็จะหมดอำนาจต่อรองทันที และหลังจากยึดรถไปแล้ว ไฟแนนซ์จะนำรถของเราไปขายทอดตลาดในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก ซึ่งส่วนมากมักจะไม่พอจ่ายหนี้ที่เราเป็นอยู่ และไฟแนนซ์จะเรียกค่าเสียหายจากเรา พูดง่าย ๆ ว่า ‘รถไม่มีแต่หนี้ยังอยู่’ นั่นเอง
- ในกรณีที่เราถูกยึดรถไปแล้ว และไฟแนนซ์มีหนังสือแจ้งให้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ อย่าตกใจให้หาทนายสู้คดี เพราะค่าเสียหายของไฟแนนซ์มักจะสูงจนเว่อร์ แต่ศาลมักพิพากษาให้จ่ายเพียง 30% หรือครึ่งเดียวเท่านั้นไม่มีเงินจ่ายไฟแนนซ์ ไม่ต้องติดคุก เพราะเป็นคดีแพ่งเท่านั้น
- เมื่อแพ้คดี ไฟแนนซ์จะยึดทรัพย์ของเราที่ถือครองในนามลูกหนี้เพื่อชดใช้ค่าเสียหาย แต่ถ้าเราไม่มี หรือเป็นทรัพย์ที่ถือครองโดยญาติ พี่น้อง ไฟแนนซ์ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้ เพราะฉะนั้นจะไม่มีใครเดือดร้อนเพราะคุณแน่นอน
- คำถามที่หลายคนสงสัย และเป็นกังวลว่า ‘ถ้าไม่มีเงินจ่ายไฟแนนซ์จะติดคุกหรือไม่’ คำตอบคือไม่ครับ เพราะเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญา และการเป็นหนี้ไฟแนนซ์ ไม่ต้องลาออกจากงาน เพราะไม่มีผลกระทบต่อหน้าที่การงาน การเป็นหนี้สินถือเป็นเรื่องส่วนตัว ไฟแนนซ์ไม่สามารถนำเรื่องส่วนตัวไปประจานให้เพื่อนร่วมงาน หรือผู้บังคับบัญชาของลูกหนี้รับรู้ได้ ถ้าทำถือว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเราสามารถฟ้องได้ครับ
แต่อย่างไรก็ตามบทความนี้เป็นเพียงวิธีการป้องกันการข่มขู่ และการเสียเปรียบ แต่อย่าเอาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนะครับ สุดท้ายขอขอบคุณข้อมูลจาก ทนายพี นะครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
ภาพ : topclassactions.com / www.dreamstime.com / www.sanook.com
ข้อมูล : ทนายพี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th