9 โรคเสี่ยง ที่ไม่ควรขับรถ
โรคประจำตัวหรือปัญหาทางสุขภาพ นับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สำหรับโรคหรือปัญหาสุขภาพที่มีผลต่อสมรรถนะในการขับขี่ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอันตรายต่อตนเอง ยังส่งผลต่อผู้ใช้รถใช้ถนนที่ร่วมทางด้วย เรามาดูกันว่า 9 กลุ่มโรคและปัญหาสุขภาพเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังมีอะไรกันบ้าง
1.โรคที่เกี่ยวกับสายตาต้อหิน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถในเวลากลางคืนแล้วมองไม่ชัด ส่วนคนเป็นต้อหินทำให้มุมสายตาแคบลง มองเห็นภาพส่วนรอบได้ไม่ดี และมองเห็นแสงไฟบอกทาง หรือไฟหน้ารถพร่าได้
2.โรคทางสมองและระบบประสาท ที่ทำให้มีอาการหลงลืม การตัดสินใจช้าและสมาธิไม่ดี
3.โรคหลอดเลือดสมอง ทำให้แขนขาไม่มีแรงขับรถ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก หรือเปลี่ยนเกียร์ สมองสั่งให้แขนขาทำงานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ความไวของการตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ลดลง
4.โรคพาร์กินสัน มีอาการแข็งเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง ทำให้ขับรถได้ไม่ดี
5.โรคลมชัก ในสภาวะที่ควบคุมอาการชักไม่ได้ จำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องจนปลอดอาการของโรค และไม่เกิดอาการชักอย่างน้อย 1 ปีจึงจะปลอดภัยเพียงพอในการขับรถ
6.โรคไขข้อ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการขับรถ เช่น ข้อเข่าเสื่อม ทำให้เหยียบเบรกได้ไม่เต็มที่ ข้อเท้าอักเสบปวดจากโรคเก๊าต์ ทำให้ขยับลำบาก โรคกระดูกคอเสื่อม ทำให้ปวดคอ เอี้ยวคอดูการจราจรได้ลำบาก หรือมีอาการปวดหลังจากกระดูกหลังเสื่อม ทำให้ นั่งขับรถได้ไม่นาน
7.โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง อาจมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก วูบ หมดสติ ระหว่างขับรถ
8.โรคเบาหวาน ที่ควบคุมยังไม่ได้ ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้มีอาการหน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดี ตาพร่า
9.การกินยาบางชนิด มีผลทำให้ง่วงซึมหรือง่วงนอน มึนงง สับสนได้เวลาขับรถ และทำให้การ ตัดสินใจ สมาธิ และความรวดเร็วในการตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ช้า ควรปรึกษาแพทย์ว่ายาที่กินมีผลต่อสมรรถนะในการขับรถหรือไม่
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRAND PRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th