มองสาเหตุอุบัติเหตุบิ๊กไบค์และรถมอเตอร์ไซค์ผ่านการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุ
เนื่องจากความสะดวกในการเดินทางมากกว่ารถยนต์รวมทั้งมีราคาที่ถูกกว่าจึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะสำหรับการเดินทางส่วนตัว ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนทั้งรถมอเตอร์ไซค์ที่มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กความจุไม่มากไปจนถึงรถที่มีเครื่องยนต์ความจุสูงหรือที่เรียกว่าบิ๊กไบค์มียอดจดทะเบียนรวมกันประมาณ 20 ล้านคันทั่วประเทศ และแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาจากจำนวนประชากร 2 ล้อที่มากก็คือจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับพาหนะประเภทนี้มากขึ้นตามไปด้วย จนขึ้นแท่นเป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุอันดับหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งหลายๆ ครั้งที่การเกิดอุบัติเหตุสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินไม่เฉพาะผู้ขี่มอเตอร์ไซค์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้อื่นด้วย ดังนั้นจึงมีความพยายามที่จะลดอุบัติเหตุในมอเตอร์ไซค์ลง โดยหนึ่งในความพยายามนี้คือ การศึกษาวิจัยถึงสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของบิ๊กไบค์ และ มอเตอร์ไซค์ในชื่อ โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ โดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอุบัติเหตุบนถนน ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ลองมาดูถึงสิ่งที่ได้จากศึกษานี้ดู
ผลลัพธ์จากโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ
หลังการเก็บข้อมูลจำนวน 600 กรณีในโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ได้มีผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้รายงานถึงผลลัพธ์ออกมาว่า “ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบิ๊กไบค์ รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่น หรือชนกับวัตถุ หรือสิ่งก่อสร้างข้างทาง และรูปแบบการเกิดอุบัติเหตุที่พบบ่อยมากที่สุดคือการเลี้ยวตัดการจราจรทางตรงที่จุดตัดรูปแบบต่างๆ เช่น จุดกลับรถทางแยกหรือทางเข้าออกในซอย ซึ่งควรมีความพยายามลดความเสี่ยง ณ จุดเสี่ยงเหล่านี้ให้มากกว่านี้อย่างการสร้างเป็นวงเวียนแทน”
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง
นอกจากนี้ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยยังได้ระบุว่าสาเหตุสำคัญอันดับต้นๆ ของการเกิดอุบัติเหตุว่ามาจากตัวบุคคลเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแบ่งเป็นสาเหตุความผิดพลาดของผู้ขับขี่เอง 54 เปอร์เซ็นต์ และมาจากความผิดพลาดของรถคันอื่น 40 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนสาเหตุความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ที่ทำให้เกิดอุบัตเหตุเมื่อเรียงลำดับจากสาเหตุที่เกิดสูงสุดมาจากการประเมินสถานการณ์ 52 เปอร์เซ็นต์ การทำผิดกฎจราจร 32 เปอร์เซ็นต์ ความไม่ตั้งใจขับขี่ 26 เปอร์เซ็นต์ ความผิดพลาดในการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน 21 เปอร์เซ็นต์ และความผิดพลาดในการควบคุมรถ 19 เปอร์เซ็นต์
การขาดทักษะส่งผลต่อความรุนแรงของอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ในการศึกษายังพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุมีถึง 48 เปอร์เซ็นต์ ที่ผู้ขับขี่ไม่ได้หลบหลีกสิ่งกีดขวางหรือเบรกเพื่อหลบเลี่ยงการชน ซึ่งส่วนใหญ่ของสถานการณ์คับขันนี้แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกะทันหัน แต่กลุ่มผู้ขับขี่รถมอเตอร์เตอร์ไซค์ที่ประสบอุบัติเหตุก็มีสภาพร่างกายปกติ ไม่มีอาการง่วงหรือมึนเมา และยังขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 30-60 กม./ชม. จึงอาจสรุปได้ว่า ผู้ขับขี่ที่อยู่ในสภาวะปกติแต่เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝัน ขาดทักษะในการคาดการณ์และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า จนทำให้ผลของอุบัติเหตุรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น
ขาดการอบรมที่ถูกต้อง
อีกประเด็นที่พบจากการศึกษาของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยก็คือ พบว่ามี 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้ประสบอุบัติเหตุที่ไม่มีใบขับขี่ ในขณะที่กับส่วนของผู้มีใบขับขี่ก็ยังพบว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วมีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่หลบหลีกหรือเบรก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่มีกระบวนการวัดสมรรถนะของผู้ขับขี่ หรือทักษะที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพื่อให้ได้ใบขับขี่ เพราะมีผลสำรวจที่แสดงว่า 85 เปอร์เซ็นต์อุบัติเหตุเกิดจากผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการอบรมการขับขี่ที่ปลอดภัย เพราะส่วนใหญ่มักเรียนการขี่มอเตอร์ไซค์จากสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือฝึกด้วยตนเอง
เมาแล้วขับขี่ยังเป็นสาเหตุสำคัญ
ในส่วนของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่มอเตอร์ไซค์ซึ่งถูกมองว่าเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ แม้จะไม่ได้มีจำนวนเปอร์เซ็นต์ที่สูงเมื่อเทียบกับสาเหตุอื่น แต่จากการศึกษาก็พบว่ามีถึง 15 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดเกี่ยวเนื่องกันคือ ทั้งมึนเมาและไม่สวมหมวกกันน็อกในผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ประสบอุบัติเหตุ
บทสรุปจากการศึกษา
บทสรุปของรายงานผลการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุจากจำนวนอุบัติเหตุ 600 กรณีจากสถาบันวัจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยคือ
“จากข้อค้นพบทั้งหมด นำไปสู้การแก้ไขปัญหา 2 ประการคือ ผู้ขับขี่ยังขาดทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย ขาดความสามารถในการขับขี่ และผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ยังขาดการเรียนรู้ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เห็นได้จากผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ไม่ทราบหรือไม่สามารถตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อตัวเอง และไม่สามารถตัดสินใจได้ทันทีเพื่อหลบหลีกวัตถุเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คับขับ”
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th