เทคโนโลยีล้ำสมัย ของรถยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบัน ช่วย “เพิ่ม” ความปลอดภัย หรือ ชะล่าใจ !!! … เงื่อนไขง่ายๆ แค่ “ใช้ให้เป็น”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ “เทคโนโลยี” คือ สิ่งที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เกือบ 100% รวมไปถึงในโลกของวิศวกรรมยานยนต์ ที่แต่ละผู้ผลิตต่างก็มีแนวคิดล้ำๆ มานำเสนอ และต่อยอดไปสู่การพัฒนา เพื่อสร้างการอำนวยความสะดวกสบาย และความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนนมากที่สุด ซึ่งนั่น คือ “วัตถุประสงค์หลัก” ที่หลายๆ บริษัทฯ ต้องการนำเสนอ
แต่ดูเหมือนท้ายที่สุดแล้ว การรับรู้ของผู้บริโภค มักจะมาพร้อมกับการ “ตีความ” ที่เหนือกว่า “วัตถุประสงค์หลัก” ชนิดที่พูดได้เต็มปาก เต็มคำ ว่า “คาดหวัง” ในความสามารถของ “ระบบ” ให้ทำหน้าที่ออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างความปลอดภัยในการขับขี่ได้สูงสุด
แต่หลายๆ คนคง “ลืม” อะไรไปอย่าง เพราะถ้าหาก “ตา” ยังต้องมองถนน, “มือ” ยังต้องจับพวงมาลัย และ “เท้า” ยังต้องควบคุมเบรก กับคันเร่ง ล่ะก็ … “ผู้ขับขี่” นี่แหละ คือ “หัวใจหลัก” … ฉะนั้น ระบบความปลอดภัย หรือเทคโนโลยีล้ำๆ อะไรก็ตาม จึงควรตีความว่าเป็นเพียงแค่ “ตัวช่วย” เท่านั้น … ที่สำคัญ ควรศึกษา และทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะความล้ำสมัยของเทคโนโลยีบางระบบก็เหมือนกับ “ดาบสองคม” ที่ไม่ควร “ชะล่าใจ” เพราะการฝากความหวังเอาไว้อาจกลายเป็น “หายนะ” แบบที่คาดไม่ถึงก็เป็นได้
ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสบายอย่าง Adaptive Cruise Control หรือที่หลายๆ ค่ายเรียกว่า “ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน” โดยระบบนี้ เป็นการพัฒนาขึ้นมาจาก Cruise Control หรือ “ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ” ปกติ
โดยหน้าที่ของ Adaptive Cruise Control ก็คือ สามารถปรับความเร็วรถของเรา ได้ตามรถคันหน้า เช่น ในกรณีที่ไม่มีรถอยู่ด้านหน้า เมื่อเราล็อคความเร็วเดินทางเอาไว้ที่ 120 กม./ชม. รถของเราก็จะใช้ความเร็วที่ 120 กม./ชม. แต่หากมีรถด้านหน้าที่ความเร็วช้ากว่า เช่น 100 กม./ชม.
ระบบจะทำการชะลอความเร็วรถของเราให้เท่ากับรถคันข้างหน้า คือ 100 กม./ชม. ภายใต้ระยะห่างที่ปลอดภัย โดยส่วนใหญ่จะใช้กล้อง, เซ็นเซอร์ หรือไม่ก็ เรดาห์ เป็นตัวจับ ซึ่งจะสามารถกำหนดความห่างได้หลักๆ คือ ใกล้, กลาง และไกล จะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่ความพอใจของผู้ขับขี่ที่คิดว่า “ปลอดภัย”
เรียกได้ว่าเป็นออพชั่น ที่ทำให้เดินทางไกลได้แบบสบายๆ โดยไม่ต้องมานั่งเมื่อยเท้า เมื่อยขา ขนาดว่ายกขึ้นมานั่งขัดสมาธิ แล้วบังคับพวงมาลัยเพียงอย่างเดียวก็ได้ … แต่ลืมคิดไปรึเปล่าว่าระบบ Adaptive Cruise Control เค้าทำการตรวจจับ ระยะห่าง และความเร็วของรถคันหน้าเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเจอขาซิ่งมาจากด้านข้าง แล้วโฉบเข้ามาแทรกระหว่างกลางล่ะอะไรจะเกิดขึ้น !!!
คำตอบก็คือและระยะห่างของรถคันที่โฉบเข้ามาแทรกกลางทันที และสั่งชะลอความเร็วรถของเราให้เท่ากับรถคันหน้า ด้วยระยะห่างตามที่เรากำหนดไว้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นใกล้เคียงกับอาการ “เบรกกะทันหัน” จนอาจจะเกิดภัยร้ายแถวๆ ท้ายรถได้อย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ข้อจำกัดอีกอย่างของ ระบบ Adaptive Cruise Control ก็คือ “ทางโค้ง” ยกตัวอย่างด้วยกรณีเดียวกัน ความเร็วรถเรา 120 กม./ชม. ตามรถคันหน้าที่ความเร็ว 100 กม./ชม. นั่นหมายถึง รถของจะเราถูกอั้นให้จำกัดอยู่ที่ 100 กม./ชม. ขับกันไปเพลินๆ เกิดรถคันหน้าตกใจอะไรซักอย่าง หักหลบไปอีกเลนแบบกะทันหัน หรือ เกิดหักเลี้ยวโค้งที่มีองศาเยอะๆ จนหายไปจากการตรวจจับของระบบ
สิ่งต่อมาที่จะเกิดกับรถเราก็คือ “ความเร็ว” ที่จะถูกเพิ่มขึ้นทันที เพื่อกลับไปสู่ความเร็วเดิม คือ 120 กม./ชม. แถมยังพนันได้ว่าคุณจะเจออะไรซักอย่างแบบที่ทำให้รถคันหน้าเจอแน่นอน มากกว่านั้นก็คือความเร็วของรถคุณที่ตอนนี้มากกว่ารถคันหน้าไปเรียบร้อย
อีกหนึ่งระบบที่อยากแนะนำให้ใช้งานเหมาะสมกับสถานการณ์ คือ Lane Departure Warning หรือ ระบบเตือน เมื่อรถออกนอกช่องจราจร โดยระบบนี้จะมีกล้อง หรือเรดาห์ ทำหน้าที่ “อ่านเส้นจราจร” บนถนนที่ตีช่องแบ่งเลน และสามารถมองเห็นอย่างชัดเจน
ส่วนหลักการทำงาน คือ หากมีการเปลี่ยนเลนในขณะขับขี่และไม่เปิดไฟเลี้ยว ระบบจะตีความว่าผู้ขับขี่ไม่พร้อมควบคุมรถ และเริ่มทำการเตือน ซึ่งการเตือนจะมีหลายรูปแบบ เช่น เสียง, สัญญาณไฟบนมาตรวัด หรืออาจจะเป็นการสั่นที่พวงมาลัย แต่ถ้าอัจฉริยะมากหน่อย อันนี้จะมาพร้อมระบบ Lane Keep Assist ดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ เพิ่มเติมอีกด้วย
โดยถ้าเลือกได้ วิธีเตือนด้วยการดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ คือ วิธีที่ควรเลือกใช้งานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น เดินทางไกล หรือ บนการจราจรที่ไม่คับคั่งมากนัก เพราะจากประสบการณ์ตรงที่ผ่านมา กับยนตรกรรมยุโรปบางรุ่น น้ำหนักของพวงมาลัยในการดึงกลับ อาจจะคิดว่าเบากว่าการกระชากนิดเดียวก็ได้ สำหรับผู้หญิง รวมถึงผู้ชายด้วยถ้าหากไม่คุ้นชิน
แต่ประเด็นที่เราบอกว่าควรใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็การใช้งานในเมืองที่บางจังหวะโดนรถพุ่งออกจากซอยมาตัดหน้า หรือมีอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนเลนกะทันหัน ซึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านหน้า จึงทำให้คุณไม่ทันได้เปิดไฟเลี้ยว … นั่นแหละครับ คือ จุดที่ทำให้ Lane Departure Warning ทำงาน ซึ่งอาจจะแถมมาด้วยการเตือนจากวิธีดึงพวงมาลัยกลับอัตโนมัติ แน่นอนครับ “บันเทิง”
แถมถ้าไม่ทำการศึกษา หรือทำความคุ้นเคยกันระบบต่างๆ มาก่อน บางครั้งมันก็อาจจะทำให้คุณตกใจขาดสติ จนกระทั่งเลยเถิดไปเกิดเรื่องใหญ่ได้ อย่างที่เรายกตัวอย่างคร่าวๆ ให้ฟัง … ฉะนั้นเราจึงอยากแนะนำให้เอื้อมมือไปเปิดลิ้นชักเก็บของใต้คอนโซลหน้าฝั่งผู้โดยสารดู แล้วจะพบว่ามีอะไรซักอย่างที่เรียกว่า “คู่มือรถ” รออยู่
สงสารเค้าหน่อยเถอะครับ บางคนซื้อรถตั้งแต่ป้ายแดงมาใช้ วิ่งไปเป็น 4-5 แสนกิโลเมตร แต่ “คู่มือรถ” ยังสภาพเบิกห้างอยู่ในซีลพลาสติก อันนี้ก็ไม่ไหว ยังไงก็ลองเปิดอ่าน เปิดศึกษา ซักหน่อยเถอะครับ เพื่อให้ใช้รถ และใช้ระบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญมากๆ ก็คือ ควรมีสมาธิในขณะขับขี่เป็นประเด็นหลัก ส่วนระบบ และเทคโนโลยีต่างๆ ก็พึ่งพาได้ แต่ไม่ใช่ “ไว้ใจ” ไปทั้งหมด จนเกิดความ “ชะล่าใจ” เพราะปลอดภัยได้มากน้อยแค่ไหน ผู้ขับขี่เท่านั้นเป็นคนกำหนด
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th