เทียบฟอร์ม All-New Isuzu D-Max กับกระบะคู่แข่งในตลาดเมืองไทย
หลังจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายสัปดาห์ก่อน หลายคนคงอยากรู้ว่าพลานุภาพของ All-New Isuzu D-Max จะพลิกโลกคว่ำกระบะของคู่แข่งลงไปกองได้สำเร็จหรือไม่?
ทำให้ทีมงาน Grand Prix Online เลือกไฮไลต์สำคัญอย่างเครื่องยนต์, เทคโนโลยี และระบบความปลอดภัยของกระบะที่ขายอยู่ในประเทศไทยมาเทียบกันให้เห็นเลยว่ามีจุดเด่น-ข้อแตกต่างกันตรงไหนอย่างไร เพื่อให้คุณตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น!!!
All-New vs. Minor Change… จะอยู่กันไปอีกนานอีกแค่ไหน
แน่นอนว่าตอนนี้ D-Max เจเนอเรชั่นที่ 3 เป็นรถกระบะที่ใหม่สุดในตลาดเมืองไทย (รวมถึงหลายๆ ประเทศทั่วโลก) มาลองไล่เลี่ยกันดูว่าคู่แข่งจากค่ายอื่นอยู่ในตลาดมายาวนานแค่ไหนกันบ้าง
- Chevrolet Colorado (2011): เริ่มต้นจากค่ายพันธมิตรเก่าของ Isuzu กระบะสัญชาติอเมริกันเป็นพื้นฐานการพัฒนาร่วมกับ D-Max เจเนอเรชั่น 2 และเอสยูวี Isuzu Mu-X ที่เปิดตัวในปี 2013 ด้วยอายุของ Colorado การปรับโฉมย่อยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาเป็นแค่เพียงการอัพเดตเทคโนโลยี และเพิ่มพาร์ทสไตล์ลุยๆ เข้ามาเพื่อประคองยอดขายมากกว่า ก่อนที่กระบะเจเนอเรชั่นใหม่ของพวกเขาจะเผยโฉมในอีกราว 1-2 ปีนับจากนี้
- Ford Ranger (2011): ถือเป็นโมเดลที่ทำให้ค่ายอเมริกันเจ้านี้ปักหลักในเมืองไทยได้อย่างมั่นคง และทำยอดขายจนขึ้นมารั้งอันดับ 3 ในกลุ่มรถกระบะ ก่อนจะไมเนอร์เชนจ์รอบใหญ่เมื่อกลางปีที่แล้ว ด้วยการจับเครื่องยนต์เทอร์โบใหม่มาใส่จนเจ้าตลาดอย่าง Isuzu และ Toyota แก้เกมกันแทบจะไม่ทัน โดยคาดว่าโมเดลนี้จะยืนระยะขายไปอีกพักใหญ่ๆ
- Mazda BT-50 Pro (2012): กระบะของ Mazda ในเจเนอเรชั่นนี้เป็นการพัฒนาร่วมกับ Ford แตกต่างที่เพียงหน้าตามีการปรับดีไซน์ให้เป็นไปตามเอกลักษณ์ของแบรนด์ รูปทรงตัวถังใกล้เคียงกันมาก แต่ค่ายรถจากเมืองฮิโรชิม่าย้ายไปจับมือกับ Isuzu เพื่อพัฒนากระบะใหม่มาตั้งแต่ปี 2016 และคาดหวังเราจะได้เห็นกระบะยุค Skyactiv x Blue Power ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020
- Nissan Navara (2014): เป็นอีกรายที่เลือกประเทศไทยเป็นเวทีเวิลด์พรีเมียร์เปิดตัวรถกระบะไซส์กลาง ถึงจะทำยอดขายไม่สูงอย่างที่คาดหวัง แต่อย่าลืมว่าไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญของ Nissan ทำให้ระยะหลังพวกเขาเลือกจะมาแนวทางเดียวกับ Chevrolet ด้วยการเสริมชุดแต่งใหม่เป็นโมเดลประจำปีไปเรื่อยๆ ก็พอจะประครองยอดขายในประเทศไปได้
- Mitsubishi Triton (2014): กระแสช่วงแรกไม่แรงอย่างที่คิด ด้วยดีไซน์ที่ปรับเปลี่ยนจากเจเนอเรชั่นก่อนไม่มากนัก ถึงจะใส่เครื่องยนต์ใหม่มาก็ตาม กว่าจะถูกใจลูกค้าชาวไทยก็ต้องรอไมเนอร์เชนจ์รอบใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หลังจากยกกระจังหน้า Dynamic Shield ที่ดุดันล้ำสมัยมาใส่ จนทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูดทันที
- Toyota Hilux Revo (2015): ดูเชิงคู่แข่งอยู่นานร่วมปีกว่าจะยอมเปิดผ้าคลุมโชว์เจเนอเรชั่นที่ 8 ของกระบะ Hilux ในเดือนพฤษภาคม 2015 ระยะหลัง Toyota มีการปรับเปลี่ยน และเพิ่มรุ่นย่อยให้รถกระบะของพวกเขาแทบจะทุกไตรมาส นับตั้งแต่จับทางถูกใส่ชุดแต่ง Rocco เข้ามาเพิ่มเมื่อปลายปี 2017 ให้ความดุดันสมเป็นรถกระบะอย่างที่ลูกค้าชาวไทยรอคอย แต่เรื่องจะมีการเปิดเครื่องยนต์ใหม่ออกมาข่มคู่แข่งหรือไม่ บอกเลยว่ายาก! รอโมเดลเชนจ์อย่างเดียว
- MG Extender (2019): แบรนด์รถสัญชาติอังกฤษภายใต้กลุ่มทุนจีน กระโดดเข้าสู่ตลาดรถกระบะอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยคำนิยาม “กระบะพันธ์ยักษ์” เหมือนต้องการข่มบรรดาเจ้าตลาด แต่กลายเป็นว่าพวกเขาใช้วิธีสลับโลโก้จากกระบะ Maxus T70 ค่ายรถในเครือมาติดตรา MG ปรับหน้าตาเพียงเล็กๆน้อยๆ และอัดเทคโนโลยี i-Smart ระบบปฏิบัติการณ์อัจฉริยะเข้ามาเป็นจุดขายพิเศษในบ้านเราแค่นั้น
ขุมกำลัง-Engine
มาถึงหัวใจสำคัญ—เครื่องยนต์ กระบะส่วนใหญ่เน้นความแรง และความประหยัดในการใช้งานมาดูกันว่าขุมกำลังดีเซลของแต่ละค่ายมีความแตกต่างกันตรงไหนบ้าง
NISSAN NAVARA
เครื่องยนต์ดีเซลรหัส YD25DDTi ที่ถูกใช้งานในกระบะ Navara รวมถึงรถตู้โดยสาร Urvan เป็นขุมกำลังที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษ 1990 โดยเริ่มต้นใช้งานในรถวากอน AD (เจเนอเรชั่นถัดมาของ NV ที่เคยขายในประเทศไทย) ก่อนจะไปอยู่ในโมเดลทั้งเอสยูวี รวมถึงรถซีดานของพวกเขา และอัพเกรดกลายเป็นเครื่องยนต์คอมมอนเรล 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว ในปัจจุบัน
YD25DDTi ที่ติดตั้งใน Navara จะมีปริมาตรกระบอกสูบ 2.5 ลิตร พร้อมเทอร์โบแปรผัน (VGS) อินเตอร์คูลเลอร์ มีการปรับแต่งสมรรถนะ 2 ระดับ 163 แรงม้า และแรงบิด 403 นิวตันเมตร โดยรุ่นท็อป VL 4WD เกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด จะมีกำลังเพิ่มเป็น 190 แรงม้า และแรงบิด 450 นิวตันเมตร
Engine Spec
รหัสเครื่องยนต์: YD25DDTi
แบบเครื่องยนต์: คอมมอนเรล 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผัน (VGS) อินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: คอมมอนเรล ควบคุมด้วย ECCS 32 บิต
ความจุกระบอกสูบ: 2,488 ซีซี
กำลังสูงสุด: 163 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที; 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 3403 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบ/นาที; 450 นิวตันเมตรที่ 2,000 รอบ/นาที
MITSUBISHI TRITON
อย่างที่บอกว่ากระบะ Mitsubishi เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของลูกค้าชาวไทย หลังจากการไมเนอร์เชนจ์เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการปรับดีไซน์ใส่กระจังหน้า Dynamic Shield ให้ความรู้สึกดุดันเข้ากับเครื่องยนต์ดีเซล MIVEC Clean Diesel VG Turbo 2.4 ลิตร 181 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร ที่ใส่มารอตั้งแต่เปิดตัวเจเนอเรชั่นนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2014
ขุมกำลังรหัส 4N15 ในกระบะ Triton จัดอยู่ในตระกูลเครื่องยนต์ดีเซล 4N1 โดยทีมงาน Mitsubishi Motors ประเทศญี่ปุ่น เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 ด้วยเป้าหมายที่จะสร้างเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้อยู่ภายใต้ข้อกำหนดมลพิษของประเทศสหรัฐฯ และมาตรฐาน Euro 5 ของทวีปยุโรป 2 ตลาดสำคัญของพวกเขา
ก่อนจะเริ่มใช้งานเครื่องยนต์ดีเซลตระกูล 4N1 รุ่นแรกในครอสส์โอเวอร์ ASX และคอมแพ็กต์ซีดาน Lancer (ขายเฉพาะตลาดยุโรป) ในปี 2010 โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือกระบอกสูบผลิตจากอลูมินัมอัลลอย, แบบเครื่องยนต์ Double Overhead Camshaft (DOHC), ระบบควบคุม 4 วาล์วต่อ 1 กระบอกสูบ, ระบบหัวฉีดเชื้อเพลิงคอมเมนเรล อินเจ็คชั่น พร้อมเทอร์โบแปรผัน Variable Geometry (VG Turbo) และระบบควบคุมการเปิด-ปิดวาล์วไอดีแบบแปรผัน MIVEC ที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ Mitsubishi Motors
ความพิเศษของเครื่องยนต์ดีเซลรหัส 4N15 เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเสื้อสูบ และฝาสูบ จะใช้วัสดุอลูมินัมอัลลอยน้ำหนักเบา, มีความทนทานสูง และระบายความร้อนได้ดี มีการพัฒนาระบบคอมมอนเรลที่มีแรงดันในการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงสุด 200 Mpa ช่วยให้การเผาไหม้ของเครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงสุด และอัตราประหยัดน้ำมันที่ดีขึ้น
นอกจากนี้มีการติดตั้งระบบกระเดื่องวาล์วน้ำหนักเบาพิเศษแบบลูกปืนเข็ม (Roller Rocker Arm) ช่วยลดการเสียดสี และการสึกหรอระหว่างเพลาราวลิ้นกับวาล์ว ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างแม่นยำ และระบบเทอร์โบแปรผัน VG Turbo ช่วยสร้างแรงอัดอากาศต้านไอเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สร้างแรงบิดสูงตั้งแต่รอบเครื่องยนต์ต่ำ ทำงานร่วมกับอินเตอร์คูลเลอร์ขนาดใหญ่ช่วยลดความร้อนทำให้ไอดีมีความหนาแน่นมากขึ้น ส่งผลให้อัตราเร่งมีการตอบสนองได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในรุ่นตัวถัง Double Cab และบางรุ่นย่อยของ Triton เครื่องยนต์ 4N15 จะต่อท้ายเพิ่มว่า AS & G หมายถึงรองรับ Auto Stop & Go ระบบหยุดการทำงานของเครื่องยนต์อัตโนมัติหากรถจอดสนิทเพื่อช่วยลดการปล่อยไอเสีย และประหยัดน้ำมัน โดยเครื่องยนต์จะกลับมาทำงานเมื่อคนขับปล่อยเท้าจากเบรกหรือคลัตช์
แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า Mitsubishi Motors จะไม่ยอมทิ้งเครื่องยนต์ดีเซลรหัส 4D56 ที่ลากใช้งานมายาวตั้งแต่ L200 บรรพบุรุษของ Triton (ปัจจุบันบางตลาดยังคงใช้ชื่อนี้) เปิดตัวเมื่อปลายทศวรรษ 1970 โดยมีการอัพเกรดตามยุคสมัย ก่อนจะนำมาลงในรุ่นตัวเตี้ย Double Cab ขับเคลื่อนสองล้อที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร คอมมอนเรล เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ พร้อมท่อร่วมไอดี Twin Intake Manifold ให้กำลังสูงสุด 128 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 240 นิวตันเมตร เรียกว่าพอเหมาะกับการใช้งานบรรทุกของหรือจะนำมาแต่งซิ่งก็ไม่เลวทีเดียว
Engine Spec
รหัสเครื่องยนต์: 4N15
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว MIVEC เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดอิเล็คทรอนิคส์ คอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,442 ซีซี
กำลังสูงสุด: 181 แรงม้าที่ 3,500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 430 นิวตันเมตรที่ 2,500 รอบ/นาที
รหัสเครื่องยนต์: 4D56
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดอิเล็คทรอนิคส์ คอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,477 ซีซี
กำลังสูงสุด: 128 แรงม้าที่ 4,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 240 นิวตันเมตรที่ 1,500-3,500 รอบ/นาที
FORD RANGER
ในตอนที่เปิดตัวเจเนอเรชั่นใหม่เมื่อปี 2011 Ranger มีตัวเลือกเป็นเครื่องยนต์ดีเซล Duratorq TDCi 2.2 ลิตร (150 แรงม้า, แรงบิด 375 นิวตันเมตร) และ 3.2 ลิตร (200 แรงม้า, แรงบิด 470 นิวตันเมตร) ถึงจะมีการปรับโฉมย่อยอย่างต่อเนื่อง แต่ขุมกำลังไม่เคยเปลี่ยนแปลง
จนกระทั่งการบิ๊กไมเนอร์เชนจ์ เมื่อกลางปีที่แล้ว Ford ตัดสินใจนำเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร เทอร์โบคู่ (Bi-Turbo) ของ Ranger Raptor มาติดตั้งในรุ่นท็อป Wildtrak 4×4 โดยให้กำลังเท่าเดิม 213 แรงม้า และแรงบิด 500 นิวตันเมตร รวมทั้งเปิดตัวเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ 2.0 ลิตรพร้อมเทอร์โบแปรผัน VG Turbo Intercooler ที่มีกำลังสูงถึง 180 แรงม้า และแรงบิด 420 นิวตันเมตร ก่อนจะนำมาใช้งานในรถเอสยูวี New Everest ที่ได้รับการปรับโฉมหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม Ford ยังเก็บเครื่องยนต์ Duratorq TDCi 2.2 ลิตร ให้ลูกค้าชาวไทยเลือกใช้งานในรุ่นรองของ Ranger โดยมีการพัฒนาให้มีกำลังเพิ่มเป็น 160 แรงม้า และแรงบิด 385 นิวตันเมตร เพื่อเจาะกลุ่มผู้ใช้งานบรรทุกหนักอย่างเกษตรกรหรืองานก่อสร้าง
Engine Spec
รุ่นเครื่องยนต์: 2.0L Bi-Turbo Engine
แบบเครื่องยนต์: ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว เทอร์โบคู่อินเตอร์คูลเลอร์
ความจุกระบอกสูบ: 1,996 ซีซี
กำลังสูงสุด: 213 แรงม้าที่ 3,750 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 500 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,000 รอบ/นาที
รุ่นเครื่องยนต์: 2.0L Turbo Engine
แบบเครื่องยนต์: ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์
ความจุกระบอกสูบ: 1,996 ซีซี
กำลังสูงสุด: 180 แรงม้าที่ 3,500รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 420 นิวตันเมตรที่ 1,750-2,000 รอบ/นาที
รุ่นเครื่องยนต์: 2.2L Duratorq TDCi
แบบเครื่องยนต์: ดีเซล 4 สูบเรียง DOHC 16วาล์ว เทอร์โบแปรผันพร้อมอินเตอร์คูลเลอร์
ความจุกระบอกสูบ: 2,198 ซีซี
กำลังสูงสุด: 160 แรงม้าที่ 3,200 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 385 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบ/นาที
TOYOTA HILUX REVO
เครื่องยนต์ดีเซลตระกูลใหม่ GD เปิดตัวครั้งแรกพร้อมเจเนอเรชั่นที่ 8 ของกระบะ Hilux ที่ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 เพื่อมาแทนเครื่องยนต์รหัส KD ที่ใช้งานมายาวนานตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000
เครื่องยนต์รุ่นนี้ถูกแบ่งเป็น 2 แบบ 1GD-FTV จะมีความจุกระบอกสูบ 2.8 ลิตร ผลิตกำลังได้ 170 แรงม้า และแรงบิด 343 นิวตันเมตร แต่หากเป็นตัวอัพเกรดที่ต่อท้ายว่า High จะมีแรงบิดเพิ่มขึ้นเป็น 450 นิวตันเมตร เช่นเดียวกับรหัส 2GD-FTV เครื่องยนต์ 2.4 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 150 แรงม้า แต่แรงบิดสูงสุดถูกปรับให้อยู่ที่ 343 นิวตันเมตร และ 400 นิวตันเมตร ในบางรุ่นย่อยของ Hilux Revo เท่ากับรุ่นอัพเกรด 2GD-FTV High
ความพิเศษของขุมกำลังใหม่อยู่ที่การใช้เทคโนโลยี Thermo Swing Wall Insulation Technology (TSWIN) เป็นครั้งแรกของโลก ในเครื่องยนต์ 1GD-FTV ทำให้มีค่าประสิทธิภาพความร้อนสูงสุด 44 เปอร์เซ็นต์มากที่สุดเท่าที่ Toyota เคยพัฒนาเครื่องยนต์ และถึงปริมาตรกระบอกสูบจะเล็กกว่าเครื่องยนต์รหัส KD แต่สามารถสร้างแรงบิดสูงสุดได้ดีขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการดึงแรงบิดสูงสุดในรอบต่ำที่ดีกว่าเดิม 11 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำมันดีขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ Toyota เลือกปกป้องลูกสูบด้วยเทคโนโลยี Silica-reinforced Porous Anodized Aluminum (SiRPA) ช่วยลดการสูญเสียความเย็นก่อนการจุดระเบิดได้ราว 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ชุดสูบมีอุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับปรุงท่อไอดีช่วยเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ และระบบเทอร์โบที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำให้อัตราเร่งต่อเนื่อง และสร้างแรงบิดในทุกรอบเครื่องยนต์ รวมทั้งติดตั้งระบบ Selective Catalytic Reduction (SCR) ช่วยลดปริมาณไนโตรเจนออกไซด์ได้สูงสุด 99 เปอร์เซ็นต์
ในปัจจุบันเครื่องยนต์ทั้ง 2 ระดับที่ถูกแบ่งย่อยเป็น 4 รุ่น ถูกนำมาใช้กับรถยนต์หลากหลายรุ่นของ Toyota ที่ขายในประเทศไทย นอกเหนือจาก Hilux Revo และ Fortuner จะเป็นรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ Innova Crysta, All-New Commuter, All-New Hiace และ All-New Majesty โดยมีการปรับแต่งขุมกำลังตามความเหมาะสมของการใช้งาน
Engine Spec
รหัสเครื่องยนต์: 1GD-FTV (High)
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC VN Turbo อินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดไดเร็คอินเจ็คชั่น แบบคอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,755 ซีซี
กำลังสูงสุด: 177 แรงม้าที่ 3,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 420 นิวตันเมตรที่ 1,400-2,600 รอบ/นาที
รหัสเครื่องยนต์: 1GD-FTV
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผัน อินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดไดเร็คอินเจ็คชั่น แบบคอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,755 ซีซี
กำลังสูงสุด: 170 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 343 นิวตันเมตรที่ 1,200-3,400 รอบ/นาที
รหัสเครื่องยนต์: 2GD-FTV (High)
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว DOHC VN Turbo และ Intercooler
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่น แบบคอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,393 ซีซี
กำลังสูงสุด: 150 แรงม้าที่ 3,400รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 400 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,000 รอบ/นาที
รหัสเครื่องยนต์: 2GD-FTV
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบ แถวเรียง 16 วาล์ว DOHC VN Turbo และ Intercooler
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: หัวฉีดไดเร็คอินเจคชั่น แบบคอมมอนเรล
ความจุกระบอกสูบ: 2,393 ซีซี
กำลังสูงสุด: 150 แรงม้าที่ 3,400รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 343 นิวตันเมตรที่ 1,400-2,800 รอบ/นาที
ไม่ได้ลืม! MG Extender
อย่างที่บอกขุมกำลังของ MG Extender ไม่ได้มีรายละเอียดมากไปกว่าการหยิบยืมจาก Maxus T70 มาเปลี่ยนโลโก้ โดยเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ 2.0 ลิตร 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ใช้ระบบจ่ายน้ำมันคอมมอนเรล ไดเร็คอินเจ็คชั่น ให้กำลังสูงสุด 161 แรงม้าที่ 4,000 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตรที่ 1,500-2,400 รอบต่อนาที
ตอนนี้ MG เพิ่งจัดทริปให้สื่อมวลชนไทยได้ทดสอบอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม ทำให้อยากขอเวลาได้ขับอย่างจริงจังก่อนถึงจะมาเจาะลึกได้ เพื่อความเท่าเทียมกับกระบะของค่ายอื่นที่มีโอกาสลองมาหมดแล้ว
ALL-NEW ISUZU D-MAX
ในการเปิดตัวเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว All-New D-Max มาพร้อมเครื่องยนต์ Ddi Blue Power 3.0 ลิตรใหม่ รหัส 4JJ3-TCX เทคโนโลยีดีเซลล่าสุดที่สมบูรณ์แบบพร้อมเทอร์โบแปรผันปรับไฟฟ้า E-VGS Turbo ทำให้เรียกกำลังได้ตั้งแต่รอบต่ำ ตอบสนองได้รวดเร็ว ให้สมรรถนะที่ยอดเยี่ยมด้วยกำลังสูงสุด 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที และแรงบิดสูงสุด 450 นิวตันเมตรที่ 1,600–2,600 รอบ/นาที
ในส่วนของเครื่องยนต์ดีเซล Ddi Blue Power 1.9 ลิตร รหัส RZ4E-TC ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 มีการอัพเกรดใหม่เป็น Gen 2 ให้พลังแรงสูงสุด 150 แรงม้า และแรงบิดสูงสุด 350 นิวตันเมตร มีการตอบสนองฉับไวยิ่งขึ้น ออกตัวเร็วขึ้น เร่งแซงเร็วขึ้น พร้อมตอบสนองการใช้งานได้ทุกรูปแบบ
นอกจากนี้ All-New D-Max ยังได้พัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติใหม่ 6 สปีด เพื่อสามารถถ่ายทอดพลังแรง และความเร้าใจของเครื่องยนต์ใหม่ 3.0 ลิตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างจังหวะเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล พร้อมโหมดขับขี่แบบสปอร์ต Rev Tronic และเกียร์ธรรมดา 6 สปีดพัฒนาใหม่สไตล์สปอร์ต ขับสนุกแม่นยำยิ่งขึ้น
Engine Spec
รหัสเครื่องยนต์: RZ4E-TC
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อม VGS เทอร์โบ และอินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: คอมมอนเรล ไดเร็คอินเจ็คชั่น
ความจุกระบอกสูบ: 1,898 ซีซี
กำลังสูงสุด: 150 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 350 นิวตันเมตรที่ 1,800-2,600 รอบ/นาที
รหัสเครื่องยนต์: 4JJ3-TCX
แบบเครื่องยนต์: 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว DOHC ระบายความร้อนด้วยน้ำ พร้อม VGS เทอร์โบ และอินเตอร์คูลเลอร์
ระบบจ่ายเชื้อเพลิง: คอมมอนเรล ไดเร็คอินเจ็คชั่น
ความจุกระบอกสูบ: 2,999 ซีซี
กำลังสูงสุด: 190 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด: 450 นิวตันเมตรที่ 1,600-2,600 รอบ/นาที
ความล้ำสมัย และระบบปลอดภัย Tech & Safety
แน่นอนว่าการซื้อรถกระบะมาใช้งานของคนไทยยุคนี้ ไม่ใช่เพื่อบรรทุกของเหมือนในอดีต แต่เป็นเรื่องของความสะดวกสบายในการเดินทาง ทำให้บรรดาผู้ผลิตใส่เทคโนโลยีใหม่ๆ, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และระบบความปลอดภัยเข้ามาเพียบ
ALL-NEW ISUZU D-MAX
เริ่มต้นที่ All-New D-Max อัพเกรดมาเต็มที่ตั้งแต่หน้าจอระบบสัมผัสควบคุมความบันเทิง Infotainment Display ขนาด 9 นิ้ว คมชัดระดับ HD รองรับระบบ Apple CarPlay และ Android Auto ระบบเสียงรอบทิศทาง Dynamic Surround Sound 8 ลำโพง โดยเบาะนั่งคู่หน้าเทคโนโลยี AVEC (Anti Vibration Elastic Comfort) ซับแรงสั่นสะเทือน ลดความเมื่อยล้าระหว่างการเดินทาง ระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติใหม่ Rain Sensing Wiper เพิ่มความสะดวกสบาย พร้อม Integrated Wiper Blade ระบบฉีดน้ำบนก้านปัดเป็นครั้งแรกในวงการปิกอัพ
ในส่วนของระบบความปลอดภัยแบ่งเป็น Active Safety การป้องกันก่อนเกิดอุบัติเหตุ
- ABS (Anti Lock Brake System) ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกแบบอิเล็กทรอนิกส์
- EBD (Electric Brake-force Distribution) ระบบช่วยกระจายแรงเบรกให้สัมพันธ์กับน้ำหนักบรรทุกของรถ
- BA (Brake Assist) ระบบช่วยเพิ่มแรงเบรกอัตโนมัติ เมื่อเบรกกะทันหัน
- Disc Brake หน้าขนาดใหญ่ 320 มม.
- ESS (Emergency Stop Signal) ระบบเปิดไฟฉุกเฉินอัตโนมัติ เมื่อเบรกกะทันหันที่มาใหม่ล่าสุด
ระบบช่วยเหลือการขับขี่
- TCS (Traction Control System) ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีขณะออกตัว
- ESC (Electronic Stability Control) ระบบควบคุมการทรงตัว
- HSA (Hill Start Assist) ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน
- HDC (Hill Descent Control) ระบบควบคุมความเร็วลงทางลาดชัน
นอกจากนี้จะมีระบบเตือนจุดอับสายตา Blind Spot Monitoring ในกรณีต้องการเปลี่ยนเลน โดยส่งสัญญาณเตือนที่มุมกระจกมองข้าง และปลอดภัยยิ่งขึ้นกับระบบ Parking Aid System เซ็นเซอร์กะระยะ 8 จุดรอบคันพร้อม Rear Cross Traffic Alert ระบบแจ้งเตือนในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
Passive Safety ระบบความปลอดภัยปกป้องขณะเกิดอุบัติเหตุ
- โครงสร้างห้องโดยสารเสริมเหล็ก Ultra High Tensile
- แชสซีส์ใหม่ใหญ่ขึ้นแข็งแกร่งขึ้น 23%
- เพิ่มคานตัดขวาง (Cross Member) เสริมความแข็งแกร่ง
- SRS Airbag ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง
- เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดทุกที่นั่ง เข็มขัดนิรภัยที่นั่งตอนหน้าแบบดึงกลับอัตโนมัติ (Pretensioner Safety Belts) และเปลี่ยนจุดยึดเข็มขัดนิรภัยในที่นั่งตอนหลังใหม่ ช่วยให้กระชับมากขึ้น มั่นใจยิ่งขึ้น
- Crash Unlock ปลดล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน
อีกขั้นของนวัตกรรมแห่งยานยนต์เหนือระดับใน All-New D-Max พัฒนาสู่มาตรฐานใหม่ที่เหนือกว่า ด้วยความล้ำสมัยใส่ใจทุกรายละเอียด
- กุญแจแบบ Keyless Entry พร้อมฟังก์ชั่น Remote Engine Start สตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยกุญแจรีโมทในระยะ 20 เมตร
- ครั้งแรกในวงการปิกอัพ กระจกบังลมหน้าแบบ IR Cut ช่วยกรองรังสีอินฟราเรด ป้องกันรังสี UVA และ UVB ช่วยลดอุณหภูมิในห้องโดยสาร
- Welcome Light ไฟส่องสว่างในห้องโดยสารเปิดอัตโนมัติ เมื่อเข้าใกล้รถในระยะ 2 เมตร
- Walk Away Auto Lock ระบบล็อกประตูอัตโนมัติ เมื่อเดินออกห่างจากตัวรถเกินระยะ 3 เมตร
- Follow Me Home สามารถเปิดไฟส่องสว่างได้นาน 30 วินาที หลังดับเครื่องยนต์
- Auto Light Off ระบบปิดไฟหน้าอัตโนมัติและไฟในห้องโดยสาร เมื่อดับเครื่องยนต์และเปิดประตูรถ
- ระบบควบคุมไฟเลี้ยวแบบ Smart Touch สะดวกสบาย เพียงปลายนิ้วสัมผัส
- พร้อมความใส่ใจต่อสุขภาพ ด้วย High Efficiency Filter ระบบกรองอากาศเข้าห้องโดยสารสามารถดักฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ถึงระดับ PM2.5
FORD RANGER
จัดเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของกลุ่มรถกระบะเมืองไทยก็ว่าได้ ไม่เพียงแต่เครื่องยนต์ New Ford Ranger ให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทั้งระบบเตือนการชน (Pre-Collision Assist) ที่ผสานระบบช่วยเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติพร้อมระบบตรวจจับคนเดินถนน (AEB) และครั้งแรกในตลาดรถกระบะกับระบบตรวจจับยานพาหนะ (Vehicle Detection) เพื่อตรวจจับคนเดินถนน และยานพาหนะด้านหน้า จะทำการช่วยเบรกจนหยุดนิ่งเมื่อระบบพบว่าคนขับไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ช่วยลดอัตราการชนท้าย และการชนคนเดินถนนลง โดยระบบนี้จะทำงานเมื่อใช้ความเร็วสูงกว่า 3.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทาง (Lane Keeping System) และระบบแจ้งเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกจากเลน (Lane Departure Warning) รวมถึงระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) พร้อมระบบเตือนการชนด้านหน้า (Forward Collision Warning System) ยังคงมีอยู่ใน New Ranger
เทคโนโลยีเที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการขับขี่ ซึ่งได้รับการติดตั้งเป็นครั้งแรกในรถระดับเดียวกัน ยังรวมถึงระบบช่วยจอดรถอัจฉริยะ (Active Park Assist – APA) ซึ่งช่วยให้การเทียบจอดรถข้างทางเป็นเรื่องง่าย โดยระบบกึ่งอัตโนมัติจะบังคับทิศทางของรถให้เข้าสู่ช่องจอด ผู้ขับขี่เพียงควบคุมคันเร่งหรือเบรกเท่านั้น
หากเป็นรุ่น Wildtrak และ LTD มาพร้อมระบบผ่อนแรงฝากระบะท้าย (Easy Lift Tailgate) ครั้งแรกในตลาดรถกระบะ ด้วยกลไกซึ่งช่วยผ่อนแรงของผู้ใช้ลง 70 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้เปิดปิดฝากระบะท้ายง่ายดาย และสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ในส่วนของความบันเทิง Ranger จะใช้ระบบซิงค์ 3 (SYNC 3) รองรับ Apple Carplay และ Andriod Auto พร้อมบลูทูธ จอทัชสกรีนฟูลคัลเลอร์ขนาด 8.0 นิ้ว และกล้องมองหลัง ผู้ขับขี่ยังสามารถใช้งาน Apple Maps และระบบแผนที่นำทางด้วยดาวเทียมซึ่งติดตั้งมากับรถเมื่อออกนอกพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นอกจากนี้ระบบซิงค์ 3 ยังมาพร้อมระบบจดจำเสียง และระบบสั่งงานเสียงด้วยภาษาไทยเพื่อการใช้งานที่คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งครอบคลุมไปถึงระบบช่วยโทรฉุกเฉิน (Emergency Assistance) ซึ่งจะทำงานผ่านโทรศัพท์มือถือที่เชื่อมต่อผ่านบลูทูธภายในรถ เพื่อติดต่อไปยังหมายเลข 1669 ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจนถุงลมนิรภัยทำงานหรือระบบตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
NISSAN NAVARA
ด้วยอายุของโมเดล Navara 2019 และรุ่นพิเศษ Black Edition จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี Nissan Intelligent Mobility ติดตั้งกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง Around View Monitor (AVM) ที่ช่วยให้สามารถมองเห็นตัวรถ และสิ่งรอบข้างผ่านกล้องที่ถูกติดตั้งรอบคัน
ระบบเครื่องเสียงแบบที่ให้ความบันเทิงพร้อมข้อมูลเพื่อการเดินทางจาก NissanConnect ที่ทำให้การเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนรวมไปถึงระบบแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple CarPlay หรือแอนดรอยด์ ออโต้ Android Auto เช่นเดียวกับรถกระบะเจ้าอื่นๆ โดยระบบข้อมูลเพื่อความบันเทิงอัจฉริยะนี้ยังสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเส้นทาง ช่องการขับขี่ การรายงานสภาพจราจร และตรวจสอบการขับขี่แบบประหยัดอีกด้วย
MITSUBISHI TRITON
เทคโนโลยีระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันอันทันสมัยใน New Triton ได้แก่ ระบบเตือนการชนด้านหน้าตรงพร้อมระบบช่วยชะลอความเร็ว โดยอาศัยกล้องและระบบเรดาร์เลเซอร์ตรวจจับรถยนต์ และคนเดินถนนข้างหน้า, ระบบสัญญาณเตือนจุดอับสายตาพร้อมระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลน เพื่อเตือนผู้ขับขี่เมื่อมีรถอยู่ด้านข้างขณะเปลี่ยนเลน, ระบบเตือนด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด ตรวจจับว่ามีรถยนต์กีดขวางขณะถอยหลังหรือไม่ และระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะเมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุเมื่อเหยียบคันเร่งไปข้างหน้าหรือถอยหลังโดยไม่ตั้งใจ
ระบบความปลอดภัยอันทันสมัยยังเพียบพร้อมด้วย กล้องมองภาพรอบคัน ที่ใช้กล้อง 4 ตัวจับภาพรอบคัน พร้อมภาพมุมสูงที่แสดงสิ่งกีดขวางรอบคัน และ เซ็นเซอร์กะระยะจอด เพื่ออำนวยความสะดวกในการจอดรถ สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อยังมาพร้อมระบบควบคุมรถขณะลงทางลาดชัน ที่ช่วยรักษาความเร็วรถให้คงที่ขณะลงทางลาดชัน พร้อมกันนี้ยังมีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว และระบบปรับระดับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ
หัวใจของความปลอดภัย และความสะดวกสบายใน New Triton คือโครงสร้างตัวถังนิรภัย RISE (Reinforced Impact Safety Evolution) ประกอบกับแชสซีส์ที่แกร่งทนทานพร้อมคุณสมบัติยืดหยุ่น ผ่านการทดสอบในภูมิประเทศสุดทุรกันดารทั่วโลก ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถดูดซับแรงกระแทกและต้านทานการเสียรูปทรงเพื่อการปกป้องผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ตัวถังที่ทนทานแข็งแกร่งนี้ยังเสริมด้วยเหล็กกล้าที่ทนทาน ช่วยลดน้ำหนักแต่เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างตัวถังนิรภัย
นอกเหนือจากระบบความปลอดภัยแล้ว ความสะดวกสบายสำหรับผู้ขับขี่ และผู้โดยสารคืออีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญของรถกระบะ Mitsubishi ห้องโดยสารของ Triton ตกแต่งด้วยวัสดุที่ให้ผิวสัมผัสนุ่มคุณภาพสูง ติดตั้งช่อง USB ในตำแหน่งที่สะดวกต่อการใช้งานสำหรับผู้โดยสารทั้งตอนหน้า และตอนหลัง แสดงผลผ่านจอแสดงข้อมูลในการขับขี่แบบสีพร้อมอนิเมชัน 3 มิติ รวมถึงระบบสั่งงานด้วยเสียงพร้อมปุ่มรับ-วางสายโทรศัพท์
MG EXTENDER
ในหัวข้อนี้ขอดึง “กระบะพันธ์ยักษ์” Extender มาพูดถึงด้วย จากการที่ MG ให้มาเต็มระดับเดียวกับเอสยูวี ZS และซับคอมแพ็กต์ MG3 ตั้งแต่ระบบปฏิบัติการอัจฉริยะ i-Smart ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่กับรถสามารถเชื่อมต่อถึงกันตลอดเวลาผ่านระบบสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย ที่สามารถสั่งการให้โทรออก, เปิด-ปิดหรือควบคุมระบบปรับอากาศ หน้าต่างฝั่งคนขับ, ตลอดจนวิทยุภายในรถ และค้นหาจุดสนใจ
นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมหรือสั่งการระบบต่างๆ ผ่านหน้าจอทัชสกรีนภายในรถ หรือเลือกสั่งการบนสมาร์ตโฟนผ่าน MG Mobile Application การเชื่อมต่อหรือ Smart Connect ที่สามารถเลือกฟังเพลงผ่าน Online Music ค้นหาร้านอาหาร และที่พัก รวมทั้งเรียกดูข้อมูลข่าวสาร และเหตุการณ์ปัจจุบันจากเว็บไซต์ดังได้บนหน้าจอในรถ และการตรวจเช็กรถ หรือ Smart Check โดยสามารถสั่งล็อกหรือปลดล็อกประตู ตรวจสอบตำแหน่ง และค้นหารถ แจ้งสถานะการทํางานของรถ รวมถึงระบบช่วยค้นหาศูนย์บริการ นัดหมาย และบันทึกการดูแลรักษารถยนต์ตามระยะ
ในส่วนของระบบความปลอดภัยเริ่มตั้งแต่โครงสร้างตัวถังแบบ FSF (Full Space Frame) แบบ Ultra-high Strength Body ด้วยโครงสร้างที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง Thermoforming Steel ในบริเวณเสา A ไปจนถึงเสา B และโครงสร้างโดยรวมใช้เหล็กแบบ High Strength Steel ที่มีความแข็งแกร่งสูง ช่วยเพิ่มความปลอดภัย และเสริมความมั่นคงในการขับขี่ พร้อมรับทุกสภาพการใช้งาน และปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยดิสก์เบรก 4 ล้อ และระบบความปลอดภัยมาตรฐานยุโรป Advanced Synchronized Protection System ที่ทำงานประสานเป็นหนึ่งเดียว ประกอบด้วย
- ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกฉุกเฉิน ABS (Anti-lock Braking System)
- ระบบช่วยเสริมแรงเบรกด้วยอิเล็กทรอนิกส์ EBA (Electronic Brake Assist)
- ระบบช่วยกระจายแรงเบรก EBD (Electronic Brake Force Distribution)
- ระบบควบคุมการทรงตัว SCS (Stability Control System)
- ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล TCS (Traction Control System)
- ระบบตรวจสอบความผิดปดติของลมยาง TPMS (Tire Pressure Monitor System)
- ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAS (Hill Start Assist System)
- ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน HDC (Hill Descend Control System)
- ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD (Blind Spot Detection)
- ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW (Lane Departure Warning System)
นอกจากนี้ยังมาพร้อมระบบกุญแจนิรภัยแบบ Immobilizer ถุงลมนิรภัยคู่หน้า ถุงลมนิรภัยด้านข้าง และม่านถุงลมนิรภัยรวม 6 ตำแหน่ง พร้อมเข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบดึงรั้งกลับพร้อมผ่อนแรงอัตโนมัติ รวมถึงกล้องมองภาพรอบทิศทาง สัญญาณเตือนกะระยะด้านหน้า-หลัง และกล้องมองหลังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่
TOYOTA HILUX REVO
ปิดท้ายด้วยหมายเลข 1 ของตลาดรถกระบะเมืองไทย ระบบความปลอดภัยที่ติดตั้งมาใน Hilux Revo อยู่ในมาตรฐานปกติ โดยหากดึงมาเฉพาะรุ่น Double Cab จะมีให้เต็มไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมการทรงตัว VSC, ระบบป้องกันล้อล็อก ABS, ระบบกระจายแรงเบรก EBD, ระบบเสริมแรงเบรก BA, ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพ่วงท้าย TSC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC และกล้องมองหลังช่วยเพิ่มมุมมองเวลาถอยจอด
ในส่วนของระบบปกป้อง Passive Safety หลักๆ จะเป็นโครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA ด้วยการใช้เหล็กกล้าแรงดึงสูง เพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับ และกระจายแรงกระแทกจากการชนได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งระบบถุงลมนิรภัย 7 ตำแหน่งรอบคัน
นอกจากนี้รุ่น Double Cab 2.8G และ 2.8 Rocco จะมาพร้อมระบบ T-Connect Telematics รองรับการใช้งานที่หลากหลายทั้ง Find My Car ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์ผ่านสมาร์ตโฟนหรือ Apple Watch, Stolen Vehicle Tracking ตรวจสอบตำแหน่งรถยนต์เมื่อถูกโจรกรรม พร้อมช่วยเหลือคุณตลอด 24 ชั่วโมง, SOS ประสานงานช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง, หน้าจอแสดงผลที่มากับ Navigator ระบบนำทางพร้อมแสดงข้อมูลจราจร และฟังก์ชั่นอีกมากมายที่เชื่อมต่อรถกับคุณให้เป็นหนึ่งเดียว
ทั้งหมดก็เป็นการยกไฮไลต์สำคัญๆ ของกระบะที่ขายอยู่ในเมืองไทยตอนนี้กับ All-new Isuzu D-Max มาเปรียบเทียบว่าคันไหนรุ่นไหนจะโดนใจคุณ ก่อนจะตัดสินใจซื้อมาใช้งาน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: บริษัทรถยนต์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th