ลุยโคลนภูเขาไฟพินาตูโบกับ All-new Nissan Terra เอสยูวีที่ตอบทุกการใช้งาน
ครั้งแรกของอาเซียนการขับทดสอบ All-new Terra รถเอสยูวีขนาดกลางรุ่นใหม่จาก Nissan ครบทั้งการใช้งานในชีวิตประจำวันและผจญภัยบนเส้นทางหฤโหดที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบเพื่อพิสูจน์ว่ารถคันนี้คือความ #ExceptionalEveryday ที่พร้อมมอบความพิเศษให้คุณในทุกวัน
การทดสอบครั้งมีขึ้นในเช้าของวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากคืนก่อนหน้านั้นผู้เขียนมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับ Nissan Terra แบบคร่าวๆ ในงานเปิดตัวครั้งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เมืองคล้าร์ก ซิตี้ จังหวัดพัมพังก้า ประเทศฟิลิปปินส์ และพอจะได้เห็นสมรรถนะของรถเอสยูวีขนาดกลางคันนี้พอสมควรระหว่างการขับโชว์เปิดงาน
*(ข้อมูลของ Nissan Terra ในบทความนี้เป็นรุ่นที่ผลิตขายในประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับรุ่นที่ผลิตขายประเทศไทยอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
กว่าจะเป็น All-new Nissan Terra
ก่อนจะเข้าสู่ช่วงขับทดสอบมารู้จักจุดเริ่มต้นของ Terra ชื่อนี้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในงานปารีส มอเตอร์โชว์ 2012 ในฐานะรถยนต์ต้นแบบพลังงานไฮโดรเจนที่มีค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ (ตอนนั้น Nissan มีการเล่นตัวสะกดว่า TeRRA) แต่ไม่รู้ว่ามีปัญหาหรือความไม่ลงตัวอะไรจนทำให้กว่าจะผลิตขายจริงต้องรอนานถึง 6 ปี จนทำให้ดีไซน์ที่เคยล้ำในตอนนั้นตกยุคไปพอสมควร
อย่างที่บอกว่าการอยู่ในฐานะคอนเซ็ปต์คาร์ที่นานเกิน และผลิตบนโครงสร้างตัวถัง (Platform) Nissan F-Alpha เหมือนรถกระบะ Navara รุ่นปัจจุบัน ทำให้ยากที่จะหลีกเลี่ยงการถูกเปรียบเทียบ แต่มีความพยายามในการปรับกระจังหน้ารูปทรง V-motion ที่เป็นเอกลักษณ์ของรถ Nissan ในเจเนอเรชั่นนี้ ให้มีความโดดเด่นเป็นเหมือนชิ้นเดียวกับชุดกันชนหน้า เพิ่มเส้นสายที่ให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง และความเฉียบคมลงที่ไฟหน้า LED รูปทรงบูมเมอแรงเช่นเดียวกับไฟท้าย โดยพยายามปรับหลังคาให้ลาดลงเพิ่มอารมณ์สปอร์ต
Nissan Navara รุ่นปี 2018
Did you Know? Terra มาจากภาษาละตินแปลว่า “โลก” (Earth) ทำให้ Nissan เลือกเปิดตัวสู่ภูมิภาคอาเซียน ในพื้นที่ราบที่ตั้งอยู่ระหว่างภูเขาไฟอันสูงตระหง่านของเมืองคล้าร์ก ประเทศฟิลิปปินส์
เครื่องยนต์ & เทคโนโลยี
อันนี้คงเดาไม่ยากจากการที่ใช้พื้นฐานร่วมกับ Navara ทำให้ Terra ที่ขายในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศไทยจะใช้เครื่องยนต์ดีเซล YD25 ที่เป็นขุมกำลังเดียวจากรถกระบะ โดยมีสมรรถนะสูงสุด 190 แรงม้า และแรงบิดขนาด 450 นิวตันเมตร หรือที่ทีมงาน Nissan เรียกว่าเป็น “ASEAN Spec”
ตรงกันข้ามกับ Terra ที่ขายในประเทศจีน ใช้เครื่องยนต์เบนซิน QR25 เหมือนกับ X-Trail ครอสส์โอเวอร์เอสยูวีของพวกเขาที่ขายในบ้านเรา แต่มีการปรับแต่งให้มีกำลังสูงสุด 180 แรงม้า และแรงบิด 251 นิวตันเมตร โดยเป็นรถยนต์แบบ 5 ที่นั่ง แตกต่างจากอาเซียนเวอร์ชั่น จะมีการเพิ่มเบาะนั่งแถว 3 เข้ามาเป็น 7 ที่นั่งเพื่อรองรับการใช้งานแบบครอบครัว
ในส่วนของระบบควบคุมการขับขี่ Terra ติดตั้งเฟืองท้าย 4WD-DIFF Lock ช่วยให้การถ่ายกำลังสู่ล้อแต่ละข้างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น, ระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นแบบ Five-Link Coli Spring Rear Suspension, ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน (Hill Descent Control) และระบบออกตัวบนทางลาดชัน (Hill Start Assist)
สำหรับเรื่องเทคโนโลยีเป็นอีกครั้งที่ Nissan Intelligent Mobility ที่พวกเขานิยามว่าเป็น “เทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขับขี่ในอนาคต” ถูกเลือกมาเป็นจุดขายสำคัญ โดยประกอบด้วยระบบเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง (Lane Departure Warning), ระบบเตือนจุดบอด-จุดอับสายตา (Blind Spot Warning) และกล้องอัจฉริยะมองรอบทิศทาง (Intelligent Around View Monitor) พร้อมระบบตรวจจับ-ส่งสัญญาณเตือนวัตถุ/บุคคลเคลื่อนไหว (Moving Object Detection)
แต่ไฮไลต์สำคัญของ Nissan Intelligent Mobility ที่อยู่ใน Terra คือการเป็นรถเอสยูวีรุ่นแรกที่มาพร้อมกระจกมองหลังอัจฉริยะ (Smart Rear View Mirror) ช่วยให้ผู้ขับขี่มีทัศนวิสัยด้านหลังที่ชัดเจนเหมือนปกติ ไม่มีการบดบังในห้องโดยสาร ด้วยการใช้ภาพจากกล้องที่ติดตั้งบริเวณด้านท้ายรถจำลองภาพขึ้นสู่กระจกมองหลัง รวมทั้งสามารถเรียกดูภาพด้านหน้า, ด้านข้าง และภาพมุมสูง (Bird’s Eye View) เหมือนกับ Nissan Note
ความอเนกประสงค์ในการใช้งาน
All-new Terra ผลิตบนโครงสร้างตัวถัง Body-on-frame สัดส่วนของรถจะมีความยาว 4885 มม., ความกว้าง 1865 มม., ความสูง 1865 มม. และความสูงพื้นถนนสู่ใต้ท้องรถ 225 มม. โดยยืนยันว่าระยะฐานล้อ 2850 มม., มุมเงย (Approach Angle) 32.3 องศา และมุมจาก (Departure Angle) 26.6 องศาถือว่าดีที่สุดในรถเอสยูวีระดับเดียวกัน
ตามภาพประกอบที่แบ่ง Terra ออกเป็น 4 ตอนจะเห็นว่าตั้งแต่แถวหน้าจนถึงพื้นที่บรรทุกสัมภาระ จะมีพื้นที่วางขามากกว่ารถรุ่นอื่น แต่ยังใส่ของชิ้นใหญ่อย่างถุงกอล์ฟขนาด 9 นิ้ว และเพิ่มพื้นที่ด้วยการพับเบาะแถวที่สามจะบรรทุกของที่มีความกว้าง 1.1 เมตร หรือประมาณกระเป๋าเดินทางไซส์ 28 นิ้ว 3 ใบ แต่หากเดินชอปปิ้งวันหยุดแล้วอยากซื้อเฟอร์นิเจอร์กลับบ้าน การพับเบาะแถวที่สองให้แบนราบเหลือแต่คนนั่งด้านหน้าจะวางของที่มีความยาวได้ 1.9 เมตร รวมทั้งการเก็บอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ถือว่าสะดวกมาก
แต่เรื่องการพับเบาะต้องยอมรับว่า Terra ด้อยกว่า Ford Everest ที่มีปุ่มกดพับอัตโนมัติสำหรับเบาะนั่งแถวที่สาม แต่ถือว่ายังสะดวกกว่า Toyota Fortuner ที่ต้องออกแรงยกเบาะขึ้นมาล็อกเข้ากับด้านข้าง โดย Nissan เลือกใช้การดึงเชือกที่เป็นเหมือนสลักเพื่อให้เบาะพับลงคล้ายกับ Mitsubishi Pajero Sport
สำหรับเบาะแถวที่สอง ดึงตัวล็อกด้านข้างครั้งเดียวจะพับมาข้างหน้าทันที และเพิ่มความสะดวกสบายด้วยการมีปุ่มให้คนขับกดเพื่อพับเบาะแถวที่สองลงมาทั้งฝั่งขวา-ซ้าย ในกรณีที่คนนั่งแถวหลังสุด(ที่ควรตัวเล็กซักหน่อย) จะลง เหมาะกับเวลาตระเวนส่งเพื่อนหลังปาร์ตี้ช่วงสุดสัปดาห์หรือไปเที่ยวต่างจังหวัด
นอกจากนี้ Nissan ใส่ใจทุกรายละเอียดด้วยการพัฒนาเบาะนั่งหน้าที่มาพร้อมเทคโนโลยี Zero-Gravity Seat หรือเบาะแรงโน้มถ่วงศูนย์เหมือนใน Teana รถซีดานหรูของพวกเขา พร้อมปรับรูปแบบเบาะนั่ง 2 แถวแรกให้รองรับกระดูกสันหลัง (Spinal Support Seat) ที่ช่วยพยุงลำตัวด้านบนของคนนั่งช่วยลดความเหนื่อยล้าเวลาเดินทางไกล
Face-to-Face หากเปรียบเทียบกับพี่ชาย Nissan Navara Double Cap รุ่นบนสุด สัดส่วนจะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยจะมีความยาว 5255 มม., ความกว้าง 1850 มม., ความสูง 1790 มม. ระยะฐานล้อ 3150 มม. และความสูงใต้ท้องรถ 220 มม.
สมรรถนะที่แตกต่างจากคู่แข่ง
ในส่วนนี้ก่อนจะเริ่มต้นทดสอบการขับ Hironori Awano หัวหน้าทีมวิศวกรผู้พัฒนารถยนต์ Nissan Terra เปิดเผยข้อมูลสำคัญจากการนำรถเอสยูวีขนาดกลางของคู่แข่งมาเปรียบเทียบ โดยแทนว่าโมเดล A, B และ C
แต่จากที่ผู้เขียนพยายามเลียบเคียงถามหัวหน้าทีมวิศวกรผู้นี้ ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ารถเอสยูวีคู่แข่งที่นำมาวัดสมรรถนะเทียบกับ Terra 1 ใน 3 เป็นรถแบรนด์อเมริกัน และที่เหลืออีก 2 เป็นผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น (อันนี้คงเดากันได้ไม่ยาก เพราะเซกเม้นต์นี้มีตัวเลือกเพียงไม่กี่ค่าย)
ในหัวข้อที่ Nissan บอกว่า Terra เหนือกว่าคู่แข่ง อันแรกคือความนุ่มนวลในการขับขี่ โดยวัดจากแรงกระแทก (Impact Shock) ในการขับบนพื้นถนนที่มีหลุม และรอยต่อสะพาน ด้วยการออกแบบเบาะนั่ง และความแข็งแรงของโครงสร้างตัวถัง แต่ไม่ได้ระบุเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ให้ดูเพียงแค่กราฟเท่านั้น เช่นเดียวกับประสิทธิภาพการควบคุม (Handling Performance) ที่ยืนยันว่า Terra มีอาการโคลงของตัวรถที่น้อยกว่าในเวลาเข้าโค้งหรือเปลี่ยนเลน และน้ำหนักพวงมาลัยที่เบาทำให้ง่ายต่อการจอด, การขับในพื้นที่แคบ และจราจรติดขัด
ใน 2 หัวข้อแรกตัวเปรียบเทียบมีแค่ A กับ B แต่หัวข้อความเงียบของห้องโดยสาร Terra ต้องวัดกับคู่แข่ง 3 คัน โดย Nissan ยืนยันว่าเสียงเครื่องยนต์, แรงลม และเสียงกระแทกของพื้นถนนในรถของพวกเขารบกวนผู้โดยสารน้อยกว่าคู่แข่ง ในการวิ่งที่ความเร็วคงที่ 100 กม./ชม.
การลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร Terra ติดตั้งฉนวนดูดซับเสียง 3 ชั้นในห้องเครื่องยนต์เหมือนกับ Teana และเป็นมาตรฐานเดียวกับแบรนด์รถหรูของเยอรมัน ส่วนพื้นห้องโดยสารมีการใช้วัสดุพิเศษ Absorption Layer และ Isolation Layer (EPDM) เช่นเดียวกับกระจก Acoustic Glass ที่ช่วยลดเสียงรบกวนได้มากกว่าปกติ
ผู้เขียนยอมรับว่าตอนแรกที่ Awano อธิบายว่าเสียงรบกวนในห้องโดยสาร Terra เหนือกว่าคู่แข่งทั้ง 3 ราย เป็นแค่การหาจุดเด่นขึ้นมาพูดเหมือนทุกครั้งที่มีรถรุ่นใหม่ๆ เปิดตัว แต่ช่วงที่ทดสอบขับจริง เสียงเครื่องยนต์ดีเซลของ Terra แทบจะไม่เล็ดรอดเข้าสู่ห้องโดยสารเลย ยกเว้นแค่จังหวะเหยียบคันเร่งเพื่อทำความเร็วจะดังเข้ามาเล็กน้อย รวมทั้งตอนที่เปิดกระจกเพื่อถ่ายรูป ทั้งที่แล่นบนทางขรุขระเสียงเครื่องยนต์ยังเบามากหากเทียบกับรถเอสยูวีเครื่องยนต์ดีเซลแบรนด์อื่น
READY START! ออกเดินทางสู่ภูเขาไฟพินาตูโบ
เส้นทางการขับวันนี้ทีมงานกำหนดให้สื่อมวลชนที่มากันน่าจะครบ 10 ประเทศอาเซียน รวมทั้งออสเตรเลีย ได้สัมผัสทั้ง The Urban Experience การขับบนถนนในเมืองเพื่อสัมผัสสมรรถนะเครื่องยนต์, ความสะดวกสบาย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ โดยเฉพาะ Smart Rear View Mirror ก่อนจะเข้าสู่ช่วง The Off-Road Adventure สัมผัสอารมณ์ผจญภัยในการลุยพื้นทรายที่เกิดจากโคลนภูเขาไฟเพื่อทดสอบระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ และสมรรถนะในรถเอสยูวีของ Nissan ที่มีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 60 ปี
หลังจบการบรรยายข้อมูล นักข่าวแยกย้ายไปทำความคุ้นเคยกับ New Terra ตามหมายเลขที่กำหนด โดยรถทดสอบทั้งหมดเป็นสีน้ำตาลเข้มรุ่นท็อป VL 4×4 เครื่องยนต์ดีเซล 2.5 ลิตร ทำงานร่วมกับระบบเกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด ก่อนจะเริ่มต้นออกเดินทางจาก Clark Global City ย่านธุรกิจใหม่ของเมืองคล้าร์ก ซิตี้
เส้นทางช่วงแรกเป็นการขับบนทางด่วนประมาณ 18 กิโลเมตร สภาพถนนค่อนข้างโล่ง โดยทุกคันขับต่อเป็นขบวนตามหมายเลข แต่ยังพอสัมผัสสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่มีอัตราเร่งที่น่าพอใจ และห้องโดยสารค่อนข้างเงียบไม่มีเสียงรบกวนตามที่ผู้บริหาร Nissan นำเสนอ
ส่วนระบบความปลอดภัยเรียกว่าได้ทดสอบแบบไม่ตั้งใจจากการที่คนฟิลิปปินส์ ขับรถพวงมาลัยซ้าย ทำให้เสียงเตือน Lane Departure Warning ดังขึ้นมาก่อนเป็นอย่างแรก จากการขับทับเส้นจราจรด้วยความเคยชินของการขับรถอีกด้านหนึ่ง ส่วนการทำงานของ Blind Spot Warning จะกะพริบเตือนบนกระจกมองข้างเวลามีรถอยู่ในจุดอับสายตาเหมือนในรถรุ่นอื่นๆ
แต่ที่ Nissan อยากให้นักข่าวได้ทดลองใช้มากที่สุดคือกระจกมองหลังอัจฉริยะ Smart Rear View Mirror ระบบจะแสดงภาพบริเวณท้ายรถทันทีในระหว่างลดความเร็วเข้าด่านเก็บเงินทางด่วน และมีปุ่มให้เลือกโหมดภาพอยู่ข้างล่าง แบ่งฝั่งซ้ายมาแสดงภาพรอบคัน จัดเป็นอุปกรณ์เสริมที่ดี ยกเว้นแค่ว่าหากคนขับใส่แว่นกันแดดจะมองเห็นกระจกเป็นภาพซ้อนระหว่างเงาสะท้อนปกติกับภาพจากกล้อง แต่ไม่แน่ใจว่าการเลือกปรับแสงจะช่วยได้ไหม เพราะผู้เขียนมีเวลาขับเพียงสั้นๆ
ทางด่วนของเมืองคล้าร์ก รถค่อนข้างน้อยเพียงไม่กี่นาทีเราก็มาถึง Alviera ย่านใหม่ที่กำลังพัฒนาเป็นที่พักอาศัย และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพัมพังก้า รวมทั้งเป็นทางเข้าสู่ River Delta 5 เส้นทางออฟโรดไฮไลต์ของการทดสอบครั้งนี้
ในช่วงผจญภัย Off-Road Adventure ระยะทางราว 8 กิโลเมตร เริ่มอุ่นเครื่องด้วยถนนดินทรายกว้างประมาณ 1 คันรถ แถมระหว่างทางยังมีก้อนหินขนาดใหญ่ทั้งบนถนน และข้างทาง ทำให้ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่การที่ใต้ท้องรถมีความสูง 22.5 เซนติเมตร และการใช้ Hill Descent Control ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน ช่วยทำให้การขับง่ายขึ้นเยอะ
หลังจากวิ่งไปได้พักสต๊าฟฟ์ชาวฟิลิปปินส์ประจำรถของเราที่แนะนำตัวว่ามีอาชีพหลักเป็นนักแข่งรถครอสส์คันทรี (ขออภัยที่จำชื่อไม่ได้) ลองให้เปลี่ยนมาใช้ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ 4 High ที่ช่วยให้การส่งกำลังสู่ล้อมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมอธิบายว่าพอผ่านช่วงนี้ไปเราจะเข้าสู่พื้นทรายที่เรียกว่า “Soft Sand” ซึ่งจะมีความอ่อนนุ่มกว่าปกติ หากขับช้าล้อจะจมทราย ต้องพยายามรักษาระดับคันเร่ง และความเร็วที่สม่ำเสมอเพื่อพารถไปให้เร็วที่สุด
ระหว่างทางที่ขับสังเกตว่า Soft Sand ที่บอกเป็นทรายสีเทาดำ ทำให้เกิดความสงสัยต้องหันไปถามสต๊าฟฟ์ชาวฟิลิปปินส์อีกครั้ง โดยเขาช่วยไขข้อข้องใจว่าความจริงทรายที่เห็นคือเศษเถ้าถ่านการระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบ พร้อมชี้ให้ดูทางซ้ายว่าเนินเขาตรงนั้นความจริงไม่เคยมี จนกระทั่งการระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อปี 1991 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของศตวรรษที่แล้วเลยทีเดียว
ในบางช่วงมีลำธารตัดผ่าน และดินโคลนที่ไม่เหมือนที่เห็นในบ้านเราทำให้ลองไปค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงรู้ว่าเส้นทางที่ขับความจริงคือแม่น้ำ Pasig-Potrero แต่ช่วงนี้เป็นหน้าแล้งที่จะมีการจัดกิจกรรมขับรถออฟโรดเข้ามาเป็นปกติ และพื้นทรายแบบนี้ยังมีชื่อเรียกในภาษาอินโดนีเซียว่า “Lahar” หรือโคลนภูเขาไฟที่เกิดจากเถ้าถ่านผสมกับลาวา
ถึงเส้นทางการขับจะสั้นไปหน่อย แต่นับว่าได้สัมผัสสมรรถนะออฟโรดของ New Terra อย่างเต็มที่ ทั้งลุยโคลนภูเขาไฟ, ลำธาร และปีนป่ายก้อนหินขนาดใหญ่ที่โผล่มากีดขวางตลอดทาง จนเข้าใจแล้วว่าทำไม Nissan ถึงเลือกเครื่องยนต์ดีเซล YD25 มาใช้งานในรถเอสยูวีรุ่นใหม่ เพราะสามารถรีดกำลังออกมาได้ตามที่ต้องการ และระบบเกียร์ 7 สปีด ทำงานสอดรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบขับเคลื่อนสี่ล้อที่พวกเขากล้าเอาชื่อเสียงที่ยืนยาวมา 6 ทศวรรษรับประกัน
หลังจากขับสู่จุดหมายกลางหุบเขาของ River Delta 5 และพักถ่ายรูป 15-20 นาที ขบวนรถ Nissan Terra ใช้เส้นทางเดิมขับกลับออกมา ก่อนจะใช้ทางด่วนสาย E4 มุ่งหน้าสู่ Clark Global City เป็นอันสิ้นสุดการขับทดสอบครั้งนี้ที่ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมงครึ่ง
Nissan Terra ขายไทย-ใส่ออปชั่นมากน้อยแค่ไหน?
- ระบบเปิด-ปิดประตูท้าย Terra เวอร์ชั่นฟิลิปปินส์ ใช้การกดปุ่มปลดล็อกใต้โลโก้ Nissan โดยต้องออกแรงยกเปิด-ปิดเอง ตรงกันข้ามกับ Ford Everest ที่ใช้ระบบไฟฟ้าเปิด-ปิด แค่กดปุ่มครั้งเดียวไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย ถึงจะบอกว่าตอนนี้มีร้านอุปกรณ์รถยนต์ข้างนอกรับทำอยู่หลายเจ้า แต่ถ้าใส่มาให้ตั้งแต่ออกจากศูนย์บริการคงจะถูกใจลูกค้ามากกว่าแน่นอน
- Smart Rear View Mirror เป็นออปชั่นที่ไม่น่าจะถูกหั่นออก เพราะจะเป็นการช่วยยกระดับเทคโนโลยีความปลอดภัย Nissan Intelligent Mobility และเป็นจุดขายที่แตกต่างจากคู่แข่งในเซกเม้นต์นี้ ถึงพอได้ลองใช้งานจริงจะยังไม่ค่อยชินเท่าไรนัก
- จอความบันเทิงสำหรับผู้โดยสารแถวที่สอง-สาม ในรถคันที่ทดสอบเลือกได้แค่สถานีวิทยุ และเพลงจาก USB เท่านั้น ก็ได้แต่หวังว่าเวอร์ชั่นไทย Nissan จะกล้าอัพเกรดใส่เครื่องเล่นดีวีดีมาแบบเดียวกับพันธมิตรใหม่ Mitsubishi ติดตั้งใน Pajero Sport พร้อมแถมรีโมตกับหูฟังให้อีกด้วยนะ
- ช่องแอร์บนเพดานสำหรับผู้โดยสารแถวที่ 2 และ 3 เชื่อว่าน่าจะมีเท่ากับฟิลิปปินส์ แต่สงสัยว่าในเมื่อสามารถควบคุมความเย็นจนถึงคนนั่งท้ายสุด ทำไมต้องมีช่องแอร์ตรงกลางที่ต่อจากคอนโซลรถข้างหน้ามาให้ซ้ำซ้อน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: newsroom.nissan-global.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th