Supra คืนชีพ-เดิมพันสำคัญของ Toyota
หลังจากความพยายามของ Toyota ในการสร้างกระแสมายาวนานหลายปี ในที่สุดทุกคนก็ได้พบ All-new 2020 Supra รถสปอร์ต 2 ที่นั่ง ที่กล้ากลับมาในช่วงเวลาที่วงการรถยนต์ถูกยึดครองโดยครอสส์โอเวอร์แบบ 3 แถว และเอสยูวีไซส์ยักษ์?
การเลือกใช้ Magna Steyr โรงงานรับจ้างผลิตรถยนต์ในประเทศออสเตรีย ภายใต้ความรับผิดชอบของ BMW แบรนด์รถหรูสัญชาติเยอรมันที่จับมือ Toyota พัฒนาโมเดลรถสปอร์ตภายใต้แพล็ตฟอร์ม Cluster Architecture (CLAR) และถูกนำไปใช้กับสปอร์ตโร้ดสเตอร์ Z4 เจเนอเรชั่น 3 ที่เผยโฉมออกมาก่อนเมื่อปลายปีที่แล้ว
จนทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่าทำไม 1 ในบริษัทที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมแบบสุดขั้วของอุตสาหกรรมรถยนต์โลก มีตัวเลขผลกำไรมหาศาลต่อปี และการเปิดตัวโมเดลใหม่แต่ละครั้งจะต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ เลือกจะเสี่ยงนำรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลังที่ยุติการผลิตไปนานถึง 17 ปีกลับมาในช่วงกลางฤดูหนาวที่ดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์?
คำตอบไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไรมากนัก: บางครั้งการดำเนินธุรกิจ — ถึงจะมีหลักการของเหตุ และผลต่อทุกเรื่อง — คุณก็จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ชายผู้มีชื่อเดียวกับบริษัทต้องการให้เป็น
และท่านประธานใหญ่ Akio Toyoda ต้องการให้ Supra กลับมาสู่ไลน์อัพหลังจากยุติการผลิตเมื่อปี 2002 โดยพวกเขาเริ่มส่งสัญญาณถึงการกลับมา หลังจากประกาศการเป็นพันธมิตรกับ BMW ในปี 2012 เพื่อพัฒนารถสปอร์ตรุ่นใหม่ ก่อนจะส่งรถต้นแบบ FT-1 มาเปิดตัวบนเวทีดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2014 และเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา New Supra เผยโฉมในฐานะรถแข่งของทีม Toyota Gazoo Racing เพื่อคอนเฟิร์มว่าจะได้เห็นรถที่ผลิตเพื่อขายจริงในอนาคตอันใกล้
All-new 2020 Supra จะเป็นรถยนต์รุ่นแรกที่พัฒนาโดยทีมงาน Gazoo Racing ที่ถูกแยกตัวออกจาก Toyota เมื่อปี 2017 ให้มาอยู่ในฐานะบริษัทลูกที่มีการบริหารเป็นอิสระ แต่การมาถึงของรถสปอร์ตรุ่นนี้อยู่ในช่วงที่ความต้องการรถยนต์ในประเทศสหรัฐฯ ถดถอยลงมาต่ำสุดในรอบทศวรรษ และไม่มีสัญญาณบวกที่จะกลับคืนมาจากการที่ผู้ใช้รถส่วนใหญ่เลือกซื้อกระบะขนาดกลางจนทำยอดขายเป็นสถิติแทน
“ในที่สุดบรรดาผู้ที่หลงใหลก็ได้รถสปอร์ตอย่างที่พวกเขาเฝ้ารอมานานหลายปี หลังจากการเปิดตัวของ New Supra” Jessica Caldwell หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ของ Edmunds บริษัทเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมรถยนต์ชั้นนำของประเทศสหรัฐฯ ให้ความเห็น “แต่คำถามที่เกิดขึ้น… การมาถึงของรถสปอร์ตรุ่นนี้จะช่วยให้ Toyota ดึงดูดผู้ซื้อหน้าใหม่ได้หรือไม่ การมีรถสปอร์ตที่หน้าตาโฉบเฉี่ยวจอดอยู่ในโชว์รูมอาจจะเรียกลูกค้าให้เดินเข้ามาได้ แต่หากเป็นลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากกว่ากำลังแรงม้า มันจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะทำให้พวกเขารู้สึกสนใจ”
เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง All-New Supra vs. BMW Z4
ในขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตลาดรถยนต์สหรัฐฯ ที่ถูกยึดครองโดยรถซีดานจะยกระดับสู่รถยนต์ที่มีความพิเศษมากขึ้นอย่างรถเปิดประทุน Convertibles, รถอเนกประสงค์แบบ Wagon หรือสไตล์ Coupe ที่มีสมรรถนะสูงแบบ Supra ด้วยการที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำ, ตัวถังที่กว้าง และขนาดฐานล้อที่สั้น รวมทั้งใช้คาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบามาผลิตตัวถังเหมือนใน Lexus LFA
เครื่องยนต์ในรุ่นท็อป Inline-6 Twin-scroll Turbocharger 3.0 ลิตรจาก BMW ทำงานร่วมกับเกียร์อัตโนมัติ 8-speed Sports Automatic Transmission ความแรง 335 แรงม้าที่ 5,000-6,500 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตรที่ 1,600-4,500 รอบต่อนาที อัตราเร่ง 0-100 กม. ในเวลา 4.3 วินาที ความเร็วสูงสุดถูก 250 กม./ชม. (ถูกจำกัดด้วยระบบอิเล็คทรอนิคส์)
All-new Supra ถูกพัฒนาเพื่อเป็นรถแข่งควบคู่กับการใช้งานบนถนนปกติ โดย Toyoda เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขับทดสอบที่นูร์เบิร์กริงต์ สนามแข่งระดับตำนานของประเทศเยอรมัน เพื่อให้ความเห็นสำหรับการปรับแต่งระบบขับเคลื่อนล้อหลัง, ระบบช่วงล่าง และสมรรถนะของเครื่องยนต์ จนทำให้มีการติดตั้ง Adaptive Damper เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่จะช่วยลดความสูงของรถลงมา 7 มม. ทำให้การควบคุม และประสิทธิภาพในการเกาะถนนระหว่างเข้าโค้งดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม All-new Supra ซึ่งเป็นรถยนต์ที่เร็วที่สุดภายใต้โลโก้ของ Toyota ในเวลานี้ กลับมาสมรรถนะที่ด้อยกว่า BMW Z4 M40i สเป็กที่ขายในสหรัฐฯ อยู่ 47 แรงม้า ทำให้แรงบิดสูงสุดแพ้ไปเล็กน้อย 6 นิวตันเมตร รวมทั้งอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. จะแตกต่างกันราว 0.2 วินาที
ก่อนหน้านี้ Tetsuya Tada หัวหน้าทีมวิศวกรของ Supra เจเนอเรชั่นที่ 5 เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าโมเดลรุ่นใหม่ถูกออกแบบเพื่อการใช้งานในสนามแข่งเป็นหลัก และคงจะไม่ใช่การตัดสินใจที่สมเหตุสมผลในการมุ่งมั่นโปรโมตที่สหรัฐฯ ตลาดที่ไร้ความแน่นอนกับรถสปอร์ต หลังจากปี 2018 ตัวเลขยอดขายรถสปอร์ตคอมแพ็กต์อยู่ที่ 61,226 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 17 เปอร์เซ็นต์ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นยอดขายของ Subaru WRX ที่ทำไปได้ 28,730 คัน
“เรามุ่งมั่นที่จะสร้างรถยนต์รุ่นนี้ให้ออกมาให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งหมดจะต้องถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน และผู้ขับขี่จะสามารถสัมผัสได้ถึงยางล้อทั้ง 4 ข้างที่สัมผัสผิวถนน” Tada อธิบาย “ทำให้สิ่งที่ได้กลับมาคือขนาดความกว้างของตัวรถ ที่ไม่อาจจะเป็นไปได้สำหรับเราในการออกแบบที่นั่งด้านหลัง ทำให้เราต้องสร้างรถสปอร์ตแบบ 2 ที่นั่งแม้ว่าจะค้านกับความต้องการของฝ่ายขายก็ตาม”
ตารางเปรียบเทียบสมรรถนะ All-New Supra vs. BMW Z4 (Credit autoblog.com)
ก่อนหน้านี้ Adrian Van Hooydonk หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ของ BMW ให้สัมภาษณ์ถึงการเป็นพันธมิตรครั้งนี้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า “นับเป็นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือที่เรียบง่ายที่สุด ในเรื่องของรูปแบบการดีไซน์ อันดับแรก Toyota เข้ามาหาเราเพราะพวกเขาเคารพการทำงานของ BMW ในด้านอากาศพลศาสตร์ และความสปอร์ตของรถ โดยตัวของ Akio Toyoda รักการขับรถ และครั้งแรกที่เขาเดินทางมาพบกับเรายังนำหมวกนิรภัยติดตัวมาด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาต้องการนำรถยนต์คันนี้ออกไปลองขับในสนามแข่ง และเขาก็ทำแบบนั้นจริงๆ!”
ในแถบอเมริกาเหนือ Toyota ปิดตำนาน Supra เจเนอเรชั่นก่อนเมื่อปี 1998 แต่ยังมีการผลิตเพื่อขายในบางประเทศ จนกระทั่งปี 2002 และถึงจะมีความพยายามในการทำตลาดรถสปอร์ตด้วยการเปิดตัว Toyota 86 แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง
All-new Supra ที่จะขายให้ลูกค้าชาวอเมริกัน มีการตั้งเงื่อนไขพิเศษล็อตแรก 1,500 คัน จะผลิตขึ้นในชื่อ Launch Edition ราคาเริ่มต้น 55,250 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 1.71 ล้านบาท) ถือว่าไม่สูงมากนักหากเทียบกับรุ่นก่อนที่ถูกตั้งราคาไว้ที่ 50,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 1.55 ล้านบาท) ในปี 1996 หรือเทียบเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่ 80,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 2.48 ล้านบาท)
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Automotive News
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th