ASEAN BEV UPDATE: สถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้าล่าสุดของอาเซียน–การขยายอาณาจักรของแบรนด์รถสัญชาติจีน
ASEAN BEV UPDATE : การเติบโตของ รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศกลุ่มอาเซียนกลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ผลิตยานยนต์ยักษ์ใหญ่แดนมังกร
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ถือเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้ ในเวลาเดียวกันประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก พยายามเร่งกำลังการผลิต และพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ พร้อมทั้งนโยบายเชิงรุก และมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเติบโต เสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ผลิตรถยนต์แดนมังกรรักษาตำแหน่งผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าทั้งด้านตัวเลขการผลิต และยอดขายในระดับโลก
GWM กวาดยอดขาย ครึ่งปีแรก 6,222คัน พร้อมเดินหน้ายานยนต์ไฟฟ้าในไทย
Credit: GlobalData
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นภูมิภาคที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า จากกระแสความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม และความมมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามข้อตกลงระดับประเทศ ทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนตระหนักถึงศักยภาพของยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคนี้
ส่งผลให้รัฐบาลของประเทศกลุ่มอาเซียนพยายามออกนโยบาย และมาตรการสนับสนุนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมด้านการผลิต โดย Methin Changtor ผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมยานยนต์เอเชียจาก GlobalData บริษัทสำรวจข้อมูลการตลาดระดับโลก วิเคราะห์นโยบายรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าสนใจของมาเลเซีย, อินโดนีเซีย และไทย พร้อมการขยายอาณาจักรของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากประเทศจีน
• มาเลเซีย มาตรการปลอดภาษี และเงินสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า: รัฐบาลแดนเสือเหลือง เร่งเดินเครื่องด้วยการออกนโยบายปลอดภาษี และให้เงินสนับสนุนผ่านการคืนภาษีถึงจะไม่สูงมากนักก็ตาม โดยเงื่อนไขการสนับสนุนเหมือนจะมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนของพวกเขาเปิดใจยอมรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า BEV Ecosystem ให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก
•อินโดนีเซีย สร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ: เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ รัฐบาลอินโดนีเซียมีการนำเสนอเงื่อนไขสนับสนุนหลายด้านสำหรับกลุ่มผู้ผลิตระดับ OEM (Origianl Equipment Manufacturer) ที่มีความต้องการจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศของพวกเขา และกำลังมีแผนจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศให้เหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ เพื่อกระตุ้นให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของอินโดนีเซียเติบโตแบบก้าวกระโดดอีกด้วย
• ไทย การสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมทุกด้าน: หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยเลือกสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าแบบคู่ขนาน ทั้งด้านผู้บริโภคที่ต้องการสัมผัสเทคโนโลยีใหม่ และผู้ผลิตที่ต้องการเงื่อนไขสนับสนุนที่น่าพึงพอใจสำหรับการเข้ามาลงทุนในประเทศ หนึ่งในเงื่อนไขการสนับสนุนที่น่าสนใจที่สุดคือการให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุด 150,000 บาทต่อคัน โดยบริษัทรถยนต์จะต้องผลิตโมเดล BEV ในจำนวนเท่ากันจากโรงงานในประเทศภายในปี 2025* และรัฐบาลไทยมีการออกนโยบายสนับสนุนด้านภาษีเพื่อให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศอีกด้วย
* เงื่อนไขหากนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ามาขาย 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศให้ได้จำนวน 1 เท่า ภายในปี 2024 หรือขยายระยะเวลาเป็นภายในปี 2025 แต่ต้องผลิต 1.5 เท่าจะเป็นรุ่นใดก็ได้ หากราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท
การขยายอาณาจักรของ OEM สัญชาติจีนสู่อาเซียน
นโยบายของแต่ละประเทศนำไปสู่เส้นทางที่สดใสสำหรับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยคาดว่าในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 86,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 250 เปอร์เซ็นต์หากเทียบกับปี 2022 และส่วนใหญ่รถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในภูมิภาคนี้เป็นของผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดสูงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าตลอดทั้งปีนี้
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจจากการที่ 5 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แดนมังกร (MG, Great Wall, Neta, Wuling และ BYD) เข้ามาลงทุนในอาเซียนได้ระยะหนึ่งแล้ว รวมทั้งที่รอเปิดตัวอย่าง Chery และ Changan ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคนี้จะต้องเผชิญอิทธิพลจากผู้ผลิตกลุ่มนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ทำให้มีการคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ในช่วงทศวรรษนี้ไม่ต่ำกว่า 27 เปอร์เซ็นต์ โดยยอดขายมากกว่าครึ่งจะเป็นของแบรนด์รถยนต์จีน ทำให้ครองส่วนแบ่งตลาดหลักของเซกเมนต์นี้ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเป็นก้าวสำคัญให้พวกเขาบุกครองเซกเมนต์อื่นๆ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามถึงบรรดาผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนจะมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน แต่ส่วนแบ่งตลาดของ BEV ในภูมิภาคนี้จะไม่สูงเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์นั่ง (Passenger Vehicle) ไปจนถึงช่วงปลายทศวรรษนี้ ทำให้พวกเขาจะต้องเผชิญความท้าทายในการแย่งชิงส่วนแบ่งในเซกเมนต์อื่นที่บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นยึดครองมายาวนานหลายทศวรรษ หลังจากพวกญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับเครื่องยนต์สันดาป (Internal Combusion Engine: ICE) และระบบไฮบริดไปอย่างน้อยจนถึงปี 2030
นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์จีนยังต้องเผชิญอุปสรรคจากด้านอื่นๆ หากต้องการเพิ่มส่วนแบ่งยอดขายในตลาดรถยนต์นั่งอาเซียน โดยระยะยาวพวกเขาต้องสร้างความเชื่อมั่น และการรับรู้ในแบรนด์ให้มากขึ้นในภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นก้าวสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์จีนในการที่จะขึ้นมาต่อสู้กับผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น และกลายเป็นผู้เล่นหลักของอุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียนที่ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: just-auto.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
ASEAN BEV รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ทำให้การบริโภคของภาคเอกชนและภาคบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลดลง การสนับสนุนการลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในโครงการต่าง ๆ
ตลอดจนการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่และแคมเปญส่งเสริมการขายจากค่ายรถต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง จะส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์โดยรวม เชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้น่าจะยังคงฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป