ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กับทิศทางของสนาม ATTRIC
ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กับทิศทางของสนาม ATTRIC
ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ หรือ Automotive and Tyre, Research and Innovation Center (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้การบริหารของสถาบันยานยนต์ กระทรวงอุตสาหกรรม คือหนึ่งในโปรเจ็กระดับชาติ ที่กำลังได้รับความสนใจในแวดวงยานยนต์
สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เนื่องจากเป็นศูนย์ทดสอบที่จะเข้ามามีส่วนช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์ตามยุทธศาสตร์ของประเทศ
ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจาก ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ให้เข้ามาร่วมพูดคุยถึงความคืบหน้า การเตรียมความพร้อม และการบริหารจัดการของ ATTRIC เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ครบวงจรในประเทศไทย ซึ่งกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทำความรู้จักกับ ATTRIC
สำหรับศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ หรือ ATTRIC นั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,2325 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ถูกจัดสร้างภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 3,705.7 ล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว 1,872.7 ล้านบาท และอยู่ในระหว่างการของบประมาณปี 2566 รวม 1,833 ล้านบาท
โดยโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองระยะ
ระยะที่หนึ่ง – ศูนย์ทดสอบยางล้อ ประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 (เกณฑ์มาตรฐานยางล้อที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปของสหประชาชาติ) ซึ่งเป็นในส่วนของอาคารสำนักงานพร้อมห้องปฏิบัติการและระบบสาธารณูปโภค รวมถึงการจัดซื้อเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 รวม 2 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบความต้านทานการหมุน และชุดเครื่องมือทดสอบมลพิษทางเสียงขณะหมุน และการยึดเกาะถนนบนพื้นผิวเปียก โดยเปิดบริการทดสอบมาตั้งแต่ปี 2562
ระยะที่สอง – ส่วนทดสอบยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบด้วยสนามทดสอบยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 5 สนามทดสอบ ได้แก่
- 1. สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว
- 2. สนามทดสอบระบบเบรก
- 3. สนามทดสอบระบบเบรกมือ
- 4. สนามพลวัตร
- 5. สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง
ความคืบหน้าของ ATTRIC
สำหรับโครงการนี้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จไปจำนวน 4 สนาม และยังเหลือสนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว ทางวิ่งสำหรับทดสอบยางล้อ อาคารสำหรับเตรียมสภาพรถ และชุดเครื่องมือทดสอบอีก 6 รายการ ซึ่งอยู่ในระหว่างรอจัดสรรงบประมาณปี 2566 ในวงเงิน 833 ล้านบาท เมื่อได้งบประมาณแล้ว คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2569
ATTRIC ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อมาตรฐานโลก
สำหรับศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลก แห่งแรกในอาเซียน เรียกได้ว่าเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 8 ของโลก ที่รองรับการพัฒนาอุตสหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทย เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของโลก สามารถดึงดูดนักวิจัย และนักลงทุนจากทั่วโลกสู่ประเทศไทยได้ โดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญ ของการยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ไทยแลนด์ 4.0 ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
จุดเริ่มต้นของสนาม และวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง
แรกเริ่มนั้น เกิดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเรา เป็นประเทศที่มียางพาราจำนวนมาก ในปี 2558-2559 เป็นช่วงที่ยางพารา ราคาตกต่ำ เราจึงอยากส่งเสริมให้มีการผลิตยางพาราเยอะขึ้น ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งนี้จึงเกิดขึ้น นั่นคือวัตถุประสงค์ที่เราอยากจะส่งเสริมการซื้อยางพาราภายในประเทศ ได้ส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อีกส่วนหนึ่ง โครงการก็ค่อยๆ ขยายเติบโตขึ้น สนามทดสอบแห่งนี้จึงได้ค่อยๆ เกิดขึ้นตามมา
อันที่จริงแล้ว โครงการนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ เพราะมีการพูดคุยถึงเรื่องนี้ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์กันมานานแล้ว หลายประเทศเขาดำเนินการจัดสร้างกันมาตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน
ซึ่งนี่อาจจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่เราได้มีสนาม MOVING GROUND ระดับโลกในประเทศไทย และเราเป็นสนามเปิดอันดับหนี่งในอาเซียน แน่นอนว่าสนามของภาคเอกชนมีมากมาย แต่เราคือ สนาม International Standard ที่ออกแบบโดยบริษัทออกแบบมาตรฐานโลก
ภายในสนามที่เห็นอยู่นี้ เราใช้งบประมาณไปแล้วประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเราเสร็จไปแล้ว 5 สนาม และยังเหลืออีก 1 สนาม ซึ่งเป็นสนามที่ใหญ่สุด หรือ Over High-Speed Track ซึ่งมีความยาวประมาณ 4.1 กิโลเมตร (เส้นรอบวง) เป็นไฮสปีดที่ 200 และคาดว่าส่วนนี้จะเสร็จภายใน 3 ปี นับจากปีนี้
การบริหารจัดการรายได้ในอนาคตของศูนย์ ATTRIC
การจัดหารายได้ในส่วนนื้ถือว่าค่อนข้างหนักพอสมควร ซึ่งผมเคยพูดคุยกับผู้จัดทำสนามรูปแบบนี้ในต่างประเทศ เขาจะต้องหารายได้เพื่อเข้ามาสนับสนุนดูแลสนามอยู่ที่ราว 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งทางสถาบันยานยนต์เองมีส่วนเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องของการหารายได้ให้กับศูนย์ทดสอบแห่งนี้ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากเราไม่ได้ทำการทดสอบเพียงแค่ยานยนต์ หรือชิ้นส่วนยานยนต์เพียงด้านเดียว ปัจจุบัน เรายังมีในส่วนของการทำการตลาดในแง่ของบริษัท R&D ที่ให้ความสนใจในเรื่องการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะกับแบตเตอรี่ นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทเอกชน ค่ายยานยนต์ต่างๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อต้องการใช้งานภายในศูนย์แห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่ง ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ได้คาดการณ์ว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท รวมทั้งการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี
เชื่อว่า ศูนย์ทดสอบยานยนต์ และยางล้อแห่งชาติ หรือ Automotive and Tyre, Research and Innovation Center (ATTRIC) แห่งนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำ และเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการทดสอบเพื่อความสอดคล้องในกระบวนการผลิต การส่งเสริมตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (Aftermarket) พร้อมขยายพันธมิตรทางธุรกิจให้เพิ่มขึ้นได้
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th