AUDI RS Q e-tron ตัวแข่งพลังงานไฟฟ้า พร้อมลุย Dakar Rally 2022
AUDI RS Q e-tron เป็นตัวแข่ง Dakar Rally ประจำปี 2022 มาพร้อมสโลแกน “From circuit racing to the desert.” ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีจาก Formula E นับเป็นบททดสอบใหม่ในรูปแบบ extreme conditions แข่งกันในทะเลทราย ด้วยรูปแบบมาราธอนวิ่งทางไกลเป็นระยะทางราว 800 กิโลเมตร/วัน ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าที่รถสามารถวิ่งได้ แข่งกันยาวนานเกือบ 2 สัปดาห์ จึงนับเป็นความท้าทายใหม่ของเทคโนโลยี e-tron ทั้งหมดส่งผลให้ AUDI เป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก ที่ส่งรถแข่งขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ลงแข่งในรายการสุดหฤโหดนี้
AUDI RS Q e-tron ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า MGU05 (Motor-Generator Unit) จากรถแข่ง Formula E จำนวน 2 ตัว แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลัง คงรูปแบบระบบขับเคลื่อน quattro อันเป็นเอกลักษณ์ของรถจากค่ายสี่ห่วง ซึ่งก่อนหน้านี้ระบบ quattro ได้ผ่านการทดสอบในรายการแข่งระดับโลก ทั้ง WRC และ Le Mans 24 Hours มาเรียบร้อยแล้ว ทว่า ในสังเวียน Dakar Rally นั้นแตกต่าง เพราะความยุ่งและยากในการทดสอบเทคโนโลยีรอบนี้อยู่ที่ทะเลทราย ไม่มีความสะดวกทั้งปวงในเรื่องการชาร์จไฟ ทีมวิศวกรจึงออกแบบเครื่องยนต์พ่วงเข้าไปในรถแข่ง RS Q e-tron อีก 1 ตัว รับหน้าที่ปั่นไฟเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ RS Q e-tron มีพลังงานสำรองเพียงพอตลอดการแข่งขันในแต่ละสเตทของวัน
- AUDI RS Q e-tron ตัวแข่ง Dakar Rally ประจำปี 2022 ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ใช้เทคโนโลยีจาก Formula E
แม้จะติดตั้งเครื่องยนต์ไว้เพื่อภารกิจ ‘ปั่นไฟ’ เพียงอย่างเดียว แต่เครื่องยนต์ตัวนี้ก็ไม่ธรรมดาอีกเช่นกัน เป็นบล็อก 4 สูบ แถวเรียง ขนาด 2 ลิตร เทอร์โบ หรือ TFSI ที่ประจำการอยู่ในรถแข่ง AUDI RS 5 DTM ทุกชิ้นส่วนภายในเครื่องแข่งจึงเข้าข่ายจัดเต็ม การันตีเรื่องความทนทานและประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน พละกำลังจากเครื่องยนต์เซตได้ระหว่าง 200 kW (268 PS) ถึง 450 kW (603 PS) มีรอบเครื่องสูงสุดที่ 9,000 รอบ/นาที โดยตัวเครื่องยนต์เชื่อมต่ออยู่กับ ‘เจนเนอเรเตอร์’ รหัสเดียวกับมอเตอร์ไฟฟ้า MGU05 (ใช้รหัสเดียวกันหมด ให้ความสะดวกในการเซอรวิส) ทำหน้าที่แปลงพลังงานกลจากเครื่องยนต์ ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ส่งเข้าไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ความจุ 52 kWh
- ดีไซน์ของ RS Q e-tron ทางทีมงานเอ่ยปากเองว่า มันเหมือน UFO
ชุดแบตเตอรี่ HVBS (High Voltage Battery System) ใช้เซลล์แบบลิเทียม-ไอออน รองรับการชาร์จไฟในระดับ 220 kW ทั้งชุดมีน้ำหนัก 370 กิโลกรัม (รถทั้งคันหนักประมาณ 2,000 กิโลกรัม) ข้อมูลไม่ได้ระบุเวลาและความเร็วในการชาร์จไฟ แต่น่าจะรับมือกับพละกำลังจากเครื่องจากตัวแข่ง DTM ได้แบบลงตัวพอดี ๆ ความหมาย คือ RS Q e-tron ไม่ต้องเสียเวลาเสียบปลั๊กชาร์จไฟ ตลอดวันของการแข่งขัน ขอเพียงมีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์เท่านั้นเป็นอันพอ
- ตัวถัง RS Q e-tron มาพร้อมยางอะไหล่ 2 ชุด ออกแบบซ่อนอยู่ในแนวข้างของตัวถังทั้ง 2 ฝั่ง
แม้จะใช้เครื่องยนต์สันดาป ที่ต้องเผา Fossil Fuel มาให้ได้มาซึ่งพลังงาน แต่การใช้เครื่องยนต์ในรูปแบบนี้แตกต่างจากการใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนรถโดยตรง เมื่อมีทั้งเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าในรถ จึงเข้านิยาม…รถไฮบริด เป็นระบบไฮบริดประเภท ‘Series Hybrid’ ที่แยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน ระหว่างเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า นั่นคือ เครื่องยนต์ทำหน้าที่ ‘เป็นต้นกำลังสำหรับการปั่นไฟ’ ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้าจะรับหน้าที่ ‘เป็นต้นกำลังสำหรับขับเคลื่อนรถ’ เพียงอย่างเดียวเช่นกัน มอเตอร์ไฟฟ้าจะมีสลับหน้าที่ regenerate บ้าง ในบางสถานการณ์การขับขี่ เช่น ขณะรถชะลอความเร็ว และเบรก เป็นต้น
- ค็อกพิตถูกล้อมไว้ด้วย Roll Cage และโครงคาร์บอนไฟเบอร์
ในรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปทั่วไป น้ำหนักของรถทั้งคัน รวมผู้โดยสาร และระดับในการใช้คันเร่ง นับเป็นโหลด (Load) โหลดเยอะ เครื่องยนต์บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงเยอะตามกัน แต่โหลดของเครื่องยนต์สันดาปในรถ ‘Series Hybrid’ จะมีเจนเนอเรเตอร์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ดังนั้น โหลดของเครื่องแข่ง DTM ที่ถูกนำมาติดตั้งเพื่อปั่นไฟใน RS Q e-tron จึงลดลงน้อยกว่า การใช้ขับเคลื่อนรถแข่ง DTM อย่างมหาศาล รอบการปั่นไฟถูกเซตไว้ระหว่าง 4,500-6,000 รอบ/นาที มีอัตราสิ้นเปลืองต่ำกว่า 200 กรัม (น้ำมันเชื้อเพลิง) ต่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า 1 kWh โดยที่ถังน้ำมันเชื้อเพลิงมีความจุถึง 295 ลิตร
- ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า MGU05 (Motor-Generator Unit) จากรถแข่ง Formula E จำนวน 2 ตัว แยกกันขับเคลื่อนล้อหน้าและล้อหลัง คงรูปแบบระบบขับเคลื่อน quattro
มอเตอร์ไฟฟ้า MGU05 ทั้ง 2 ตัว หรือ e-drivetrain มีกำลังสูงสุดรวม 500 kW (670 PS) แต่ใน RS Q e-tron ถูกล็อกไว้ที่เพียง 300 kW (402 PS) (ปรับเพิ่มได้ตลอด) และแรงม้าเบื้องต้นที่เซตไว้ สามารถพา RS Q e-tron ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้เร็วกว่า 4.5 วินาที (on loose surface) พร้อมจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 170 กม./ชม. ซึ่งจัดว่าเร็วสุดๆ แล้ว สำหรับสายแรลลี่บนทางฝุ่น
- น้ำหนักตัวร่วม 2 ตัน แต่แรงบิดมหาศาล ส่งรถทะยานลอยพ้นพื้นเป็นเรื่องที่ง่ายมาก
- ท้ายรถเห็นปลายท่อของเครื่องยนต์ 2 ลิตร TFSI จากรถแข่ง AUDI RS 5 DTM ที่นำมาใช้ขับเจนเนอเรเตอร์เพื่อปั่นไฟเพียงอย่างเดียว
RS Q e-tron เป็นรถแข่งในรูปแบบแรลลี่ ที่ไม่ได้ต่อยอดมาจากรถถนนรุ่นใดๆ จาก AUDI แต่เป็นรถแข่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลงแข่งขันในรายการ Dakar Rally โดยเฉพาะ รูปแบบของตัวรถจัดอยู่ในประเภท Cross-Country Rally Car รุ่น T1E-alternative drivetrains โครงสร้างหรือเฟรมขึ้นรูปจากเหล็กท่อ ให้ความปลอดภัยสูงสุดตามมาตรฐานรถแข่ง ช่วงล่างเป็นแบบอิสระทั้ง 4 ล้อ จัดวางในรูปแบบดับเบิ้ลวิชโบน ขณะที่ตัวถัง วัสดุหลักที่ใช้จะเป็นคาร์บอนไฟเบอร์
ปัจจุบัน RS Q e-tron อยู่ในขั้นตอนรถโปรโตไทป์ ทีมแข่งจากโรงงาน AUDI ในชื่อ Q Motorsport กำลังวิ่งทดสอบเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง ด้วยนักแข่งแรลลี่ระดับโลกตัวจริง เริ่มต้นไปวิ่งทดสอบในสเปน 8 วัน กับสภาพอุณหภูมิ 34 องศาเซลเซียส RS Q e-tron สามารถทำความเร็วสูงสุดบนทางฝุ่นได้ถึง 180 กม./ชม. จากนั้นขนทีมงานไปทำความคุ้นชินกับสภาพ extreme conditions ในทะเลทราย ประเทศโมร็อกโก นาน 2 สัปดาห์ ต้องเจออุณหภูมิระดับ 40 องศาเซลเซียส ตลอดวัน เตรียมความพร้อมรับความร้อน และพายุทะเลทราย ของทั้งรถแข่ง นักแข่ง และทีมเซอร์วิส จนถึงวันนี้ ทีม Q Motorsport เตรียมนับถอยหลัง รอวันชิงชัยในสังเวียน Dakar Rally ในช่วงต้นปี 2022 แล้ว
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th