AUDI SQ8 TDI Top Performance!!! SUV Coupé ร่างยักษ์ 0-100 เพียง 4.8 วินาที
Q8 เป็นรถเซ็กเมนต์ใหม่จากค่าย AUDI ถูกเปิดตัวออกมาช่วงปลายปี 2018 ตัวถังโดดเด่นด้วยรูปแบบ Full-size Luxury Crossover SUV Coupé ดีไซน์จึงเน้นความสปอร์ตมากกว่า SUV ทุกรุ่นในสายการผลิต ในตลาดยุโรป Q8 มีให้เลือก 3 รุ่นเครื่องยนต์ เป็น 1 เบนซิน และ 2 ดีเซล ได้แก่ 55 TFSI, 45 TDI และ 50 TDI ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดจัดเป็น Q8 รุ่นพื้นฐาน ซึ่งดูธรรมดาไปในทันที เมื่อต้นสังกัดสั่งเปิดตัวรุ่น Top Performance แรงสุดในสายการผลิต แรงในระดับที่รถสปอร์ตสายพันธ์แท้ไม่กล้าแหย่ เรากำลังกล่าวถึง ‘SQ8 TDI’ รถ SUV Coupé ร่างยักษ์ ที่ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. เร็วเพียง 4.8 วินาที!!!
- กระจังหน้าแบบ Single Frame ดูโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย Octagonal Design
Q7 รั้งตำแหน่ง Full-size SUV มีตัวถังใหญ่ที่สุดจาก AUDI มาอย่างยาวนาน ทว่า หลายคนคาดการณ์ว่า Q8 ผู้มาใหม่อาจมาแย่งตำแหน่งนี้ไป แต่หากพิจารณาจากความยาวร่วม 5 เมตร และระยะฐานล้อในระดับ 3 เมตร จะเห็นได้ว่า SUV ร่างยักษ์ทั้ง 2 โมเดลจากค่ายสี่ห่วง มีความใกล้เคียงกันมากในเรื่องของมิติ หลักๆ ความแตกต่างของตัวรถจึงอยู่ที่ดีไซน์ Q8 ไม่ใช่รถสำหรับครอบครัวเหมือน Q7 แต่เน้นความสปอร์ตและโฉบเฉี่ยว [expander_maker id=”4″ more=”อ่านเพิ่มเติม” less=”Read less”]Read more hidden text
เป็นรถ SUV ขนาดใหญ่ ที่อัดแน่นด้วยความพรีเมียมและความไฮเทค พร้อมรองรับการเดินทางแบบสบายๆ ในทุกเส้นทาง และ AUDI ได้มอบตำแหน่ง Top Model ของตระกูล Q family ให้กับ Q8 ไปเป็นที่เรียบร้อย
- AUDI SQ8 TDI จัดอยู่ในกลุ่ม Full-size Luxury Crossover SUV Coupé ใช้เส้นสายที่คมกริบ มาพร้อมความไฮคลาสในระดับจัดเต็ม
ในส่วนของเทคโนโลยีเด่นจาก AUDI หนีไม่พ้น ‘เทอร์โบไฟฟ้า’ หรือ Electric Powered Compressor (EPC) เป็นนวัตกรรมล่าสุดของระบบอัดอากาศ ถูกทดสอบใช้งานในรถต้นแบบมาแล้วถึง 3 โมเดล ซึ่งในที่สุดเทคโนโลยีนี้ก็ได้รับการติดตั้งให้ Production Car ที่ส่งลงไลน์การผลิตเพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นที่ ‘SQ7 TDI’ ซึ่งเป็นเวอร์ชันแรงของ Q7 ก่อนจะถูกส่งต่อมายัง ‘SQ8 TDI’ ทั้งคู่ถูกพัฒนาให้เป็น SUV สมรรถนะสูงแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ความจุมหาศาลเหมือนเวอร์ชันแรงของรถสายพันธ์นี้ในอดีต (ใช้เครื่องยนต์ V12 TDI ความจุ 6.0 ลิตร) และที่กลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว นั่นก็คือ Performance SUV หลากหลายรุ่นจากค่ายสี่ห่วง จะมาพร้อมขุมพลัง TDI ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ดีเซล
- SQ8 TDI ตะกายด้วยล้อทั้งสี่ผ่านหลัก 100 กม./ชม. ด้วยเวลา 8 วินาที และจำกัดท็อปสปีดไว้ที่ 250 กม./ชม.
- ปลายท่อคู่ ปล่อยออกทั้ง 2 ฝั่ง เป็นจุดที่ SQ8 TDI แตกต่างจาก Q8 รุ่นพื้นฐาน
History & Design:
เมื่อร่วม 2 ปีที่ผ่านมา ว่าที่รถโมเดลใหม่ของตระกูล Q family นำร่องเผยโฉมมาก่อนด้วย Q8 Concept เป็นรถต้นแบบลูกผสม หยิบยืมขุมพลังไฮบริดมาจาก Q7 e-tron Quattro ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่าไม่ได้มีเพียงแค่ระบบไฮบริดเท่านั้น แต่ Q7 และ Q8 ได้ใช้พื้นฐานโครงสร้างร่วมกันทั้งหมด ในชื่อเต็มๆ ว่า ‘Volkswagen Group MLB Platform’ นั่นเพราะงานแพลตฟอร์มเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อน ถูกใช้เป็นจุดยึดให้กับ ตัวถัง ระบบกันสะเทือน เครื่องยนต์ กระปุกเกียร์ แบตเตอรี่ของระบบไฮบริด และระบบขับเคลื่อน ดังนั้น สำหรับรถทุกกลุ่มในเครือ Volkswagen AG จึงมีการแชร์แพลตฟอร์มร่วมกัน อาทิ AUDI Q7, VW Touareg, PORSCHE Cayenne, LAMBO Urus สำหรับกลุ่ม SUV เป็นต้น
จาก Q8 Concept พัฒนามาเป็น Q8 ตัวพร้อมจำหน่ายจริง ในส่วนของดีไซน์มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เป็นรถ Full-size SUV ที่มาพร้อมความกว้าง 1,995 มิลลิเมตร ความยาว 4,986 มิลลิเมตร และความสูง 1,705 มิลลิเมตร หากเทียบกับ Q7 โมเดลปัจจุบัน Q8 จะเตี้ยกว่า 38 มิลลิเมตร ตัวถังมีความยาวน้อยกว่า 66 มิลลิเมตร แต่ Q8 มีความกว้างมากกว่า 27 มิลลิเมตร ขณะที่ SQ8 TDI มีมิติตัวถังแตกต่างจาก Q8 เล็กน้อย ที่ความกว้าง ความยาว และความสูง ที่ 1,995, 5,006 และ 1,708 มิลลิเมตร ตามลำดับ
แม้จะเป็นรถ SUV ร่างยักษ์ แต่ทีมดีไซเนอร์ใช้ปรัชญาในการออกแบบในสไตล์ Avant อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของค่าย เส้นสายบนตัวถังเน้นความหนักแน่น แข็งแรง สร้างความภูมิฐานในทุกมุมมอง บานประตูทั้ง 4 มีขนาดใหญ่ เป็นแบบ frameless ไร้กรอบกระจก เสา C เน้นความกว้าง ได้รับอิทธิพลมาจาก AUDI Ur-quattro ในปี 1980 ขณะพื้นที่หลังคาส่วนท้ายลาดเทกว่ารถ SUV ทั่วไป เพื่อสื่ออารมณ์สปอร์ตในสไตล์รถคูเป้ ส่งผลให้แนวหลังคาของ Q8 และ SQ8 TDI ถูกเรียกว่า coupe-like roof line ขณะที่ภาพรวมของตัวถังสไตล์นี้ ได้กลายพันธ์ไปเป็น SUV Coupé ในที่สุด
ในส่วนของล้อ ‘SQ8 TDI’ เต็มพิกัดด้วยขนาด 22 นิ้ว มาพร้อมยาง 285/40 ทั้ง 4 ล้อ ขณะที่ดิสก์เบรกจัดชุดใหญ่ด้วยขนาด 400 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์แบบ 6 pot ในคู่หน้า และ 350 มิลลิเมตร พร้อมคาลิเปอร์แบบ 4 pot ที่คู่หลัง นอกจากนี้ ยังมีจาน ‘คาร์บอนเซรามิก’ มาเป็นออปชันให้ลูกค้าเลือกจ่ายเพิ่มด้วย
ท่อนหน้า SQ8 TDI ให้ความรู้สึกเดียวกับรถต้นแบบ Prologue Avant ที่โชว์ตัวมาก่อนหลายปี กระจังหน้าแบบ Single Frame ใช้รูปทรง 8 เหลี่ยมขนาดใหญ่ ไฟหน้าจัดเต็มด้วยระบบส่องสว่างล่าสุดประจำค่าย มี ‘LED headlights’ เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน และมีออปชันพิเศษ ‘HD matrix LED headlights’ ให้ลูกค้าเลือกจ่ายเพิ่มเช่นเดียวกับ Q8 ซึ่งรถระดับนี้ย่อมคู่ควรกับระบบส่องสว่างที่ทันสมัยที่สุด สำหรับไฟหน้า HD matrix LED จะใช้หลอด LED จำนวน 24 LEDs/ข้าง เพื่อรองรับการทำงานจากสารพัดฟังก์ชันย่อยของระบบส่องสว่าง ที่จะช่วยลดมุมอับของแสงไฟ ขณะรถอยู่โค้ง และขณะรถเคลื่อนที่ข้ามทางแยก โดยระบบไฟ HD Matrix LED จะทำงานเชื่อมโยงกับ Front Camera บริเวณกึ่งกลางกระจังบังลมหน้า
ไฟหน้า HD matrix LED ใช้พื้นที่น้อย แต่ให้ประสิทธิภาพในการส่องสว่างสูง และประหยัดพลังงาน เมื่อใช้โครงสร้างโคมที่มีขนาดเล็ก จึงสามารถออกแบบตัวโคมไฟได้บางลง ส่งผลดีต่อเรื่องแอโรไดนามิกโดยตรง สำหรับไฟ Daytime Running Lights ถูกวางให้เป็นเส้นไฟแนวตั้งหลายระดับ ซึ่งจะกลายเป็น Light Signature ของรถยนต์ AUDI เจเนอเรชันต่อไปในอนาคต
ขณะที่โคมไฟท้ายใช้หลอด LED พร้อมชุดสะท้อนแสงแบบ 3D Glass วางเส้นไฟในรูปแบบที่สอดรับกับ Daytime Running Lights ของไฟหน้า นอกจากเพิ่มมิติในการมองเห็น ไฟท้ายของ SQ8 TDI สามารถแสดงผลเป็น Digital Graphics ดึงดูดความสนใจ เพื่อใช้สื่อสารกับรถที่เคลื่อนที่อยู่ด้านหลังได้ด้วย
- ห้องโดยสารสไตล์เรียบหรู เป็นดีไซน์ที่ลงตัวทั้งเรื่องการจัดวาง และคุณภาพวัสดุ แดชบอร์ด หรือแผงมาตรวัดของ Audi Virtual Cockpit ใช้จอแสดงผลแบบ TFT ขนาด 3 นิ้ว
ห้องโดยสารใช้ดีไซน์แนวเรียบหรู และไฮเทค ที่ไม่ได้ดูเกินเลยความเป็นจริง เบาะนั่งเป็นแบบ 2+3 ที่นั่ง โดยสารกันแบบกำลังพอดี ปราศจากความอึดอัด แต่จะสบายสุดๆ หากจะโดยสารกันเพียง 2+2 ที่นั่ง เพื่อการเดินทางในระดับ First Class ในทุกตำแหน่ง โดยตัวเบาะแถวหลัง ถูกออกแบบให้มีระยะการเลื่อนเดินหน้า-ถอยหลัง ได้อีก 10 เซนติเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ในส่วน Legroom ให้กับ VIP หรือจะเพิ่มพื้นที่ขนของก็ทำได้แบบง่ายๆ โดยความจุในส่วนของห้องเก็บสัมภาระท้ายรถเริ่มต้นที่ 605 ลิตร และเพิ่มเติมได้มากสุดถึง 1,755 ลิตร ด้วยการพับพนักพิงเบาะนั่งแถวหลัง
- เรื่องสรีรศาสตร์ของเบาะนั่ง ความประณีตของงานหนัง รวมทั้งสัมผัสที่ได้จากการโดยสาร AUDI ไม่เคยตามใคร
คอนโซลหน้าใช้แบบชิ้นเดียว งานออกแบบประหนึ่งเฟอร์นิเจอร์สุดหรูในห้องรับแขก ดูรับกับคอนโซลกลางขนาดใหญ่ได้อย่างลงตัว ค็อกพิตหรือบริเวณโดยรอบคนขับ เป็นสวิตช์แบบสัมผัส รูปแบบการสั่งการเช่นเดียวกับการใช้งานแท็บเล็ต ห้องโดยสารเน้นความเรียบหรู แต่ไม่ละเลยความสปอร์ตในสไตล์ AUDI ในส่วนของอุปกรณ์ไฮเทค ยังคงอัดแน่น ชุดมาตรวัดของ Q8 และ SQ8 TDI อัปเกรดมาใช้มาตรวัดดิจิทัลเต็มรูปแบบ แดชบอร์ดใช้จอแสดงผลแบบ TFT ขนาด 12.3 นิ้ว ความละเอียด 1,920 x 720 พิกเซล รองรับการแสดงภาพกราฟิก 3D ด้วยชิปแบบ Quad-core ที่ AUDI ลงทุนพัฒนาร่วมกับเจ้าพ่อวงการ ‘ชิปกราฟิก’ นาม Nvidia แสดงข้อมูลได้ทั้งมาตรวัดส่วนต่างๆ หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ขับ รวมทั้งในส่วนของแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมดเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่า Audi Virtual Cockpit
จอมอนิเตอร์แบบสัมผัสกึ่งกลางคอนโซลหน้าใน SQ8 TDI แยกออกเป็น 2 ส่วน จอด้านบน ขนาด 10.1 นิ้ว รองรับในส่วน Infotainment ระบบนำทาง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางของระบบ MMI (Multi Media Interface) สำหรับจอด้านล่างใช้ขนาด 8.6 นิ้ว แสดงผลและควบคุม ฮีตเตอร์ ระบบหมุนเวียนอากาศภายในห้องโดยสาร และระบบปรับอากาศแบบ 4-zone
- หากเทียบกับ SUV Coupé ตัวท็อปจากเยอรมันด้วยกัน จะเห็นได้ว่า SQ8 TDI มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเกินคู่แข่งไปหลายรายการ
Engine & Transmission:
SQ8 TDI สร้างความตื่นเต้นด้วยแรงม้าระดับ 435 hp (320 kW) จากเครื่องยนต์ดีเซล!!! V8 4.0 TDI ขนาดความจุ 3,956 ซี.ซี. ถูกเคลมมาจากโรงงานเลยว่า ให้ความประหยัด รวมทั้งปล่อยมลพิษในระดับเดียวกับเครื่องดีเซล 6 สูบ ที่ใช้งานอยู่ใน SUV ในเซ็กเมนต์เดียวกัน อัตราสิ้นเปลือง ในเมือง/เดินทาง/เฉลี่ย ทำได้ 11.62/13.69-130.88/12.82 กิโลเมตร/ลิตร ตามลำดับ ค่ามลพิษจาก CO2 ต่ำ เพียง 205-204 กรัม/กิโลเมตร ใช้ระบบขับเคลื่อน Quattro ตะกายด้วยล้อทั้งสี่ผ่านหลัก 100 กม./ชม. ด้วยเวลา 4.8 วินาที และจำกัดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 250 กม./ชม.
- ขุมพลัง V8 4.0 TDI ใต้ฝากระโปรงหน้า SQ8 TDI มาพร้อมของเล่นไฮเทคหลายรายการ ผลลัพธ์ คือ พละกำลัง 435 hp ที่ 3,750-4,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 900 Nm ที่ 1,250-3,250 รอบ/นาที
เครื่องยนต์ V8 4.0 TDI ใต้ฝากระโปรงหน้า ‘SQ8 TDI’ ถูกดีไซน์มาเพื่อเน้นการตอบสนองในรูปแบบเดียวกับรถสปอร์ต จะต่างจะรถสปอร์ตทั่วไปก็ตรงที่ต้องแบกภาระจากรถพิกัด Large SUV ที่มีน้ำหนักตัวรวมกว่า 2 ตัน (2,365 กิโลกรัม) พร้อมความอเนกประสงค์จากสารพัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายแบบจัดเต็ม จากตัวแปรเหล่านี้ จึงไม่มีต้นกำลังรูปแบบใด จะตอบโจทย์ได้โดดเด่นเท่าเครื่องยนต์ดีเซลสมรรถนะสูงอีกแล้ว
- EPC (Electric Powered Compressor) ช่วยเสริมแรงอัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ นับตั้งแต่ผู้ขับเหยียบคันเร่งเพื่อออกรถ จากรอบเดินเบาไปจนถึง 1,500 รอบ/นาที
ไฮไลต์ของเครื่องยนต์ V8 4.0 TDI ใต้ฝากระโปรงหน้า SQ8 TDI อยู่ที่ระบบอัดอากาศ เดิมทีมาพร้อมเทอร์โบแปรผันจำนวน 2 ตัว ซึ่งเท่าที่มี ก็ทำให้เครื่องยนต์แรงอย่างเหลือเฟืออยู่แล้ว แต่วิศวกรแก้อาการ Turbo Lag ที่หลงเหลืออันน้อยนิดไปอีกสเต็ป ด้วยการติดตั้ง ‘เทอร์โบไฟฟ้า’ หรือ Electric Powered Compressor (EPC) เข้าไปอีก 1 ชุด ช่วยเสริมแรงอัดอากาศเข้าห้องเผาไหม้ นับตั้งแต่ผู้ขับเหยียบคันเร่ง เพื่อออกรถจากรอบเดินเบาไปจนถึง 1,500 รอบ/นาที อาการ Turbo Lag ในย่านรอบต่ำ จึงไม่มีปรากฏในเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบบล็อกนี้อีกต่อไป (หมายเหตุโดยผู้เขียน: Turbo Lag เป็นความล่าช้าในการตอบสนองของเทอร์โบ ขณะทำงานในรอบต่ำ เนื่องจากไอเสียมีแรงดันต่ำ)
- วิศวกรนำการทำงานของระบบ AVS (Audi Valvelift System) เข้าไปประยุกต์ใช้งานกับ ‘วาล์วฝั่งไอเสีย’ เพื่อคอนโทรลให้วาล์วไอเสียจำนวน 16 ตัว ของทั้ง 8 สูบ (วาล์วไอเสีย 2 ตัว/สูบ) สามารถทำงานได้แบบทีละตัว || เริ่มต้นที่ 1 ตัวก่อน พอรอบเครื่องสูงขึ้น จึงขยับไปทำงานครบทั้ง 2 ตัว โดยการทำงานของระบบ AVS ถูกเชื่อมต่อเข้ากับการทำงานของระบบอัดอากาศ || รอบต่ำ AVS ควบคุมวาล์วไอเสียให้ทำงานเพียง 1 ตัว/สูบ || เมื่อผู้ขับออกรถ เทอร์โบไฟฟ้า หรือ EPC จะเริ่มทำงานยาวต่อเนื่องไปจนถึง 1,500 รอบ/นาที || เมื่อไอเสียมีแรงดันมากพอ ‘Active Turbocharger’ จะรับช่วงต่อ เริ่มต้น ‘Mono-turbo Mode’ || เมื่อรอบเครื่องขยับเข้าสู่ 2,200 รอบ/นาที ระบบ AVS จะคอนโทรลให้วาล์วไอเสียตัวที่เหลือของแต่ละสูบทำงาน และไอเสียจากส่วนนี้จะไปขับเคลื่อน ‘Passive Turbocharger’ เป็นการสวิตช์เข้าสู่ ‘Bi-turbo Mode’ อย่างเต็มรูปแบบ
ความน่าทึ่งของเครื่องยนต์ V8 4.0 TDI มาจากการออกแบบ ‘วงจรการทำงาน’ ของระบบอัดอากาศใหม่ทั้งหมด ซึ่งทำงานเชื่อมโยงกับระบบ Audi Valvelift System (AVS) ที่ถูกถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเครื่องยนต์เบนซินมายังเครื่องยนต์ดีเซล ระบบนี้เป็น “กลไกการควบคุมการเปิด-ปิด ของวาล์วฝั่งไอดี และวาล์วฝั่งไอเสีย ทั้ง 32 ตัว” (4 ตัว/สูบ แบ่งเป็นวาล์วไอดี 2 ตัว และวาล์วไอเสีย 2 ตัว)
ซึ่งระบบ AVS จะควบคุมการกดวาล์ว (ด้วยรูปแบบที่แตกต่าง) มาจากชุด ‘เพลาลูกเบี้ยว’ ฝั่งไอดีไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่า ระบบลักษณะเดียวกันนี้ จากผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ อาทิ ระบบ VTEC จาก HONDA เป็นการเปลี่ยนลูกเบี้ยว หรือ Cam Contours ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์
ความใหม่อยู่ที่วิศวกรนำการทำงานของระบบ AVS เข้าไปประยุกต์ใช้งานกับ ‘วาล์วฝั่งไอเสีย’ เพื่อคอนโทรลให้วาล์วไอเสียจำนวน 16 ตัวของทั้ง 8 สูบ (วาล์วไอเสีย 2 ตัว/สูบ) สามารถทำงานได้แบบทีละตัว เริ่มต้นที่ 1 ตัวก่อน พอรอบเครื่องสูงขึ้น จึงขยับไปทำงานครบทั้ง 2 ตัว
การทำงานของระบบ AVS ถูกเชื่อมต่อเข้ากับการทำงานของระบบอัดอากาศได้อย่างแยบยล ในย่านรอบต่ำ AVS ควบคุมวาล์วไอเสียให้ทำงานเพียง 1 ตัว/สูบ เริ่มต้นที่ รอบเดินเบา (Idle Speed) สมองกลควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ สั่งระบบอัดอากาศทำงานเฉพาะ ‘เทอร์โบ#1’ (Active Turbocharger) เมื่อผู้ขับออกรถ ทันทีที่เท้าแตะคันเร่ง ‘เทอร์โบไฟฟ้า’ หรือ EPC จะเริ่มทำงานยาวต่อเนื่องไปจนถึง 1,500 รอบ/นาที แล้วหมดหน้าที่เลย EPC ตอบสนองนับตั้งแต่ผู้ขับแตะคันเร่งด้วยเวลา 250 milliseconds (1/1,000 วินาที) ขับเคลื่อนเพื่อสร้างแรงอัดอากาศจากมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งหมุนได้ด้วยรอบที่สูงถึง 70,000 รอบ/นาที
ในจังหวะที่ EPC หยุดทำงาน รอบเครื่องก็สวิงเกิน 1,500 รอบ/นาที ไปแล้ว ซึ่งไอเสียมีแรงดันมากพอที่จะทำให้ ‘เทอร์โบ#1’ (Active Turbocharger) ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในสภาวะนี้ถูกเรียกว่า ‘Mono-turbo Mode’ เมื่อรอบเครื่องขยับมาสู่ 2,200 รอบ/นาที ระบบ AVS จะคอนโทรลให้วาล์วไอเสียตัวที่เหลือของแต่ละสูบทำงาน และไอเสียจากส่วนนี้เองจะไปขับเคลื่อน ‘เทอร์โบ#2’ (Passive Turbocharger) เป็นการสวิตช์เข้าสู่ ‘Bi-turbo Mode’ อย่างเต็มรูปแบบ รองรับการทำงานต่อเนื่องไปในย่านรอบสูงได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดเป็นที่มาของสมรรถนะของ SQ8 TDI ที่ไม่เป็นรองเครื่องยนต์เบนซินตัวท็อปของค่าย
สำหรับเทคโนโลยีพื้นฐานของเครื่องยนต์บล็อกนี้ ได้แก่ ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงคอมมอนเรล ที่มาพร้อมกับ Piezo Injection ฉีดแรงดันเข้าห้องเผาไหม้แบบแปรผัน ทำได้สูงสุดระดับ 2,500 บาร์ ถัดมาเป็นระบบ Audi Valvelift System พร้อมเทอร์โบแปรผัน ในรูปแบบ Bi-turbo ส่งอากาศอัดเข้าห้องเผาไหม้ได้สูงถึง 2.4 บาร์ แรงม้ามาเต็มในระดับ 435 hp ที่ 3,750-4,750 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 900 Nm ที่ 1,250-3,250 รอบ/นาที
SQ8 TDI มาพร้อมระบบไฮบริดประเภท MHEV (Mild Hybrid Electric Vehicles) ในอดีตรถไฮบริดกลุ่ม Mild Hybrid (มี HONDA Civic ES เป็นรุ่นบุกเบิก) จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังเสริม มีกำลังขับเคลื่อนต่ำ ทำหน้าที่เสริมแรงช่วยเครื่องยนต์ขณะออกตัว และเร่งแซง เพียงเท่านั้น จาก Mild Hybrid พัฒนามาเป็น MHEV ตามแนวคิดของ AUDI ยังคงใช้เครื่องยนต์เป็นต้นกำลังหลัก และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวช่วยลดการออกแรงของเครื่องยนต์ในสถานการณ์ต่างๆ มอเตอร์ไฟฟ้าจึงมีขนาดเล็กลง และไม่ได้วางคั่นกลางระหว่างเครื่องยนต์กับกระปุกเกียร์แบบในรถไฮบริดทั่วไป แต่วางในรูปแบบ ‘Belt-drive Alternator-starter’ ขนาดและตำแหน่งการติดตั้ง ดูใกล้เคียงกับคอมเพรสเซอร์แอร์ในรถยนต์ปกติ นั่นเป็นเทคโนโลยีหลักจากวิศวกร AUDI ที่ทำให้เครื่องยนต์ดีเซลสามารถ ตัด-ต่อ กำลังกับมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างฉับไว ราบลื่น และนุ่มนวล อย่างไร้ที่ติ
BAS (48-volt Belt Alternator Starter) จึงเป็นอุปกรณ์หลักของ MHEV ที่มีขนาดกะทัดรัดมาก มันเชื่อมต่อกับพูลเลย์เครื่องยนต์ผ่านสายพาน ขับเคลื่อนด้วยแรงเคลื่อน 48 โวลต์ (เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ระบบ) หน้าที่พื้นฐานมี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็น ‘มอเตอร์สตาร์ต’ (Starter) ฉุดเครื่องยนต์ให้เริ่มต้นทำงาน ในทางกลับกัน หน้าที่ส่วนที่สอง คือ เป็น ‘ไดชาร์จ’ (Alternator 12 kW of energy) ปั่นไฟป้อนคืนแบตเตอรี่ของระบบที่ท้ายรถ (48-volt Battery)
เมื่อ SQ8 TDI ชะลอความเร็ว หรือเบรก รวมทั้งการใช้ความเร็วเดินทางแบบคงที่ ระหว่าง 55-160 กม./ชม. ยาวนานติดต่อกันเกิน 40 วินาที เครื่องยนต์จะหยุดทำงาน BAS รับหน้าที่ขับเคลื่อนรถต่อ จนกระทั่งพลังงานจากแบตเตอรี่ใกล้หมด หรือมีการเปลี่ยนแปลงความเร็ว เครื่องยนต์จึงจะกลับมาทำงานต่อภายในเสี้ยววินาที และในการขับขี่แบบ Start-Stop ระบบ BAS สามารถขับเคลื่อนรถให้ออกตัว และเคลื่อนที่จนถึงความเร็ว 22 กม./ชม. ก่อนที่เครื่องยนต์จะถูกสตาร์ตขึ้นเพื่อรับช่วงต่อ วิศวกรระบุว่า จากผลงานทั้งหมด BAS จะช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 0.5 ลิตร ต่อ 100 กิโลเมตร
- ไฟ 48 โวลต์ รองรับการทำงานของระบบ EPC และ eAWS รวมทั้งเทคโนโลยี BAS (48-volt Belt Alternator Starter) ในส่วนของ MHEV
- SQ8 TDI ติดตั้ง Sport Differential ควบคุมการทำงานด้วยระบบไฟฟ้าในเฟืองท้ายล้อหลัง เพื่อสร้างสมดุลในการกระจายแรงขับเคลื่อน ระหว่างล้อฝั่งในโค้ง กับล้อฝั่งนอกโค้ง
ในส่วนของเกียร์ ใช้ Tiptronic 8 สปีด พร้อมระบบ Quattro ที่กระจายกำลังผ่านขบวนเฟืองสุริยะ (Planetary Gear) ระบบ Quattro ใน SQ8 TDI ทำงานด้วยระบบกลไกล้วนๆ การขับขี่ในสภาพปกติ Quattro จะกระจายแรงขับเคลื่อนไปให้ล้อหลังมากกว่าล้อหน้า ใช้อัตราส่วน ล้อหน้า:ล้อหลัง ที่ 40:60 พร้อมส่งแรงขับเคลื่อนไปให้ล้อหน้าได้สูงสุด 70 เปอร์เซ็นต์ [70:30] และส่งแรงขับเคลื่อนไปให้ล้อหลังได้สูงสุด 85 เปอร์เซ็นต์ [15:85] ซึ่งการกระจายกำลังรูปแบบนี้ จะให้ฟีลลิ่งสุดเร้าใจในสไตล์รถ AUDI ขับสี่ ที่ถูกถ่ายทอดกันมาอย่างยาวนาน
ระบบ Quattro ทำหน้าที่จัดสรรกำลังระหว่างล้อหน้าและล้อหลัง ตามสภาพการขับขี่ ในแบบ real time หรือปรับเปลี่ยนตลอดเวลาไปตามสภาพถนน เพื่อให้การส่งถ่ายแรงบิดจากเครื่องยนต์ลงสู่ผิวถนนสมบูรณ์แบบ ปราศจากอาการสลิป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสูญเสียการทรงตัว หากระบบ Quattro เอาไม่อยู่ ระบบรักษาการทรงตัว ESC (Electronic Stability Control) ก็จะมาสานต่อภารกิจนี้แทนในทันที ด้วยการคอนโทรลการเบรกล้อทั้งสี่อย่างอิสระ จนกระทั่งรถกลับเข้าที่เข้าทางได้ในที่สุด
- สภาวะการขับขี่ปกติ Quattro จะกระจายแรงขับเคลื่อนด้วยอัตราส่วน ล้อหน้า:ล้อหลัง ที่ 40:60
Chassis & Suspension:
SQ8 TDI ใช้ระบบกันสะเทือนแบบ Five-link ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง แขนยึดผลิตจากอะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนักใต้สปริง ติดตั้งช็อคอัพไฟฟ้า ซึ่งมาพร้อมระบบ CDC (Continuous Damping Control) และมี Adaptive Air Suspension มาเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน โดยช่วงล่างถุงลมจะทำให้ตัวถัง SQ8 TDI สามารถปรับระยะ Ground Clearance ได้มากถึง 90 มิลลิเมตร (ระดับสูงสุด – ระดับต่ำสุด) รองรับการใช้ความเร็วบนไฮเวย์ ไปจนถึงคลานข้ามอุปสรรคบนสภาพเส้นทาง off-road แถมผู้ขับสามารถเลือกปรับได้ 4 โหมด ตามรูปแบบการขับขี่ ในโหมด ‘Lift/off-road’ ที่ความเร็วไม่เกิน 30 กม./ชม. ช่วงล่างปรับยกตัวถังขึ้น 50 มิลลิเมตร และจะปรับระดับลงอัตโนมัติ เมื่อรถใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น เพื่อลดแรงต้านอากาศ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของช่วงล่างขณะใช้ความเร็ว สำหรับโหมดที่เน้นใช้ความเร็วในการเดินทาง หรือ ‘Dynamic’ ที่ความเร็วสูงกว่า 160 กม./ชม. ตัวถังจะลดความสูงลงจากระดับมาตรฐาน 40 มิลลิเมตร
- Adaptive Air Suspension ใน SQ8 TDI สามารถปรับยกตัวถังขึ้น 50 มิลลิเมตร และลดความสูงลง 40 มิลลิเมตร เมื่อเทียบกับระดับมาตรฐาน
นอกจากเรื่องสมรรถนะที่ SQ8 TDI สร้างมาให้ไม่แตกต่างจากรถสปอร์ต วิศวกรยังให้ความสำคัญกับความสบายในการเดินทาง รวมทั้งฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งในการขับขี่ ช่วงล่างถุงลมเน้นความ ‘นุ่มนวล’ ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนเป็น ‘เฟิร์มแน่น’ ได้ทันทีเมื่อใช้ความเร็วสูง อีกทั้งยังปรับระดับความสูงของตัวถัง เพื่อลดแรงต้านอากาศในความเร็วสูง จึงรองรับการใช้งานทั้ง on-road และ off-road
ช่วงล่างถุงลมชุดนี้ถูกยกระดับประสิทธิภาพการทำงานด้วยระบบ Electromechanical Active Roll Stabilization (eAWS) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เป็นการใช้ ‘เหล็กกันโคลง’ ที่ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติความเป็นสปริงได้ 3 ระดับ (ค่า K) ด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 kW ‘บิด’ ที่เส้นเหล็กกันโคลงแบบกลวง ทิศทาง (บิดทวนเข็มหรือตามเข็มนาฬิกา) และความแรงในการบิด ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเอียงของตัวถัง รวมทั้งความเร็วในการเข้าโค้งทั้งหมด เพื่อลด ‘การโคลง’ ซึ่งเป็นอาการพื้นฐานของรถตัวถังสูงสไตล์ SUV นั่นเอง
- มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 3 kW ของระบบ eAWS (Electromechanical Active Roll Stabilization) สร้างแรงบิดเหล็กกันโคลงได้ 3 ระดับ จากการทำงานของชุด Planetary Gear ซึ่งค่า K ที่เพิ่มขึ้นจากเหล็กกันโคลง จะช่วยต้านการเอียงของตัวถัง
ปิดท้ายด้วยระบบ All-wheel Steering หรือระบบเลี้ยวทั้ง 4 ล้อ ถูกควบคุมมาจาก Electronic Suspension Platform ในความเร็วต่ำ ล้อหลังจะหักเลี้ยว ‘สวนทางกับล้อหน้า’ ไม่เกิน 5 องศา เพื่อลดรัศมีวงเลี้ยว สำหรับการใช้ความเร็ว ปานกลาง-สูง ล้อหลังจะหักเลี้ยว ‘ทิศทางเดียวกับล้อหน้า’ ไม่เกิน 1.5 องศา เพื่อรักษาสภาพหน้ายางให้ตั้งฉากกับผิวถนน ขณะรถอยู่ในโค้ง
หากเทียบกับ SUV Coupé ตัวท็อปจากฝั่งเยอรมันด้วยกัน จะเห็นได้ว่า SQ8 TDI มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเกินพรรคพวกไปหลายรายการ ทั้งที่ถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มสมรรถนะ และสร้างคุณภาพการขับขี่ในระดับสูงสุด โดยระบบใหม่ๆ อาทิ ‘เทอร์โบไฟฟ้า’ (EPC: Electric Powered Compressor), ระบบ MHEV (Mild Hybrid Electric Vehicles) และเหล็กกันโคลงอัจฉริยะ eAWS ล้วนเป็นระบบที่เน้นความฉับไวในการตอบสนอง ระบบไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ส่วนนี้ จึงขยับจาก 12 โวลต์ มาเป็น 48 โวลต์ ทั้งหมด เป็นนวัตกรรมในส่วนของงานไฟฟ้ารถยนต์ยุคต่อไป ที่สายแข็งทางเทคโนโลยีอย่าง AUDI ได้นำร่องพัฒนามาก่อนใคร กระทั่งระบบพร้อมใช้งาน และส่งต่อ know-how ไปยังพี่น้องร่วมเครือ Volkswagen AG ในลำดับต่อไป
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th[/expander_maker]