BMW M3 & M4 เจเนอเรชันล่าสุด…เพิ่มทางเลือกด้วย M xDrive!!!
BMW M3 เจเนอเรชันที่ 6 บนรูปแบบตัวถังซีดานของ 3 Series [G20] ถูกเปิดตัวมาพร้อมๆ กับ M4 บนรูปแบบตัวถังคูเป้ ซึ่งเป็นตัวแรงสุดของ 4 Series [G32] โดยรถแรงจากโรงงาน BMW ทั้ง 2 โมเดล ใช้เทคโนโลยีภายในร่วมกันทุกประการ เป็นรถสมรรถนะสูงที่ถูกออกแบบให้ใช้งานในชีวิตประจำวันได้ไม่แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป ขณะเดียวกัน M3 และ M4 ก็พร้อมพาคุณเข้าไปซิ่งในสนามแข่งได้แบบง่ายๆ ขุมพลัง M TwinPower Turbo แม้อาจดูแตกต่างจาก M Car รุ่นบรรพบุรุษที่คงเอกลักษณ์ด้วยเครื่องยนต์ NA แต่นี่คือทางออกที่ชาญฉลาดของรถแรงยุคใหม่ ที่พร้อมข้ามผ่านมาตรฐานควบคุมมลพิษสุดเข้มข้น ในระดับ Euro 6d
นับเป็นครั้งแรกของทั้ง M3 และ M4 ที่จะมีระบบขับเคลื่อน AWD มาให้เป็นทางเลือกเพิ่มเติม ในชื่อระบบ ‘M xDrive’ ซึ่งยกเทคโนโลยีมาจากรุ่นพี่ M5 [F90] และ M8 [F92] คุณสมบัติพื้นฐานของ ‘M xDrive’ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งม้ากว่าห้าร้อยตัวลงผิวถนนแล้ว ระบบนี้ในรถตระกูล ‘M’ ยุคใหม่ ยังถูกดีไซน์ให้เน้นกระจายกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลังมากเป็นพิเศษ ไปจนถึงระดับขับเคลื่อนด้วยล้อหลังล้วนๆ เพื่อให้ได้ฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งดั้งเดิม อันเป็นเสน่ห์ของรถในสาย M แบบครบถ้วนมากที่สุด
- M3 เจเนอเรชันที่ 6 ใช้รหัสโมเดล ‘G80’
- ทั้ง M3 [G80] และ M4 [G82] แบ่งเป็น 2 ระดับความแรง เริ่มต้นกับรุ่นมาตรฐาน (480 hp) และไปแรงสุดกับรุ่น Competition (510 hp)
History & Body:
M3 ‘Mk. I’ หรือเจเนอเรชันที่ 1 กำเนิดขึ้นบนตัวถัง 3 Series บอดี้สุดอมตะ อย่าง E30 ในปี 1985 และพร้อมรุกตลาดอย่างเป็นทางการในปีถัดมา ด้วยเครื่องยนต์แถวเรียง 4 สูบ หายใจเอง (NA: Naturally Aspirated) ขนาด 2.3 ลิตร ที่เบ่งกล้ามออกมาได้ 195 hp ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 6.8 วินาที ความเร็วสูงสุด 235 กม./ชม. M3 [E30] สะสมยอดจำหน่ายทั่วโลกไปได้ 17,970 คัน ก่อนหมดอายุขัยไปในปี 1991
M3 ‘Mk. II’ ถูกอัปเกรดบน 3 Series บอดี้ต่อมา หรือ E36 ในช่วงปี 1992 กับรูปแบบรถคูเป้ 2 ประตู ก่อนที่จะปล่อย M3 คูเป้เปิดประทุน และตัวถังซีดาน 4 ประตู ตามออกมาในปี 1994 โดยทั้ง 3 รูปแบบตัวถัง ยกระดับไปใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ แถวเรียง ขนาด 3 ลิตร ที่ยังคงเป็นเครื่องยนต์ NA มาพร้อมความแรงในระดับ 286 hp เร่งผ่าน 100 กม./ชม. เร็วกว่า 6 วินาที ท็อปสปีดถูกล็อกไว้ที่ 250 กม./ชม. ในปี 1995 ยกระดับความแรง ด้วยการขยายปริมาตรกระบอกสูบไปที่ 3.2 ลิตร แรงม้าพุ่งขึ้นไปแตะ 321 hp ปี 1997 เป็นครั้งแรกที่ M3 ถูกจับคู่กับเกียร์ ‘SMG’ (Sequential M Gearbox)ที่คอนโทรลคลัตช์ด้วย ชุดไฮดรอลิก-ไฟฟ้า (Electrohydraulically) และ M3 [E36] เก็บตัวเลขไปได้ถึง 71,242 คัน
M3 ‘Mk. III’ เปิดตัวในปี 2000 บนบอดี้ E46 รอบนี้มีเฉพาะตัวถังคูเป้ และเปิดประทุน ฝากระโปรงหน้ามาพร้อมโดมขนาดใหญ่ (Power Dome) M3 [E46] ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบแถวเรียง ที่ยกมาจาก M3 [E36] เป็นบล็อกแถวเรียง 6 สูบ ขนาด 3.2 ลิตร ที่ยังคงเป็นเครื่องยนต์หายใจเอง แต่โมฯเพิ่มเติมจนพละกำลังพุ่งขึ้นไปแตะ 343 hp เจ้าของสถิติแรงม้าต่อลิตรสูงที่สุดในโลกในสมัยนั้น ทะยานผ่าน 100 กม./ชม. ด้วยเวลา 5.2 วินาที และ 5.5 วินาที สำหรับรุ่นเปิดประทุน ต่อมาไม่นานถูกจับคู่กับเกียร์ ‘SMG II’ ที่ทำงานได้ฉับไวยิ่งขึ้น M3 [E46] ถูกปิดท้ายด้วย M3 CSL ซึ่งเป็นเวอร์ชันลดน้ำหนัก ด้วยวัสดุขั้นเทพอย่างคาร์บอนไฟเบอร์ เบ็ดเสร็จหั่นน้ำหนักส่วนเกินทิ้งไปได้ถึง 110 กิโลกรัม จาก M3 บอดี้มาตรฐาน M3 CSL โดดเด่นเรื่องแฮนด์ลิ่ง มาพร้อมเครื่องยนต์ 3 ลิตร เซตแรงม้าเริ่มต้นไว้เพียง 360 hp สำหรับรองรับการโมดิฟลายตามสูตรของแต่ละทีมแข่ง เฉพาะ M3 CSL ขายไปได้ 1,383 คัน
M3 ‘Mk. IV’ หรือเจเนอเรชันที่ 4 เปิดตัวในปี 2007 อัปเกรดจาก 3 Series รหัส E90 (ซีดาน), E92 (คูเป้) และ E93 (เปิดประทุน) แต่เวอร์ชันที่โดนใจบรรดาสาวก M Car มากที่สุด จะเป็นบอดี้ E92 และ Mk. IV เป็น M3 รุ่นที่โบกมืออำลาเครื่องยนต์แถวเรียง 6 สูบ ที่รักกันแนบแน่นมายาวนานถึง 15 ปี แทนที่ด้วยเครื่องยนต์ V8 หายใจเอง ขนาด 4 ลิตร ให้กำลังระดับ 420 hp ฝากระโปรงหน้าดีไซน์แบบ Power Dome เช่นเดียวกับ M3 [E46] พร้อมทั้งเปลี่ยนมาใช้วัสดุอะลูมิเนียม ขณะที่หลังคาจากเหล็กก็เปลี่ยนไปใช้วัสดุ CRRP (Carbon-fibre-reinforced-plastic) M3 บอดี้นี้พัฒนาไปใช้เกียร์คลัตช์คู่ M-DCT (M Double Clutch Transmission) ซึ่งเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งในโหมดอัตโนมัติก็นุ่มนวลไม่แตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติแท้ๆ M3 [E92] ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 4.6 วินาที ความเร็วสูงสุดถูกล็อกไว้ที่ 250 กม./ชม.
M3 ‘Mk. V’ หรือเจเนอเรชันที่ 5 แตกต่างจาก M3 ในอดีต จากความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ BMW ที่มุ่งเน้นการเติมเต็มรุ่นรถในค่ายให้ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ กระทั่งเป็นที่มาของ 4 Series ซึ่งผู้เขียนขอไล่เรียงความเป็นมาเป็นไปสั้นๆ ดังนี้
8 Series E31 คือสปอร์ตคูเป้ระดับตำนานจาก BMW ขณะที่ 6 Series E63 เป็นสปอร์ตคูเป้ระดับไฮเอนด์ที่ร้อนแรงที่สุดในยุคเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รถสปอร์ตคูเป้ตัวถังขนาดย่อมลงมาอีก 1 ระดับ จะใช้ชื่อรุ่นว่า 4 Series (เลขคู่) สำหรับเรื่องรหัสตัวถัง หากเป็น 3 Series ย้อนกลับไป 2 โมเดล ตัวถัง 4 ประตู จะใช้รหัส E90 พอมาเป็นตัวถังทัวริ่งใช้รหัส E91 และเป็น E92 สำหรับตัวถังแบบคูเป้ 2 ประตู ส่วนตัวเปิดประทุนหนีไม่พ้น E93 ทั้งหมดล้วนกำเนิดโดยใช้พื้นฐานเดียวกัน ความแตกต่างจึงมีเพียงรูปแบบตัวถัง และออปชันพิเศษนานาประการ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวรถเท่านั้น
พอมาถึงยุคของ 3 Series F30, BMW เริ่มเปลี่ยนจากตัวอักษร E มาเป็นตัวอักษร F นับจาก F10 สำหรับ 5 Series และ F25 สำหรับ X3 ดีไซน์และเส้นสายของ F30 ยังคงสร้างความประทับใจให้กับบรรดาสาวก BMW ได้เช่นเดิม ตัวถังถูกเพิ่มขนาดในทุกมิติ สำหรับ 4 Series จะมาพร้อมรหัสตัวถัง F32 จากความเชื่อมโยงในลักษณะเดียวกับ E90 เพราะฉะนั้น นับตั้งแต่กระจังหน้ารถ เส้นสาย ส่วนโค้ง และส่วนเว้าบนตัวถัง ต่อเนื่องไปยันกันชนท้าย F32 จึงรับดีไซน์ของ F30 มาแบบครบถ้วน นอกจากเรื่องภาพลักษณ์แห่งความสปอร์ตที่ 4 Series มีให้สัมผัสกันมากกว่า ด้วยจำนวนประตูที่ลดเหลือแค่ 2 บาน พร้อมทั้งขนาดที่ยาวกว่า ห้องโดยสารเป็นแบบ 2+2 ที่นั่ง กระจกบังลมหลังเทลาด ช่วยสร้างความโฉบเฉี่ยวสไตล์รถคูเป้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งการออกแบบภายในที่ถอดแบบ F30 มาทุกประการ
จาก Basic พัฒนาจนเข้าสู่ขั้น Advance เมื่อเซียนอย่าง BMW M GmbH ยัดเทคโนโลยีที่ตนมีลงในตัวแรงทั้ง M3 และ M4 ชนิดไม่มีการแทงกั๊ก รอบนี้มีอะไรหลายอย่างดูน่าตื่นตาตื่นใจว่า M Car หลายโมเดลที่ผ่านมา แถมมีรหัสโมเดลเฉพาะที่แยกออกมาจาก 3 Series, F30 และ 4 Series, F32 อย่างชัดเจน โดย M3 ‘Mk. V’ หรือเจน 5 ใช้รหัส F80 (2014-2018) ส่วน M4 เจนแรกจะใช้รหัส F82
มาถึงปัจจุบัน ทั้ง M3 ‘Mk. VI’ และ M4 ‘Mk. II’ เดินตามแนวทางใหม่ ทั้งคู่ถูกต่อยอดมาจาก 3 Series, G20 และ 4 Series, G22 ตามลำดับ หลังจากผ่านมือ BMW M GmbH ได้ถูกอัปเกรดเป็น M3 [G80] และ M4 [G82] ในที่สุด
- M4 ก้าวเข้าสู่เจเนอเรชันที่ 2 กับรหัส ‘G82’
know-how ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าสุดยอดในสนาม DTM (German Touring Car Championship) ได้รับการถ่ายทอดสู่ M Car มากเท่าที่จะเป็นไปได้ อาทิ ระบบแอโรไดนามิก, วัสดุระดับก้าวหน้าที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องยนต์, ระบบระบายความร้อน, ระบบหล่อลื่น หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีการลดน้ำหนัก อันจะช่วยให้ M3 และ M4 ก้าวผ่านขีดจำกัดเดิมๆ ได้อย่างง่ายดายที่สุด
- มองผ่านๆ ดูเหมือน M4 จะมีระยะ track มากกว่า M3 แต่จากตัวเลขสเปก ทั้งคู่ใช้ช่วงความกว้างล้อหน้าและล้อหลัง เท่ากันที่ 1,617 และ 1,605 มิลลิเมตร ตามลำดับ โดยตัวถังของ M3 กว้างกว่า M4 อยู่ 16 มิลลิเมตร
แนวคิดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ M3 และ M4 คือความฮาร์ดคอร์ที่ง่ายต่อการบังคับควบคุม เป็นรถ ‘บ้าพลัง’ ที่สามารถใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ใช้ได้เฉพาะในวันหยุดเหมือนซูเปอร์คาร์หลายๆ รุ่น มีความนุ่มนวลในระดับเหมาะสม แต่ก็พร้อมจะดุดันในเสี้ยววินาทีที่ผู้ขับต้องการ นั่นหมายความว่า ระบบควบคุมต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เครื่องยนต์ ฟีลลิ่ง การสนองตอบจากพวงมาลัย และแฮนด์ลิ่งจากช่วงล่าง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้ขับ หรือจะให้ระบบปรับแบบอัตโนมัติให้ก็ย่อมทำได้
รถยนต์เจเนอเรชันใหม่ของ BMW ล้วนถูกจับเข้าคอร์สรีดไขมันส่วนเกิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสมดุลน้ำหนัก ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ตัวถังของ M Car จึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุหลายประเภทเช่นเดียวกับรถระดับซูเปอร์คาร์ บานประตู ฝากระโปรงหน้า ฝากระโปรงหลัง และเบ้าสปริงในล้อคู่หน้า ถูกเปลี่ยนจากเหล็กมาเป็นอะลูมิเนียม ขณะที่แก้มข้างทั้ง 2 ฝั่ง เปลี่ยนมาใช้วัสดุเทอร์โมพลาสติก ส่วนหลังคาใน M3 และ M4 จากที่เคยใช้เหล็ก ก็เปลี่ยนมาใช้วัสดุ CFRP และใน M3 [G80] และ M4 [G82] ก็ใช้สัดส่วนของ CFRP ในชิ้นส่วนต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เมื่อเทียบกับเจนก่อนหน้า
- ชิ้นสเกิร์ตข้าง ได้รับแรงบันดาลใจจากรถแข่ง
- ชุดไอเสียพร้อม Electrically controlled flaps ปลดปล่อยพลังเสียงผ่าน quad-tailpipes แต่ละท่อมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 100 มิลลิเมตร
- มองจากมุมนี้ เวอร์ชันเจาะช่องระบายลมบนฝากระโปรงหน้า มีตามมาอย่างแน่นอน
- หลังคาคาร์บอนไฟเบอร์ พร้อมครีบรีดอากาศแบบคู่ (two fins) โดยชุดครีบถูกออกแบบให้รับกันอย่างต่อเนื่องกับชิ้น Rear spoiler บนฝากระโปรงหลัง
ในส่วนของโครงสร้าง จะสังเกตได้ว่า ท่อนหน้าของตัวรถถูกรีดน้ำหนักมากเป็นพิเศษ เพื่อไปชดเชยการแบกรับน้ำหนักจากเครื่องยนต์ หวังผลให้การกระจายน้ำหนักที่ตกลงยังล้อหน้าและหลัง ใกล้เคียงอัตราส่วน 50:50 ซึ่งอยู่ในสภาพ ‘สมดุล’ ผลลัพธ์ที่ออกมาลุล่วงตามความต้องการของวิศวกร เพราะนับตั้งแต่ M3 [F80] และ M4 [F82] ต่อเนื่องมาจนถึงโมเดลล่าสุด อย่าง M3 [G80] และ M4 [G82] ทำได้แตะระดับสมดุลพอดี กับการใช้เครื่องยนต์แถวเรียง 6 สูบ
ระบบความปลอดภัยใน M3 และ M4 ครบถ้วนไม่แตกต่างกับ 3 Series และ 4 Series รุ่นมาตรฐาน เริ่มต้นด้วย โครงสร้างด้านหน้าและหลังออกแบบให้ยุบตัวได้ (Deformation Zone) เพื่อลดแรงปะทะที่จะผ่องถ่ายเข้าสู่ห้องโดยสาร เข็มขัดนิรภัยเบาะนั่งคู่หน้าเป็นแบบ Belt Force Limiters และ Belt Latch Tensioners มีอุปกรณ์สำหรับม้วนดึงเข็มขัดกลับเพื่อรั้งผู้โดยสารให้ติดแน่นอยู่กับเบาะนั่ง ระบบนี้จะใช้ชุดจุดระเบิดรูปแบบเดียวกับถุงลมนิรภัย ซึ่งมันจะทำงานอย่างต่อเนื่องกัน ขณะรถเกิดการชนอย่างรุนแรงจากทางด้านหน้า
- งานออกแบบห้องโดยสารแบบมาตรฐานใน M3 เน้นความสปอร์ตไฮคลาสในทุกตารางนิ้ว เบาะคู่หน้า ‘M Sport Seats’ ชวนสัมผัสด้วยหนังแท้ Merino leather เป็นมาตรฐาน
- ห้องโดยสารของ M4 จัดเต็มด้วยออปชัน ‘M Carbon Bucket Seats’ โครงเบาะผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มาพร้อมระบบปรับไฟฟ้า ดูลงตัวสุดๆ กับทริมคาร์บอนไฟเบอร์
การออกแบบห้องโดยสาร ครุกรุ่นไปด้วยความพรีเมียมที่หนักไปในแนวสปอร์ต และยังคงความไฮเทคเอาไว้เช่นเดียวกับรุ่นพี่ M5 [F90] และ M8 [F92] แต่อุปกรณ์ที่แย่งซีนงาน Interior Design มาได้แบบเต็มๆ คือเบาะนั่งคู่หน้าทรงใหม่ที่ถูกเรียกว่า ‘M Carbon Bucket Seats’ สเปกยุโรประบุว่าเบาะชุดนี้เป็นออปชัน (เมืองไทยจัดมาเป็นอุปกรณ์มาตรฐานเรียบร้อย) โครงเบาะผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ มาพร้อมระบบปรับไฟฟ้า การเลือกใช้โทนสีของตัวเบาะดูรับกับธีมของห้องโดยสาร ซึ่งดูดีสุดๆ สำหรับ 2 ที่นั่งด้านหลังของ M4 ยังคงรองรับสมาชิก (ส่วนเกิน) สำหรับการเดินทางไกลได้แบบไม่อึดอัด
- M leather steering wheel พวงมาลัย 3 ก้าน รอบวงหุ้มหนังแท้อวบกระชับมือ มาพร้อมแพดเดิ้ลชิฟต์คาร์บอนไฟเบอร์ (ออปชัน), มีปุ่ม M1 และ M2 สีแดงบนพวงมาลัย หลังจากปรับเลือกรูปแบบที่ชอบ สามารถบันทึกไว้ได้ตามความต้องการ
- เกียร์เปลี่ยนจากรูปแบบคลัตช์คู่ (7-speed M-DCT) ใน M3 และ M4 โมเดลก่อนหน้า มาใช้ ‘8-speed M Steptronic transmission with Drivelogic’ ที่รับแรงบิดได้สูงกว่า
- ขุมพลัง ‘S58’ ในรุ่น Competition รีดแรงม้าได้ถึง 510 hp ที่ 6,250 รอบ/นาที พร้อมแรงบิด 650 Nm ที่ 2,750-5,500 รอบ/นาที
Engine & Transmission:
เครื่องยนต์ 6 สูบ 3 ลิตร ใน M3 [G80] และ M4 [G82] ใช้บล็อกใหม่หากเทียบกับขุมพลัง ‘S55’ (S55B30T0) ใต้ฝากระโปรงหน้าของ M3 [F80] และ M4 [F82] ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่กวาดรางวัล Engine of The Year จากสื่อหลายสำนักเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน สำหรับเครื่องยนต์ใหม่ใช้รหัส ‘S58’ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 ระดับความแรง ใน M3 และ M4 รุ่นเริ่มต้นใช้รหัส ‘S58B30O0’ และรหัส ‘S58B30T0’ สำหรับรุ่น Competition ซึ่งการนำเครื่องยนต์พื้นฐานมาต่อยอดใน M3 และ M4 ก็ไม่มีอะไรที่ซับซ้อน โมฯตามสูตรมอเตอร์สปอร์ตของวิศวกร M GmbH ทั้งในเรื่องระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ระบบอัดอากาศ ระบบหล่อเย็น ระบบหล่อลื่น รวมถึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุเกรดรถแข่งที่ทั้งเบา และทนทานยิ่งขึ้น
ขุมพลัง ‘S58’ มีปริมาตรกระบอกสูบ 2,993 ซี.ซี. มาจากระยะ Bore x Stroke ที่ 84.0 x 90.0 มิลิเมตร (บล็อก ‘S55’ มีความจุ 2,979 ซี.ซี. ใช้ระยะ Bore x Stroke ที่ 84.0 x 89.6 มิลลิเมตร) รหัส ‘S58B30O0’ ในรุ่นเริ่มต้นให้พละกำลัง 480 hp ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 550 Nm ที่ 2,650-6,130 รอบ/นาที, ขณะที่รหัส ‘S58B30T0’ ในรุ่น Competition ของทั้ง 2 โมเดล แรงระดับ 510 hp ที่ 6,250 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 650 Nm ที่ 2,750-5,500 รอบ/นาที รอบเครื่องสูงสุดก่อน ECU สั่งตัดการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 7,200 รอบ/นาที ที่น่าแปลกใจ คือ รุ่นเริ่มต้นมาพร้อมค่า CO2 ระดับ 248 กรัม/กิโลเมตร ส่วนรุ่นแรง Competition เคลมตัวเลขมาต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 234 กรัม/กิโลเมตร
การพัฒนาเครื่องยนต์ให้สร้างแรงบิดสูงสุดได้ตั้งแต่รอบต่ำ จะช่วยให้เครื่องยนต์ไม่ต้องทำงานหนัก แรงบิดที่มาเร็ว ช่วยทั้งในเรื่องการออกตัวและเร่งแซง การเรียกกำลังจากเครื่องยนต์ไม่ต้องใช้รอบสูงๆ เหมือนเครื่องยนต์ NA ในอดีต เมื่อสภาพการทำงานของเครื่องยนต์โดยรวมอยู่ที่รอบต่ำจนถึงปานกลาง การบริโภคเชื้อเพลิงจึงสมเหตุสมผล ก่อมลพิษต่ำลง และได้อัตราการสึกหรอที่ลดลงมาเป็นของแถม แนวคิดนี้เป็นบุคลิกประจำตัวของเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งถูกถ่ายทอดมายังเครื่องยนต์เบนซิน
ขุมพลัง 6 สูบ แถวเรียง จาก BMW ได้รวม 4 เทคโนโลยีระดับเทพ สำหรับโลก ICE เข้าไว้ด้วยกัน อันได้แก่ ระบบ High Precision Injection (ระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าห้องเผาไหม้โดยตรง) เพิ่มแรงดันสูงสุดมาถึงระดับ 350 บาร์, ระบบ Double-VANOS, ระบบ VALVETRONIC และเทอร์โบคู่ เทคโนโลยีเฉพาะของ BMW ที่มีชื่อว่า TwinPower Turbo ซึ่งต่อมาถูกอัปเกรดไปเป็น M TwinPower Turbo
เครื่องยนต์ ‘S58’ ใช้เทคโนโลยีวาล์วแปรผัน Double-VANOS ในรอบต่ำ ช่วยเพิ่มจังหวะ Overlap เพื่อให้ไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ในวัฏจักรก่อนหน้า วนกลับมาเผาไหม้ซ้ำอีกครั้ง เป็นการลดมลพิษที่จะปะปนออกไปกับไอเสีย และช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง จากปริมาณไอเสียบางส่วนที่เผาไหม้ไม่หมดและหลงเหลืออยู่ ระบบจึงสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่น้อยลงได้ ส่วนในรอบสูง Double-VANOS ลดจังหวะ Overlap เพื่อลดการสูญเสียไอดี (น้ำมันเชื้อเพลิง + อากาศ) ที่จะเล็ดลอดออกไปทางพอร์ตไอเสีย จากการเลื่อนขึ้น-ลงของลูกสูบด้วยความเร็วสูง เพราะฉะนั้น ในรอบสูง Double-VANOS ก็ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้เช่นกัน
สำหรับ VALVETRONIC รับหน้าที่ปรับเปลี่ยนระยะยกของวาล์วไอดี (Lift) สำหรับการเพิ่มปริมาณอากาศให้สมดุลต่อการสันดาปโดยเฉพาะในย่านรอบสูง ระบบ Double-VANOS ทำงานด้วยแรงดันน้ำมันเครื่อง ที่ควบคุมทิศทางการสั่งจ่ายน้ำมันด้วยโซลินอยด์วาล์ว ส่วนระบบ VALVETRONIC ทำงานด้วยกลไกปรับเปลี่ยนระยะยกด้วยเซอร์โวมอเตอร์ และแน่นอนว่า ทั้ง 2 ระบบรับคำสั่งจาก ECU
เทอร์โบทั้ง 2 ตัว จากเทคโนโลยี M TwinPower Turbo ถูกจัดวางในรูปแบบ bi-turbo เทอร์โบ 1 ตัว รับผิดชอบ 3 สูบ (สูบ 1-3 และ สูบ 4-6) เป็นเทอร์โบที่ใช้โข่งภายในแบบ Two mono-scroll เมื่อภาระงานของเทอร์โบแต่ละตัวมีไม่มาก ผลงานจึงโดดเด่น โดยเฉพาะในเรื่องแรงบิด สามารถพาตัวถังน้ำหนักกว่า 1.7 ตัน ของทั้ง M3 และ M4 Competition ทะยานทะลุความเร็ว 100 กม./ชม. ด้วยเวลาเพียง 3.9 วินาที ผ่านหลัก 200 กม./ชม. รอเพียง 12.5 วินาที ได้ตัวเลขเท่ากันทั้ง 2 โมเดล
ที่เร็วได้ระดับนี้ ส่วนหนึ่งต้องยกความดีให้กับเกียร์ M Steptronic 8 สปีด พร้อม Drivelogic ซึ่งพ่วงมากับระบบ Launch Control ที่จะปรับทุกองค์ประกอบใน M3 และ M4 เพื่อให้รถออกตัวได้เร็วที่สุด โดย Drivelogic จะมี 2 โหมดในการทำงาน คือ Automatic Mode (D) และ Manual Mode (M) ซึ่งแต่ละโหมดของ Drivelogic จะแบ่งความเร็วในการเปลี่ยนเกียร์ได้อีก 3 ระดับ โดย M3 และ M4 ทั้งเวอร์ชันมาตรฐาน และ Competition ถูกตอนความเร็วไว้ที่ 250 กม./ชม. และหากคุณจ่ายให้กับ M Driver’s Package ท็อปสปีดจะถูกขยับไปที่ 290 กม./ชม.
ในแง่การตลาดในส่วนของระบบเกียร์ ต้องนับว่า BMW ทำการบ้านมาดี นอกจากเกียร์ M Steptronic 8 สปีด ใน M3 และ M4 ยังเอาใจคนรักการเหยียบคลัตช์ ขยับข้อมือเปลี่ยนเกียร์ด้วยตัวเอง ด้วยออปชันเกียร์แมนวล 6 สปีด พร้อม Gear Shift Assistance หรือไฟเตือนรอบเครื่องในการเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งเกียร์แมนวลก็น่าจะเป็น rare item ของบรรดานักสะสมได้อีกหนึ่งรายการในอนาคต สำหรับระบบขับเคลื่อน M3 และ M4 มาตรฐานใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง และก็มีระบบ ‘M xDrive’ มาให้เลือกจ่ายเพิ่มด้วยเช่นกัน
- ระบบขับเคลื่อน M xDrive ผู้ขับเลือกปรับได้ 3 โหมด, ‘4WD’ ใช้งานในสภาพถนนปกติ รองรับการกระจายกำลังในถนนแรงเสียดทานต่ำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขณะที่ ‘4WD Sport’ จะเน้นการกระจายกำลังไปให้ขับเคลื่อนด้วยล้อหลังมากเป็นพิเศษ เมื่อล้อหลังเริ่มสูญเสียสภาพการยึดเกาะ ระบบจึงเริ่มส่งกำลังไปเติมให้ล้อหน้า ซึ่งช่วงเวลาสั้นๆ นี้เอง จะให้ฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งที่ถูกใจนักขับสายฮาร์ดคอร์เป็นอย่างยิ่ง ปิดท้ายด้วย ‘2WD’ รถขับเคลื่อนด้วยล้อหลังล้วนๆ เช่นเดียวกับ M Car ทุกโมเดลในอดีต สายดริฟต์น่าจะถูกใจโหมดสุดท้ายมากเป็นพิเศษ
M xDrive:
การกระจายกำลังของระบบ All Wheel Drive อาจดูเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับรถสมัยใหม่ การทำงานพื้นฐานเช่นนี้จึงกลายมาเป็นเพียงฟังก์ชันย่อยของ ‘xDrive’ เท่านั้น จากการออกแบบให้ ‘xDrive’ สามารถทำงานได้ทั้งสภาพถนนที่เปียกลื่น และรองรับการเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว โดยจะรับหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัว ด้วยการจัดสรรแรงบิดอย่างสมดุล ไปยังเพลาหน้าและหลัง ตามสภาวะการขับขี่ ทั้งการใช้ความเร็วในทางตรงหรือขณะรถอยู่ในโค้ง
ซึ่งกรณีเช่นนี้ ‘xDrive’ จะผสานการทำงานกับระบบช่วยการทรงตัว ‘DSC’ (Dynamic Stability Control) ที่จะคอยส่งเสริมและสนับสนุนให้ ‘xDrive’ ส่งถ่ายแรงขับเคลื่อนได้อย่างสมบูรณ์ ‘DSC’ จะช่วยควบคุมแรงบิดที่เกินความจำเป็นชนิดล้อต่อล้อ โดย ‘DSC’ จะทำงานด้วยการสั่งเบรกล้อใดล้อหนึ่งอย่างอิสระ เพื่อควบคุมล้อให้หมุนด้วยความเร็วรอบอย่างที่ควรจะเป็น ตามการประมวลผลของ ECU สามารถแก้อาการที่เกิดขึ้นกับรถในโค้ง ได้ทั้ง ‘understeer’ และ ‘oversteer’
จาก ‘xDrive’ ถูกต่อยอดไปเป็น ‘M xDrive’ ในส่วนของ ‘ฮาร์ดแวร์’ ไม่มีอะไรที่ต่างกัน ส่วนที่ถูกปรับแต่งเพิ่มเติมจะเป็น ‘ซอฟต์แวร์’ ที่ใช้ควบคุมระบบขับเคลื่อนที่ถูกพัฒนาเพื่อรถตระกูล M โดยเฉพาะ และเริ่มต้นใช้งานครั้งแรกใน M5 [F90] จากเดิมอัตราส่วนในการกระจายกำลังเป็นแบบอัตโนมัติตามสภาพการขับขี่ ก็จะมีฟังก์ชันมาให้ผู้ใช้รถเลือกปรับได้ 3 โหมด คือ 4WD, 4WD Sport และ 2WD
หัวใจของ ‘M xDrive’ คือ Multiple-plate Clutch หรือ ชดคลัตช์แบบหลายแผ่นซ้อน ซ่อนอยู่ภายในตัวเกียร์ทรานสเฟอร์ (Transfer Case) การจัดสรรกำลังไปสู่เพลาหน้าและหลัง จะขึ้นอยู่กับระดับการจับตัว (กดติดกัน) ของชุดคลัตช์ดังกล่าว การกระจายกำลังจึงทำได้ทั้ง ส่งไปขับล้อหลังแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือกระจายกำลังไปขับล้อหน้า 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ แจกจ่ายแรงขับเคลื่อนกันไประหว่างเพลาหน้าและหลังในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น 100:0, 50:50, 30:70, 40:60, 20:80 เป็นต้น ในส่วนของชุดเฟืองท้าย (ล้อหลัง) เพิ่มเติมด้วย ‘Active M Differential’ รับหน้าที่ในการสร้างสมดุลระหว่างล้อซ้ายและขวา ขณะรถอยู่ในโค้ง
ทั้ง ‘M xDrive’ และ ‘Active M Differential’ จะถูกควบคุมจากซอฟต์แวร์ Dynamic Performance Control ภารกิจหลัก คือ ยกระดับประสิทธิภาพในการกระจายแรงขับเคลื่อนในทุกสภาพผิวถนน และทุกรูปแบบการขับขี่ เพื่อให้การผ่องถ่ายแรงม้าและแรงบิดลงสู่ผิวถนนสมบูรณ์แบบมากที่สุด
- M3 และ M4 ทั้งเวอร์ชันมาตรฐาน และ Competition ถูกตอนความเร็วไว้ที่ 250 กม./ชม. และหากติดตั้งออปชัน M Driver’s Package ท็อปสปีดจะถูกขยับไปที่ 290 กม./ชม.
Chassis & Suspension:
ระบบช่วยเรื่องการทรงตัวทั้งหมดใน G20 และ G22 บอดี้มาตรฐาน หลังจากรถอัปเกรดไปเป็น G80 และ G82 ทีมวิศวกรเซตอัพระบบใหม่หมด เพื่อรองรับแรงม้าและแรงบิดที่เพิ่มขึ้น โดยระบบควบคุมการทรงตัว (Dynamics Stability Control) หรือ DSC มาพร้อมฟังก์ชัน M Dynamic Mode ที่จะเชื่อมโยงระบบช่วยผู้ขับ และระบบความปลอดภัยเชิงป้องกันต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ระบบป้องกันการลื่นไถล (Dynamics Traction Control) ที่สามารถแบ่งระดับในการทำงานได้ถึง 10-stage, ระบบ M-specific Servotronic Steering with variable ratio (ปรับอัตราทด และความไวของพวงมาลัย), ระบบ Adaptive M Suspension (ใช้ช็อคอัพไฟฟ้าพร้อมระบบควบคุม ‘VDC’ (Variable Damper Control) ปรับระดับการ Bump และ Rebound ให้สัมพันธ์กับรูปแบบการขับขี่) และระบบ Active M Differentail (การกระจายแรงบิดของล้อขับเคลื่อน)
ซึ่งระบบ Driving Stability System จะทำให้ระบบต่างๆ เหล่านี้ทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมชาติ และจากการเข้าแทรกแซงการทำงานของทุกระบบพร้อมๆ กัน และวิศวกรเคลมว่ามันทำงานได้เร็วขึ้นกว่า 10 เท่า ในส่วนของ DSC และสารพัดฟังก์ชันย่อย สรุปออกมาเป็นฟีลลิ่ง 3 โหมด ให้ผู้ขับได้เลือกปรับตามความต้องการ อันได้แก่ COMFORT รองรับการใช้งานสบายๆ ในชีวิตประจำวัน, SPORT รองรับรูปแบบการขับขี่ที่หนักหน่วงมากยิ่งขึ้น และ SPORT+ สำหรับพา M3 และ M4 ลงไปปลดปล่อยพลังบนแทร็ก และหากการปรับแต่งหลากหลายระบบ อาจทำให้เกิดความสับสน ทาง BMW M GmbH ก็เตรียมปุ่ม Memory มาให้พร้อมสรรพ เป็นปุ่ม ‘M1’ และ ‘M2’ สีแดงบนพวงมาลัย หลังจากปรับเลือกรูปแบบที่ใช่ สำหรับการขับขี่ปกติ และการลงแทร็ก ผู้ขับก็สามารถบันทึกไว้ได้ตามความต้องการ
ระบบเบรกมาตรฐาน คู่หน้าใช้จานขนาด 380 มิลลิเมตร จับคู่กับคาลิเปอร์แบบ 6-piston ส่วนคู่หลังใช้จานขนาด 370 มิลลิเมตร กับคาลิเปอร์แบบลอย single-piston ตัวคาลิเปอร์สเปกยุโรปใช้สี Blue Metallic เป็นมาตรฐาน โดยมีสีดำและสีแดง พร้อมโลโก M เป็นออปชัน ซึ่งหากจะจ่ายให้ระบบเบรกทั้งที แนะนำจัดให้สุดด้วย ‘M Carbon-ceramic Brakes’ ใช้จานเซรามิกมาตรฐานเดียวกับรถแข่ง จานหน้าขยับขึ้นไปที่ 400 มิลลิเมตร พร้อมจานหลัง 380 มิลลิเมตร ตัวคาลิเปอร์ใช้สีทอง เบรกเซรามิกชุดนี้ลดน้ำหนักได้กว่า 20 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับจานเบรกเหล็กหล่อที่มีขนาดเท่ากัน
ทีมพัฒนา M3 [G80] และ M4 [G82] พิถีพิถันในทุกรายละเอียด นอกจากเรื่องเทคโนโลยีภายในตัวรถ เรื่องฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งที่ตัวรถถ่ายทอดมายังผู้ขับ ล้วนได้รับความใส่ใจเป็นพิเศษ ช่วงกลางเดือนกันยายน ปี 2020 ทีมงานจาก BMW M GmbH ไปปักหลักอยู่ใน Nürburgring Nordschleife ใช้มือทดสอบที่เป็นนักแข่ง DTM วิ่งเก็บข้อมูล พร้อมทั้งเซตอัพรถอยู่นานนับเดือน เพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่ตั้งเป้าเอาไว้ นั่นคือ อารมณ์การขับขี่ในสไตล์ M Car อย่างแท้จริง
เรื่อง : พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th