BUGATTI Divo นวัตกรรมสายโหด…ปรับแต่งแอโรไดนามิก พร้อมน้ำหนักที่เบากว่า Chiron
Divo ถูกอัปเกรดต่อมาจาก Chiron ซูเปอร์คาร์บ้าพลังที่แรงระดับ 1,500 แรงม้า ในส่วนของเครื่องยนต์ วิศวกรไม่ได้แตะต้องใดๆ เพราะขุมพลัง ‘W16 + Quad-turbo’ เป็นที่สุดอยู่แล้วในทุกรายละเอียด การันตีด้วยการพา Veyron ทำสถิติรถเร็วที่สุดในโลกมาแล้ว ขณะที่ Chiron ก็ใช่ย่อย เป็นเจ้าของสถิติความเร็ว 0-400-0 กม./ชม. ภายในเวลา 42 วินาที ภายใต้การขับของอดีตนักแข่ง F1 นาม Juan Pablo Montoya (ฮวน พาโบล มอนโตยา) ขณะที่น้องใหม่สายโหดอย่าง Divo ถูกใช้โชว์แสนยานุภาพเรื่องแอโรไดนามิก ความคมกริบขณะเข้าโค้ง กระทั่งได้รับนิยามว่า “The Divo made for corners.”
- แม้จะใช้พื้นฐานร่วมกับ Chiron แต่การอัปเกรดระบบแอโรไดนามิกแบบทั้งคัน ส่งผลให้ Divo กลายเป็นรถคนละรุ่น ที่ดูดุดัน และฮาร์คอร์กว่าไปโดยอัตโนมัติ
Bugatti Automobiles S.A.S. ภายใต้การนำของประธานคนล่าสุด Mr. Stephan Winkelmann อดีตประธานมากความสามารถของ Automobili Lamborghini S.p.A. ผู้ปลุกปั้นจนซูเปอร์คาร์ค่ายกระทิงเปลี่ยวกลับมาร้อนแรงสุดๆ ได้อีกครั้ง จากนั้นจึงไปนั่งเป็นประธานให้ Audi Sport GmbH ก่อนที่จะมาเติมเต็มทุกรายละเอียดให้ค่าย BUGATTI ในปัจจุบัน โดยทุกค่ายเป็นรถในเครือ Volkswagen Group และท่านประธานคนใหม่ได้สร้างสีสันให้ Luxury Supercar แบรนด์ฝรั่งเศสทันที ด้วยการจับ Chiron มาอัปเกรดเป็น Divo วัตถุประสงค์ในการพัฒนา ไม่ใช่เรื่องความความแรง หรือความเร็วสูงสุด แต่เป็นเรื่องของฟีลลิ่งและแฮนด์ลิ่งในการขับขี่ Divo ถูกสร้างขึ้นเพื่อเน้นอรรถรสการขับขี่ที่แตกต่าง โดยเฉพาะขณะเข้าโค้ง
- ลดน้ำหนักในทุกชิ้นส่วนด้วยคาร์บอนไฟเบอร์ ผลลัพธ์ คือ Divo เบากว่า Chiron ประมาณ 35 กิโลกรัม
อากาศพลศาสตร์บนตัวถัง เป็นรายละเอียดหลักที่ทำให้ Divo ฉีกตัวออกมาจาก Chiron ได้อย่างโดดเด่น เริ่มต้นที่ทีมออกแบบเพิ่ม พร้อมขยายช่องดักอากาศบริเวณส่วนหน้ารถ ชายล่างของกันชนหน้าติดตั้ง ‘Front Spoiler’ ฝากระโปรงหน้าเจาะช่องระบายลม เหนือแนวอุโมงค์ล้อหน้าเพิ่มครีบระบายอากาศ ไฟหน้าเปลี่ยนแบบยกแผง ลดขนาดลง พร้อมย้ายตำแหน่งใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิก
ตัวถังด้านข้างติดตั้งช่องพร้อมครีบดักอากาศแนวตั้ง ทั้งหลังแนวซุ้มล้อหน้า และก่อนถึงซุ้มล้อหลัง ส่วนปลายของหลังคาตรงกลางติดตั้งครีบแนวตั้งบังคับกระแสลม ดีไซน์เดียวกับรถแข่ง NACA ปิดท้ายด้วยปีกหลังชิ้นใหญ่ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของระบบ Active Aerodynamics ชิ้นสปอยเลอร์หลังเพิ่มความกว้างขึ้นอีก 23 เปอร์เซ็นต์ หรือกว้างถึง 1.83 เมตร เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างแรงหน่วง ขณะ Divo ชะลอความเร็วเมื่อใช้ Air Brake
การปรับปรุงแอโรไดนามิกของ Divo ส่งผลให้ตัวถังสร้าง Downforce ได้มากถึง 456 กิโลกรัม และปริมาณแรงกดจะแปรผันตามความเร็ว (มากกว่า Chiron ถึง 90 กิโลกรัม) สำหรับน้ำหนักรถทั้งคัน Divo ถูกจับลดน้ำหนักส่วนเกิน กระทั่งตัวเบากว่า Chiron ราว 35 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนล้อ Forced ชุดใหม่ที่เบาขึ้นอีก จากนั้นอัปเกรดวัสดุที่ใช้ครอบชุดอินเตอร์คูลเลอร์มาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ลดความหนาของฉนวนป้องกันเสียงในบางจุด เพื่อให้ผู้ขับได้อารมณ์จากเสียงการทำงานของเครื่องยนต์ W16 เพิ่มขึ้น
- แอโรไดนามิกบนตัวถัง Divo สร้าง Downforce แบบแปรผันได้มากถึง 456 กิโลกรัม
การตั้งชื่อรุ่นซูเปอร์คาร์จาก Bugatti Automobiles S.A.S. จะไปอ้างอิงจากชื่อของนักแข่งระดับตำนาน และเช่นกัน Divo มาจากนักแข่งรถชาวฝรั่งเศส นาม ‘Albert Divo’ แม้ Divo จะถูกต่อยอดมาจาก Chiron แต่ทาง BUGATTI ระบุมาอย่างชัดเจนว่า ซูเปอร์คาร์ระดับ 1,500 แรงม้าทั้ง 2 รุ่นนี้ ถูกออกแบบให้มีบุคลิกที่แตกต่างกัน โดยท่านประธาน Mr. Winkelmann ได้ให้อิสระอย่างเต็มที่กับทีมวิศวกรในการพัฒนา Divo คำตอบที่ได้เป็นความลงตัวระหว่างรถสมรรถนะสูง ระบบขับเคลื่อนอันยอดเยี่ยม ที่ยังจัดเต็มเรื่องความหรูหราของห้องโดยสาร
เครื่องยนต์ ‘W16’ ถือกำเนิดขึ้น หลังจากวิศวกร VW เริ่มหมดความสนุกกับเครื่องยนต์ ‘W8’ และ ‘W12’ ใหญ่โตด้วยขนาดปริมาตรกระบอกสูบมหาศาลระดับ 7,993 ซี.ซี. ไม่มีซูเปอร์คาร์รุ่นใดจะใช้เครื่องยนต์ ‘ซี.ซี.’ สูงกว่านี้อีกแล้ว เท่านั้นยังไม่พอ เพื่อให้การป้อนอากาศเข้าสู่ห้องเผาไหม้รวดเร็วเท่าทันตามความต้องการของเครื่องยนต์ความจุสูง วิศวกรจึงติดตั้งเทอร์โบชาร์จเจอร์เข้าไปอีก 4 ตัว
ส่วนประกอบเครื่องยนต์ถูกยกระดับด้วยวัสดุน้ำหนักเบา ทั้ง คาร์บอนไฟเบอร์ และไทเทเนียม ในส่วนของคาร์บอนไฟเบอร์ อาทิ ชุดท่อร่วมไอดี, ฝาครอบชุดโซ่ไทม์มิ่ง ฯลฯ สำหรับไทเทเนียมจะถูกใช้งานกับอุปกรณ์ทั้งหมดของระบบท่อไอเสีย อาทิ ชุดหม้อพัก และแคตตาไลติก-คอนเวอร์เตอร์ อีก 6 ตัว ช่วยหั่นน้ำหนักทิ้งไปร่วม 20 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับระบบไอเสียที่ใช้เหล็กสเตนเลส
เทอร์โบทั้ง 4 ตัว ปรับปรุงวงจรการทำงานเป็นแบบ 2-stage เพื่อลดอาการ Turbo-lag สร้างความต่อเนื่องตั้งแต่รอบเดินเบา โดยเทอร์โบ 2 ลูก รับหน้าที่ทำงานในรอบต่ำ เมื่อรอบเครื่องสวิงพ้น 3,800 รอบ/นาที ไปแล้ว เทอร์โบอีก 2 ลูกที่เหลือ จะมาเสริมแรงต่อไปจนถึงเรดไลน์ ประสิทธิภาพของระบบอัดอากาศของเครื่องยนต์ Divo ถูกเคลมมาด้วยตัวเลขปริมาตรอากาศมากกว่า 60,000 ลิตร/นาที ที่จะถูกป้อนให้เพียงพอกับความต้องการของเครื่องยนต์ในทุกสภาวะ
เมื่อเครื่องความจุมหาศาลหมดปัญหาเรื่องการป้อนอากาศแล้ว ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงก็ต้องจัดเต็ม ด้วยชุดหัวฉีด 2 ตัว/สูบ นับรวมได้ทั้งหมด 32 หัวฉีด ทั้งหมดเป็นที่มาของพละกำลัง 1,500 hp ที่ 6,700 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดยังคงมาในรูปแบบ Flat-torque ทะยานแตะระดับ 1,600 Nm ที่ 2,000-6,000 รอบ/นาที
- ท้ายรถ แทบไม่เหลือเค้าโครงของรถถนน
จากตัวถังที่เบาขึ้น พร้อมแอโรไดนามิกขั้นเทพ Divo สามารถสร้าง G-Force ได้หนักหน่วงถึงระดับ 1.6g วิศวกรปรับแต่งช่วงล่าง และระบบบังคับเลี้ยวเพิ่มเติม เพื่อให้ Divo มีความคล่องตัวสูงสุดในการจิกเข้าโค้ง ตามนิยาม Made for corners ทุกประการ ทว่า หัวข้อที่ Divo ไม่ได้ก้าวตาม Chiron เป็นเรื่องของความเร็วสูงสุด ซึ่งถูกจำกัดไว้ที่เพียง 380 กม./ชม. นับว่าเกินพอสำหรับการใช้งานบนถนนทั่วไป Divo มีค่าตัว 5 ล้านยูโร หรือราว 180 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีนำเข้า) ผลิตจำกัดเพียง 40 คัน และข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับจาก BUGATTI ระบุปิดท้ายด้วยคำว่า sold out!!!
- ห้องโดยสาร พร้อมสรรพทั้งเรื่องความประณีตของงานหนัง ความสปอร์ตจากงานอะลูมิเนียม และความดุดันจากคาร์บอนไฟเบอร์
เรื่อง: พิทักษ์ บุญท้วม
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th