BYD ATTO 3 จ่อเปิดตัวในไทย พร้อมประกาศเซ็น MOU กรมสรรพสามิต
BYD ATTO 3 เตรียมเปิดตัวทำตลาดรถไฟฟ้าเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย พร้อมประกาศเซ็น MOU กรมสรรพสามิต ร่วมมาตรการสนับสนุนรถไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
Rever Automotive ประกาศชัดเตรียมจะนำ BYD ATTO 3 มาเปิดตัวอย่างเป็นทางการรุ่นแรกในประเทศไทย พร้อมให้สื่อมวลชนเข้าร่วมทดสอบในวันที่ 27 กันยายน 2565 หลังจากถูกนำไปใช้ทำตลาดแถบเอเชียแปซิฟิกในหลายประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวาเหมือนคนไทย
Atto 3 มีพื้นฐานจาก Yuan ซับคอมแพ็กต์เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร โมเดลลำดับที่ 4 ของแบรนด์ BYD ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2015 ก่อนจะพัฒนาสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในเจเนอเรชั่นที่ 2 พร้อมขยายไลน์อัพเป็น Yuan Plus (Atto 3) ด้วยขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้นจากรุ่นเริ่มต้น และรุ่น Pro ที่ขายในประเทศจีน โดยจะใช้ e-platform 3.0 โครงสร้างตัวถังล่าสุดของ BYD
ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า BYD Atto 3 หากอ้างอิงจากที่ขายในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับสเปคที่นำมาเปิดตัวในบ้านเรามากที่สุด ที่จะได้แน่นอนคงเป็น BYD Blade Battery เทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ดี และปลอดภัยที่สุดในเวลานี้ โดยผ่านการทดสอบแบบเอ็กซ์ตรีมที่เรียกว่า “Nail Penetration Test” ทำให้มั่นใจว่าจะมีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น, ระยะการขับขี่ที่ไกล และมีความปลอดภัยสูงสุด
BYD Blade Battery ที่ติดตั้งใน Atto3 จะมีความจุกำลังไฟฟ้า 49.92 กิโลวัตต์ชั่วโมง (ในรุ่น Standard: ราคา 44,381 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย/ราว 1.11 ล้านบาท) มีระยะการขับ 410 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟฟ้า 1 ครั้ง (มาตรฐานทดสอบ NEDC) โดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet Synchronous Motor เพื่อขับเคลื่อนล้อคู่หน้า มีกำลังสูงสุด 150 กิโลวัตต์ (201 แรงม้า) และแรงบิดสูงสุด 310 นิวตันเมตร ใช้เวลา 7.3 วินาที ทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.
ในส่วนของหัวชาร์จจะรองรับทั้ง Domestic 3-pin Plug AC Charger และ AC Charging Port-Type 2 (กำลังไฟ 7 กิโลวัตต์ใช้เวลาชาร์จจาก 0-100% ประมาณ 8.5 ชั่วโมง) โดยหากเป็น DC Charging Port-CCS 2 (Standard Range 70kW) และ DC Charging Port-CCS 2 (Extended Range 80kW) จะใช้เวลาราว 45 นาทีในการชาร์จ 0-100%
ในส่วนของระบบช่วยเหลือการขับขี่ และเทคโนโลยีความปลอดภัย BYD Atto3 ใส่ตามมาตรฐานรถยนต์ยุคนี้โดยแบ่งเป็น:
>> Electronic Stability Program (ESP): ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว
>>Traction Control System (TCS): ระบบป้องกันการลื่นไถล
>> Anti-Lock Braking System (ABS): ระบบป้องกันล้อล็อก
>> Electronic Brake Force Distribution (EBD): ระบบควบคุมการกระจายแรงเบรก
>> Auto Hold: ระบบหน่วงแรงเบรกอัตโนมัติ
>> Hill Descent Control (HDC): ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติขณะรถลงทางลาดชัน
>> Tyre Pressure Monitoring System (TPMS): ระบบตรวจสอบความดันลมยาง
>> 360° View Monitor: ระบบกล้องรอบคัน 360 องศา พร้อมเรดาห์ตรวจจับด้านหน้า 2 ตัว และด้านหลัง 4 ตัว
>> Stop & Go Full Speed Adaptive Cruise Control (ACC-S&G): ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผันพร้อมฟังก์ชัน Stop and Go
>> Automatic Emergency Braking System (AEB): ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ
>> Front Collision Warning (FCW): ระบบเตือนการชนด้านหน้า
>> Rear Collision Warning (RCW): ระบบช่วยเตือนเมื่อเสี่ยงต่อการถูกรถยนต์คันหลังชนขณะขับขี่
>> Blind Spot Monitoring (BSD): ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา
>> Lane Departure Warning (LDW): ระบบเตือนการออกนอกเลน
>> Lane Keeping Assist (LKA): ระบบช่วยเตือนให้รถขับอยู่ในเลน
>> Rear Cross Traffic Alert (RCTA): ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง
>> Rear Cross Traffic Brake (RCTB): ระบบช่วยหยุดรถอัตโนมัติขณะถอยหลัง
>> ระบบถุงลมนิรภัย SRS 7 ตำแหน่ง และจุดยึดเบาะนั่งสำหรับเด็ก ISOFIX
ทั้งนี้ ทาง Rever Automotive ยังได้แถลง ในการเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยได้เตรียมซ็น MOU เข้าร่วมโครงการกับทางกรมสรรพสามิต อีกทั้งทาง BYD ยังได้ยืนยันว่าได้รับบัตรส่งเสริมจากทาง BOI เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
ส่วนในเรื่องของโรงงานผลิตในประเทศไทย ล่าสุดทาง BYD เพิ่งได้ลงทุน 1.789 หมื่นล้านบาทในการร่วมสร้างโรงงาน โดยจะมีปริมาณการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 1.5 แสนคัน โดยจะเริ่มผลิตรถในประเทศไทย ในได้ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 โดยยังเล็งในการลบงทุนเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในอนาคตด้วยเช่นกัน