วิเคราะห์เส้นทางหนี: คาร์ลอส กอส์น อดีตปธ.นิสสัน ซ่อนตัวในกล่องเครื่องดนตรี—ขึ้นเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว?
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น วิเคราะห์เส้นทางหลบหนีของ คาร์ลอส กอส์น อดีตประธานจอมอื้อฉาวของนิสสัน มอเตอร์ หลังจากลี้ภัยสู่ประเทศเลบานอนได้สำเร็จเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กลายเป็นความอับอายครั้งใหญ่ของทางการญี่ปุ่นที่ปล่อยให้ผู้ต้องหาคดียักยอกเงินมูลค่ามหาศาล 5,000 ล้านเยน (ราว 1.46 พันล้านบาท) หนีออกนอกประเทศทั้งที่สั่งยึดพาสปอร์ตทั้ง 3 เล่มของเขาเอาไว้แล้ว
กอส์น วัย 65 ปี เคยได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลของอุตสาหกรรมรถยนต์ ในฐานะเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ 3 ผู้ผลิตรถยนต์ระดับหัวแถวของโลก ก่อนจะถูกตำรวจญี่ปุ่นบุกจับบนเครื่องบินส่วนตัว ที่สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 หลังจากมีหลักฐานเชื่อมโยงว่านักบริหารมือทองชาวฝรั่งเศส-บราซิล ปลอมแปลงตัวเลขเงินเดือน และนำทรัพย์สินบริษัทไปใช้หาประโยชน์ส่วนตัวสร้างความเสียหายให้นิสสัน มอเตอร์ มหาศาลกว่า 5,000 ล้านเยน
อ่านเพิ่มเติมคลิก: Ghosn Away-บอร์ดนิสสันโหวตเอกฉันท์ปลดปธ.ใหญ่
อ่านเพิ่มเติมคลิก: ปมเหตุโดนเชือดโหด Ghosn วางแผนดูด Nissan อยู่ใต้ Renault
อย่างไรก็ตามศาลแดนซามูไรยอมให้อดีตซีอีโอบริษัทมิชลิน อเมริกาเหนือ ประกันตัวด้วยวงเงิน 1.5 พันล้านเยน (ราว 410 ล้านบาท) ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมตัวที่เข้มงวด เพื่อรอขึ้นสู้คดีที่มีกำหนดจะเริ่มต้นพิจารณาในเดือนเมษายน 2020 โดยกอส์น ต้องพักอยู่ที่กรุงโตเกียวเท่านั้น พร้อมทั้งให้นำพาสปอร์ตทั้ง 3 เล่ม (บราซิล, ฝรั่งเศส, เลบานอน) มาเก็บไว้ที่สำนักงานทนายความของเขาเพื่อไม่ให้หลบหนีออกนอกประเทศ รวมทั้งถูกจำกัดการใช้งานคอมพิวเตอร์
จนทำให้หลังจากข่าวการหลบหนีของกอส์น ถูกรายงานออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 30 ธันวาคม สร้างความสงสัย และเกิดคำถามมากมายตามมา โดยซีเอ็นเอ็น เปรียบเทียบว่า “หากเขาไม่สามารถออกจากอพาร์ตเม้นต์ที่โตเกียว เพื่อซื้อนมซักกล่องโดยไม่มีคนรู้ มันเป็นไปได้อย่างไรที่เขาจะหนีออกนอกประเทศ?”
เปิด 9 เงื่อนไขการประกันตัว-คาร์ลอส กอส์น
สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยเงื่อนไขการประกันตัวของอดีตผู้บริหารคนดังจากข้อมูลของ 1 ในทีมกฎหมายของเขา
- ต้องอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว
- ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศ โดยต้องนำพาสปอร์ตมาเก็บไว้กับทีมทนายความของกอส์น
- หากเดินทางไปพักที่อื่นเกิน 2 คืน ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล
- ติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณทางเข้าที่พักของเขา
- ห้ามใช้อินเตอร์เน็ต และอีเมล
- สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่สำนักงานทนายความของเขาเท่านั้น โดยห้ามเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
- ห้ามติดต่อกับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้
- ต้องได้รับความยินยอมจากศาลในการเข้าประชุมบอร์ดบริหารนิสสัน
- ห้ามติดต่อพนักงานระดับผู้จัดการของนิสสัน
ตอนนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ถูกเปิดเผยออกมา ทั้งหมดเป็นเพียงแค่การคาดเดา โดยสื่อเลบานอน มีการสร้างทฤษฎีวิธีหลบหนีของกอส์น ออกมาเผยแพร่มากมาย รวมถึงการซ่อนตัวอยู่ในกล่องเครื่องดนตรีหลังจากมีการนำคณะนักร้องประสานเสียงเกรกอเรียนมาแสดงเป็นการส่วนตัวในบ้านพักของเขา หรืออาจใช้วิธีแบบโบราณไม่มีความซับซ้อน แต่ตบหน้าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นอย่างแรงด้วยการใช้พาสปอร์ตปลอมตามรายงานข่าวของเลส์ เอชโคส หนังสือพิมพ์ในประเทศฝรั่งเศส
ไม่ว่าความจริงคืออะไร แต่ตอนนี้กอส์น สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระในบ้านพักส่วนตัวที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอนบ้านเกิดพ่อแม่ของเขา พร้อมส่งแถลงการณ์ส่วนตัวออกมาโจมตีทางการญี่ปุ่นทันที โดยระบุว่า “ตอนนี้ผมอยู่ในเลบานอน และไม่ได้ถูกควบคุมในฐานะตัวประกันโดยกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นที่ไร้ความเป็นกลาง ที่มีความพยายามยัดเยียดข้อกล่าวหา, การเลือกปฏิบัติอย่างเลวร้าย และเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยการละเมิดข้อผูกพันทางกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาต่างๆ”
ข้อความในแถลงการณ์ของกอส์น แสดงให้เห็นว่ามีการวางแผนอย่างรอบคอบ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอิทธิพล จนทำให้จูนิชิโร่ ฮิโรนากะ 1 ในทีมทนายความของเขาออกมายอมรับตามตรงว่าต้องมี “องค์กรใหญ่” ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้เขาหลบหนีออกนอกประเทศได้สำเร็จ ทั้งที่กรุงโตเกียวมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อรักษาความปลอดภัยแทบจะทุกมุมถนน จนทำให้สื่อบางแห่งสันนิษฐานว่าเขาอาจจะปลอมตัวใส่ชุดช่างซ่อมบำรุงเหมือนตอนที่ได้รับการประกันตัวออกจากเรือนจำเพื่อหลบเลี่ยงความสนใจจากนักข่าว
ในส่วนข้อสงสัยว่ากอส์น เดินทางออกจากญี่ปุ่นอย่างไร วอลล์ สตรีท เจอร์นัล หนังสือพิมพ์ธุรกิจชื่อดังของประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่าเขาเดินทางผ่านประเทศตุรกี ก่อนจะไปสู่เลบานอน ตรงกับรายงานของเลส์ เอชโคส และข้อมูลนี้มีความน่าเชื่อถือสูงจากการที่ Flightradar24 เว็บไซต์แสดงข้อมูลการบินทั่วโลกบันทึกว่ามีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวเดินทางออกจากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ก่อนจะเดินทางต่อสู่กรุงเบรุต
การมีเชื้อสายเลบานอน และความสำเร็จในฐานะผู้บริหารบริษัทระดับโลก ถึงขั้นที่รัฐบาลเลบานอน ผลิตแสตมป์รูปใบหน้ากอส์น ออกมาเมื่อปี 2017 ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่กระทรวงต่างประเทศของพวกเขาจะออกมาแสดงการปกป้องผ่านแถลงการณ์ “คาร์ลอส กอส์น เดินทางเข้าเลบานอน เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (วันจันทร์) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการเปิดเผยเหตุผลที่ทำให้เขาต้องเดินทางออกจากญี่ปุ่นมาสู่กรุงเบรุต และข้อมูลทั้งหมดเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล”
ตัดกลับมาที่แดนปลาดิบ ฮิโรนากะ ออกมาแสดงความรู้สึกเพิ่มเติมหลังจากกอส์น ลูกความของเขาหลบหนีออกจากญี่ปุ่น “เป็นเรื่องน่าตกตะลึง เราทุกคนรู้สึกสับสน และตกอยู่ในอาการช็อก” พร้อมยืนยันว่าพาสปอร์ตทั้ง 3 เล่มยังถูกเก็บอยู่ที่สำนักงานทนาย “ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เขาจะนำมาใช้”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสร้างความไม่พอใจให้ทางฝ่ายการเมืองที่ถือว่าเป็นการเสียหน้าครั้งใหญ่ โดยมาซาชิซะ ซาโตะ สมาชิกวุฒิสภาจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ของนายกรัฐมนตรีชินโซะ อาเบะ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพี โจมตีอดีตผู้บริหารค่ายรถยนต์หมายเลข 2 แดนซามูไรว่ามีเจตนาหนีการประกันตัว “หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความจริง ไม่ได้เป็น “การออกนอกประเทศ” มันคือการทำผิดกฎหมายการออกนอกประเทศ และแสดงเจตนาหลบหนี ทั้งหมดที่เขากำลังทำเป็นอาชญากรรม”
การหลบหนีคดีของกอส์น ยังสร้างความอลหม่านลุกลามสู่ฝรั่งเศส หลังจากเขาเป็นผู้กอบกู้เรโนลต์ ให้กลับมาผงาดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกพร้อมสร้างกลุ่มพันธมิตรกับนิสสัน และมิตซูบิชิ โดยอั๊กเนส ปานนิเย่ร์-รูนาเช่ร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ออกมายอมรับว่าทางรัฐบาล “เซอร์ไพรส์อย่างมาก” กับข่าวการหลบหนีคดีของกอส์น แต่ยืนยันว่าอดีตผู้บริหารชาวบราซิล-ฝรั่งเศส “ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย” และหากมีชาวต่างชาติคนใดหลบหนีคดีจากฝรั่งเศสพวกเขาย่อมไม่พอใจเช่นกัน
อย่างไรก็ตามตอนนี้กอส์น ที่ได้รับอิสรภาพที่แท้จริงกลับคืนมา และไม่ต้องกังวลปัญหาทางข้อกฎหมายจากการที่เลบานอน ไม่ได้มีการทำข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งมีปัญหาภายในประเทศทั้งการเมือง และเศรษฐกิจตกต่ำที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน การปล่อยให้อดีตผู้บริหารบริษัทรถยนต์หลบหนีคดียักยอกเงินใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักอย่างสงบคงไม่สร้างความเสียหายอะไรมากมาย
แต่ที่จะเดือดร้อนคงจะเป็นบรรดาผู้บริหารที่ยังอยู่ในอำนาจของกลุ่มพันธมิตรเรโนลต์-นิสสัน-มิตซูบิชิ หลังจากอดีตบอสใหญ่รายนี้ประกาศว่าในสัปดาห์หน้าเขาพร้อมจะออกมาพูดคุยกับบรรดานักข่าวในทุกเรื่องอย่างไม่เงื่อนไข และความจริงจาก 1 ในคดีสุดอื้อฉาวของวงการรถยนต์โลกในทศวรรษที่แล้วอาจจะได้รับการเปิดเผยออกมาเป็นครั้งแรกจากฝั่งของผู้ที่ตกเป็นจำเลยมายาวนานกว่า 1 ปี
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: CNN/BCC
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th