CHANGAN เปิดบ้านนครฉงชิ่ง โชว์เทคโนโลยีล้ำสมัย ชมรถรุ่นใหม่ก่อนขายไทย
CHANGAN เปิดบ้านนครฉงชิ่ง โชว์เทคโนโลยีล้ำสมัย ชมรถรุ่นใหม่ก่อนขายไทย เชื่อว่าหลายท่านรู้จักแบรนด์น้องใหม่มาแรงจากประเทศจีนอย่าง CHANGAN กันอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันฉางอันลองตลาดไทยด้วยการ นำรถแบรนด์ลูกอย่าง Deepal มาเปิดประเดิมจำหน่ายในประเทศไทย 2 รุ่น นั้นคือ Deepal L07 และ Deepal S07 ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวไทย และเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า CHANGAN THAILAND เลยจัดทริปพาผู้แทนจำหน่าย อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อมวลชนสายยานยนต์ บินลัดฟ้าสู้นครฉงชิ่ง ( Chongqing) สาธารณรัฐประชาชนจีน เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา (Research and Development) และโรงงานผลิตให้เราได้ชมถึงเทคโนโลยี มาตรฐานการผลิต การออกแบบ และพัฒนา รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ความแข็งแกร่งของแบรนด์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจของลูกค้า อีกทั้งยังโชว์รถยนต์รุ่นใหม่ที่เตรียมจำหน่ายในประเทศไทยภายในปี 2024 นี้ ให้เราได้ชมอย่างใกล้ชิด เมื่อพร้อมแล้วไปชมพร้อมกันครับ
วันแรกเราออกเดินทางโดยสายการบินแอร์เอเซียมุ่งหน้าสู่สนามบินเจียงเปย์ นครฉงชิ่ง
ซึ่งใช้เวลาบินเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น นครฉงชิ่งมีพิ้นที่ครอบคุมถึง 82,300 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมณฑลเสฉวน เมืองนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญริมแม่น้ำแยงซี มีประชากรมากถึง 32 ล้านคน มีอัตราการเติบโตของ GDP ต่อปีอย่างน้อย 10 % เป็นเวลานานกว่า ทศวรรษ มีเศรษฐกิจที่หลากหลายจากอุตสาหกรรมหลักต่างๆไม่ว่าจะเป็น การผลิตรถยนต์ ซึ่งเมืองนี้เป็น headquarter ของ Changan Automobile , อาหารแปรรูป,เคมี,สิ่งทอ รวมไปถึงการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่จากทั่วโลก จึงทำให้เมืองนี้เป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศษรฐกิจของประเทศจีน
ลักษณะเป็นพื้นที่สูง ร้อยละ 76 ของภูมิประเทศเป็นเนินเขาและภูเขา ที่พักอาศัยส่วนมากจะเป็นตึก และคอนโด จึงไม่แปลกถ้าเรายืนอยู่ที่ชั่น 1 ของตึกนี้ อาจจะเป็นชั้น 10 ของตึกด้านหลัง สภาพภูมิอากาศเป็นแบบเขตกึ่งร้อนชื้น อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส ฤดูหนาวอุณหภูมิประมาณ 6 – 8 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอุณหภูมิประมาณ 27 – 29 องศาเซลเซียส
เช้าวันใหม่เรามีรถ Deepal L07 (หรือที่ประเทศจีนมีชื่อว่า SL03) พร้อมคนขับมารอรับที่หน้าโรงแรม
พาเราไปเที่ยวเมืองฉงชิ่งกัน แน่นอนพี่คนขับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้แม้แต่คำเดียว การสื่อสารของเราจึงต้องผ่าน Google แปลภาษาเท่านั้น และที่สำคัญเวลาเราจะซื้อของการใช้เงินสดเป็นเรื่องค่อนข้างยากสำหรับเมืองจีนเพราะเค้าจะไม่ค่อยมีเงินทอนเท่าไหร่จะมีก็แต่ร้านใหญ่ๆ หรือร้านสะดวกซื้อเท่านั้นที่รับเงินสด
บัตรเครดิตบางร้านก็ใช้ไม่ได้อีกต่างหาก ง่ายสุดคือ การใช้ Alipay และมันง่ายกว่าคือเราสามารถใช้ผ่าน True Money ได้เลยเพียงแค่เติมเงินเข้าไปใน True Money เท่านั้น ในการใช้ระบบจะคำนวนจากเงินหยวนเป็นบาทให้เรียบร้อย บันทึกใบเสร็จได้เวลาใช้จ่ายรู้ได้เลยว่าราคาเท่าไหร่ ยอดเยี่ยมเลยครับใช้งายมาก
เอาละตอนนี้ผมนั่งอยู่เบาะด้านหลังของ Deepal L07 ต้องบอกว่าผมเพิ่งเคยนั่งเบาะหลังครั้งแรก มันนั่งสบายกว่าที่คิดครับ พื้นที่ตรงหัวเข่า และตรงศีรษะเหลือๆเลยครับ แบบพนักพิงยังมีองศาที่ดีรับกับสรีระนั่งสบายกว่าที่คิดครับ แถมยังมีระบบความคุมเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ด้านหลังด้วย ปรับแอร์ได้เป็นฉ่ำตามใจเลยครับ สเปกโดยรวมทั่วไปก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเราเท่าไหร่นัก นั่งมาเพลินๆก็มาถึงสถานที่แรกที่มาฉงชิ่งแล้วต้องมา เพราะมันกลายเป็นแลนด์มาร์คไปเป็นที่เรียบร้อยนั้นก็คือ
สถานีหลีจื่อเป้า รถไฟฟ้าสายนี้ถูกสร้างขึ้นโดยไม่ต้องรื้อถอนตึก
โดยสถานีหลีจื่อป้าใช้พื้นที่เพียงชั้น 6-8 ของตัวอาคารเท่านั้นประชาชนที่อาศัยอยู่ไม่ต้องกังวลเรื่องของเสียงรบกวน เนื่องจาก ผ่านการออกแบบให้สามารถลดเสียงการทำงานด้วยอุปกรณ์ชนิดพิเศษ ที่ทำให้เสียงของรถไฟฟ้าสายนี้ดังเท่าเครื่องล้างจาน (ประมาณ 75.8 เดซิเบล) สุดยอดเลยครับ แถมนักท่องเที่ยวมาดูเยอะมากทีเดียวครับ
เราไปต่อกันที่โชว์รูมรถยนต์ยี่ห้อ AVATR
ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของฉางอัน ซึ่งมีรถที่กำลังจะเข้ามาขายในประเทศไทย เราเลยขอแวะได้ชม ไปลองนั่ง ซะหน่อยก่อนเข้าไปขายในไทย โชว์รูมที่นี่เข้าแยกกันชัดเจนนะครับระหว่าง Deepal และ AVATR ส่วนในไทยนั่นคาดว่าคงต้องแยกเช่นกัน หรือไม่ในช่วงแรกอาจจะมีการเลือกดีลเลอร์ที่มีความพร้อมในการขาย Avatr ก่อน
อาจจะมีโมเดลคล้ายๆ การขาย AMG ของ Mercedes-Benz นั้นเอง เอาละกลับมาที่ตัวรถ รุ่นแรกที่จะเข้ามาขายไทยในประมาณปลายมีนาคมนี้ ช่วงงาน บางกอก มอเตอร์โชว์ 2024
คาดว่าจะเป็น Avatr 11 รถยนต์ไฟฟ้าพรีเมียมแบบ SUV ทรงคูเป้ มีทั้งแบบ 4 และ 5 ที่นั่ง กำลังเริ่มต้น 313 แรงม้า ระยะทางวิ่งสูงสุด 700 กิโลเมตร ต้องบอกว่าเห็แล้วชอบเลยสวยเท่จัด แถมเราได้ลองนั่งออกถนนในเมืองโดยใช้ระบบขับขี่อัตโนมัติ บอกเลยว่าใช้งานง่าย มีความเสถียร นุ่มนวล แม่นยำมากครับ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าจอด และขับออกจากช่องจอดเองได้อัตโนมัติ
ส่วนราคา Avatr 11 ในจีนมีทั้งหมด 3 รุ่นย่อย เริ่มที่ประมาณ 1,514,000 – 1,968,000 บาท
และอีก 1 รุ่นที่คาดว่าจะตามมานั้นคือ Avatr12 รถยนต์ไฟฟ้าที่มาในรูปแบบรถซีดานท้ายลาด Gran Coupe ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% ชาร์จไฟเต็มวิ่งไกล 700 กม. มาพร้อมระบบอัจฉริยะแบบเต็มๆ คาดว่าเข้าขายไทยเช่นกัน ราคาจำหน่ายพอๆกันกับ Avatr11 คาดว่าน่าจะแพงกว่าประมาณ 1 แสน บวก ลบ
ออกมาจากโชว์รูมบ่ายโมงกว่าเริ่มหิวข้าว เลยบอกคนขัยให้พาไปกินข้าว ระยะทางไกลพอสมควร แถมถนนที่นี่เล็กแคบ ขึ้น-ลง เขาตลอดเวลา แต่ก็ไม่มีปัญหากับ Deepal L07 ของเราเพราะมันมีความคล่องตัวสูง ลัดเลาะตามช่องได้สบาย อัตราเร่งช่วงออกตัวไม่ต้องพูดถึงเหยียบเป็นมาอยู่แล้ว นั่งเพลินๆก็เดินทางมาถึง บะหมี่ ฉงชิ่ง อันโด่งดัง บอกเลยว่าไร้เงาเนื้อสัตว์ครับ มีแต่ ผัก พริกหม่าล่า ไข่ดาว นั่งกินริมถนนแบบ original แท้ๆ ท้องอิ่มก็เดินทางกันต่อเลย
สถานที่ต่อไปนั้นก็คือ เมืองโบราณสือชี่โข่ว (Ciqikou Old Town)
ระหว่างทางไปถนนในเมืองค่อนข้างเป็นหลุมบ่อ แต่ระบบช่วงล่างของ Deepal L07 ก็สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี นุ่มนวลนั่งสบายตลอดการเดินทาง เมืองโบราณสือชี่โข่ว เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจียหลิงทางฝั่งตะวันตกของนครฉงชิ่ง สมัยก่อนเคยเป็นเมืองท่าแห่งเครื่องเคลือบในสมัยราชวงศ์หมิง แต่ปัจจุบันถูกพัฒนาให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งสองข้างทางของถนนคนเดินเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขนมมากมาย เดินเล่นถ่ายรูปอยู่พักใหญ่จนหน่ำใจ ฟ้าเริ่มมืด
เราก็ออกเดินทางต่อไปยังอีกหนึ่งไฮไลท์ของเมืองนี้ เพราะจุดนี้ต้องมาตอนกลางคืนเท่านั้นถึงจะสวยอลังการ นั้นก็คือ หงหยาต้ง (Hongyadong ) เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยสไตล์จีนโบราณแบบโรงเตี๊ยม เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คของฉงชิ่งที่ใครๆ ก็มักจะนึกถึงที่นี่เป็นที่แรก ด้านในเต็มไปด้วยร้านอาหาร ตลาด ร้านค้า และโรงแรม ด้านบนสุดเป็นจุดชมวิว แม่น้ำเจียหลิงในยามค่ำคืน ถ่ายภาพจนเมมโมรี่เกือบเต็ม พี่คนขับก็มารับไปต่อกันที่จุดสุดท้ายของค่ำคืนนี้
สายช้อปต้องถูกใจย่านนี้ เจียฟางเป่ย (Jiefangbei Pedestrian Street)
ย่านการค้าและธุรกิจใจกลางเมืองฉงชิ่ง ศูนย์รวมห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร และโรงแรมสุดหรู มีให้เลือกตั้งแต่ร้านค้าทั่วไปจนถึงร้านแบรนด์เนม บรรยากาศสุดคึกคักบนถนนคนเดินที่อบอวลไปด้วยแสงสี ที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของ หอนาฬิกาเจียฟางเป่ย (Jiefangbei Clock Tower)
ที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของจีนในสงครามจีน-ญี่ปุ่น (Sino-Japanese war) อีกด้วย จบวันพร้อมเงินใน True Money ที่ใช้ง่ายจนไม่เหลือซักหยวน ฮาฮาฮา กลับโรงแรมพร้อมเตรียมตัวเยี่ยมชมความทันสมัยของโรงงานผลิตรถยนต์ และศูนย์วิจัย และพัฒนาของ Changan กัน
เช้าวันนี้เราเดินทางโดยรถบัส เพราะโรงงานแห่งนี้ต้องวิ่งออกไปนอกเมืองประมาณ 30 นาที
อารมณ์ประมาณนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ แต่ใหญ่กว่าและทั้งหมดเป็นของฉางอัน ยิ่งใหญ่มากครับ เราเข้ามาดูที่โรงปั๊มขึ้นรูป โรงงานนี้ถูกสร้างขึ้นในเดือนมิถุนายน 2552 แล้วเสร็จและเริ่มดําเนินการในปี 2554 บนพื้นที่ 23,000 ตารางเมตร มีการผลิตปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนต่างๆของตัวรถ ความเร็วสูงอัตโนมัติ 3 สายโดยมีอัตราการผลิตสูงสุด 10 ครั้ง/นาที ปัจจุบันโรงงานนี้รับผิดชอบผลิตปั๊มขึ้นรูปชิ้นส่วนรุ่น AVATR 11,12 , DEEPAL L07 และ OSHAN X5 เป็นหลัก
ทั้งสองฝั่งของทางเดินหลัก จะจัดวางไปด้วยแม่พิมพ์สำหรับการผลิตรถยนต์ ซึ่งได้ถูกคิดค้นและพัฒนาโดยฝ่ายคิดค้นและพัฒนาแม่พิพม์ของของบริษัท ซึ่งครอบคลุมแม่พิมพ์ขนาดใหญ่ที่หลากหลาย เช่น ชิ้นส่วนตัวรถ ชิ้นส่วนโครงสร้าง ประตู และแม่พิมพ์ชิ้นส่วนอื่น ๆ โดยในส่วนแม่พิมพ์นั้น 40% ของหนึ่งแม่พิมพ์จะสามารถขึ้นรูปชิ้นส่วนได้สองชิ้น หมายความว่า หนึ่งแม่พิมพ์เดี่ยวจะสามารถขึ้นรูปได้ 2 ชิ้นในเวลาเดียวกัน เพื่อลดต้นทุน R&D ให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงสุด
โรงงานแห่งนี้ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มีการติดตั้งระบบเปลี่ยนแม่พิมพ์อัตโนมัติที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้เวลาเปลี่ยนแม่พิมพ์ลดลงเหลือแค่ 10 นาที ซึ่งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและความปลอดภัยของอุปกรณ์ของสายอัตโนมัติ ตรงตามข้อกําหนดการผลิตแบบยืดหยุ่นของสายการผลิตอัตโนมัติมากขึ้น และตอบสนองความต้องการปั๊มขึ้นรูปรถยนต์ที่ทันสมัย
เมื่อปั๊มขึ้นรูปเสร็จเรียบร้อย ในกระบวนการสุดท้ายจะมีการตรวจจากพนักงานอีกรอบเพื่อให้แน่ใจว่าชิ้นส่วนทั้งหมดได้มาตรฐานหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ได้ตามมาตรฐานจะมีการคัดแยกไว้
มาต่อกันที่โรงเชื่อม
โรงนี้ผลิตรถรุ่น AVATR 11 , 12 , DEEPAL L07 และ OSHAN X5 เป็นหลัก กระบวนการเชื่อมเป็นกระบวนการที่ 2 จาก 4 กระบวนการหลักของการผลิตยานยนต์ ส่วนใหญ่ใช้ การเชื่อมเฉพาะจุด, การเชื่อมแบบ CO2 , การย้ำหมุดรีเว็ท และกระบวนการอื่น ๆ เพื่อเชื่อมต่อชิ้นส่วนโลหะที่ผลิตขึ้นรูปแล้วประมาณ 2,000 ชิ้นเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นก็ขึ้นเชื่อมประกอบตัวรถยนต์ จากนั้นจะมีการตรวจสอบค่าทั้ง 5 รายการ เมื่อเสร็จจะจะถูกขนส่งไปยังแพลตฟอร์ม WBS และเข้ากระบวนการการพ่นสีต่อไป
เรานั่งรถมาต่อกันที่สายการผลิตของ AVATR 11 เป็นสายการผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ที่ลงทุนร่วมระหว่าง Changan Automobile, Huawei และ CATL โดยมีแขนกลอัจฉริยะทั้งหมด 192 ตัวช่วยในสายการผลิตนี้ โรงงานประกอบรถยนต์แห่งนี้สร้างขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 และเปิดดำเนินการผลิตอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ผลิตรุ่นหลักๆคือ AVATR 11,12 , DEEPAL L07 และ OSHAN X5 ซึ่ง DEEPAL L07 เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกของ Changan Automobile ที่สร้างขึ้นบนแพลตฟอร์มไฟฟ้า100% และ AVATR 11 เป็นรถ Hi-end brand
เข้ามาทางด้านซ้ายมือ คือ สายประกอบแชสซี สิ่งที่เราเห็นคือระบบภาพที่เราสามารถมองเห็นยาง(Visualization system ) ผ่านการถ่ายภาพ ข้อมูลภาพถ่ายจะถูกส่งไปยังโปรเซสเซอร์ คิวรถและข้อมูลยานพาหนะเบื้องต้นจะถูกส่งไปยังโปรเซสเซอร์ผ่าน AVI และข้อมูลชิ้นส่วนยานยนต์จะถูกส่งไปยังโปรเซสเซอร์ในเวลาเดียวกัน และสุดท้ายข้อมูลจะถูกส่งให้กับฝ่ายคุณภาพเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล เพื่อรับรองว่ามีการติดตั้งยางอย่างถูกต้อง สายประกอบแชสซีจะผลิตได้ชั่วโมงละ 60 คัน ถ้าเร็วสุดจะตกอยู่อยู่ที่คันละ1นาที โดยประมาณ ซึ่งขึ้นอยู่รุ่นรถยนต์
ระหว่างเดินชมเราจะเห็นเจ้ารถเข็น AGC ขนชิ้นส่วนวิ่งไปวิ่งมา มันทำงานบนสายการผลิต รถเข็นทำงานโดยอัตโนมัติแทนที่รถเข็นพ่วงแบบธรรมดา สามารถตรวจสอบใด้ว่าชิ้นส่วนต่างๆถูกส่งไปยังสถานีประกอบรถยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับประสิทธิภาพของสายการผลิต
ต่อมาเราจะเจอกัย ระบบควบคุมแรงบิด อันนี้สําคัญมากเพราะมันเป็นการสร้างความมั่นใจในแรงบิดที่ของแชสซี ในสายการประกอบแชสซี ระบบควบคุมแรงบิดประกอบด้วยเครื่องมือไฟฟ้า ถึงความครอบคลุมสูงของจุดสําคัญของรถทั้งคัน (เบรก ความปลอดภัย ชิ้นส่วนแชสซี) ทั้งระบบเป็นระบบป้องกันอัจฉริยะ 100% มีการตรวจสอบ real-time และการตรวจสอบย้อนกลับที่แม่นยําของข้อมูล นอกจากนี้ยังทําให้มั่นใจได้ว่าแชสซีของรถมีเสถียรภาพตลอดอายุการใช้งาน
สุดท้ายเราเดินมาพบกับอุปกรณ์ติดตั้งอัตโนมัติเต็มรูปแบบสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า มีการสแกนรหัสอัตโนมัติของแบตเตอรี่พลังงานเพื่อป้องกันข้อผิดพลาด การตรวจสอบย้อนกลับของแบตเตอรี่ ซึ่งสามารถรับรู้ถึงการทำงานอัตโนมัติเต็มรูปแบบโดยไม่ต้องใช้คนควบคุม การติดตั้งแบตเตอรี่พลังงาน ในระยะต่อมา มีการทำงานร่วมกับโฟล์คลิฟต์ไร้คนขับ ทำให้กระบวนการทั้งหมดของแบตเตอรี่ ตั้งแต่การโหลดจนถึงการติดตั้งไม่ต้องใช้คนควบคุม
หลังจากเยี่ยมชมโรงงานเป็นที่เรียบร้อยเราก็นั่งรถต่อมาที่ศูนย์วิจัย และพัฒนา ซึ่งที่แห่งนี้ก็ตอนรับเราด้วยรถยนต์แบรนด์ลูกรุ่นเด่นๆของ Changan แต่ที่น่าสนใจคือ เจ้า Changan NEVO E07 (Qiyuan E07) รถพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นได้ทั้งเอสยูวี และกระบะในคันเดียว
ตัวรถได้รับการพัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ม SDA ของทาง Changan รองรับได้ 5 ที่นั่ง โดยที่หลังคากระจกด้านท้ายสามารถสไลด์เปิดได้กว้างเหมือนรถกระบะด้วยระบบไฟฟ้า ทำให้รถเอสยูวี เปลี่ยนเป็นรถกระบะที่สามารถบรรทุกของชิ้นใหญ่ ๆ ได้อย่างสบาย
ระบบขับเคลื่อนของ Qiyuan E07 หรือ จะมีให้เลือกทั้งรุ่นมอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดียวที่ให้กำลัง 252 kW หรือ 338 แรงม้า และรุ่นมอเตอร์ไฟฟ้าคู่ โดยมอเตอร์คู่หน้าให้กำลัง 188 kW หรือ 252 แรงม้า ส่วนมอเตอร์คู่หลังให้กำลัง 252 kW หรือ 338 แรงม้า
ขณะที่ความเร็วสูงสุดของทั้ง 2 รุ่นจะถูกจำกัดไว้ที่ 201 กม./ชม. และคันนี้ Changan มีแผนที่จะนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน ถ้าจัดการเรื่องการจดทะเบียนได้ว่าจะเป็นรถประเภทไหน ภายในปีนี้เราคนไทยได้จับจองเจ้า NEVO E07 คันนี้แน่นอน
LUMIN
นอกจากนี้เราได้ข่าวทาง ChangAn ยังมีแผนที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งเป็นแบรนด์ลูกอีกหนึ่งยี่ห้อที่ใช้ชื่อว่า LUMIN เป็นรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กตัวถังแบบ 3 ประตู 4 ที่นั่ง
ที่มีขนาดพิกัดใกล้เคียงกับ Wuling AIR EV. โดยมีมิติความยาวตัวรถอยู่ที่ 3,270 มม. ความกว้าง 1,700 มม. ความสูง 1,545 มม. และมีระยะความยาวฐานล้อ 1,980 มม. ระยะต่ำสุดถึงพื้น 150 มม.
ขุมพลังได้รับการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าตัวเดี่ยวอยู่ที่คู่ล้อหน้า มีพละกำลังให้เลือก 2 ความแรง ได้แก่ ขนาด 30 kW หรือ 40 แรงม้า ให้อัตราเร่ง 0-50 กม./ชม. ในเวลา 6.5 วินาที
และขนาด 35 kW หรือ 47 แรงม้า ให้อัตราเร่ง 6.1 วินาที และสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 101 กม./ชม.
ขณะที่แบตเตอรี่จะเป็นแบบ LFP มีให้เลือก 3 ขนาดขึ้นอยู่แต่ละรุ่นย่อย ได้แก่ ขนาด 12.92 kWh สามารถวิ่งได้ 155 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง , แบตเตอรี่ขนาดความจุ 17.65 kWh สามารถวิ่งได้ 210 กม.กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และรุ่นท็อปแบตเตอรี่ขนาด 27.99 kWh สามารถวิ่งได้ 301 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง
คันนี้ก็มีลุ้นจะเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเราอย่างแน่นอนอาจจะเป็นภายในปี 2024 นี้ก็เป็นได้ แล้วถ้าราคาเปิด 3-4 แสนบาท บอกเลยว่าขายดีชัวร์ครับรอลุ้นไปพร้อมกันครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับเพื่อนๆ กับเมืองฉงชิ่ง และฉางอัน ออโตโมบิล กับความยิ่งใหญ่ มาตรฐานการผลิตรถยนต์ ทั้งอีกหลากหลายแบรนด์รถยนต์ในเครือ มันแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ว่าเราซื้อไปแล้วเค้าจะไม่ทิ้งหนีไปไหนแน่นอน นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นครับ เรามาลุ้นกันต่อว่า CHANGAN THAILAND จะมีรถสวยๆ ดีๆ ราคาน่ารัก รุ่นไหนยี่ห้ออะไรให้คนไทยได้จับจองเป็นเจ้าของบ้างในอนาคต
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th