เทียบ 4 MPV ในไทย BR-V , VELOZ , XPANDER , XL7 ก่อนตัดสินใจซื้อ
เทียบ 4 MPV ในไทย BR-V , VELOZ , XPANDER , XL7 ก่อนตัดสินใจซื้อ เจาะจุดเด่น จุดด้อย รถคันไหนคุ้มค่า คุ้มราคา สำหรับคุณ
ตลาดรถยนต์ในกลุ่ม MPV (Multi-Purpose Vehicle) กำลังมีอัตราการเติบโตในตลาดประเทศไทย โดยเฉพาะกับกลุ่ม MINI MPV ที่มีทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ ส่งสินค้าลงมาแข่งขัน จนยอดขายเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง. แม้จะมีบางแบรนด์พยายามฉีกกลุ่ม ไปเรียกรถบางรุ่นของตัวเองว่าเป็นรถ Crossover ก็ตาม แต่ด้วยรูปลักษณ์และลักษณ์การใช้งานของรถ มันก็คือรถอเนกประสงค์ที่มีลักษณะคล้ายรถตู้เหมือนกัน.
ALL NEW HONDA BR-V เจเนอเรชั่น 2 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในงาน Big motor sales 2022 เตรียมลงมาแข่งขันในตลาดรถยนต์อเนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ที่แม้เดิม ฮอนด้า จะเคยเป็นเจ้าตลาดเพราะเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่ปล่อยสินค้าในกลุ่มนี้ออกมาขาย
แต่ปัจจุบันมีคู่แข่งมากมายหลายรุ่น แต่หากเจาะจงลงไปแล้วมีคู่เปรียบที่แข่งแกร่งอยู่ด้วยกัน 3 แบรนด์ คือ TOYOTA VELOZ, MITSUBISHI XPANDER และ SUZUKI XL7 ซึ่งในครั้งนี้ Grandprix online จะนำข้อมูลแต่ละรุ่นมาเปรียบเทียบ ว่าแตกต่างกันอย่างไร และคุ้มค่ากับการเลือกซื้อหรือไม่
ดีไซน์ภาพรวมตัวรถเทียบ 4 MPV
ในด้านของการดีไซน์ทั้งภายในและภายนอก เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจจากรสนิยมของแต่ละคน เพราะรถทั้ง 4 รุ่น จัดว่าเป็นรถที่ถูกดีไซน์ขึ้นมาในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ฉะนั้นความทันสมัยของรูปลักษณ์จึงอาจจะไม่ได้ดูแตกต่างมากนัก แต่เส้นสายการออกแบบก็เป็นไปตามทิศทางการวางคอนเซ็ปต์ของแต่ละค่าย หากพูดถึงความล้ำสมัย สปอร์ต โฉบเฉี่ยวน่าจะเป็น มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ที่กินขาด ดูบึกบึนพร้อมลุยหน่อยก็คงจะเป็น ซูซูกิ เอ็กซ์แอล 7 ถ้าชื่นชอบแบบเรียบหรู ดูดี ฮอนด้า บีอาร์-วี เหมือนจะได้คะแนนจุดนี้มากสุด ส่วน โตโยต้า เวลอส มีความผสมผสานที่ดูหลากหลาย ของเส้นสาย เหมือนยังจับทางไม่ถูกว่าควรไปทางไหน จะหรูก็ยังไม่ใช่ จะทันสมัยก็ยังไม่เชิง
ชนิดเครื่องยนต์
ทั้ง 4 แบรนด์ใช้เครื่องยนต์ขนาดเท่ากัน คือ 4 สูบ 16 วาล์ว ขนาด 1.5 ลิตร แต่ก็จะแตกต่างกันไปในเรื่องของแรงม้า น้องใหม่ล่าสุด บีอาร์-วี มีพละกำลังมากสุด คือ 121 แรงม้า รองลงมาคือ เวลอซ มีแรงม้าอยู่ที่ 106 แรงม้า ส่วนอีกสองแบรนด์มีกำลังเท่ากัน คือ 105 แรงม้าทั้งคู่ ส่วนเรื่องระบบส่งกำลัง ทุกรุ่นเป็นเกียร์ CVT ยกเว้นเพียง เอ็กซ์แอล 7 ที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด
ส่วนเรื่องของอัตราการประหยัดน้ำมัน ระบุตามอีโคสติ๊กเกอร์ ตัวเลขของเวลอซ อยู่ที่ 17.9 กิโลเมตร/ลิตร เอ็กซ์แพนเดอร์ และ เอ็กซ์แอล 7 ตัวเลขเท่ากันอยู่ที่ 16.4 กิโลเมตร/ลิตร ส่วน บีอาร์-วี มีตัวเลขอยู่ที่ 16.1 กิโลเมตร/ลิตร
เทียบ 4 MPV ระบบความปลอดภัย
รถยนต์รุ่นใหม่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นระบบช่วยเหลือ หรือ แจ้งเตือนป้องกัน มีความจำเป็นและสำคัญต่อการตัดสินของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นอกจากจะช่วยในเรื่องความปลอดภัยของผู้ขับขี่แล้วยังช่วยเพิ่มความรู้สึกว่า คุ้มค่า คุ้มราคาที่จ่าย ในจำนวนทั้ง 4 รุ่นแบ่งกลุ่มได้ชัดเจน คือ กลุ่มที่ใส่เทคโนโลยีแอดวานซ์ที่เป็นของตนเองเข้ามา และกลุ่มที่มีระบบความปลอดภัยแบบที่รถทั่วไปควรมี ซึ่งตัว Honsa sensing และ Toyota safety sense จะมีการทำงานคล้ายคลึงกัน ทั้งการควบคุมรถให้อยู่ในเลน เตือนการชน ฯลฯ ในอนาคตคาดว่าอีก 2 รุ่น ถ้ายังทำตลาดในประเทศไทยต่อไป ยังไงก็คงต้องเพิ่มเติมเข้ามา
ฟังก์ชั่นการพับเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง
จุดเด่นสำคัญของรถอเนกประสงค์ในกลุ่ม MPV คือ เรื่องของการใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ของพื้นที่ ภายในห้องโดยสาร ที่ต้องรองรับการใช้งาน ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบรรทุกคน เน้นความสะดวกสบาย ไปจนถึงการปรับพื้นที่ เพื่อบรรทุกสัมภาระให้ได้ครบครัน
เมื่อปรับพับลงมาแล้ว มี 2 รุ่นเท่านั้น ที่ปรับเบาะแถว 2 และ แถว 3 ให้ราบเรียบแบบ Fully flat คือ เอ็กซ์แพนเดอร์ และ เวลอซ ส่วน เอ็กซ์แอล 7 และ บีอาร์-วี มีสเต็ปการพับเหมือนกัน คือ เป็นการพับแค่ตัวพนักพิงลงไปเท่านั้น แต่ในตัว บีอาร์-วี มีแผ่นฝาปิดสัมภาระท้าย ที่สามารถปรับระดับขึ้นมาทำให้เวลาพับเบาะ มองดูพื้นมีระดับเท่ากันทั้งหมดได้
แต่รุ่นที่มีฟังก์ชั่นการใช้งาน ด้านการพับเบาะและปรับได้อย่างหลากหลายสุด ต้องยกให้แก่ โตโยต้า เวลอซ ที่สามารถปรับรูปแบบการใช้งาน ได้ถึง 7 รูปแบบเลยทีเดียว
ระบบความบันเทิง
ความบันเทิงยามขับขี่เป็นปัจจัยที่ถูกนำขึ้นมา เป็นตัวเลือกอีกตัวหนึ่งของผู้ซื้อรถ ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ล้ำสมัยในปัจจุบัน เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งฟังเพลง ดูหนัง ได้หลายช่องทาง ไม่ต้องเสียบฟังเพลงผ่าน USB เหมือนสมัยก่อน แต่ละค่ายจึงพัฒนาระบบการให้รองรับการเล่นไฟล์หลากหลาย รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งตัวเครื่องเล่นและลำโพง เรื่องของเสียงจึงมีความสูสีกันในระดับหนึ่ง
หน้าจอใหญ่สุดจะเป็นของ XL7 จุดเด่น คือ เมื่อเชื่อมต่อ HDMI สามารถแสดงผล ยูทูบ ขึ้นหน้าจอได้ทันที แต่รุ่นอื่นไม่สามารถทำได้ ส่วนรุ่นจอเล็กที่สุดได้แก่ BR-V แต่มีการพัฒนาให้การแสดงผลคมชัดกว่าในอดีตที่ผ่านมามาก
สมรรถนะการขับขี่
ด้านของการขับขี่ สมรรถนะทั้งช่วงล่างและเครื่องยนต์มีบุคลิกที่แตกต่างค่อนข้างชัดเจน พื้นฐานของเทคโนโลยีที่ใช้เหมือนกัน เพียงแต่การปรับจูนมาให้เหมาะสมกับการใช้งานที่ต้องการนำเสนอไปถึงกลุ่มลูกค้าของตน อย่างเช่น ช่วงล่าง ทุกรุ่นใช้ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบแม็คเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม เครื่องยนต์เป็นขนาด 1.5 ลิตร ทำงานคู่กับเกียร์ CVT ยกเว้ยเพียง XL7 ยังเป็นเกียร์ 4 สปีด
จะชอบแบบไหนขึ้นอยู่กับผู้บริโภค เน้นแรง ช่วงล่างเฟิร์มและลงตัวที่สุดในกลุ่ม ก็คงต้องเลือก BR-V แต่แพงนะ รับไหวก็ลุย เน้นนุ่มนวลสักหน่อยคงต้องไปเปรียบกันที่ออปชั่นเพิ่มเติมระหว่าง Veloz กับ Xpander ส่วนถ้าแน่น ๆ กระด้างนิด เหมาะกับขับลุยหน่อยก็น่าจะ XL7
แต่เพื่อเป็นการสรุปสุดท้าย ลองไปอ่านทรรศนะหลังจากเคยลองทดสอบรถแต่ละรุ่นมาแล้ว จากผู้สื่อข่าวกรังด์ปรี ออนไลน์ ทั้ง 4 ท่าน ว่าเป็นอย่างไร ก่อนตัดสินใจว่าจะเสียเงินให้แบรนด์ไหนที่ คุ้มค่า คุ้มราคา เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากที่สุด
เรื่อง : กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ภาพ : ฝ่ายภาพ GRANDPRIX
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th