รู้ยัง Cruise Control นะ ไม่ใช่ Loose Control อะไรไม่ควรทำ ถ้ายังไม่อยากถึง “ฆาต”
ตอนนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่นี่อะไร มันช่วยให้คนขับนั้น สะดวกสบายไปเสียทุกเรื่อง ระบบนู่น – นั่น – นี่ สารพัดสารเพ ที่บริษัทรถยนต์ประเคนแข่งกันเพื่อเอาใจลูกค้า ก็แน่ละ…ลูกค้าเป็นคนจ่ายตังค์นี่ ก็ต้องอยากได้ความสะดวกสบายเป็นธรรมดา หนึ่งในอุปกรณ์ที่ “ช่วยรักษาความเร็วรถยนต์ โดยที่คนขับไม่ต้องเหยียบคันเร่ง” ก็คือ “Cruise Control” หรือ “ครูส คอนโทรล”
ซึ่งแต่ก่อนนั้น ก็มักจะมีใช้ในรถราคาแพง หรือรถสเปกต่างประเทศ (บ้านเราโดนหั่นของเกลี้ยง) เลยกลายเป็นของที่ดู “หรูหราอาราเล่” ม้ากมาก และนิยมกันกันในต่างประเทศ โดยเฉพาะ “อเมริกา” เพราะมีทางไฮเวย์ที่ “ยาวววววววววววววววววววววว” เหลือเกิน ทำให้คนขับไม่ต้องเมื่อยตุ้มในการเหยียบคันเร่งด้วยความเร็วคงที่นานๆ ครูส คอนโทรล เลยเป็นพระเอก แต่จริงๆ ต้นตำรับ ครูส คอนโทรล กลับเป็นรถแบรนด์ Wilson-Pilcher ของประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ยุค 1900 นู่น เอาว่าพอแค่นี้ก่อน เดี๋ยวจะเซ็ง ไม่อ่านต่อกันเสียเปล่าๆ…
ในบัดนาว ครูส คอนโทรล นั้น ก็นิยมมากขึ้น รถรุ่นทั่วๆ ไป ขอเป็นตัว Top ไม่ต้องแพงขั้นเทพเหมือนก่อน ก็มีใช้กันแล้ว และมีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพราะใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม แถมยังมีระบบ Adaptive สามารถรักษาระยะจากรถคันหน้าได้อีก มันก็พัฒนาไปไกลจากสมัยก่อนที่ใช้ระบบ “กลไก” ก็เอาผลจาก “ความเร็วรถ + รอบเครื่อง + ความเร็วล้อ” หลักการเหมือนกับสมัยนี้ละครับ เพียงแต่อาศัย “สายเคเบิล” ไปหมุนปั่นในตัว Servo ของ ครูส คอนโทรล เพื่อประมวลผลความเร็ว แล้วก็มีอีกอย่าง คือ “แวคคั่ม” จากท่อร่วมไอดี มันจะรู้ว่าเหยียบคันเร่งขนาดไหน เป็นต้น…
การ “ตัดการทำงาน” ก็ง่ายนิดเดียว คือ เมื่อใดที่เกิดการ “เหยียบเบรก” เพื่อชะลอความเร็ว ระบบ ครูส คอนโทรล จะตัดทำงานโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมานั่งกด Cancel แต่อย่างใด แต่เมื่อเหยียบเบรกตัดการทำงานแล้ว ถ้าจะใช้มันต่อ ก็ต้องกดการทำงานใหม่ ง่ายๆ แค่นี้เอง ไอ้ประเด็นเรื่องของการใช้งานนั้น ผมเชื่อว่าคนที่ซื้อรถและมีระบบ ครูส คอนโทรล มา ต่างก็ต้อง “ใช้ได้” กันอยู่แล้ว แต่ครั้นว่าจะต้อง “ใช้เป็น” และ “ไม่ให้เกิดอันตราย” นี่สิ อันนี้ยังเห็นหลายคนใช้แต่ยังมีความ “เสี่ยง” อยู่มาก เลยเป็นเหตุที่ผมต้องมาบอกกล่าวกันด้วยความเป็นห่วง ว่า Cruise Control จะใช้อย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ให้เป็น Loose Control อย่างที่จั่วหัวมา…
- ตั้งสติทุกครั้ง ว่าเรากำลังขับรถแบบปกติ : ส่วนใหญ่แล้ว การใช้ ครูส คอนโทรล คนขับก็มักจะปล่อยตัวปล่อยใจ “ปล่อยอารมณ์ไปตามเสียงเพลง” เพราะรถมันวิ่งไปของมันเอง แน่นอนว่า การละทิ้งการควบคุมอะไรไปบางอย่าง จะทำให้เกิดความประมาทเผอเรอได้ ต้องตั้งสติในการควบคุมรถเหมือนปกติ ไม่ว่าจะมีระบบช่วยหรือไม่ก็ตาม…
- อย่าตกใจ : ครูส คอนโทรล มันจะมีการ “เร่งความเร็วเอง” กรณีรถวิ่งขึ้นเนินหรือคอสะพาน ที่ปกติถ้าเราไม่เร่ง ความเร็วจะตก ในคอสะพานบางจุดที่ค่อนข้างชันหน่อย มันจะเร่งค่อนข้างแรงเพื่อรักษาความเร็วให้คงที่เสมอ บางคนอาจจะ “ตกใจ ทำไมรถพุ่ง” โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยใช้มาก่อน ถึงกับ “ลนลาน” ทำอะไรไม่ถูก เคยเจอบางคนลนลานหาปุ่ม Off จนทำให้เกิดอันตราย จำไว้ว่า หากมีอะไร ขอให้ “เหยียบเบรก” ไว้ก่อน ไม่ต้องเบรกหัวทิ่มครับ เบรกชะลอแบบนุ่มๆ ปกตินี่แหละ ระบบมันจะตัดการทำงานเอง ไม่ต้องทำอะไรอีกทั้งสิ้น…
- จับพวงมาลัยให้ถูกต้อง : เป็นธรรมดาครับ เมื่อเกิดความสบายแล้ว ก็จะมีการ “ปล่อยชิล” กันได้ พอใช้ ครูส คอนโทรล แล้ว ก็จะเริ่ม “ปล่อยมือจากพวงมาลัย” บ้าง หยิบนู่นหยิบนี่ หรือจับพวงมาลัยแบบไม่ถูกต้อง เน้นสบายไว้ก่อน อาจจะคิดว่า ก็ทางโล่งๆ มันไม่มีอะไรหรอก แต่อย่าประมาทเด็ดขาด จู่ๆ เจอหลุม หรือมีอะไรโผล่ขึ้นมาตัดหน้า เราจะ “สูญเสียการควบคุมรถ” ในเสี้ยววินาที ก็อันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สินแบบหนักๆ ได้ แนะนำว่า “จับพวงมาลัยให้ถูกต้องเสมอ” เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉินใดๆ เราก็ยังควบคุมรถได้ดีกว่ากว่าการจับพวงมาลัยแบบผิดๆ หรือปล่อยมือจากพวงมาลัย แน่นอนครับ…
- วางเท้าให้ถูกตำแหน่ง : แม้ว่าเราจะไม่ได้เหยียบคันเร่งแล้ว ระหว่างการใช้ ครูส คอนโทรล ในการรักษาความเร็วเดินทางไกล แต่เท้าก็ยังต้อง “พร้อมทำงาน” เสมอ แนะนำว่า ควรจะวางเท้าให้ถูกตำแหน่งเหมือนการขับรถแบบปกติ เพราะคุณอาจจะต้อง “เร่ง” หรือ “เบรก” เมื่อใดก็ไม่ทราบ อาจจะมี “ขยับเปลี่ยนอิริยาบถ” ได้บ้าง ถ้าเมื่อย แต่ก็ต้องกลับตำแหน่งที่ถูกต้องทันทีเมื่อเสร็จกิจ…
- ห้ามยกขาขึ้นเด็ดขาด : อันนี้แหละ ส่วนสำคัญที่ “อยากจะบอกอย่างแรง” เพราะเห็นมากกกกกกกกกก ที่พอใช้ Cruise Control แล้ว ก็ยกขาขึ้นหมดเลย ขัดสมาธิบ้าง ไขว่ห้างบ้าง ชันเข่าบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายสุดๆ เพราะถ้าเกิดเหตุต้องเบรกกะทันหัน เช่น ขับมาโล่งๆ ดันมีหมูหมากาไก่วัวควายอะไร ฯลฯ มาตัดหน้าแบบไม่คาดคิด อันนี้อย่าคิดว่าไม่มีนะครับ คุณจะไม่สามารถเบรกได้อย่างทันที และมักจะเกิดอาการ “ลนลาน” ทำอะไรไม่ถูก ต่อให้มี Adaptive Cruise Control ก็อย่าไปหวังพึ่งอะไรมาก อันนี้ถือว่า “ประมาทอย่างแรง” ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อเลย…
ผลจากการที่เรามีเทคโนโลยีในการช่วยเหลือขับรถมากขึ้น มันส่งผลดี หากเรา “ใช้เป็น” และ “คอยควบคุมมันได้อย่างมีสติ” แต่กลับกลายเป็นผลร้าย หากเรา “ติดสบาย” เกินไป จนกลายเป็น “ความประมาท” ยังไง “คนก็ต้องคุมรถ” ไม่ใช่ “ให้รถมาคุมคน” ก็ขอฝากไว้เท่านี้ครับ ด้วยความเป็นห่วงจากใจ…
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th