CSR ที่ลงมือลงแรงแบบจริงจังไปกับฟอร์ด เรนเจอร์
เวลาที่ได้ยินว่าไปทำ “CSR” หรือกิจกรรมเพื่อสังคม..สิ่งแรกที่เชื่อว่าหลายคนนึกขึ้นมาในจินตนาการคือ การออกให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหา การออกไปสร้างและอนุรักษ์ การออกไปมอบสิ่งดีๆ ให้แก่กัน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะได้เห็นภาพของการทำ CSR ในหลากหลายมุมมอง แต่หลังจากนั้นล่ะ ทำไปแล้วเกิดประโยชน์จริงๆ หรือแค่สร้างภาพ นั่นอยู่ที่ว่าองค์กรนั้นๆ จะเข้าไปทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามผลด้วยหรือไม่..
เชื่อหรือไม่ว่า ในวงการยานยนต์มีกิจกรรมช่วยเหลือสังคม หรือ CSR ที่มีความถี่ของการทำกิจกรรมเยอะมาก และมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่มีเพียงค่ายเดียวที่ทำให้รู้สึกว่า CRS ของเขานั้นต้องอาศัยพลังกายและพลังใจแบบสุดแกร่งแท้ๆ นั่นคือ “ฟอร์ด” นี่ล่ะ
หลายต่อหลายครั้งที่ร่วมเดินทางไปกับทีมงานของฟอร์ด โดยมีรถยนต์ของฟอร์ดเป็นตัวช่วยสำคัญในการฝ่าฟันอุปสรรคไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย เป็นการการันตีว่ากิจกรรมช่วยเหลือสังคมของฟอร์ดเป็นอีกหนึ่งตัวจริงของวงการยานยนต์ไทย และทำเอาผู้สื่อข่าวที่ร่วมเดินทางต้องเสียเหงื่อ เหนื่อยกายกันอยู่ทุกครั้ง เพราะแต่ละครั้งที่เดินทาง เป็นเส้นทางที่ยากลำบาก ต้องอาศัยรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ รวมทั้งมีผู้นำทางมืออาชีพวิทยุสื่อสารบอกเส้นทางตลอดเวลา แต่นั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนยินยอมพร้อมใจ เพราะทำแล้ว “มีความสุข” และ “สุขใจกับการเป็นผู้ให้” เสมอมา
ล่าสุด ฟอร์ด จัดทริปเข้าป่าไปหานักเรียนตัวเล็กๆ กันถึง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเดินทางไปที่ห้องเรียนสาขาบ้านแม่เป่งทะ โรงเรียนแม่อมกิ ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ส่วนอีกกลุ่มไปที่บ้านเลตองคุ อ.อุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ต้องบรรทุกสัมภาระ วัสดุ อุปกรณ์ เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนและโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปั่นไฟ แท้งก์น้ำ แผงโซลาเซลล์ วัสดุก่อสร้าง ปูน รวมทั้งอาหาร เป็นการเดินทางเข้าป่ากันแบบจริงจัง และยังเป็นการทดสอบสมรรถนะของ “ฟอร์ด เรนเจอร์” คู่ใจในการเดินทางครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งแต่ละบวกน้ำหนักบรรทุกไปเป็นร้อยๆ กิโลกรัม
โดยฟอร์ด เรนเจอร์ สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้กว่า 961 กิโลกรัม และลากจูงได้สูงถึง 3,500 กิโลกรัม ซึ่งรุ่นไวล์ดแทรค และรุ่นลิมิเต็ด มีพื้นที่ท้ายกระบะกว้างและฝาท้ายแบบผ่อนแรง Easy Lift Tailgate ช่วยลดการออกแรงและเพิ่มความสะดวกในการปิดเปิดฝาท้าย เสริมด้วยช่วงล่างที่แข็งแกร่งและโครงสร้างพิเศษที่เชื่อมต่อด้วย Ford Smart Mount ช่วยกระจายน้ำหนักไปทั่วท้ายกระบะ รวมทั้งระบบพวงมาลัยไฟฟ้าและระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว ทำให้การควบคุมรถ ตลอดเส้นทางเป็นไปได้อย่างง่ายดาย สะดวกสบาย และปลอดภัยแบบสุดๆ ที่พร้อมลุยทุกอุปสรรค
สำหรับการเดินทางของกลุ่มแรกเส้นทางส่วนใหญ่เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างดี ถนนลาดยาง แต่เมื่อเข้าเขตอุทยานเพื่อขับรถต่อไปยังโรงเรียนแม่อมกิ เส้นทางเริ่มลำบากขึ้น เป็นทางดินลูกรังและต้องขับผ่านแม่น้ำเพื่อเข้าไปในหมู่บ้าน แต่ด้วยพละกำลังของเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร ไบเทอร์โบ และเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เทอร์โบ ที่มาพร้อมระบบเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด พละกำลังสูงสุดถึง 213 แรงม้าและแรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร สำหรับรุ่นไวล์ดแทรค และกำลังสูงถึง 180 แรงม้า และแรงบิด 420 นิวตันเมตร สำหรับรุ่นลิมิเต็ด ทำให้การเดินทางบนเส้นทางที่ยากลำบากและทุรกันดารเป็นเรื่องง่าย อีกทั้งสามารถลุยน้ำได้สูงถึง 800 มิลลิเมตร เสริมด้วยระบบช่วยการออกตัวขณะจอดบนทางลาดชัน (HLA) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (HDC) ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจในการขับบนเส้นทางออฟโรดแบบสมบุกสมบันได้อย่างสบายใจอีกด้วย
สำหรับห้องเรียนสาขาบ้านแม่เป่งทะ โรงเรียนแม่อมกิ อำเภอท่าสองยาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนในหลายด้าน เป็นพื้นที่ชายป่าใกล้ชายแดนพม่า ตำบลแม่วะหลวง ห่างจากตัวอำเภอท่าสองยางถึง 100 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาสูงตามแนวทิวเขาถนนธงชัย การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ห้องเรียนแห่งนี้ได้เปิดขึ้นเพื่อรองรับเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายโอกาสให้กับเยาวชนในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับการศึกษา อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอีกมากมายให้กับสังคม ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อเดินทางถึงห้องเรียนสาขาบ้านแม่เป่งทะ ทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจทำภารกิจ เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับครูและนักเรียนโรงเรียนแม่อมกิ ห้องเรียนสาขาแม่เป่งทะ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเรือนล้างจานและบริจาคอ่างล้างจาน บริจาคโทรทัศน์ ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมถึงจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพิ่มเติม อีกทั้งยังรวมถึงร่วมแรงร่วมใจกันบูรณะกระเบื้องหลังคาโรงเรียนที่ชำรุด โดยอุปกรณ์ต่างๆ ได้บรรทุกเข้ามาโดยฟอร์ด เรนเจอร์ทั้ง 10 คัน
แต่สำหรับกลุ่มที่สองเส้นทางท้าทายมากขึ้น เพราะเส้นทางเพื่อไปพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ชุมชนเขตวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านเลตองคุ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก จะต้องขับรถผ่าน 1,219 โค้ง ตลอดเส้นทางกว่า 170 กิโลเมตร จากอำเภอแม่สอดไปยังอำเภออุ้มผาง ซึ่งระบบพวงมาลัยไฟฟ้าและระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัวเข้ามาทำให้การขับนั้นง่ายและปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้ขับตัวรถเปล่าๆ แต่แบกน้ำหนักบรรทุกสัมภาระอีกหลายร้อยกิโลกรัม
สำหรับบ้านเลตองคุ อยู่บนพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงลัทธิฤาษีที่มีประวัติศาสตร์นานกว่า 200 ปี ที่ยังคงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในโลก วิถีชีวิตของกระเหรี่ยงเลตองคุ คือ การปลูกพืชสวน พืชไร่ โดยยังคงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้ เช่น การห้ามตัดผม โดยผู้ชายจะมวยผมไว้ตรงกลางหัว ส่วนผู้หญิงจะมวยผมไว้ที่ท้ายทอย ชาวเลตองคุจะไม่เลี้ยงและไม่กินเนื้อสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เช่น หมู เป็ด ไก่ สัตว์ที่เลี้ยงเช่น ช้าง วัว และควาย จะเอาไว้ใช้งานเท่านั้น ห้ามกินเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นสัตว์ใหญ่ มีบุญคุณ และถ้าสัตว์เหล่านี้ตายไปจะต้องทำพิธีเผาให้ด้วย ส่วนสัตว์ที่ชาว เลตองคุกินคือ ปลาและสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ ยังห้ามดื่มเหล้าด้วย หมู่บ้านเลตองคุเคร่งครัดเรื่องประเพณี ความเชื่อ และมีกฎระเบียบเป็นอย่างมาก
ในการเดินทางเข้าถึงบ้านเลตองคุ ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขาบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ต้องเดินทางผ่านแนวเขาทางโค้งและขึ้นลงลาดชัน ต่อด้วยเส้นทางที่แคบและขรุขระ เป็นระยะทางกว่า 30 กิโลเมตร เมื่อเดินทางถึงบ้านเลตองคุ สมาชิกผู้ร่วมเดินทางและทีมงานของฟอร์ดได้ร่วมแรงร่วมใจทำภารกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนเขตวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการบูรณะสะพานไม้ที่ชำรุดที่ใช้เป็นทางเข้าออกหลักระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนภายนอก รวมถึงร่วมแรงร่วมใจกันปรับปรุงและฟื้นฟูโรงเรียน ตชด. บ้านเลตองคุ โดยเปลี่ยนหลังคาโรงอาหารที่ชำรุดทรุดโทรม ปรับปรุงพื้นกระเบื้องยางในห้องเรียนเพื่อให้เด็กๆเรียนหนังสือได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทาสีอาคารเรียนใหม่ ติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลล์เพื่อเพิ่มแสงสว่าง ติดตั้งเครื่องกรองน้ำและแท้งก์น้ำเพื่อให้ชุมชนมีน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค และปรับปรุงระบบแสงสว่างให้สุขศาลาประจำหมู่บ้าน โดยอุปกรณ์ต่างๆ หลังเสร็จภารกิจจึงได้ตั้งแคมป์พักแรม และรับประทานอาหารพื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยงฤาษี พร้อมชมการแสดงพื้นบ้าน รำตง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านก่อนที่วันรุ่งขึ้นไปยังบ้านเปิ่งเคลิ่ง สุดเขตชายแดนประเทศไทย ติดบ้านห้วยแดนทางฝั่งพม่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่สำคัญและมีประวัติความเป็นมามากว่า 100 ปี ก่อนที่จะเดินทางกลับ
และนี่คืออีกหนึ่งการเดินทางของฟอร์ด ประเทศไทย กับภาระกิจในการช่วยเหลือสังคมที่ฟอร์ดได้ปฏิบัติเสมอมาและจัดขึ้นปีละหลายครั้ง เป็นการยืนยันว่ากิจกรรม CSR ของฟอร์ด มีความมุ่งมั่นช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริง
Special Thanks..ขอขอบคุณ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์บรรทุกสัมภาระธูเล่จากประเทศสวีเดน ที่เอื้อเฟื้อชุดอุปกรณ์บรรทุกสัมภาระในการเดินทางทำกิจกรรมในครั้งนี้
เรื่อง : พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th