รู้จักรูปแบบของ “ยางสปอร์ต” ก่อนตกลงปลงใจ Part II : ดอกยางสปอร์ตแบบ “Directional” หรือ “แบบมีทิศทาง” ใส่ผิดชีวิตเปลี่ยน ???
ครั้งก่อนใน Part I เราพูดถึงคุณสมบัติ ข้อดี ข้อควรพิจารณา สำหรับยางที่มีดอกแบบ “อสมมาตร” หรือ Asymmetric ไปแล้ว ครั้งนี้ใน Part II เราจะพูดถึงยางอีกแบบหนึ่ง ที่เคยนิยมกันในอดีตอย่างมาก โดยเฉพาะยุค 90’s ก็คือยางสปอร์ตที่ใช้ดอกยางแบบ “Directional” หรือบางคนก็เรียกว่า “Rotation” หรือ “มีทิศทางการหมุนกำกับไว้ที่แก้มยาง” ตอนนั้นเหมือนเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ฮิตกันเหลือเกิน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังพอมีให้เห็นบ้างบางรุ่น แต่กระแสยาง Asymmetric มาแรง ก็เลยเห็นน้อยลง เราลองมาเรียนรู้กับมันหน่อย จะได้ “รู้จักนิสัย” กัน ไม่ว่าคุณกำลังจะซื้อ หรือ ซื้อมาใช้แล้ว จะได้ใช้งานมันได้อย่างถูกต้อง…
ข้อดี
- ดอกยางแบบ “ลูกศร” เน้นการรีดน้ำ : จากเดิมเกิดจากแนวคิดที่จะลดอาการ “เหิรน้ำ” หรือ Hydro Planning กรณีที่รถวิ่งบนถนนที่มีน้ำเจิ่งนอง การดีไซน์ดอกยางแบบลูกศร เวลาล้อหมุนไป ส่วนแหลมของลูกศรจะสัมผัสถนนก่อน เป็นการ “กวักน้ำ” แล้วสลัดรีดน้ำออกด้านนอกทั้งสองฝั่งของหน้ายาง ซึ่งเป็น “จุดขาย” ของดอกยางแบบนี้ ในยุค 90’s จึงมีดอกยางแบบนี้ออกมาแทบทุกแบรนด์ เพราะแก้จุดด้อยของยางสปอร์ตบั้งยางใหญ่ๆ ที่มักจะ “ไม่เอาน้ำ” ไปเน้นการยึดเกาะบนถนนแห้งเป็นหลัก ยางยุคนั้นเลย “มักจะ” มีดอกยางแบบลูกศรอยู่ตรงกลาง ส่วนบ่ายางก็จะเป็นแบบบั้งใหญ่ เพื่อเพิ่มการยึดเกาะ และการตอบสนองของพวงมาลัยที่ดีอยู่…
- สามารถสลับยางด้านนอกและด้านในได้ : อันนี้เป็นข้อได้เปรียบ เพราะดอกยางมันเป็นแบบ “สมมาตร” หรือ Symmetric จึงสามารถสลับนอกในได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพโดยรวมด้วยนะครับ ถ้ามันสึกขนาดจะลาโลกแล้ว สลับไปก็ไม่มีประโยชน์ “เปลี่ยน” เท่านั้นครับ…
ข้อควรพิจารณา
- อาจจะมีอาการ “ขับกินซ้าย” ได้ : อั ด้วยความที่ดอกยางแบบลูกศร เวลาวิ่งมันจะพยายามบีบรักษาทิศทางของมัน ดูมันดีนะครับ แต่ความจริง บ้านเรา “ถนนเทซ้าย” ไม่เรียบระนาบศูนย์นะครับ (ถ้าเป็นต่างประเทศที่วิ่งชิดขวา ก็จะเป็นตรงกันข้าม) ก็อาจจะมีโอกาสเจออาการ “ขับกินซ้าย” ได้ชัดเจนขึ้น ร้านตั้งศูนย์ที่เป็นงานก็ต้องตั้งแก้ทางช่วยเอา เคสนี้บอกก่อนนะครับ ว่า “อาจจะเจอได้” และ “มากหรือน้อย” อยู่ที่ตัวรถ และสภาพของถนน รวมถึงสภาพช่วงล่างและการตั้งศูนย์ล้อเป็นหลัก ซึ่งรถบางคันหรือยางบางรุ่น อาจจะไม่เจออาการนี้ก็ได้…
- อย่าสลับทิศทาง เจอน้ำมีเหวอได้ : อันนี้เน้นย้ำที่สุดครับ เคยเจอ “ใส่สลับทิศทาง” มาก็บ่อย ลักษณะนี้จะทำให้ประสิทธิภาพของยางด้อยลงไปมาก เสียงก็ดังขึ้น ที่สำคัญและอันตรายสุดๆ คือ “ดอกยางจะอมน้ำแทนรีดน้ำ” แทนที่จะรีดน้ำออก กลายเป็น “รวมน้ำเข้ามากลางหน้ายาง” นี่แหละครับ ทำให้รถเกิดอาการ “เหิรน้ำ” แน่นอน โคตรอันตรายครับ…
ไม่ว่ายางแบบใดก็ตามแต่ ต่างก็มีจุดดีและจุดควรระวังแตกต่างกันออกไป “Nobody Perfect” !!! แนะนำว่า คุณควรจะทราบข้อมูลและลักษณะของยางที่คุณจะใช้หรือใช้อยู่ให้ “ถ่องแท้” บางทีการใส่ยางอาจจะไปเจอการผิดพลาดของคนใส่ อาจจะใส่เยอะจน “Human Error” ก๊งๆ กันบ้าง คุณก็ต้อง “ตรวจสอบด้วยตัวเอง” จะได้ไม่ประสบเหตุแบบ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” ครับ…
หมายเหตุ : รูปยางใช้เพื่อประกอบเรื่องเท่านั้น
เรื่อง : อินทรภูมิ์ แสงดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th