DUROMETER มาตรวัดความแข็งของเนื้อยาง
แค่เล็บจิก คงตัดสินความนิ่มความแข็งด้วยความรู้สึกได้ยาก และไม่มีมาตรฐาน เปรียบเทียบว่า ขนาดไหนคือนิ่ม คือ เกือบแข็ง หรือแข็ง อีกทั้งถ้าลงมือจิกต่างเวลากันมากๆ ก็อาจจะจำความรู้สึกนั้นไม่ได้
ในทางวิชาการแล้ว ต้องสามารถแสดงผลการวัดได้ว่า เนื้อยางถูกจิกหรือกดได้ง่ายเพียงไร ถึงจะเรียกว่านิ่มหรือแข็ง จึงมีการคิดค้นมาตรวัดขึ้นมา สามารถใช้เครื่องมือแทนแรงคนในการจิกและแสดงค่าแทนความรู้สึกบนพื้นฐานของหลักการเดียวกัน คือ ใช้เครื่องมือจิกหรือกดลงบนเนื้อยาง โดยมีขนาดของหัวที่กดลงไปตายตัว ไม่ใช่ใช้เล็บแต่ละนิ้วที่ต่างขนาดต่างรูปทรง อีกทั้งเล็บบางนิ้วยังมีทรงโค้งทื่อๆ ซึ่งจะจิกยากกว่าเล็บคมทรงแหลมเพิ่งตัดมาใหม่ๆ อีกทั้งแรงจิกของคนก็ไม่แน่นอน
เครื่องมือชนิดนี้ใช้สปริงอยู่ตรงกลาง ปลายด้านหนึ่งต่อเข้ากับหัวจิก และอีกด้านหนึ่งดันกับมาตรวัดแสดงผล ส่วนความลึกของการจิกที่อิสระก็เปลี่ยนมาเป็นปลอกหรือบ่าตายตัวอยู่รอบหัวที่กดลงไป
เมื่อกดหัวจิกของมาตรวัดลงไปจนสุดขอบนอกแล้ว สปริงก็จะดันให้หัวจิกลงไปในเนื้อยาง ความลึกของหัวจิก (ไส้กลาง) ที่กดลงไปในเนื้อยาง มีผลต่อการแสดงผล ถ้าหัวจิกลงไปแทบไม่ได้เลย สปริงย่อมถูกดันหดขึ้นมาสั้นกว่ากรณีที่หัววัดจิกลงไปในเนื้อยางได้ลึกกว่า
ความยาวและการดีดตัวของสปริง ถูกแปลงออกมาเป็นผลที่แสดงบนมาตรวัด ส่วนใหญ่มักจะแบ่งเป็น 100 หน่วย โดยไม่ได้มีการสรุปว่าจะเป็นหน่วยของอะไร เพราะมาตรวัดชนิดนี้อาจจะถูกนำไปใช้ในหลายแวดวง เช่น นำไปวัดความแข็งของวัสดุเนื้อแข็ง เช่น ยางหรือวัสดุเนื้อนิ่มหน่อย ขนาดฟองน้ำรองเท้าแตะ ฯลฯ
ดังนั้นการเปรียบเทียบ ก็ต้องดูกันที่ผลที่วัดได้ในวัสดุกลุ่มเดียวกัน เช่น วัดความนิ่มของหน้ายางรถยนต์แต่ละรุ่นก็ต้องเทียบกันเอง จะนำค่าไปเทียบกับวัสดุอื่นไม่ได้
นอกจากนั้น หากมีการนำไปใช้ต่างวัสดุออกไป ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปทรงของหัวที่จะถูกกดลงไป รวมถึงความแข็งของสปริงที่ดันอยู่ด้วย เพื่อความเหมาะสมในการวัด เช่น จะวัดวัสดุเนื้อแข็ง ก็อาจทำให้หัวแหลมมากและใช้สปริงแข็ง เพราะถ้าเป็นหัวทู่ๆ และสปริงอ่อน วัดกี่ครั้งก็คงเท่ากัน เพราะหัววัดจิกลงไปไม่ได้เลย หดตัวจนสุดขอบนอกทุกครั้ง เท่ากับเนื้อวัสดุไม่มีความนิ่มเลย
การวัดเปรียบเทียบกัน จึงควรใช้เครื่องมือที่เหมาะสมทั้งขนาดของหัวจิก และความแข็งของสปริง โดยนำผลที่วัดได้เปรียบเทียบกันเฉพาะในกลุ่มวัสดุเดียวกัน เช่น วัดยางรถยนต์ก็เทียบกันเองว่ายางเส้นใดเนื้อนิ่ม วัดออกมาได้ค่าเท่าไร ไม่ใช่นำไปวัดเปรียบเทียบกับเนื้อไม้
มาตรวัดชนิดนี้เรียกกันว่า DUROMETER คนส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคย เพราะมักใช้กันในกลุ่มผู้ผลิตหรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงบางทีมแข่งรถยนต์และจักรยานยนต์เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นแบบอนาลอก กลไกล้วนๆ แสดงผลด้วยเข็ม มีราคาจำหน่ายตัวละกว่า 4,000 บาท ในต่างประเทศ หลายรุ่นแพงระดับหมื่นบาท แล้วแต่ความละเอียด ความแม่นยำ และความทนทาน
ดูราคาแล้วบางคนอาจคิดว่าไม่แพง คนทั่วไปมีเงินก็ซื้อได้ไม่ยาก จึงน่าจะแพร่หลาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้บ่อย ต่อให้แค่ 2,000 บาทก็ยังไม่มีใครสนใจ
นอกจากนั้น ยังเป็นเพราะคนส่วนใหญ่มองข้ามความนิ่มของเนื้อยาง ว่ามีผลต่อการสร้างแรงเสียดทานกับพื้นถนน บางคนแค่เอาเล็บจิกยังไม่เคยทำเลย ดูแต่ตาเท่านั้นว่าดอกยางหมดหรือยัง แตกลายงาหรือไม่ ด้วยความที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ร้านยางหลายพันร้านทั่วประเทศไทย ก็ยังแทบไม่มีร้านใดซื้อมิเตอร์นี้มาใช้ บางร้านไม่รู้จักเลย
DUROMETER ส่วนใหญ่ทำงานด้วยระบบกลไกล้วนๆ แต่ในระยะหลังมานี้ก็เริ่มมีการผลิตแบบแสดงผลด้วยดิจิตอลออกมาด้วย โดยนำแรงดันของสปริง ที่เกิดขึ้นไปแปลงค่าเพื่อแสดงผลออกมา มีความละเอียดและซับซ้อนในการทำงานมากกว่า จึงมีราคาแพงกว่า เท่าที่พบตัวละเกิน 8,000 บาททั้งนั้น
ไม่ว่าจะเป็นมาตรวัดความแข็งแบบอนาล็อกหรือดิจิตอล เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว ก็ควรจะนำไปปรับตั้งค่ามาตรฐานรวมทั้งตรวจสอบสภาพการสึกหรอของหัวจิกและความแข็งของสปริงอยู่เสมอ
ในโลกวิศวกรรมยุคปัจจุบัน มีหลายอุปกรณ์ ที่สามารถใช้แทนความรู้สึกของคนในการวัดค่าอะไรสักอย่างได้อย่างมีมาตรฐาน แต่ก็มิได้จำเป็นต้องหาซื้อมาใช้ส่วนตัว เพราะมีราคาแพง และสำหรับคนทั่วไปก็ไม่มีความจำเป็นที่จะใช้แทนเล็บจิกเนื้อยางเท่าไรนัก
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th