e-Power และ Hybrid เหมือนหรือแตกต่างกันตรงไหน?
ตอนนี้ถือว่าผิดแผนกันไปพอสมควรกับการเปิดตัวรถยนต์นิสสันรุ่นใหม่ที่จะมาพร้อมกับเครื่องยนต์รูปแบบใหม่ ที่นิสสันให้ชื่อว่า “อี-เพาเวอร์” ( e-Power ) ด้วยพิษโควิค-19 ทำให้จำเป็นต้องเลื่อนการเปิดตัวออกไป แต่ก่อนที่จะได้พบกับตัวจริงของรถรุ่นที่ใช้เทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีนี้กันก่อน
ความเป็นมาของการพัฒนาเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์
นิสสันมีความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยมลพิษ และลดอัตราความสูญเสียบนท้องถนนให้เป็นศูนย์ ผ่านนวัตกรรมยานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาด อย่าง รถยนต์ไฟฟ้า และ ระบบขับขี่อัตโนมัติ (autonomous drive) ภายใต้แนวคิดของ “การขับเคลื่อนอัจฉริยะของนิสสัน (Nissan Intelligent Mobility)” ที่ได้กำหนดทิศทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ่านการใช้พลังงาน, การขับขี่, การอยู่ร่วมกันของรถยนต์และสังคมไปจนถึงการสร้างความสุขของการใช้รถยนต์ เทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ นี้จะเป็นอีกก้าวที่สำคัญให้นิสสันเข้าใกล้เป้าหมายในด้านการปล่อยมลพิษที่เป็นศูนย์
ขุมพลังแบบ อี-เพาเวอร์ ให้แรงบิดมหาศาลในทันทีและคงที่ตลอดเวลาทำให้มีอัตราเร่งที่รวดเร็วแต่นุ่มนวล แต่ยังมีความเงียบในระหว่างการขับเคลื่อนเช่นเดียวกับนิสสัน ลีฟ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยในระบบ อี-เพาเวอร์ เครื่องยนต์สันดาปภายในจะไม่ได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนตัวรถ จึงทำให้มีอัตราการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเครื่องยนต์ในรถยนต์ไฮบริดทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งานในเมือง ซึ่งเทคโนโลยีสุดล้ำนี้ยังให้ผู้ขับขี่ได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle – BEV) แต่สามารถลดความวิตกกังวลเมื่อต้องหาสถานีชาร์จไฟฟ้า
ในปี พ.ศ. 2549 นิสสันประสบความสำเร็จด้วยการคิดค้นและพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์แบบไฮบริดที่มีประสิทธิภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในขณะเดียวกันก็มีการนำเทคโนโลยีของนิสสันไม่ว่าจะเป็น การผสมผสานของเครื่องยนต์ผลิตกำลัง มอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดความทนทาน ลดเสียงรบกวน, ลดการสั่นสะเทือน และลดความกระด้างต่างๆ (Noise/Vibration/Harshness – NVH) ซึ่งทั้งหมดได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาขุมพลังอย่าง อี-เพาเวอร์สำหรับรถยนต์ขนาด Compact โดยเฉพาะ
นิสสันมุ่งมั่นในการพัฒนารถยนต์ปลอดมลพิษที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนมาตลอด โดยผ่านการใช้เชื้อเพลิงรูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย ขุมพลัง อี-เพาเวอร์ จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการเติมเต็มรูปแบบของระบบขับเคลื่อนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าของนิสสัน นอกเหนือจากการมุ่งพัฒนารถยนต์ที่ใช้เซลส์เชื้อเพลิงแบบใหม่ที่เรียกว่า SOFC (Solid Oxide Fuel Cell Vehicle) ที่เพิ่งประกาศความสำเร็จไปเมื่อไม่นานมานี้อีกด้วย
อธิบายง่ายๆ ว่า รถที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ คือรถที่ล้อหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าหรือรถ EV แต่รถไฟฟ้าจำเป็นต้องชาร์จไฟฟ้าเป็นพลังงาน ส่วน อี-เพาเวอร์ มีเครื่องยนต์ขนาดเล็กติดตั้งเอาไว้เพื่อปั่นไฟเข้าไปเก็บในแบตเตอรี่ ใช้วิธีการเติมน้ำมันเพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานโดยไม่ต้องชาร์จไฟฟ้านั่นเอง มีข้อดีคือ อัตราเร่งที่ดีจัดจ้านตั้งแต่ออกตัวเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า, มีความเงียบของระบบขับเคลื่อน ซึ่งจะมีเสียงเครื่องยนต์ดังเข้ามาบ้างเช่นเดียวกับรถที่ใช้น้ำมัน และประหยัดเชื้อเพลิง รวมทั้งปล่อยไอเสียในปริมาณที่ต่ำ e-Power
มาถึงตรงนี้อาจจะสงสัยว่าแล้วต่างกันอย่างไรกับเครื่องยนต์แบบไฮบริด…คำตอบคือ รถยนต์ไฮบริดมีเครื่องยนต์เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก มีพลังงานจากไฟฟ้าเข้ามาทำงานในช่วงความเร็วต่ำ และเมื่อทำความเร็วสูงจะมีการใช้พลังงานจากเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน ล้อหมุนด้วยพลังงานจากเครื่องยนต์ไม่ได้มาจากมอเตอร์ไฟฟ้าเหมือน อี-เพาเวอร์
อ้าว..แต่ อี-เพาเวอร์ มีเครื่องยนต์และต้องเติมน้ำมันเป็นพลังงานไม่ใช่เหรอ? ใช่แล้วเป็นอย่างนั้น แต่เครื่องยนต์จะมีการทำงานแล้วส่งพลังงานที่ได้ไปยัง Inverter และส่งไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เมื่อเหยียบคันเร่ง รถจะดึงพลังงานจากแบตเตอรี่มาขับเคลื่อน เท่ากับว่าล้อหมุนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องยนต์คือเครื่องปั่นไฟ เป็นข้อแตกต่างจากรถแบบไฮบริดนั่นเอง..พอจะเข้าใจและมองเห็นภาพนะครับ การขับรถที่ใช้เทคโนโลยี อี-เพาเวอร์ เหมือนกับการขับรถไฟฟ้า แต่ไม่ต้องชาร์จไฟ เปลี่ยนเป็นการเติมน้ำมันแทนนั่นเอง แถมยังได้ยินเสียงเครื่องยนต์ที่สร้างความสนุกได้มากกว่ารถไฟฟ้าอีกด้วย
e-Powere
เรื่อง: พุทธิ ผาสุข
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th