e-rickshaw รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจากแบตฯใช้แล้ว Audi e-tron
e-rickshaw รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ใช้แล้วในรถยนต์ไฟฟ้า Audi e-tron ที่ได้รับการพัฒนาโดย Nunam บริษัทสตาร์ท-อัพ ร่วมทุนเยอรมัน-อินเดีย ภายใต้การสนับสนุนของ Audi ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมัน พร้อมออกซิ่งบนถนนแดนโรตีในช่วงต้นปีหน้า
Nunam บริษัทสตาร์ท-อัพ ร่วมทุนเยอรมัน-อินเดีย เปิดตัว e-rickshaw รถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ที่ถูกใช้งานแล้วใน Audi e-tron เอสยูวีไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์สี่ห่วง โดยเป้าหมายหลักของโปรเจ็กต์คือการทดสอบโมดูลของแบตเตอรี่แรงดันไฟฟ้าสูง (High-voltage Battery) ที่เสื่อมสภาพจากการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้าว่ายังมีประสิทธิภาพ และอายุการใช้งานยาวนานต่อไปอีกเท่าไร พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมการสร้างงานให้ผู้หญิงชาวอินเดีย ด้วยการใช้เป็นยานพาหนะเพื่อขนส่งสินค้าจากชุมชนไปสู่ตลาดในเมืองใหญ่
e-rickshaw มีที่มาจากชื่อเรียกรถสามล้อเครื่องของคนอินเดีย (Rickshaw-ริกชอว์) จะขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าจาก Second-life Batteries หรือแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพ (แต่ยังมีประสิทธิภาพในการเก็บบรรจุไฟฟ้าในระดับสูง) จาก Audi e-tron ที่เพิ่งปลดระวางจากการเป็นรถทดสอบในโชว์รูม Audi ในประเทศอินเดีย โดยวางแผนที่จะสร้างเสร็จเพื่อขับบนถนนจริงในช่วงต้นปี 2023
“แบตเตอรี่เก่ายังคงมีกำลังไฟฟ้าที่สูงมาก” Prodip Chatterjee ผู้ร่วมก่อตั้ง Nunam ให้ความเห็น “หากนำมาใช้งานอย่างเหมาะสม Second-life Batteries สามารถสร้างประโยชน์ในวงกว้างทั้งการช่วยเหลือผู้คนที่มีชีวิตยากลำบากให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อได้รับอิสรภาพทางเศรษฐกิจ–เป็นทุกสิ่งที่จะทำให้เกิดรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน”
Nunam เป็นบริษัทสตาร์ท-อัพ ที่ไม่แสวงหากำไร (Non-profit Organization) มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และเมืองบังคาลอร์ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมูลนิธิสิ่งแวดล้อม Audi Environmental Foundation ทำให้การเกิดขึ้นของโปรเจ็กต์ e-rickshaw เป็นโอกาสที่ทีมงานของพวกเขาได้แลกเปลี่ยนความร่วมมือกับกลุ่มพนักงานฝึกหัดที่เนคคาร์ซัลม์ โรงงานผลิตหลักของ Audi ในประเทศเยอรมัน เพื่อร่วมพัฒนารถต้นแบบจำนวน 3 คัน และนับเป็นการร่วมงานครั้งแรกระหว่าง AUDI AG กับ Audi Environmental Foundation ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของทีมงานทั้ง 2 ชาติในอีกทางหนึ่ง
Timo Engler หัวหน้าฝ่ายอบรมวิศวกรยานยนต์/ฝ่ายขนส่งของโรงงานผลิตที่เนคคาร์ซูลม์ พูดถึงทีมพนักงานฝึกหัดสุดแกร่ง 12 คนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนา e-rickshaw ในฝั่งของพวกเขาว่า “พนักงานฝึกหัดของเรา และ Nunam มีการติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา เราได้ติดตั้งระบบสื่อสารตรงระหว่างเนคคาร์ซูลม์กับบังคาลอร์ โดยการสร้าง e-rickshaw เพื่อนำออกโชว์ พนักงานฝึกหัดของเรามุ่งมั่นกับระยะทางการใช้งาน, ระยะเวลาชาร์จไฟฟ้า และดีไซน์ เพื่อให้รถสามล้อคันนี้ได้รับการถ่ายทอด Audi DNA”
“สำหรับเราสิ่งสำคัญคือการที่พนักงานฝึกหัดมีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์ตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จ พร้อมให้อิสระพวกเขาในการนำเสนอ และมีโอกาสทดลองไอเดียของตัวเอง ‘เรียนรู้ด้วยการลงมือทำ’ คือสูตรลับความสำเร็จของเรา” Engler อธิบาย “ในเวลาเดียวกันเราได้มอบความรู้พื้นฐานในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า, ประสิทธิภาพของทรัพยากร และเทคโนโลยีการชาร์จที่มีส่วนสำคัญในหลายๆ ด้าน งานนี้ถือเป็นโปรเจ็กต์สำคัญเพราะมีความเกี่ยวข้องกับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลก (Megatrends) ทั้งในด้านความยั่งยืน, ระบบการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้า, ความร่วมมือระดับนานาชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคม”
ขั้นตอนการทำงานของทีมพนักงานฝึกหัดที่เนคคาร์ซัลม์ เป็นการนำระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าเข้ามาแทนเครื่องยนต์น้ำมันเดิม โดยออกแบบด้านใต้ท้องรถเพื่อให้สามารถติดตั้งแผงแบตเตอรี่พร้อมป้องกันน้ำเข้า รวมทั้งเลือกใช้วัสดุรีไซเคิ่ลให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยทีมงานทั้งผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมด้าน Mechatronics, แผนกออกแบบ Coachbuilders, แผนกพ่นสี, แผนกเครื่องจักรกล, ไอทีสเปเชียลลิสต์ และทีมงานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์นี้
ทางด้าน Rudiger Recknagel ผู้อำนวยการ Audi Environmental Foundation ให้ความเห็นหลังจากมูลนิธิของเขาให้เข้ามาสนับสนุนด้านการเงินให้ Nunam ตั้งแต่ปี 2019 “เรารู้สึกตื่นเต้นที่นำเสนอโอกาสครั้งสำคัญกับพนักงานฝึกหัดชุดนี้ที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการที่เป็นความร่วมมือระดับประเทศผ่านเครือข่ายของกองทุน และสนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากทั้ง 2 ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์อย่างน่าพอใจ”
ในช่วงเริ่มต้นเป้าหมายหลักของ Nunam คือพัฒนาวิธีการนำแบตเตอรี่เก่ามาใช้งานเป็นอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดย Chatterjee อธิบายเพิ่มเติมว่า “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าถูกออกแบบเพื่อใช้งานจนรถยนต์คันนั้นเสื่อมสภาพ แต่ถึงจะผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน มันก็ยังเหลือพลังงานอีกมากมาย สำหรับยานพาหนะที่มีการใช้งานระยะทางใกล้, ไม่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์สูง และมีน้ำหนักเบา ทำให้ดูเป็นโครงการที่น่าสนใจกับการนำแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพกลับมาใช้งาน ทำให้เราเลือกใช้แบตเตอรี่ที่ใช้แล้วจากรถยนต์ไฟฟ้า หรือคุณอาจจะเรียกว่ายานพาหนะไฟฟ้าขนาด ‘เบา’ ด้วยแนวทางนี้ทำให้เราพยายามหาคำตอบว่าแบตเตอรี่สามารถส่งผ่านกำลังไฟฟ้าได้มากพอกับความต้องการที่จะใช้งานหรือไม่”
Reusing e-waste: ชีวิตที่ 2 ของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
“e-rickshaw เป็นเหมือนต้นแบบของระบบนิเวศที่มีประสิทธิภาพ” Chatterjee แสดงความเชื่อมั่นจากการนำแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการกักเก็บพลังงานมาติดตั้งในยานพาหนะน้ำหนักเบา ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีกำลังสูง ด้วยความที่คนขับสามล้อเครื่องในประเทศอินเดีย ไม่มีโอกาสใช้ความเร็วหรือต้องไปส่งผู้โดยสารในจุดหมายที่ห่างไกล
อีกความแตกต่างของ e-rickshaw กับรถยนต์สามล้อไฟฟ้าที่มีอยู่เกลื่อนท้องถนนแดนโรตี ทั้งหมดจะใช้แบตเตอรี่ตะกั่ว-กรด (Lead–acid Battery หรือแบตเตอรี่ที่ใช้งานในรถยนต์น้ำมัน) ซึ่งจะมีจุดอ่อนที่อายุการใช้งานสั้น และไม่ได้ถูกนำไปกำจัดทิ้งอย่างถูกวิธี
ในขณะเดียวกันคนขับ Rickshaw ส่วนใหญ่จะนำรถของตัวเองไปเติมกำลังไฟฟ้าที่จุดชาร์จสาธารณะ และแหล่งกำเนิดไฟฟ้าหลักของประเทศนี้มาจากการใช้ถ่านหิน ทำให้ Nunam ต้องวางแนวทางเพื่อแก้ไขผลกระทบที่อยู่เบื้องหลัง ด้วยการให้ e-rickshaw ของพวกเขาชาร์จจากสถานีที่ผลิตไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์ โดยจะติดตั้งแผงโซล่าร์บนหลังคาของพันธมิตรในชุมชนต่อไป
ระหว่างวันแสงแดดที่แผดเผาจะช่วยชาร์จกำลังไฟฟ้ากลับสู่แบตเตอรี่จาก e-tron ที่ทำหน้าที่เหมือนแหล่งกักเก็บพลังงานจากธรรมชาติ และในช่วงค่ำจะส่งผ่านพลังงานสู่ Rickshaw ช่วยลดการปล่อยมลพิษหรือ Carbon-free ในชุมชน แต่ที่น่าชื่นชมที่สุดคงจะเป็นการที่สามล้อพลังงานไฟฟ้าสามารถนำออกไปรับจ้างได้ตลอดทั้งวัน – และกลับมาสู่สถานีชาร์จในตอนค่ำโดยที่สัญญาณกำลังไฟฟ้าแบตเตอรี่ยังคงขึ้นสีเขียว ทำให้การเป็นประเทศเขตร้อนของอินเดีย การติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด โดยในส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้าจะมีการพัฒนาเป็นการภายใน
Nunam ใช้เวลาระยะหนึ่งในการเก็บข้อมูลสมรรถนะ และระยะทางของ e-rickshaw โดยกลุ่มสนับสนุนโปรเจ็กต์ได้รวบรวมข้อมูลทุกอย่างของ e-rickshaw เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะดัดแปลงยานพาหนะลักษณะนี้เข้าไปศึกษารายละเอียดผ่านเว็บไซต์ https://circularbattery.org เป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนายานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็กทั่วโลก
“ความคิดริเริ่มที่ Nunam เป็นเหมือนผู้บุกเบิกเพื่อค้นหาวิธีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้งานใหม่ ไม่เพียงแค่ในอินเดีย แต่เป็นทั่วโลก” Recknagel กล่าวเสริม “พวกเขาเลือกจะแบ่งปันความรู้นี้ออกมาเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชิ้นส่วนที่เสื่อมสภาพ เพื่อร่วมผลักดันการปฏิวัติสังคมเชิงนิเวศวิทยาให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า”
ในระยะยาวรูปแบบการเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้า และการใช้พลังแสงอาทิตย์ (Solar Energy) จะสามารถทำให้อินเดียลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างถ่านหิน และลดปริมาณการปล่อยก๊าซไอเสียบนท้องถนน รวมทั้งช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้พวกเขามากขึ้นอีกด้วย โดย Recknagel แสดงความเชื่อมั่นว่า “ในหลายๆ ด้าน โปรเจ็กต์นี้กำลังก้าวไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง”
นอกจากนี้เป้าหมายของโปรเจ็กต์ไม่ได้หยุดอยู่แค่การนำแบตเตอรี่ที่ใช้ชีวิตแรกใน Audi e-tron และได้รับโอกาสใช้ชีวิตที่ 2 ในรถสามล้อไฟฟ้า e-rickshaw เท่านั้น เพราะพวกเขายังเชื่อว่าแบตเตอรี่ลิเธียม-ไออนชุดนี้ยังมีกำลังไฟฟ้าเหลืออยู่มากพอที่จะไปดัดแปลงเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้หลอดไฟ LED โดย Chatterjee พูดถึงเรื่องนี้เป็นการทิ้งท้ายว่า “เราต้องการใช้ทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ของแบตเตอรี่นี้ก่อนจะนำไปรีไซเคิล”
ในช่วงสัปดาห์นี้ Audi e-rickshaw ที่ได้รับการพัฒนา และสร้างขึ้นโดยทีมพนักงานฝึกหัดที่โรงงานผลิตเนคคาร์ซูลม์ ภายใต้ความร่วมมือกับ Nunam จะเปิดตัวพร้อมจัดแสดง และให้ทดลองขับในงานเทคโนโลยี Greentech Festiveal ในกรุงเบอร์ลิน ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายนเป็นต้นไป
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Audi Media Center
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th