End of an Era… Ola Kallenius ผู้นำคนใหม่ Daimler เตรียมเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีดิจิตัลขนส่ง
1 ในอาณาจักรยานยนต์เก่าแก่ของเยอรมัน Daimler เข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายอำนาจครั้งสำคัญด้วยการเลือกผู้นำใหม่ชาวต่างชาติเข้ามาแบกรับความท้าทายของยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีระบบขนส่งดิจิตัล
ระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปีที่เบอร์ลิน เอ็กซ์โป เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา Dieter Zetsche ประธานบอร์ดบริหาร Daimler AG และประธานรถยนต์นั่ง Mercedes-Benz Cars ได้รับเสียงตบมือยกย่องอย่างยาวนานจากเหล่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ก่อนที่เขาจะลุกขึ้นมาทำมือเป็นสัญญาณอำลาสิ้นสุดการทำหน้าที่ 13 ปี พร้อมรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มใจ
Zetsche วัย 66 ปี ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากทักษะการบริหารที่ยอดเยี่ยมในการรักษา Daimler ให้อยู่รอดในช่วงที่แยกทางกับ Chrysler เมื่อปี 2007 โดยเขาจะส่งมอบตำแหน่งให้ Ola Kallenius เข้ามาจัดการปัญหามากมายที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ฝากระโปรงบริษัทแม่ของแบรนด์รถยนต์หรู Mercedes-Benz รวมทั้งเผชิญความท้าทายในช่วงเวลาที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า
ผู้สืบทอดตำแหน่ง Kallenius ก้าวขึ้นมาจากประธานฝ่ายวิจัย และพัฒนาของ Mercedes-Benz โดยเขานับเป็นชาวต่างชาติคนแรกในรอบกว่า 5 ทศวรรษที่รับตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร Daimler เพื่อควบคุมพวงมาลัยนำบริษัทรถยนต์แห่งเมืองสตุ๊ตการ์ท เข้าสู่ยุครถยนต์พลังงานไฟฟ้า และเตรียมพร้อมแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีที่จะเข้ามานำเสนอทางเลือกใหม่ในการเดินทางสำหรับผู้คนในอนาคตด้วยการควบคุมผ่านแอพลิเคชั่นบนสมาร์ตโฟน
“หากปราศจาก Zetsche ในตอนนั้น Daimler คงจะไม่อยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้” Ferdinand Dudenhoeffer หัวหน้าศูนย์วิจัยยานยนต์ของเยอรมัน ให้ความเห็นถึงผลงานของผู้บริหารที่เอกลักษณ์ประจำตัว “หนวดเคราของเขา ทำให้ Zetsche กลายเป็นผู้แหวกธรรมเนียมปฏิบัติในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเยอรมันชั้นนำ บ่อยครั้งที่เขาปรากฏตัวด้วยการใส่ยีนส์ และรองเท้าผ้าใบ Converse ที่ทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง”
ตรงกันข้ามกับผู้มาใหม่ Kallenius วัย 49 ปี ไม่ชอบทำตัวโดดเด่น เลือกสวมชุดสูทตัวโปรด และรองเท้าหนังมีระดับมากกว่ารองเท้าผ้าใบ แต่เขาต้องเตรียมพร้อมจะออกลุยเพื่อปัดกวาดปัญหาที่ Zetsche ทิ้งเอาไว้ให้จัดการ
‘ไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ‘
ตัวเลขยอดขายทั่วโลกของรถยนต์ในเครือ Daimler เมื่อปี 2018 ห่างไกลจากปีที่สร้างสถิติอย่างมากมาย โดยรายได้รวมลดลง 29 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 7.6 พันล้านยูโร (ราว 2.66 แสนล้านบาท) โดยช่วงหนึ่งของการขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งสุดท้าย Zetsche ยอมรับว่า “เราไม่สามารถพึงพอใจกับระดับรายได้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน”
ส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาโมเดลรถยนต์ใหม่ และเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมทั้งการเคลียร์เหตุการณ์อื้อฉาว Dieselgate หลังจากเมื่อปีที่แล้ว Daimler ต้องประกาศเรียกคืนรถเครื่องยนต์ดีเซลหลายแสนคันจากการติดตั้งอุปกรณ์หลีกเลี่ยงการตรวจสอบค่ามลพิษ โดยมีสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
แผนการเกษียณของ Zetsche ถูกประกาศออกมาในเดือนกันยายนปีที่แล้ว เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น และถ่ายโอนความรับผิดชอบทั้งหมดที่มีอยู่ในช่วงระยะเวลา 8 เดือน หากยุคของซีอีโอหนวดเฟิ้มคือความยิ่งใหญ่ของเครื่องยนต์ดีเซล Kallenius ต้องเข้ามานำบริษัทเข้าสู่ยุคเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้า หลังจาก Mercedes EQC เอสยูวีไฟฟ้ารุ่นแรกภายใต้แบรนด์ใหม่ EQ เตรียมเริ่มต้นขายในแถบยุโรปช่วงเดือนกรกฎาคมนี้
และมีการตัดสินใจที่ยากลำบากอีกมากมายรออยู่ Kallenius ต้องตัดสินใจแผนการลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานหลายพันตำแหน่งเช่นเดียวกับคู่ปรับสำคัญร่วมชาติอย่าง Volkswagen และ BMW โดย Zetsche กล่าวถึงความจำเป็นของแผนการนี้ว่า “เราต้องลดต้นทุน และขยายประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทให้มากขึ้น”
ในขณะเดียวกันระหว่างการประชุมใหญ่ประจำปี เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม บรรดาผู้ถือหุ้น Daimler ลงมติรับรองแผนการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนที่มีอิสระในการบริหารใน 3 หน่วยงานหลัก รถยนต์นั่ง และรถตู้; รถบรรทุก และรถบัส; สินเชื่อ และบริการดิจิตัล
“Zetsche ได้วางรากฐานให้ Daimler อย่างมากมาย” Dudenhoeffer วิเคราะห์แนวโน้มของยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมรถยนต์โลก “ตอนนี้พวกเขาเพียงแค่เร่งเครื่องอย่างเต็มที่เท่านั้น
‘ไม่ได้มีดีแค่มีตบอล และ Abba’
“สวีเดนสามารถทำอะไรได้มากกว่าการขายเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เท่ๆ เรายังสามารถทำอะไรได้มากกว่าการทำเนื้อก้อนมีตบอล และเสียงเพลงของ ABBA เป็นการทำความเข้าใจก่อนจะได้ยินประโยคที่ซ้ำซาก” ส่วนหนึ่งของบทความที่ Kallenius เขียนลงในบล็อกของบริษัทก่อนการรับตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารอย่างเป็นทางการ
บรรดานักวิเคราะห์อุตสาหกรรมรถยนต์ลงความเห็นว่า Kallenius เริ่มต้นก้าวแรกของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเป็นที่เรียบร้อย หลังจากทำข้อตกลงร่วมทุนกับ Geely ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของจีน เพื่อสร้างเจเนอเรชั่นต่อไปของรถยนต์เล็ก Smart ในแดนมังกร
ด้วยแนวความคิดที่แตกต่างจาก Zetsche และไม่ได้ชื่นชอบยานพาหนะแบบ 2 ที่นั่งหรือที่หลายคนเรียกเล่นๆ ว่า ‘Bonsai-Benz‘ รวมถึง Kallenius ต้องตัดสินใจว่า Daimler จะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Geely ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในเวลานี้อย่างไร
การสั่งสมประสบการณ์ในธุรกิจรถยนต์มายาวนานกว่า 1 ใน 4 ของศตวรรษ Kallenius ด้วยการเริ่มต้นทำงานกับ Daimler-Benz แทบจะทันทีหลังเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์ที่สต็อกโฮล์ม และแซงต์ กัลเล่น ก่อนจะกลายเป็นหัวหน้าทีมรถแข่งฟอร์มูล่า วัน McLaren ในปี 2003 และได้รับตำแหน่งประธานบริหาร Mercedes-Benz ประเทศสหรัฐฯ ในปี 2009
จนกระทั่งปี 2015 Zetsche ตัดสินใจเลื่อนสถานะของ Kallenius เข้าสู่บอร์ดบริหาร และเพียง 2 ปีต่อมาเขาได้รับความไว้วางใจให้ดูแลแผนกวิจัย และพัฒนาของ Mercedes-Benz เป็นเหมือนการวางตัวผู้ที่จะขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งสูงสุดของอาณาจักร Daimler ล่วงหน้า
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Kallenius นำเสนอตัวเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า แต่เขาก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับเสียงคำรามของเครื่องยนต์ และควันจากท่อไอเสียอย่างแน่นอน
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: media.daimler.com/Automotivenews.com
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th