EV Conversion เปลี่ยนรถบรรทุกทั่วไทยเป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง
EV Conversion เปลี่ยนรถบรรทุกทั่วไทยเป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง “พนัส แอสเซมบลีย์” สิงห์รถบรรทุกสายพันธุ์ไทย ผนึกกำลัง “บพข.” โชว์เมกะโปรเจค EV Conversion เปลี่ยนรถบรรทุกทั่วไทยเป็นรถไฟฟ้าดัดแปลง พร้อมผลิตออกสู่เชิงพาณิชย์ไตรมาสที่ 3 ปีนี้
หน่วยงานบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) หนึ่งในองค์กรภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี www.panus.co.th
การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้การให้ทุนดังกล่าว มุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ภาคเอกชนทุกขนาด รวมทั้ง SMEs Start Up และ Spin off จากมหาวิทยาลัย
ล่าสุด บพข. ผนึกกำลัง กับ “ พนัส แอสเซมบลีย์ ” บริษัทสัญชาติไทยที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ด้วยวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ชัดเจนในการมุ่งสู่ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า การสัญจรอัจฉริยะและโมบิลิตี้แพลตฟอร์ม ที่สนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ผุดโครงการเมกะโปรเจค “ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ” ที่จะช่วยปรับเปลี่ยนฝูงรถขนส่งเดิมที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปใช้น้ำมันมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ในงบประมาณที่เหมาะสม
พร้อมนำเสนอผลงาน ภายใน บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม หรือ “PMUC RESERCH for Thailand’s Competitiveness 2023 ” ที่ บพข.จะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด เปิดเผยว่า “เรามองโครงการ ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ที่ บพข .ให้การสนับสนุนจะเป็นเสมือน “คานงัด” ที่เร่งยกระดับเอสเอ็มอีไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมเองได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งทุนจาก บพข. มีความสำคัญกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างมาก เพราะหากใช้ความสามารถของผู้ประกอบการอย่างเดียวไม่อาจจะพัฒนางานวิจัยเชิงลึกให้ทันโลกและทันต่อความ
ต้องการของตลาดได้ อย่างไรก็ดียังอยากเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐมากขึ้น ทั้งด้าน Ecosystem และมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการกำหนดหมุดหมายที่ชัดเจนด้าน EV Conversion โดยกำหนดอยู่ในโรดแมปของประเทศ ซึ่งภายในปี 2030 หรือ พ.ศ.2573 จะต้องมีรถ EV Conversion ถึงประมาณกว่า 8 หมื่นคัน ”
ที่ผ่านมา บริษัทพนัสฯ ได้มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยร่วมมือสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงได้รับการสนับทุนวิจัยจาก บพข. ในการพัฒนา “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion” ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของตลาดโดยเฉพาะในธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนฝูงรถขนส่งเครื่องยนต์สันดาปมาเป็นการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ยังรองรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของโลก ที่อนาคตภาคเอกชนจะต้องปรับเปลี่ยนระบบขนส่งไปสู่ระบบที่ปล่อยมลพิษต่ำ
“ผมคิดว่าอนาคตของประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องลงลึกด้าน R&D จริง ๆ โดยเฉพาะสินค้าทางด้านยานยนต์ที่ไทยมีแบรนด์ที่เป็นของคนไทยเองน้อยมาก แต่มีต่างชาติเข้ามาผลิตในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งเรียกว่าเป็น GDP ที่นับแค่มูลค่าการผลิตที่เกิดขึ้นในไทย แต่ถ้าเรามองถึงสิ่งที่เรียกว่า GNP หรือ Gross National Product ซึ่งเป็นมูลค่าการผลิตที่ใช้ปัจจัยการผลิตของประเทศแล้ว จะพบว่าผลิตภัณฑ์ของคนไทยจริง ๆ เฉพาะด้านยานยนต์นั้นแทบจะไม่มีเลย ดังนั้นการทำ R&D แบบเชิงลึก จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราเริ่มสร้าง GNP ขึ้นมาอย่างจริงจัง ซึ่งหากปล่อยตามกลไกของตลาดจะมีแต่ GDP จากการที่ต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานผลิตหรือนำเข้ารถไฟฟ้าทั้งคัน และสุดท้ายเราจะเป็นเหมือนเดิมคือ การรับจ้างผลิตหรือขายแรงงาน”
นายพนัส กล่าวว่า อยากให้เมืองไทยมีเทคโนโลยีของตัวเอง และจะพยายามกระจายออกไปสู่ผู้ประกอบการรายย่อยให้มากที่สุด ผ่านการพัฒนาบุคลากร การฝึกงานนักศึกษา การส่งเสริมสตาร์ทอัพ และผลักดันให้เอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถต่าง ๆ ได้มีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้เชิงลึกมากขึ้น โดยพัฒนาเป็นโมเดลธุรกิจแบบแฟรนไชส์ ซึ่งไม่ใช่แค่ซื้ออุปกรณ์มาประกอบ หรือซ่อมเปลี่ยนอะไหล่
แต่เป็นการเรียนรู้ที่ได้เข้าถึงต้นตอของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้บริษัทเล็ก ๆ เหล่านี้ สามารถที่จะคิดค้นนวัตกรรมหรือพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องในห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาได้ในอนาคต “ ตลาด ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง แม้จะมีดีมานด์ในตลาดค่อนข้างสูง แต่ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งพนัสฯ มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐาน โดย ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง จะเป็นมิติใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงและเกิดเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง ”
“ รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ” ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า 3 ปีกว่า ที่ บพข. ก่อตั้งขึ้นมา มีการให้ทุนโครงการต่างๆ ทั้งในลักษณะโครงการที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ที่ บพข. สนับสนุนทุน 100 % เช่น โครงสร้างพื้นฐาน โรงงานต้นแบบ และการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และโครงการต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่นักวิจัยจับคู่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการ โดยตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2565 บพข.ได้จัดสรรทุนวิจัยไปแล้ว 907 โครงการ คิดเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท โดยมีเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยร่วมสนับสนุนโครงการมากกว่า 500 บริษัท
จากจุดเริ่มต้นที่มุ่งเน้นสนับสนุนทุนในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นหลัก ปัจจุบัน บพข. มีการให้ทุนที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศใน 8 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอาหารมูลค่าสูง กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ กลุ่มพลังงาน เคมี และวัสดุชีวภาพ กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มดิจิทัลแพลตฟอร์ม กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน กลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต
และกลุ่มแผนงานโลจิสติกส์ระบบราง ซึ่งด้านคมนาคมแห่งอนาคตทาง บพข.ได้มีการให้ทุนกับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ในพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก และนักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าหากไทยไม่มีการทำวิจัยในตอนนี้ อนาคตจะสายเกินไป
อย่างไรก็ดี ตัวอย่างหรือต้นแบบความสำเร็จของในการนำผลงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศใน 8 กลุ่มหลัก รวมถึง “ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง” ของบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด จะถูกนำเสนอในงาน “บพข. สร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย เชื่อมโลกด้วยวิจัยและนวัตกรรม” หรือ “PMUC Research for Thailand’s Competitiveness 2023”
ผู้สนใจ.. เข้าชมได้ ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติศูนย์ฯสิริกิติ์
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th