FCEV เทคโนโลยีที่น่าจะยากในการแจ้งเกิด (อีกครั้ง)
ว่ากันว่าตลาดรถยนต์ในยุคหน้าจะเป็นเรื่องของรถยนต์พลังไฟฟ้าอย่างแน่นอน เพราะด้วยข้อจำกัดทางภาครัฐที่มีความเข้มงวดในเรื่องของมลพิษถึงขนาดห้ามไม่ให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลเข้ามาแล่นในเขตเมือง หรือการออกมาตรฐานไอเสียในระดับที่สูงชนิดที่การพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ I.C.E. คงไปได้ แต่ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้เกือบทุกแบรนด์เลือกที่จะเดินทางอื่น มากกว่าดันทุรันเดินตามทางเดิน และรถยนต์ไฟฟ้า คือ คำตอบของปัญหานี้
แต่คำถามต่อมาคือ แล้วจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะมาถึงต้องเป็นแบบไหนละ ?
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราคุ้นเคยกับรถยนต์แบบเสียบปลั๊กที่เรียกกันว่า BEV หรือ Battery Electric Vehicle กันเสียมากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้วเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนแบบไร้มลพิษด้วยรูปแบบของการส่งไฟฟ้าไปยังมอเตอร์เพื่อขับตัวรถนั้นยังมีอีกหลายรูปแบบและหนึ่งในนั้นที่ถูกมองว่าจะเป็นเทรนด์ใหม่ที่สอดแทรกเข้ามาช่วงชิงคือ FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle
โลกของเรารู้จักกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell ที่ใช้ไฮโดรเจนเหลวเป็นเชื้อเพลิงในการทำปฏิกิริยากับอากาศเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ยุคท่องอวกาศสมัยโครงการ Gemini และ Mercury ของ NASA แล้ว ส่วนเรื่องการนำมาใช้กับรถยนต์จนเกิดรถยนต์ประเภทที่เรียกว่า FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle นั้น เราเพิ่งรู้จักกันมาเมื่อปี 2002 สมัยที่ Honda และ Toyota แย่งชิงกันเป็นที่ 1 ในตลาดกลุ่มใหม่ที่นอกเหนือจากเครื่องยนต์สันดาปภายในและ Hybrid
หลักการทำงานในเรื่องของการขับเคลื่อนระหว่าง FCEV กับ BEV ในช่วงของการส่งกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือตัวเก็บประจุนั้นไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ที่มาของกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ถ้าเป็น BEV คุณต้องเสียบปลั๊กชาร์จตาม Wall Box หรือ Charging Station แต่ถ้าเป็น FCEV คุณต้องใช้ไฮโดรเจนเหลวในการทำปฏิกิริยาเท่านั้น และขั้นตอนในการเติมไฮโดรเจนเหลวก็ไม่ได้แตกต่างจากการเติมน้ำมัน แวะปั๊ม ดึงหัวจ่าย เสียบเข้าถัง รอจนเต็ม จ่ายเงิน…จบ
หลักการทำงานของเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงในรถยนต์คือ การส่งไฮโดรเจนเหลวเข้าไปทำปฏิกิริยากับออกซิเจนที่ส่งมาจากอากาศบนพื้นที่ซึ่งเรียกว่าแผงเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Stack จากนั้นสิ่งที่ได้คือ ไฟฟ้าที่ถูกส่งไปเก็บยังแบตเตอรี่ และน้ำ หรือ H2O ที่ถูกส่งทิ้งออกจากทางปล่อยไอเสียเหมือนกับน้ำแอร์
ถ้าเชื้อเพลิงหมด ก็แวะสถานีเติมไฮโดรเจน เหมือนกับเวลารถคุณน้ำมันหมด…เหมือนกับแนวคิดที่เป็นอุดมคติ และผู้ใช้แทบไม่ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คุ้นเคยกันมามากกว่า 100 ปีเลย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเทคโนโลยี FCEV กลับไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร เพราะความยุ่งยากในการใช้งาน โดยเฉพาะการเติมไฮโดรเจนที่ต้องรอกันนาน แถมสถานีมีเพียงไม่กี่แห่ง และความแพงของระบบที่ในยุคนั้นถือเป็นช่วงตั้งไข่ของเทคโนโลยี มีเพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้นที่ยังเดินหน้าต่อไป เช่น Toyota ที่เตรียมเปิดตัว Mirai รุ่นที่ 2 ออกมา ตามด้วย Honda Clarity ซึ่งแต่เดิมมีแค่ขุมพลัง FCEV แต่รุ่นหลังๆ มีทั้งไฟฟ้า และไฮบริดเพิ่มเข้ามาเหมือนกับว่า Honda เองก็มองว่าไม่น่าจะไหว ส่วน Hyundai ก็มี เช่นเดียวกับ Mercedes-Benz ที่เรียกเทคโนโลยีว่า F-Cell
เหตุที่มีคนพูดถึงว่า FCEV น่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งนอกเหนือจาก BEV ในยุคที่รถยนต์ไฟฟ้ากำลังมา คือ มีการประเมินและวิเคราะห์แล้วว่าเทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มว่าจะมีราคาถูกลง และประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น
- การวิ่งต่อถังไกลขึ้นจนมาอยู่ในระดับ 500-800 กิโลเมตร ไม่ต่างจากรถยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ๆ
- การเติมไฮโดรเจนเหลวที่แต่เดิมรอกันจนเงิบ เดี๋ยวนี้ด้วยความจุเดียวกันน้ำหนักเดียวกันจะใช้เวลาลดลงเหลือแค่ 10-15 นาทีเท่านั้นจนเต็มถัง ซึ่งตรงนี้ทำให้ข้อด้อยของ FCEV เหนือกว่า BEV แล้ว เพราะ BEV ต้องใช้เวลาชาร์จนานถึง 6 ชั่วโมงเป็นขั้นต่ำ แต่จะมีโหมด Quick Charge ที่ใช้เวลาแค่ 15-30 นาที แต่ก็แค่ 80% ของระยะทางที่ทำได้โดยรวมเท่านั้น
- ราคาของเทคโนโลยีที่จับต้องได้ เพราะในเมื่อแบตเตอรี่ที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาถูกลง นั่นหมายความว่าในรถยนต์ FCEV ก็ต้องถูกตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดูเหมือนว่าต้นทุนในเรื่องของตัวรถยนต์จะถูกลง แต่ปัจจัยในการเติบโตของอะไรสักอย่างไม่ได้มีเงื่อนไขเพียงแค่นี้ เพราะจริงอยู่ที่ FCEV จะให้อารมณ์ที่คล้ายกับการใช้รถยนต์ที่เติมน้ำมัน นั่นก็เลยทำให้ตรงนี้กลับกลายมาเป็นประเด็นในการขัดขวางการขยายตัวอีก และบรรดานักวิเคราะห์ต่างเชื่อว่าระหว่าง FCEV และ BEV ถ้าต้องมีรถยนต์แบบไร้มลพิษสักรุ่นเป็นกระแสหลักของการใช้งานอยู่ในตลาด ก็ต้องมีเพียงแบบเดียวที่จะต้องครองตลาดมากกว่า 70-80% ที่เหลือจะต้องเป็นชนกลุ่มน้อย ไม่มีทางที่จะเข้ามาแชร์ตลาดกันแบบครึ่งๆ
เพราะทุกอย่างจะวนไปที่เรื่องซัพพลายเออร์ที่ต้องผลิตชิ้นส่วนเพื่อตอบสนองตลาดซึ่งจะต้องเป็นกระแสหลัก และอีกประเด็นที่สำคัญกว่า คือ ระบบสาธารณูปโภคที่ต้องรองรับการใช้งาน ซึ่งการสร้างสถานีเติมไฮโดรเจนนั้นมีราคาแพงกว่าการสร้างแท่นชาร์จสาธารณะแบบ 6 หัวเสียบอยู่ประมาณ 10 เท่าตัว (1 ล้านยูโร vs 100,000 ยูโร โดยประมาณ) อย่างในเยอรมนีที่ถือเป็นตลาดใหญ่ชองรถยนต์ FCEV ก็มีจำนวนรถยนต์ประเภทนี้เพียงแค่ 600 คันเท่านั้นเมื่อเทียบกับ BEV ที่มีมากถึง 180,000 คัน
และที่สำคัญสุดคือ เรื่องของนโยบายจากทางภาครัฐที่จะเดินไปในทิศทางไหน ซึ่งจากที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนของตลาดรถยนต์ในยุคหน้าที่เป็นแบบไร้มลพิษนั้น จะมุ่งตรงไปที่ BEV มากกว่า FCEV มากกว่า
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th