เจาะข้อมูล: Ferrari 296 GT3 รถแข่งขุมพลัง V6
Ferrari 296 GT3 รถแข่งขุมพลัง V6 เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งวงการมอเตอร์สปอร์ต
Ferrari 296 GT3 คือตัวแทนแห่งอนาคตจากค่ายม้าลำพองในรายการแข่งขัน GT ซึ่งนับเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเหล่าลูกค้าได้มากที่สุดทั้งยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ จากสนามแข่งมาสู่รถยนต์แบบโปรดักชั่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย รถแข่ง 296 GT3 ได้รับการต่อยอดจากรุ่น 296 GTB ยนตรกรรม Berlinetta สองที่นั่ง เครื่องยนต์วางกลางลำรุ่นล่าสุดจากโรงงานผลิตในเมืองมาราเนลโล
โปรเจ็กต์ Ferrari 296 GT3 เริ่มต้นเพื่อสร้างรถแข่งที่ถ่ายทอดนวัตกรรมสำหรับทั้งใน และนอกสนามแข่งที่ทีมม้าลำพองตัดสินใจจะพัฒนาขึ้นเพื่อสืบสานเส้นทางแห่งชัยชนะย้อนไปในปี 1949 รถแข่ง 166MM คว้าชัยในการแข่งขัน 24 Hours of Le Mans
ทำให้ Ferrari 296 GT3 คือแนวทางใหม่ในด้านของการออกแบบ และระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้ทีมแข่งสามารถบริหารจัดการได้ง่ายในทุกสเตจระหว่างการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ รวมถึงสถาปัตยกรรมของเครื่องยนต์ V6 ทำมุม 120 องศา เทอร์โบชาร์จ
คอนเซ็ปต์ใหม่นี้ได้รับการรังสรรค์ให้ตรงกับความต้องการของทีม, นักแข่งมืออาชีพ และนักแข่งมือสมัครเล่น ซึ่ง Ferrari ให้ความสำคัญมาโดยตลอด รถคันนี้ออกแบบขึ้นอย่างพิถีพิถันในทุกรายละเอียด และทุกมิติ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดใหม่ของคลาส GT3
เครื่องยนต์ และระบบขับเคลื่อน
296 GT3 หวนคืนสู่สังเวียนการแข่งขันด้วยขุมพลัง V6 แบบไม่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่ใช้อยู่ใน 296 GTB ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านเทคนิคของการแข่งขัน เครื่องยนต์สูบ V ทำมุม 120 องศาพร้อมลำดับการจุดระเบิดแบบสมมาตร ถูกนำมาใช้กับขุมพลัง V6 สันดาปภายในของ 296 GT3 โดยทั้งหมดนี้มีพื้นฐานมาจาก 296 GTB รวมไปถึงการจัดวางเทอร์โบคู่ไว้กึ่งกลางระหว่างเสื้อสูบทั้งสองฝั่ง นำมาซึ่งข้อดีทั้งในแง่ของความกะทัดรัด จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า และน้ำหนักที่เบายิ่งขึ้น ทำให้ได้พละกำลังที่สูงตาม เป้าหมายที่ต้องการ
การวางเครื่องยนต์ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ Ferrari เสมอมาถูกขยับเข้าใกล้กับค็อกพิตมากขึ้น และติดตั้งต่ำลงกว่ารถเวอร์ชั่นถนน เพื่อให้ได้จุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำกว่า และยังทนการบิดตัวได้มากกว่า 488 GT3 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ การจัดวางโครงสร้างต่างๆเป็นสิ่งที่ช่วยให้ประสบผลสำเร็จทั้งในเรื่องของลำดับการจุดระเบิดท่อร่วมไอดีที่รวมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ และแท่นเครื่องซึ่งอยู่ที่ฝั่งไอดีของฝาสูบ ทำให้เครื่องยนต์มีน้ำหนักเบา และกะทัดรัดกว่าการไหลเวียน ภายในเครื่องยนต์ก็ดียิ่งขึ้นจากการลดขนาดท่อลง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบไอดีได้มากกว่าเดิม
เหล่าวิศวกรของ Ferrari ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ เพื่อออกแบบ และปรับแต่งประสิทธิภาพภายในเครื่องยนต์ ตลอดจนใช้องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำขึ้นพิเศษสำหรับระบบขับเคลื่อนของรถเวอร์ชั่นสนามแข่งโดยเฉพาะ เป้าหมายคือการมอบสมรรถนะที่เหนือชั้น มีความทนทาน และสามารถใช้แข่งได้ทั้งรายการ ‘Sprint’ และ ‘Endurance’
การแข่งขันรูปแบบนี้พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงโดยไม่ลดทอนประสิทธิภาพของรถลงไป โดยเน้นให้สามารถปรับใช้กับกลยุทธ์การแข่งขันได้อย่างยืดหยุ่น และลดเวลาในการปฏิบัติงานลง ตัวอย่างเช่น อัลเทอร์เนเตอร์ซึ่งติดตั้งไว้ที่ชุดเกียร์เพื่อให้ยูนิตมีขนาดกะทัดรัด และทนทาน ทั้งยังช่วยให้ทีมช่างเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย
ชุดเกียร์ของ 296 GT3 เป็นแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับรถคันนี้โดยตรง ทีมนักออกแบบนำคลัตช์แบบแผ่นเดียวมาใช้ร่วมกับอัตราทดเกียร์ 6 จังหวะ ติดตั้งตามแนวขวางเพื่อผลทางด้านอากาศพลศาสตร์ และการกระจายน้ำหนักที่ดียิ่งขึ้น ชุดควบคุมคลัตช์เป็นระบบไฟฟ้า และสามารถควบคุมได้จากพวงมาลัย ไม่ใช่แบบกลไกที่ต้องใช้เท้าเหยียบแป้นคลัตช์ ขณะที่การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ก็ใช้ระบบไฟฟ้าเช่นกัน การลดขนาดขององค์ประกอบต่างๆ และใช้วัสดุคุณภาพสูง ช่วยลดน้ำหนักชุดเกียร์ Xtrac ให้น้อยกว่าเดิม จึงได้สมรรถนะที่ดียิ่งขี้น
ตัวถังภายนอก และแอโรไดนามิกส์
รถแข่ง GT แห่งอนาคตของ Ferrari ยังคงไว้ซึ่งรูปโฉม และส่วนเว้าส่วนโค้งของ 296 GTB ทว่าถูกปรับปรุงให้ตรงตามข้อกำหนดด้านการแข่งขันและสมรรถนะ ต้องยกความดีความชอบให้กับการทำงาน ร่วมกันระหว่าง Centre Style นักอากาศพลศาสตร์ และทีมออกแบบ คือเหตุผลที่ว่าทำไมเมื่อตัดเรื่องอุปกรณ์ แอโรไดนามิกส์ หรือฟีเจอร์อื่นๆ ที่ใช้สำหรับรถแข่งโดยเฉพาะออกไป ดีไซน์ของรถยังคงมีความใกล้เคียงกับรถแบบโปรดักชั่ นอยู่มาก ดีไซน์ของอุปกรณ์ (เพื่อการแข่งขัน) ต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเรียบง่าย และการใช้งานของรถแข่งอย่าง 250 LM ปี 1963
ทีมวิศวกรของ Ferrari สามารถกำหนดรูปแบบของแอโรไดนามิกส์ได้ภายใต้กรอบกติกาด้านสมรรถนะด้วย การลดความสูงของช่วงล่างลง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับควบคุมและความง่ายดายในการขับขี่ ชิ้นงานที่ถูกต้องแม่นยำ และรูปทรงที่เปี่ยมไปด้วยรายละเอียด ช่วยเพิ่มแรงกดได้มากขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับรถแข่งรุ่นที่แล้ว 296 GT3 ขับเคลื่อนได้อย่างกลมกลืนกับกระแสอากาศรอบตัวรถ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การยึดเกาะถนน และการบังคับควบคุมให้ถึงขีดสุด ส่งผลดีทั้งกับนักขับมือใหม่ และมืออาชีพ
ความท้าทายที่ทีมออกแบบต้องเผชิญคือการจำกัดความอ่อนไหวของรถต่อแรงกระทำที่เกิดขึ้นจากระบบแอโรไดนามิกส์เพื่อมอบ ความสมดุลสูงสุดทำให้สามารถควบคุมรถได้ง่าย และช่วยเสริมความมั่นใจให้ผู้ขับขี่ องค์ประกอบทั้งหมดตั้งแต่ตัวถังไปจนถึงปีกต่างๆ ได้รับการออกแบบขึ้นอย่างละเอียดละออ
ภายใต้สภาพการขับขี่หลากหลายรูปแบบ และการทำงานที่ส่งผลต่อกันและกันระหว่างชิ้นส่วนแอโรไดนามิกส์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยให้รถทำงานได้ อย่างดีในทุกรูปแบบการแข่งขัน รวมไปถึงขณะที่กำลังขับอยู่ในระยะของกระแสลมดูดเมื่อขับตามหลังรถคันอื่น จากลิ้นหน้าไปจนถึงตัวเรียงอากาศท้ายรถ ซึ่งมีดิฟฟิวเซอร์ดีไซน์ซับซ้อนแบบสามมิติติดตั้งอยู่ ส่งให้ 296 GT3 โดดเด่นเหนือใครด้วยการออกแบบอันประณีต โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มีแรงต้านอากาศน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ห้องโดยสารมีความเป็นหนึ่งเดียวมีทัศนวิสัยที่ยอดเยี่ยม และการเข้าถึงระบบต่างๆ ได้ง่ายดายเป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนาดีไซน์ของห้องโดยสาร ทว่าไม่ละเลยเรื่องความปลอดภัยและความสบายขณะขับขี่ ในการแข่งขันแบบ Endurance (ระยะทางไกล) ประสิทธิภาพของผู้ขับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้ โดยเฉพาะกับนักแข่งมือสมัครเล่น
นอกจากนี้ห้องโดยสารที่ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่หมดเมื่อเทียบกับ 488 GT3 เพื่อให้ตรงตามความต้องการของนักแข่งทั้งจาก ทีมโรงงาน และลูกค้าแต่ละราย ผลลัพธ์ที่ได้คือค็อกพิตที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถปรับตัว และหาตำแหน่งการนั่งที่เหมาะสมที่สุดได้อย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยฟังก์ชั่นหลักๆ ที่อยู่ใกล้เพียงเอื้อมมือ ปุ่มควบคุม และอีกหลายๆ ฟังก์ชั่นถูกย้ายมาติดตั้งไว้บนพวงมาลัยแบบใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรถแข่ง F1
ขณะที่ตำแหน่งของเบาะนั่งจาก Sabelt มอบทัศนวิสัยที่ดีเยี่ยมทั้งเวลากลางวัน และกลางคืน นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความสบายขึ้นไป อีกขั้นให้กับนักแข่งที่มีขนาดตัวและสัดส่วนที่แตกต่างกัน ด้วยชุดแป้นเหยียบและพวงมาลัยแบบปรับระดับได้เพื่อให้ได้ ตำแหน่งการขับที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคน ระบบปรับและไหลเวียนอากาศภายในรถถูกออกแบบให้สามารถระบายอากาศได้เพียงพอในทุกสภาพแวดล้อม ช่วยให้นักแข่งมีสมาธิไปกับการขับได้ในทุกสเตจของการแข่งขัน
ช่วงล่าง และระบบไดนามิกส์ของรถ
ช่วงล่างของ 296 GT3 รังสรรค์ขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้มาจาก 488 GT3 ทว่าทั้งหมดเป็นของใหม่ และผลิตขึ้นจากอลูมิเนียม นอกจากเป็นรถที่ขับง่ายและสนุกแล้ว 296 GT3 ยังสามารถปลดปล่อยศักยภาพการยึดเกาะของยางได้แม้เพิ่งขับขี่ไปเพียงไม่กี่รอบสนาม จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกรอบการแข่งขัน
แชสซีส์มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ช่วยให้บริหารจัดการการกระจายน้ำหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการเพิ่มสมรรถนะของรถได้อีกทางหนึ่ง โครงสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยถูกดีไซน์ขึ้นอย่างระมัดระวังด้วย เครื่องจำลองที่ล้ำสมัย และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงการค้นคว้าวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง ของโลหะผสมและวัสดุต่างๆ
296 GT3 มีระยะฐานล้อยาวกว่ารุ่นโร้ดคาร์แต่ยังอยู่ภายใต้กติกาการแข่งขัน ทั้งยังมีการออกแบบทางกลศาสตร์การเคลื่อนไหว และโครงสร้างของช่วงล่างที่แตกต่างไปจาก 488 GT3 อีกด้วย ปีกนกคู่ของช่วงล่างหน้า และหลังได้รับการออกแบบให้ช่วยเพิ่มการยึดเกาะสูงสุดแม้ขณะใช้ความเร็วสูง ลดแรงเครียดที่กระทำกับยางให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ยางสามารถใช้งานได้นานยิ่งขึ้น ให้สมรรถนะสูง และมีความทนทาน
การออกแบบช่วงล่าง อาทิเช่น เหล็กกันโคลง มีค่าความแข็งให้เลือกปรับเปลี่ยนหลากหลาย ช่วยให้นักแข่งปรับแต่งรถได้ตรงความต้องการที่สุด ระบบเบรกได้รับการอัพเกรดเช่นกัน ด้วยคาลิเปอร์ และจานเบรก (ขนาด 400 มม. ที่ล้อหน้า) ที่ออกแบบใหม่หมด Rotiform เป็นผู้พัฒนาล้อฟอร์จแบบใหม่ที่ตรงตามกติกาการแข่งขันให้กับ 296 GT3 โดยเฉพาะ ภายใต้ความร่วมมือนี้ล้อดีไซน์ใหม่จาก Rotiform จะถูกนำมาใช้เฉพาะกับรถแข่งเฟอร์รารี่ 296 GT3 คลาสมืออาชีพทุกคันเท่านั้น
ในขั้นตอนการออกแบบ 296 GT3 ทีมวิศวกรของเฟอร์รารี่มุ่งเน้นไปที่ความรวดเร็ว ในการปฏิบัติงานกับรถทั้งในระหว่างการแข่งขันจริงและช่วงก่อนการแข่ง จากจุดนี้การปรับแต่งเซ็ตอัพให้กับ 296 GT3 จึงเป็นเรื่องง่ายดายยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนหน้านี้ เนื่องจากองค์ประกอบต่างๆ ของรถสามารถเข้าถึงได้ง่าย และยืดหยุ่นกว่า การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเครื่องยนต์หรือระบบสำคัญๆ ก็ได้รับการปรับปรุงเพื่อช่วยลดเวลา ในการปฏิบัติงานกับรถให้สั้นลง
นอกจากนั้นรถแข่งรุ่นใหม่ของเฟอร์รารี่ ยังมีความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างเห็นได้ ชัดในเรื่องของการเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆของรถชิ้นส่วนด้านหน้าและหลังสามารถถอดเปลี่ยนได้ภายในไม่กี่วินาที ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นและโซลูชั่นต่างๆ ที่ทำให้มั่นใจได้ว่ารถแข่งสามารถกลับลงสนามอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว หลังจากชิ้นส่วนแอโรไดนามิกส์หรืออื่นๆ ที่เสียหาย ได้รับการเปลี่ยนใหม่
การพัฒนา 296 GT3 ถูกพัฒนาขึ้นโดยคำนึงถึงการแข่งขันเป็นหลักที่ซึ่งชัยชนะคือเป้าหมายสูงสุดของนักแข่งมืออาชีพ และความสนุกในการขับขี่เป็นสิ่งที่นักแข่งมือสมัครเล่นต้องการ โปรเจ็กต์ทั้งหมดเกิดขึ้นในปี 2020 และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจริงครั้งแรกได้ด้วยเครื่องจำลองการไหลของอากาศ และโมเดลจำลอง
จากนั้นจึงนำมาทดสอบในอุโมงค์ลมเพื่อกำหนดรูปทรงระบบแอโรไดนามิกส์ของรถ ปรับแต่งเครื่องยนต์บนแท่นทดสอบ และทดสอบความแข็งแกร่งของแชสซีส์ ก่อนจบลงด้วยการทดสอบอย่างยาวนานบนไดโนสำหรับรถขับเคลื่อนสี่ล้อในมาราเนลโล นับตั้งแต่การขับทดสอบครั้งแรกที่สนามฟิออราโน่ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2022 รถแข่งเฟอร์รารี่คันใหม่ผ่านระยะทางนับหมื่นกิโลเมตรในการความเตรียมพร้อมสำหรับลงชิงชัยในการแข่งขันที่ท้าทายที่สุด
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: คาวาลลิโน มอเตอร์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th