เจาะรายละเอียด Ferrari 296 GTB: นิยามใหม่ของความสนุกในการขับขี่
Ferrari 296 GTB วิวัฒนาการล่าสุดของรถสไตล์ Berlinetta สองที่นั่ง เครื่องยนต์วางกลางลำด้านหลัง เผยโฉมครั้งแรกผ่านการถ่ายทอดออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยโมเดลล่าสุดจากค่าย “ม้าลำพอง” เป็นคำจำกัดความใหม่ของแนวคิดเรื่องความสนุกหลังพวงมาลัย รับประกันความเร้าใจอย่างแท้จริง ไม่เพียงแค่การขับขี่บนขีดจำกัดสูงสุดของรถ แต่ยังรวมถึงขณะขับใช้งานในชีวิตประจำวันอีกด้วย
296 GTB คือการพลิกโฉมของ Ferrari อย่างแท้จริงจากการเปิดตัวเครื่องยนต์แบบใหม่ เพื่อวางไว้เคียงข้างเหล่าขุมพลัง 8 และ 12 สูบ ที่คว้ารางวัลยอดเยี่ยมมามากมาย–เครื่องยนต์ V6 ทำมุม 120 องศา ขนาด 663 แรงม้า จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้พลังเพิ่มเติมอีก 122 กิโลวัตต์ (167 แรงม้า)–นี่คือ Road car รุ่นแรกภายใต้ตราสัญลักษณ์ม้าลำพอง ที่ติดตั้งเครื่องยนต์ V6 ปลดปล่อยพลังรวมมหาศาลถึง 830 แรงม้า มอบสมรรถนะในระดับเหนือความคาดหมาย ร่วมด้วยนวัตกรรมที่ทำให้ได้มาซึ่งซาวด์แทร็คที่เร้าใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่มาของชื่อรถได้รวมเอาตัวเลขความจุกระบอกสูบ (2,992 ซีซี) และจำนวนกระบอกสูบเข้าไว้ด้วยกัน ร่วมกับอักษร GTB (Gran Turismo Berlinetta) ตัวย่อของการสืบทอดตำนานที่ดีที่สุดของ Ferrari เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าเครื่องยนต์ตัวใหม่นี้ คือจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งยุคสำหรับมาราเนลโล นี่คือขุมพลังที่ไม่ใช่เพียงแค่หัวใจที่กำลังเต้นอยู่ราวกับมีชีวิตของ 296 GTB เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้เปิดประตูไปสู่ยุคใหม่ของเครื่องยนต์ V6 ที่มีรากหยั่งลึกลงไปถึงประสบการณ์มากกว่า 70 ปี ที่ไม่มีใครเทียบเคียงได้ในวงการมอเตอร์สปอร์ตของ Ferrari อีกด้วย
เครื่องยนต์ Ferrari V6 รุ่นแรก ใช้เสื้อสูบแบบทำมุม 65 องศา ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1957 ด้วยขุมพลังความจุ 1,500 ซีซี ในรุ่น Dino 156 F2 ที่นั่งเดี่ยว ต่อมาในปี 1958 เป็นเวอร์ชั่นที่มีความจุกระบอกสูบมากขึ้นติดตั้งอยู่ในรถสปอร์ตต้นแบบเครื่องยนต์วางหน้ารุ่น 196 S และ 296 S รวมไปถึงรถแข่ง F1 อีกหลายคัน เช่น 246 F1 ซึ่งทำให้ Mike Hawthorn คว้าแชมป์ F1 ประเภทผู้ขับในปีเดียวกัน
รถแข่ง Ferrari คันแรกที่ใช้เครื่องยนต์ V6 วางกลางลำด้านหลังคือรุ่น 246 SP ปี 1961 ซึ่งคว้าชัยชนะในรายการ Targa Florio ทั้งในปีนั้นและปี 1962 ท่ามกลางการฟาดฟันกับรถแข่งอีกมากมาย และในปี 1961 Ferrari ยังได้รับตำแหน่งชนะเลิศทีมผู้ผลิตเป็นครั้งแรกในการแข่งขัน Formula 1 World Championship จากรถแข่งรุ่น 156 F1 ที่ใช้ขุมพลัง V6 ทำมุม 120 องศา Ferrari ติดตั้งชุดเทอร์โบเข้าไประหว่างเสื้อสูบเป็นครั้งแรกให้กับรุ่น 126 CK ในปี 1981 และต่อด้วยรุ่น 126 C2 ในปี 1982 ซึ่งกลายเป็นรถเครื่องยนต์เทอร์โบชาร์จคันแรกที่รับตำแหน่งชนะเลิศทีมผู้ผลิต Formula 1 Constructors’ World Championship ตามมาด้วยการคว้าอันดับรองชนะเลิศในปี 1983 จากรถแข่งรุ่น 126 C3 จากนั้นขุมพลังแบบ V6 เทอร์โบไฮบริด ก็ถูกนำมาใช้ในรถแข่ง Formula 1 ทุกรุ่นตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา
รับประกันได้ว่าระบบ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (PHEV) จะทำให้ 296 GTB เป็นรถที่ใช้งานได้ดีอย่างเหลือเชื่อการตอบสนองของคันเร่งแบบทันทีทันใด รวมถึงขับขี่ได้ไกล 25 กม. ด้วยไฟฟ้าล้วนในโหมด eDrive ระบบ Plug-in Hybrid (PHEV) ของ 296 GTB รับประกันว่าเป็นรถยนต์ที่ใช้งานได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดที่กะทัดรัดของรถ และการใช้ระบบควบคุมไดนามิกที่เป็นนวัตกรรมใหม่ รวมถึงชุดแอโรไดนามิกที่รังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ขับขี่จะได้สัมผัสกับความคล่องตัวที่น่าอัศจรรย์ การออกแบบที่ดูสปอร์ต, โฉบเฉี่ยว และขนาดที่กะทัดรัด ยังเน้นย้ำให้เห็นถึงความโดดเด่นทันสมัย ดูยอดเยี่ยมเฉกเช่นรุ่น 250 LM ในปี 1963 นับเป็นการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความเรียบง่ายและประสิทธิภาพการใช้งาน
และเช่นเดียวกับรุ่น SF90 Stradale ลูกค้าที่ต้องการเพิ่มขีดสุดแห่งพละกำลังและสมรรถนะของรถให้เต็มพิกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อใช้ขับในสนามแข่ง 296 GTB จะมีแพ็คเกจ Assetto Fiorano ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์น้ำหนักเบาต่างๆ และชุดแต่งแอโรไดนามิกให้เลือกสั่งติดตั้งพิเศษอีกด้วย
POWERTRAIN
296 GTB คือ Ferrari แบบ Road Car รุ่นแรกที่ใช้เครื่องยนต์ V6 ติดตั้งเทอร์โบไว้กึ่งกลางระหว่างเสื้อสูบทั้งสองที่ทำมุม 120 องศา ร่วมด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าระบบ ปลั๊ก-อิน ขุมพลัง V6 รุ่นใหม่นี้ ได้รับการออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่หมดโดยทีมวิศวกรของ Ferrari ที่เชี่ยวชาญเรื่องการติดตั้งเทอร์โบรูปแบบนี้โดยเฉพาะ และเป็นรถยนต์คันแรกของ Ferrari ที่ใช้เทอร์โบติดตั้งไว้กลางเสื้อสูบ ซึ่งนอกจากจะได้เปรียบในเรื่องของความกะทัดรัด, ตำแหน่งจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง และช่วยลดน้ำหนักรวมของเครื่องยนต์แล้ว สถาปัตยกรรมนี้ยังช่วยให้สามารถถ่ายทอดพละกำลังระดับสูงออกมาได้อีกด้วย ผลลัพธ์ที่ได้คือยนตรกรรม Ferrari V6 รุ่นล่าสุด สร้างสถิติใหม่ให้กับกำลังสูงสุดในรถแบบโปรดักชันที่ 221 แรงม้า/ลิตร
เครื่องยนต์ V6 เทอร์โบ ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ด้านหลัง 296 GTB จึงมีกำลังรวมสูงสุดถึง 830 แรงม้า ส่งให้รถคันนี้ก้าวขึ้นสู่ความเป็นที่สุดในกลุ่มรถสปอร์ตขับเคลื่อนล้อหลัง ทั้งยังเป็นรถที่ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการขับใช้งานในชีวิตประจำวัน (296 GTB มีโหมดขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าล้วนที่วิ่งได้ไกลถึง 25 กม.) ตลอดจนความสนุกเพลิดเพลินในการขับขี่ (คันเร่งตอบสนองอย่างทันทีทันใด และนุ่มนวลในทุกย่านความเร็ว)
ระบบขับเคลื่อนประกอบด้วยเครื่องยนต์ V6 เทอร์โบ สันดาปภายใน ร่วมกับเกียร์ DCT 8 จังหวะ และ E-Diff และ MGU-K ที่ติดตั้งคั่นอยู่ระหว่างเครื่องยนต์ และเกียร์ คลัตช์ถูกจัดวางไว้ระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อตัดกำลังไปยังการใช้ไฟฟ้าล้วนในโหมด eDrive สุดท้ายคือแบตเตอรี่สูง และอินเวอร์เตอร์สำหรับควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า
INTERNAL COMBUSTION ENGINE
ด้วยกำลัง 663 แรงม้า หรือ 221 แรงม้า/ลิตร ส่งให้ 296 GTB สร้างสถิติใหม่ในเรื่องของพละกำลังสูงสุดในรถแบบโปรดักชัน หัวใจหลักในการบรรลุผลสำเร็จนี้คือการใช้เสื้อสูบทำมุม 120 องศา กับท่อร่วมที่มีระยะห่างเท่าๆ กัน ตลอดจนการวางตำแหน่งของเทอร์โบไว้กึ่งกลางระหว่างเสื้อสูบทั้งสองฝั่ง ทำให้เครื่องยนต์มีขนาดกะทัดรัดมากขึ้นและกระจายน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม
รูปแบบนี้ยังยอดเยี่ยมอย่างยิ่งในแง่ของลำดับการจุดระเบิด การรวมเอาท่อร่วมไอดี และจุดรองรับเครื่องยนต์บริเวณฝั่งท่อไอดีของฝาสูบทั้งสองเข้าไว้ด้วยกันทำให้เครื่องยนต์ทั้งเบาและกะทัดรัดกว่าเนื่องจากไม่ต้องมีปล่องนำอากาศและส่วนรองรับภายนอกอื่นๆ ในขณะที่ของเหลวต่างๆ ที่ใช้ก็มีปริมาณน้อยลงตามไปด้วย จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น โครงสร้างเสื้อสูบแบบทำมุม 120 องศา ช่วยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างเสื้อสูบมากกกว่าแบบ 90 องศา นั่นหมายถึงสามารถติดตั้งชุดเทอร์โบไว้กึ่งกลางได้ จึงลดขนาดโดยรวมของเครื่องยนต์และร่นระยะเดินทางของอากาศไปสู่ห้องเผาไหม้ให้สั้นลง ส่งผลให้ได้ประสิทธิภาพการไหลสูงสุดทั้งในท่อทางเดินฝั่งไอดีและไอเสีย
เพื่อบรรลุเป้าหมายของพละกำลังตามที่ตั้งไว้ จึงมีการปรับแรงอัดในห้องเผาไหม้ให้สูงขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้การพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงจากในด้านประสิทธิภาพการไหลเวียนภายในและโครงสร้าง โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักเครื่องยนต์และความทนทาน ด้วยเหตุนี้ Ferrari จึงทุ่มเทความเชี่ยวชาญทั้งหมดลงไปยังวัสดุอัลลอย ปรับมิติ และส่วนประกอบต่างๆ เพื่อสร้างเสื้อสูบและฝาสูบที่ทำจากอะลูมิเนียม องค์ประกอบทั้งสองเป็นของใหม่และออกแบบขึ้นสำหรับขุมพลัง V6 โดยเฉพาะ
ชุดปั๊ม (น้ำหล่อเย็นและน้ำมันเครื่อง) ขับเคลื่อนด้วยโซ่ไทมิ่งและขับกลไกวาล์วด้วยเฟืองโซ่แบบเยื้อง ใช้ชุดโซ่ไทมิ่งหนึ่งชุดต่อหนึ่งเสื้อสูบ โซ่ขับตัวหลักใช้ตัวดันโซ่แบบไฮดรอลิก, บูชดันโซ่สองตัว ร่วมด้วยตัวดันโซ่ไฮดรอลิกอีกชุด และเสื้อสูบฝั่งซ้ายและขวามีการปรับตั้งที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับโซ่สำหรับขับปั๊มน้ำมันเครื่อง กลไกวาล์วซึ่งประกอบด้วยกระเดื่องกดวาล์วและตัวกระทุ้งวาล์วแบบไฮดรอลิก มีองศาแคมชาฟต์ฝั่งไอดีและไอเสียที่เฉพาะเจาะจงแตกต่างกัน
เครื่องยนต์ตัวนี้นำข้อดีจากการพัฒนาห้องเผาไหม้แบบล่าสุดของ Ferrari ที่เปิดตัวครั้งแรกใน SF90 Stradale มาใช้: หัวฉีด และหัวเทียน ร่วมด้วยระบบจ่ายเชื้อเพลิงแรงดันสูง 350 บาร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผสมน้ำมันกับอากาศในห้องเผาไหม้เพิ่ม, สมรรถนะ และลดมลพิษ ท่อร่วมไอดี และไอเสียถูกออกแบบ และปรับแต่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเชิงปริมาตร ทั้งยังรับประกันว่าจะได้อากาศหมุนวนระดับสูงในห้องเผาไหม้
ชุดเทอร์โบ IHI ได้รับการออกแบบใหม่ทั้งหมดโดยใช้อัลลอยประสิทธิภาพสูง นั่นหมายถึงรอบการหมุนสูงสุดของเทอร์โบสามารถทำได้ถึง 180,000 รอบ/นาที เมื่อรวมกับการปรับปรุงสมรรถนะและเพิ่มประสิทธิภาพต่างๆ ทำให้มีการทำงานที่ดีขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ เทอร์โบแบบสมมาตรที่รับอากาศแบบ Mono-scroll: ใช้เทคนิคการลดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกังหันฝั่งอัดอากาศลง 5 เปอร์เซ็นต์ และแกนเทอร์โบ 11 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเทอร์โบที่ใช้ในเครื่องยนต์ V8 แม้จะมีพลังสูงมากก็ตาม การลดแรงต้านขณะหมุน (แรงเฉื่อยขององค์ประกอบที่หมุนได้ทั้งสองส่วนถูกลดลง 11 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับเครื่องยนต์ 3.9 ลิตร V8) ช่วยลดเวลาในการหมุนของแกนเทอร์โบไปสู่รอบสูง จึงทำให้พลังถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างฉับไว
เพลาข้อเหวี่ยงทำจากโลหะเคลือบไนไตรด์ และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเพลาจะทำมุม 120 องศาพอดี หลังจากการขึ้นรูปเบื้องต้นจากก้อนโลหะด้วยกรรมวิธีฟอร์จ เพลาข้อเหวี่ยงจะถูกบิด จากนั้นจึงนำเข้าสู่การเคลือบความร้อนด้วยไนไตรด์ (เพื่อให้มีความทนทานในภาวะที่มีโหลดมาก) ต่อด้วยการเก็บรายละเอียดและถ่วงสมดุล ลำดับการจุดระเบิดของขุมพลัง V6 ตัวใหม่ (กระบอกสูบที่ 1-6-3-4-2-5 ตามลำดับ) คือผลลัพธ์ที่ได้จากรูปทรงของเพลาข้อเหวี่ยง มวลอากาศทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นขณะหมุน และมวลอากาศที่เกิดขึ้นแบบสลับไปมาอีก 25 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการถ่วงสมดุล ส่งให้แรงกระทำที่เกิดขึ้นกับบูชลดลงโดยไม่ทำให้น้ำหนักของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ปั๊มน้ำมันเครื่องแบบแปรผันรุ่นใหม่ ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าแรงดันน้ำมันจะถูกควบคุมอย่างต่อเนื่องตลอดย่านความเร็วรอบเครื่องยนต์ วาล์วโซลินอยด์ซึ่งถูกควบคุมด้วย ECU แบบวงจรปิดของเครื่องยนต์ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมปริมาณน้ำมันเครื่องในปั๊มทั้งในส่วนของการไหลเวียนและแรงดัน ทำให้มีปริมาณน้ำมันเท่าที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อรับประกันว่าเครื่องยนต์จะทำงานได้อย่างราบรื่นและมีความทนทาน นอกจากนั้น ยังช่วยลดพลังงานที่ต้องสูญเสียไปกับการขับปั๊มอีกด้วย ในเรื่องของการไหลเวียนน้ำมันเครื่องไปตามส่วนต่างๆ ของเครื่องยนต์ ระบบดูดน้ำมันถูกสร้างให้ทรงพลังมากขึ้นเพื่อลดการกระฉอก โดยใช้ตัวดูดจำนวน 6 ตัวด้วยกัน: 3 ตัว ที่อ่างน้ำมันเครื่องโดยเฉพาะ, หนึ่งตัวเพื่อแยกการจ่ายน้ำมันไปยังส่วนต่างๆ และอีกสองตัวสำหรับส่งน้ำมันไปยังส่วนต่างๆ ของฝาสูบ
ตามปกติเครื่องยนต์ของ Ferrari จะใช้ท่อไอดีแบบติดตั้งไว้กึ่งกลางระหว่างเสื้อสูบ ทว่าขุมพลัง V6 ตัวนี้ ได้เปลี่ยนรูปแบบไปโดยสิ้นเชิง: ท่อไอดีอยู่บริเวณด้านข้างของฝาสูบและรวมเป็นหนึ่งเดียวกับลิ้นปีกผีเสื้อ นำวัสดุเทอร์โมพลาสติกน้ำหนักเบามาใช้เพื่อช่วยลดน้ำหนักของเครื่องยนต์ลง วิธีนี้ทำให้ได้สมรรถนะเพิ่มขึ้นเนื่องจากท่อสั้นกว่าเดิมและลำดับการไหลของอากาศที่ถูกจัดเรียงใหม่ เพื่อลดเวลาในการบูสต์ลงเพราะมีแรงดันสูงอัดแน่นอยู่ในท่อที่มีสั้นลง
สถาปัตยกรรมใหม่นี้ ยังนำไปสู่การพัฒนาให้ทางเดินของท่อไอเสียซึ่งอยู่ที่ส่วนบนของห้องเครื่อง เป็นเส้นตรงมากขึ้น ทางเดินท่อไอเสียช่วยลดแรงดันย้อนกลับและเพิ่มประสิทธิภาพให้สูงขึ้นกว่าเดิม ท่อร่วมไอเสีย และแคตาไลเซอร์ผลิตจาก Inconel โลหะผสมเหล็ก-นิกเกิล ที่ช่วยลดน้ำหนักของชุดท่อไอเสียและทนต่ออุณหภูมิสูงได้มากขึ้น
ในแง่ของเสียงคำราม 296 GTB ฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ ด้วยการผสมผสานสองรูปแบบเสียง ที่ตรงข้ามกัน เข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน: เสียงดูดอากาศของชุดเทอร์โบและความละมุนละไมของเสียงความถี่สูงจากเครื่องยนต์ V12 ที่ไม่มีระบบอัดอากาศ แม้ในรอบต่ำ ซาวด์แทร็คของขุมพลังแบบ V12 จะดังเข้ามาให้ได้ยินในห้องโดยสาร และจะแผดแหลมยิ่งขึ้นที่รอบสูง เสียงคำรามสไตล์เฟอร์รารี่นี้สอดรับกับสมรรถนะของรถ, ให้สัมผัสที่ไม่มีใครเสมอเหมือน และสร้างจุดเปลี่ยนให้กับประวัติศาตร์หน้าใหม่ของยนตรกรรม Berlinetta จากมาราเนลโล
แม้จะอยู่นอกรถ ก็ยังรู้ได้ทันทีว่านี่คือเสียงคำรามของเครื่องยนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ นับเป็นครั้งแรกของขุมพลัง V6 ตระกูล F163 ที่ถูกตั้งฉายาว่า “Piccolo V12” (Little V12) ในระหว่างที่มันอยู่ในช่วงพัฒนา เสื้อสูบแบบ 120 องศา ช่วยรับประกันได้ว่าลำดับการจุดระเบิดจะสมมาตรในขณะที่ท่อร่วมไอเสียซึ่งมีความยาวท่อเท่าๆ กัน ก่อนรวมเป็นท่อเดียวที่ด้านนอกสุดของเสื้อสูบจะทำให้เกิดแรงดันคลื่นเสียง คุณลักษณะเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ได้เสียงคำรามที่เป็นเอกลักษณ์อย่างแท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากรอบเครื่องที่ทำงานสูงสุดถึง 8,500 รอบ/นาที ท่อไอเสียในส่วนที่เรียกว่า “Hot Tube” ได้รับการออกแบบขึ้นใหม่หมดเพื่อ 296 GTB โดยเฉพาะ และจัดวางไว้ก่อนถึงระบบกรองไอเสียซึ่งทำให้เสียงคำรามถูกแยกส่งไปยังห้องโดยสาร ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและความเร้าใจขณะขับขี่ให้มากยิ่งขึ้น
ELECTRIC MOTOR
นี่คือรถคันแรกของ Ferrari ที่ใช้ระบบ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และขับเคลื่อนล้อหลัง โดยเครื่องยนต์จะทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าด้านหลังซึ่งทำกำลังได้สูงสุด 122 กิโลวัตต์ (167 แรงม้า) ที่นำมาจากรถแข่ง Formula ทั้งยังนำระบบ MGU-K (Motor Generator Unit, Kinetic) มาใช้อีกด้วย มอเตอร์ไฟฟ้าและเครื่องยนต์จะสื่อสารระหว่างกันผ่าน Transition Manager Actuator (TMA) ซึ่งจะช่วยให้ทั้งสองแหล่งพลังงานทำงานร่วมกันเพื่อสร้างแรงม้ารวม 830 แรงม้า หรือแยกจากกันและปล่อยให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเพียงอย่างเดียว
เคียงคู่ไปกับขุมพลัง V6 เทอร์โบ และเกียร์ DCT 8 จังหวะ แบบเดียวกับที่ใช้ใน SF90 Stradale, เฟอร์รารี่ Roma, Portofino M และ SF90 Spider คือมอเตอร์ไฟฟ้า MGU-K ซึ่งติดตั้งคั่นกลางระหว่างเครื่องยนต์และชุดเกียร์, TMA ที่จะแยกการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าออกจากเครื่องยนต์, แบตเตอรี่แรงดันสูงขนาด 7.45 กิโลวัตต์ชั่วโมง และอินเวอร์เตอร์ซึ่งใช้ควบคุมมอเตอร์ไฟฟ้า
MGU-K คือมอเตอร์ไฟฟ้าชนิดแม่เหล็กถาวรตามแนวแกน (Axial Flux) แบบโรเตอร์คู่, สเตเตอร์เดี่ยว โครงสร้างและขนาดที่กะทัดรัดจึงช่วยลดความยาวของระบบส่งกำลังลง ซึ่งหมายถึงทำให้ความยาวฐานล้อของ 296 GTB สั้นลงตามไปด้วย มอเตอร์ไฟฟ้าจะชาร์จไฟให้กับแบตเตอรี่แรงดันสูง และทำงานร่วมกับเครื่องยนต์โดยส่งแรงบิดและพลัง (สูงสุด 167 แรงม้า) เพิ่มเติม ทั้งยังสามารถขับเคลื่อนรถด้วยพลังไฟฟ้าล้วนได้ในโหมด eDrive ดีไซน์ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ของ MGU-K ช่วยให้สามารถทำแรงบิดสูงสุดได้ถึง 350 นิวตันเมตร หรือมากกว่าระบบก่อนหน้านี้ 20 เปอร์เซ็นต์
TMA (Transition Manager Actuator) ทำให้การเปลี่ยนจากระบบไฟฟ้าเป็นระบบ ไฮบริด/เครื่องยนต์ หรือทำงานกลับกันเป็นไปอย่างฉับไว ทั้งยังให้แรงบิดที่ยอดเยี่ยมและราบรื่น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการควบคุมซึ่งถูกพัฒนาขึ้นโดยตรงจากเฟอร์รารี่ จะสื่อสารกับซอฟต์แวร์ของเกียร์ DCT, มอเตอร์ และอินเวอร์เตอร์ เพื่อจัดการทำงานของเครื่องยนต์ตลอดจนตัดต่อระบบส่งกำลัง ด้วย TMA ทำให้ดีไซน์ของระบบส่งกำลังมีขนาดกะทัดรัดอย่างน่าเหลือเชื่อ: ระบบโดยรวมมีผลทำให้ความยาวของระบบขับเคลื่อนเพิ่มขึ้นเพียง 54.3 มม. โครงสร้างของระบบประกอบด้วยคลัตช์แห้งแบบ 3 แผ่น, ชุดควบคุมคลัตช์จัดวางไว้กับชุดขับเคลื่อนพร้อมด้วยแขนควบคุมคลัตช์ และ ECU
ด้วยการออกแบบซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผลิตโดยใช้การเชื่อมด้วยเลเซอร์ แบตเตอรี่แรงดันสูงของ 296 GTB มีความจุ 7.45 กิโลวัตต์ชั่วโมง และอัตราส่วน น้ำหนัก/กำลัง ที่ยอดเยี่ยม ชุดแบตเตอรี่ติดตั้งไว้ที่พื้นรถ เพื่อลดปริมาตรและน้ำหนัก ระบบระบายความร้อน, โครงสร้าง และจุดยึดแบบตายตัวจึงถูกรวมเอาไว้เป็นชุดเดียวกัน เซลของโมดูลประกอบด้วยเซล 80 เซล เชื่อมต่อกันเป็นชุด ตัวควบคุมเซลแต่ละชุดถูกติดตั้งโดยตรงกับโมดูลเพื่อลดขนาดและน้ำหนัก
อินเวอร์เตอร์ของ 296 GTB มีพื้นฐานอยู่บนโมดูลซิลิคอนสองชุดที่เชื่อมต่อกันแบบขนาน โหมดการส่งกำลังได้รับการปรับอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้แรงบิดของ MGU-K เพิ่มขึ้นเป็น 315 นิวตันเมตร อุปกรณ์นี้จะเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าด้วยระดับประสิทธิภาพที่สูงมาก (มากกว่า 94%) และสามารถจ่ายพลังงานที่จำเป็นในการสตาร์ทขุมพลัง V6 แม้ขณะที่มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดก็ตาม
AERODYNAMICS
296 GTB ก้าวขึ้นสู่ความเป็นรถสปอร์ต Berlinetta เครื่องวางกลางลำ พร้อมด้วยความเป็นที่สุดและนวัตกรรมล้ำสมัย เทอร์โบถูกติดตั้งไว้เหนือเสื้อสูบแบบ V นั่นหมายถึงองค์ประกอบสำคัญๆ ทั้งหมดที่เป็นตัวสร้างความร้อน ถูกนำมารวมเอาไว้ที่กึ่งกลางด้านบนของห้องเครื่อง ซึ่งในทางกลับกัน จะช่วยให้จัดการกับความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของห้องเครื่องและอุปกรณ์ไฟฟ้าฟ้าต่างๆ ปัญหาใหญ่ในอดีตนี้ได้รับการแก้ไขด้วยระบบแอโร ที่เปลี่ยนมาเป็นแบบแอคทีฟที่ส่วนหน้าของรถ ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่รุ่น 458 Speciale เป็นต้นมา สำหรับใน 296 GTB นับเป็นครั้งแรกที่ชิ้นส่วนแบบแอคทีฟไม่ได้ถูกใช้เพื่อจัดการกับแรงต้าน แต่เพื่อการเพิ่มดาวน์ฟอร์ซให้มากขึ้น สปอยเลอร์แบบแอคทีฟที่รับแรงบันดาลใจมาจาก LaFerrari หลอมรวมเข้ากับกันชนหลังส่งให้ 296 GTB สร้างดาวน์ฟอร์ซด้านหลังได้ในระดับสูงเมื่อจำเป็น: เทียบเท่ากับน้ำหนักสูงสุด 360 กก. ที่ 250 กม./ชม. เมื่อติดตั้งแพ็คเกจ Assetto Fiorano
ประสิทธิภาพที่น่าทึ่งนี้เกิดขึ้นจากการปรับส่วนเว้าส่วนโค้งของรถให้เหมาะสมที่สุด ผลที่ได้คือยนตรกรรมที่มาพร้อมเส้นสายสะอาดตา, ดีไซน์งามสง่า ที่หลอมรวมองค์ประกอบด้านสมรรถนะเข้ากับสไตล์ได้อย่างลงตัว เน้นย้ำถึงการผสมผสานอย่างแนบเนียนกลมกลืนระหว่างเทคโนโลยีและสุนทรียภาพอันเป็นเอกลักษณ์ของเฟอร์รารี่ทุกคัน พัฒนาการด้านอากาศพลศาสตร์ใน 296 GTB ทำให้แม้ในขณะที่มีแรงต้านต่ำ รถก็ยังสามารถสร้างดาวน์ฟอร์ซได้สูงกว่าชุดแอโรก่อนหน้านี้ และที่ดาวน์ฟอร์ซสูงสุด สปอยเลอร์แบบแอคทีฟจะสร้างแรงกดเพิ่มขึ้นถึง 100 กก.
เครื่องยนต์ และเกียร์ได้รับการลดความร้อนผ่านหม้อน้ำ 2 ตัว ที่ติดตั้งไว้หน้ารถ ก่อนถึงล้อหน้าทั้งสองฝั่ง และตรงนี้ยังมีคอนเดนเซอร์ 2 ชุด สำหรับลดความร้อนให้กับแบตเตอรี่แรงดันสูงติดตั้งอยู่อีกด้วย ลมร้อนจะถูกระบายออกบริเวณใต้ท้องรถ เพื่อป้องกันไม่ให้ไปรบกวนอากาศเย็นที่ถูกป้อนไปยังอินเตอร์คูลเลอร์ตามแนวด้านข้างส่วนบนของรถ ด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถพิ่มประสิทธิภาพและลดขนาดของช่องรับอากาศลงได้ เหนือสิ่งอื่นใดคือทำให้เส้นสายด้านข้างของรถดูสะอาดตายิ่งขึ้น แผงระบายความร้อนสำหรับระบบไฮบริดถูกแยกออกเป็น 2 ช่องทาง ติดตั้งไว้ใต้ส่วนข้างของสปอยเลอร์ ทางออกนี้ช่วยเพิ่มพื้นที่ตรงกลางของส่วนหน้ารถ ทำให้นำมาใช้เป็นตัวสร้างดาวน์ฟอร์ซได้ ทั้งยังช่วยลดขนาดและน้ำหนักได้อีกด้วย
ห้องเครื่องประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ปกติซึ่งสามารถทำงานได้ที่อุณหภูมิสูงสุดมากกว่า 900 องศาเซลเซียส และส่วนประกอบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งต้องทำงานที่อุณหภูมิต่ำกว่า สิ่งนี้นำไปสู่การออกแบบตำแหน่งติดตั้งเทอร์โบและท่อไอเสียใหม่ทั้งหมด
ระบบระบายความร้อนให้กับชุดเบรกได้รับการพัฒนาขึ้นโดยต่อยอดมาจากคาลิเปอร์แบบแอโรที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกใน SF90 Stradale ร่วมกับช่องระบายอากาศที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับชุดคาลิเปอร์ คอนเซปต์การระบายความเบรกดังกล่าว จำเป็นต้องมีการแบ่งช่องดักอากาศอย่างถูกต้อง เพื่อแยกลมเย็นที่วิ่งผ่านช่องรับอากาศบริเวณกันชนหน้าผ่านไปยังซุ้มล้อ ในกรณีของ 296 GTB ช่องรับอากาศถูกรวมเข้ากับดีไซน์ของชุดไฟหน้า โดยอยู่ที่ใต้ไฟ DRL, ฝั่งด้านใน, เชื่อมต่อไปยังซุ้มล้อผ่านช่องที่พาดขนานต่อเนื่องไปถึงสตรัทของช่วงล่าง เพื่อนำอากาศเย็นไปสู่ระบบเบรก
สิ่งนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะออกแบบใต้ท้องรถให้เหนือขึ้นไปถึงขีดสุด ด้วยการเพิ่มความสามารถการระบายความร้อนของใต้ท้องรถโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มกลไกแอโรแบบแอคทีฟใดๆ เข้าไปที่ด้านหน้าของรถ องค์ประกอบแอโรไดนามิกที่ส่วนหน้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ 296 GTB ก็คือ ‘Tea-tray’ การจัดเรียงของมวลที่แผ่กระจายอยู่บริเวณด้านข้างของรถ ช่วยทำให้พื้นที่ตรงกลางซึ่งใช้เป็นที่ติดตั้ง Tea-tray ล้อมรอบด้วยส่วนเชื่อมต่อที่ผสานเข้ากับสถาปัตยกรรมและสไตล์ของกันชนหน้าได้อย่างลงตัว ชุดแอโรนี้นำคอนเซ็ปต์ที่นิยมใช้ในรถแบบที่นั่งเดี่ยว: พื้นผิวด้านหลังของกันชนทำงานร่วมกับพื้นผิวด้านบนของ Tea-tray เพื่อสร้างแรงกดอากาศสูง ทำหน้าที่ต้านแรงกดอากาศด้านล่างของใต้ท้องรถ
แรงดันที่ต่างกันทั้งสองส่วนยังคงแยกจากกันจนถึงขอบของ Tea-tray ทว่าที่จุดนี้ สนามแรงดันตรงข้ามทั้งสองจะมารวมกันอีกครั้ง ทำให้เกิดกระแสลมวนที่เชื่อมโยงกันและมีพลังสูง พุ่งตรงไปที่ใต้ท้องรถ การเคลื่อนที่ของกระแสลมวนของอากาศ จะแปลเป็นการเร่งความเร็วของการไหลที่ทำให้เกิดแรงดูดระดับสูงและสร้างดาวน์ฟอร์ซบนเพลาหน้าได้มากยิ่งขึ้น
เมื่อมองจากด้านหน้ารถ ด้านข้างของรถจะยกเข้าด้านในอย่างเห็นได้ชัด จนดูเหมือนพับขึ้นเหนือส่วนปลายของ Splitter พื้นที่ว่างนี้ทำให้สามารถกำหนดช่องทางการไหลของอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มการไหลของอากาศในส่วนล่างของกันชนไปในตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการไหลที่กระทบกับด้านข้างของ Splitter ได้อย่างเต็มที่ พื้นที่ของกันชนบริเวณหน้าล้อจึงถูกเติมเต็มด้วยเส้นสายแนวตั้งซึ่งจะสร้างพื้นที่บีบอัดอากาศ เพื่อเพิ่มแรงกดและความสามารถในการดึงลมร้อนออกจากหม้อน้ำให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ที่ด้านข้างของกันชน ช่องดักอากาศด้านข้างจะลำเลียงอากาศจากส่วนหน้าของกันชนไปยังล้อ เพื่อให้อากาศระบายออกไปทางช่องเปิดที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษในซุ้มล้อ
การปรับเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของส่วนกลาง คือการลดระดับพื้นผิวให้มีความสูงน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย วิธีนี้ทำให้ใต้ท้องรถอยู่ใกล้พื้นถนนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงดูดลงไปสู่พื้นและสร้างดาวน์ฟอร์ซให้กับด้านหน้าของรถ ใต้ท้องรถได้รับการยกขึ้นเหนือความสูงขั้นต่ำเล็กน้อย เพื่อเพิ่มคุณภาพการไหลของอากาศที่เคลื่อนที่อยู่ระหว่างใต้ท้องรถและพื้นถนน ทั้งยังช่วยเพิ่มพื้นที่แนวตั้งให้กับครีบเรียงกระแสอากาศได้อีกทางหนึ่งด้วย รูปทรงที่ออกแบบขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจงและเอฟเฟคท์ที่เกิดขึ้นกับใต้ท้องรถด้านหลัง ช่วยทำให้มั่นใจได้ว่ารถจะมีสมดุลที่ถูกต้องในทุกสภาพการขับขี่เสมอ
การใช้คาลิเปอร์เบรกแบบ ‘แอโร’ ช่วยให้สามารถสร้างระบบระบายความร้อนโดยเฉพาะได้โดยไม่ต้องใช้ท่อดักอากาศใต้ปีกนกของช่วงล่าง พื้นที่ว่างที่เพิ่มขึ้น ถูกใช้เพื่อขยายส่วนแบนเรียบของใต้ท้องรถให้แผ่ออกไปยังในบริเวณนั้น ช่วยเพิ่มพื้นที่สำหรับสร้างแรงกดและยังสามารถเพิ่มตัวเรียงกระแสอากาศรูปตัว L ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เข้าไปได้อีกด้วย
สไตล์ของท้ายรถถือเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนจากดีไซน์ของรถคูเป้ของ Ferrari แบบดั้งเดิม โดยใช้สถาปัตยกรรมที่ให้ภาพลักษณ์เหมือนรถ Spider ที่มีความไม่ต่อเนื่องระหว่างหลังคาและฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหลัง ทำให้ 296 GTB มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นที่จดจำได้ทันทีที่เห็น และจากมุมมองทางอากาศพลศาสตร์ สิ่งนี้ได้นำไปสู่การเพิ่มโปรไฟล์ปีกบนหลังคาซึ่งขยายออกเป็นครีบด้านข้างสองด้านที่โอบรับรอบขอบของฝาครอบเครื่องยนต์ด้านหลัง
เอกลักษณ์สำคัญของแอโรไดนามิกด้านหลังใน 296 GTB คือสปอยเลอร์แบบแอคทีฟที่สร้างดาวน์ฟอร์ซเพิ่มเติมและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับควบคุมรถ ตลอดจนประสิทธิภาพการเบรกของรถที่ความเร็วสูง คอนเซ็ปต์แอโรแบบแอคทีฟ ตรงกันข้ามกับแนวคิดที่นำมาใช้กับรถ Berlinetta ของ Ferrari ตั้งแต่รุ่น 458 Speciale เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ แผ่นกระจายอากาศบนดิฟฟิวเซอร์เปิดให้เปลี่ยนจากการค่าแบบแรงกดสูง (HD: High-Downforce) เป็นแบบแรงต้านต่ำ (LD: Low-Drag) ที่ช่วยให้รถทำความเร็วสูงสุดบนทางตรงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อชุดแอโรแบบแอคทีฟใน 296 GTB เริ่มทำงาน จะช่วยสร้างแรงกดได้มากยิ่งขึ้น
สปอยเลอร์หลังแบบแอคทีฟติดตั้งไว้อย่างแนบเนียนในกันชน กินพื้นที่เกือบทั้งหมดระหว่างไฟท้าย เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ดาวน์ฟอร์ซสูงสุด สปอยเลอร์จะถูกเก็บไว้ที่ส่วนบนสุดของท้ายรถ แต่ทันทีที่เร่งความเร็ว (ซึ่งระบบควบคุมไดนามิกของรถจะคอยตรวจจับอยู่ตลอดเวลา) สูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด สปอยเลอร์ก็จะเริ่มทำงานและขยายออกจากตัวถังรถ ส่งผลให้มีแรงกดบนเพลาหลังเพิ่มขึ้น 100 กก. ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถขณะขับขี่ที่ความเร็วสูงได้ดีขึ้น และยังทำให้ระยะเบรกสั้นลงอีกด้วย
เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อการทำงานของส่วนท้ายรถ จึงจำเป็นต้องแน่ใจว่าอากาศที่ไหลผ่านด้านหลังยังคงมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งในสภาวะแรงต้านต่ำและแรงกดสูง การปราศจากกระจกหลังที่พาดจากขอบหลังคาไปถึงท้ายรถ หมายถึงการแยกการไหลของอากาศออกจากหลังคาต้องได้รับการจัดการอย่างพิถีพิถัน ด้วยการสร้างแฟริ่งเสมือนจริงที่ยอมให้อากาศไหลผ่านหลังคาไปกระทบกับส่วนท้ายของรถได้อย่างถูกต้องเช่นเดียวกับตอนที่อากาศถูกลำเลียงด้วยกระจกหลังจริงๆ นี่คือวิธีที่ทำให้คู่หูซึ่งประกอบด้วยโปรไฟล์ของปีกและพื้นที่ลมวิ่งผ่านบริเวณส่วนท้ายของห้องโดยสาร ทำงานได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยพื้นที่ส่วนท้ายดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่ปรับแต่งขึ้นโดยเฉพาะในระหว่างการพัฒนา CFD จากนั้นจึงตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้งในอุโมงค์ลม
การพัฒนาส่วนหน้ารถ เพื่อให้เกิดเอฟเฟกต์ที่ท้ายรถส่งผลให้เกิดสมดุลในขณะที่มีแรงต้านต่ำ เช่น เมื่อดาวน์ฟอร์ซที่ด้านหลังไม่ได้รับประโยชน์จากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอีก 100 กก. ในเรื่องนี้ นักออกแบบได้ใช้ประโยชน์จากการจัดวางท่อร่วมไอเสียซึ่งเป็นแหล่งรวมความร้อนหลักที่ส่วนบนของเครื่องยนต์ สิ่งนี้ช่วยเพิ่มการระบายอากาศของส่วนประกอบใต้ฝาครอบให้เหมาะสม ดังนั้น จึงช่วยเพิ่มพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับการสร้างดาวน์ฟอร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ส่วนกลางใต้เครื่องยนต์ ซึ่งหลีกเลี่ยงผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อประสิทธิภาพการไหลของอากาศใต้ท้องรถ
เนื่องจากอากาศที่ไหลอยู่ด้านบนนั้นมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ดิฟฟิวเซอร์จึงมีดีไซน์ที่ดูเรียบง่าย, เป็นเชิงเส้นตรง ซึ่งสอดคล้องกับส่วนบนของกันชนหลังได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่วนกลางของดิฟฟิวเซอร์มีลักษณะเป็นเส้นหยักสองเส้น จึงสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางของกระแสอากาศ ที่ทำให้เกิดแรงดูดไปตามใต้ท้องรถก่อนถูกปล่อยออกไปจากรถได้ ทำให้อากาศที่ปล่ออยออกมาขยายตัวในแนวตั้งและเกิดเป็นแรงต้านได้
VEHICLE DYNAMICS
การพัฒนาไดนามิกของ 296 GTB มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของรถอย่างแท้จริง และมอบการมีส่วนร่วมของผู้ขับขี่ในระดับสูงสุด โดยใช้สถาปัตยกรรมใหม่ (ขุมพลัง V6, ระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด, ระยะฐานล้อที่สั้นลง) รวมถึงการปรับปรุงการใช้งานและการเข้าถึงไม่เพียงเรื่องสมรรถนะของรถเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เลย์เอาต์แบบไฮบริดเอื้ออำนวย
บรรลุเป้าหมายนี้ได้โดยการสร้างเสริมสถาปัตยกรรมและพยายามทำให้ส่วนประกอบหลักของรถให้มีขนาดกะทัดรัดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตลอดจนบริหารจัดการการใช้พลังงานและระบบควบคุมไดนามิกของรถ อุปกรณ์ใหม่หลายรายการถูกพัฒนาขึ้นสำหรับ 296 GTB โดยเฉพาะ ไม่เพียงแค่ Transition Manager Actuator (TMA) และระบบ 6-way Chassis Dynamic Sensor (6w-CDS) ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกของโลกเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชั่นใหม่ๆ เช่น ABS evo controller ซึ่งใช้ข้อมูลที่ได้มาจากระบบ 6-w CDS และประสิทธิภาพการยึดเกาะมาประมวลผลร่วมกับระบบ EPS
ใน Ferrari วิธีที่รถรับมือ และตอบสนองต่อผู้ขับขี่ (สิ่งที่เรียกว่าปัจจัยภายใน คือความสนุกในการขับขี่) วัดจากตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน 5 ข้อ:
- ด้านข้าง: ตอบสนองต่ออินพุตของพวงมาลัย, ปฏิกิริยาที่รวดเร็วของล้อคู่หลังต่ออินพุตจากพวงมาลัย, การบังคับควบคุมที่ง่ายดาย
- ตามแนวยาว: ความรวดเร็วและราบรื่นของการตอบสนองคันเร่ง
- การเปลี่ยนเกียร์: เวลาเปลี่ยนเกียร์, รู้สึกได้ถึงความต่อเนื่องทุกครั้งที่เปลี่ยนเกียร์
- การเบรก: ความรู้สึกของแป้นเบรกในแง่ของความลึกเมื่อเหยียบลงไปและการตอบสนอง (ประสิทธิภาพและการเคลื่อนที่)
- เสียง: ระดับและคุณภาพในห้องโดยสาร และความดุดันของเสียงเครื่องยนต์เมื่อรอบเครื่องเพิ่มสูงขึ้น
ประสิทธิภาพที่เข้าถึงและใช้งานได้ง่าย ก็มีความสำคัญเช่นกันเมื่อขับ 296 GTB: ตัวอย่างเช่น ในโหมด eDrive ที่ใช้ไฟฟ้าเท่านั้น รถทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กม./ชม. โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องยนต์ ในทางกลับกัน ที่โหมด Hybrid เครื่องยนต์จะเป็นกำลังเสริมให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าเมื่อต้องการประสิทธิภาพสูงขึ้น การเปลี่ยนระหว่างโหมดขับขี่ด้วยไฟฟ้าและโหมดไฮบริดได้รับการจัดการอย่างลื่นไหลนุ่มนวล เพื่อรับประกันว่ารถจะเร่งความเร็วได้ราบรื่นและสม่ำเสมอ ทั้งยังสร้างพลังให้พร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ระยะเบรกบนถนนแห้งสั้นลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย ABS evo ใหม่ และทำงานผสานกับเซ็นเซอร์ 6w-CDS ซึ่งช่วยให้มั่นใจถึงแรงเบรกที่สม่ำเสมอยิ่งขึ้นภายใต้การเบรกอย่างหนักหน่วงซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ในส่วนของแชสซีส์ ฐานล้อสั้นกว่า Ferrari แบบ Berlinetta เครื่องวางกลางลำด้านหลัง 50 มม. เพื่อให้รถมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น ทางออกอื่นๆ ที่ช่วยเพิ่มการบังคับควบคุมและสมรรถนะของรถยังรวมไปถึงระบบ Brake-by-wire, คาลิเปอร์เบรกแบบ ‘แอโร’, พวงมาลัยไฟฟ้า, ชุดแอโรท้ายรถแบบแอคทีฟ และแดมเปอร์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า SCM-Frs
ใส่ใจอย่างพิถีพิถันในการลดน้ำหนัก เพื่อให้แน่ใจว่ารถจะมีความสมดุลและสัมผัสในการบังคับควบคุมที่ละเอียดละออ: น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของระบบไฮบริดถูกชดเชยด้วยวิธีแก้ไขต่างๆ รวมถึงเครื่องยนต์ V6 ใหม่ ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่าแบบ V8 ที่ใช้ในรถ Berlinetta รุ่นก่อนหน้านี้ถึง 30 กก. และการใช้วัสดุน้ำหนักเบากับชิ้นส่วนอีกมากมาย ผลที่ได้คือน้ำหนักรถเปล่าเพียง 1,470 กก. จนทำให้ก้าวขึ้นเป็นรถที่มีอัตราส่วน น้ำหนักต่อแรงม้าดีที่สุดในคลาส ที่ 1.77 กก./แรงม้า
นอกจากนี้น้ำหนักของ 296 GTB ยังถูกลดลงไปจากการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเพียงตัวเดียวเพื่อขับเคลื่อนล้อหลังเท่านั้น สำหรับฟังก์ชันหลักในการชาร์จไฟ มีการใช้ระบบนำพลังงานจากเบรกในสภาวะการเบรกปกติ เช่นเดียวกับเมื่อเบรกอย่างหนักหน่วงจน ABS เข้ามาแทรกแซง และแบตเตอรี่ยังถูกชาร์จผ่านการบริหารจัดการร่วมกันของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าอีกด้วย
ขณะที่ระบบควบคุมการยึดเกาะถนนด้วยไฟฟ้าและการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่แล้ว ต้องขอบคุณระบบ Brake-by-wire แบบใหม่ ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบไฮดรอลิกและไฟฟ้าได้อย่างสอดประสานในทุกโหมดการทำงาน (รวมถึง ABS) ระบบควบคุมการยึดเกาะและการลื่นไถลที่เปิดตัวครั้งแรกของโลกคือ ‘ABS evo’ ต้องยกความดีความชอบให้กับระบบ Brake-by-wire ที่ช่วยลดระยะการเหยียบแป้นเบรกให้สั้นลง จึงเพิ่มสัมผัสแบบสปอร์ตโดยไม่ทำให้ประสิทธิภาพเมื่อเบรกเบาๆ ลดลง หรือเหยียบเมื่ออยู่บนสนามแข่ง โมดูลควบคุม ABS แบบใหม่ ซึ่งรวมอยู่ในระบบ 6w- CDS Sensor เพิ่มขีดจำกัดการยึดเกาะของยางหลังให้สูงขึ้นอีกขั้น ทำให้ได้ระยะเบรกสั้นลง และเพิ่มประสิทธิภาพขณะเข้าโค้งให้ดียิ่งขึ้น
การสลับไปมาระหว่างโหมดไฟฟ้าและโหมดไฮบริด เป็นคุณลักษณะพื้นฐานของบุคลิกแบบรถสปอร์ตใน 296 GTB เช่นเดียวกับระบบส่งกำลังที่บริหารจัดการพลังงานได้เป็นอย่างดี ทั้งสองมีบทบาทพื้นฐานเพื่อผสานเข้ากับฟังก์ชันไดนามิกของรถ: นั่นคือเหตุผลที่ตัวเลือกจัดการแหล่งพลังงาน (eManettino) ถูกนำมาใช้ควบคู่ไปกับ Manettino แบบดั้งเดิม โดย eManettino มีสี่ตำแหน่งด้วยกัน:
– eDrive: เครื่องยนต์สันดาปภายในจะไม่ถูกใช้งาน และขับเคลื่อนล้อหลังด้วยไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็มรถสามารถวิ่งได้ไกล 25 กม. ที่ความเร็วสูงสุด 135 กม./ชม.
– Hybrid (H): นี่คือโหมดเริ่มต้นเมื่อเริ่มใช้รถ กระแสไฟได้รับการจัดการเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด และระบบควบคุมจะกำหนดการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายใน เมื่อใช้เครื่องยนต์ รถจะให้กำลังและสมรรถนะสูงสุด
– Performance: เครื่องยนต์จะทำงานตลอดเวลา และช่วยคงประสิทธิภาพของไฟในแบตเตอรี่เอาไว้ เพื่อให้แน่ใจว่ามีพลังงานเต็มที่ตลอดเวลา นี่คือการตั้งค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการขับขี่แบบสปอร์ต
– Qualify: ให้ประสิทธิภาพสูงสุด แต่มีการชาร์จไฟกลับเข้าแบตเตอรี่น้อยกว่าปกติ
ตัวประเมินการยึดเกาะในระบบ Side Slip Control (SSC) ทำงานควบคู่กับระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า โดยใช้ข้อมูลจาก EPS เพื่ออ้างอิงกับการลื่นไถลด้านข้างที่ SSC ประเมินไว้ ทำให้สามารถประมาณการยึดเกาะของยางได้ในทุกๆ การบังคับเลี้ยว รวมถึงขณะที่รถยังไม่ได้ขับจนถึงขีดจำกัดสูงสุด รับประกันว่าระบบควบคุมจะเข้าไปแทรกแซงอย่างถูกต้องตามสภาพการยึดเกาะ และเมื่อขับขี่บนสนามแข่งการประมาณการประมวลผลทำได้เร็วกว่ารุ่นก่อนหน้าถึง 35 เปอร์เซ็นต์
296 GTB มีโมดูลควบคุม ABS แบบใหม่ ที่พัฒนาขึ้นสำหรับเฟอร์รารี่โดยเฉพาะ และใช้งานได้ที่ตำแหน่ง ‘Race’ ขึ้นไป ใช้ข้อมูลจาก 6w-CDS เพื่อให้ได้ค่าประมาณการของความเร็วที่แม่นยำยิ่งขึ้น และกระจายการเบรกให้เหมาะสมที่สุดเมื่อเทียบกับ Yaw Rate ที่มีใช้อยู่ปัจจุบัน เซ็นเซอร์ 6w-CDS จะตรวจวัดทั้งอัตราเร่งและความเร็วของการหมุนบนแกนทั้งสาม (X, Y, Z) ทำให้ระบบควบคุมไดนามิกอื่นๆ สามารถอ่านพฤติกรรมไดนามิกของรถได้แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขณะมีการแทรกแซงให้ดียิ่งขึ้น ความแม่นยำนี้ช่วยให้สามารถใช้แรงตามแนวยาวของยางได้ดีขึ้นเมื่อเบรกในทางตรง และบนทางโค้ง เมื่อล้อหลังอยู่ภายใต้สภาวะครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างประสิทธิภาพการเบรกและความเสถียรด้านข้าง ผลที่ได้คือการระยะเบรกที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม: เมื่อเปรียบเทียบกับ F8 Tributo แล้ว 296 GTB มีระยะเบรก 200-0 กม./ชม. ลดลง 8.8% และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรกซ้ำจากความเร็วเดียวกันนั้นถึง 24%
STYLING EXTERIOR
ดีไซน์ของ Ferrari 296 GTB เป็นผลมาจากความปรารถนาของ Ferrari Styling Center ที่ต้องการนิยามเอกลักษณ์ของรถแบบ Berlinetta สองที่นั่ง เครื่องวางกลางด้านหลัง ด้วยการทำให้มีขนาดกะทัดรัดเป็นพิเศษ พร้อมรูปลักษณ์ที่สะท้อนความดั้งเดิมแบบต้นฉบับ ทว่าทันสมัยยิ่งขึ้น ต้องขอบคุณฐานล้อที่สั้น และโครงสร้างที่ออกแบบมาอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ 296 GTB เป็นรถ Berlinetta ขนาดกะทัดรัดที่สุด ที่ออกมาจากมาราเนลโลในทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างตัวถังแบบ fastback ของ Berlinetta ถูกละทิ้งไป เพื่อสร้างสถาปัตยกรรมห้องโดยสารที่ดูมีระดับ อันเป็นผลจากฐานล้อสั้นและสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ เช่น โป่งล้อที่ดูกำยำ, เสาหลังคาที่แข็งแกร่ง และกระจกหลังแนวตั้งแบบใหม่ รูปแบบเหล่านี้สร้างภาพเงาแบบดั้งเดิมในห้องโดยสารที่สะท้อนให้เห็นถึงสไตล์ในภาพรวมของรถ
สถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและสะอาดตาไร้ที่ติของ 296 GTB ดูราวกับงานศิลป์ที่เกิดจากการตวัดดินสอเพียงครั้งเดียว ไม่มีทั้งดีไซน์ที่หลอกตาให้รถดูเพรียวบางหรือการใช้สีที่ตัดกันโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกัน ดีไซเนอร์กลับเลือกต้นแบบที่เด่นชัดที่สุดเพื่อให้รถมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังนั้น จึงสร้างกฎเกณฑ์ทั้งหมดขึ้นมาใหม่ ด้วยการกลับไปค้นหาแก่นแท้ของการออกแบบรถยนต์สไตล์อิตาเลี่ยนขนานแท้ รูปโฉมสะอาดตาและสัดส่วนที่เชื่อมประสานกัน ทำให้ 296 GTB มีบุคลิกสปอร์ตเต็มพิกัด มั่นใจได้ว่านี่จะเป็นทายาทที่คู่ควรกับปรัชญาซึ่งสามารถสืบย้อนไปถึงรากเหง้าของอารยธรรมแบบเฟอร์รารี่ได้ ความทันสมัยเหนือชั้นอ้างอิงมาจากเฟอร์รารี่ในยุค 1960 ที่มีความเรียบง่ายและการใช้งานที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับรุ่น 250 LM ปี 1963 ที่องค์ประกอบต่างๆ เช่น รูปลักษณ์ตัวถังที่ออกแบบให้โค้งมน, ดีไซน์ของเสา B, องค์ประกอบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนของปีกหลังซึ่งติดตั้งช่องรับอากาศเอาไว้ด้วย และ “Kamm Tail” ที่มีรูปโฉมสุดประณีต ให้แรงบันดาลใจแก่ทีมออกแบบ
จุดเด่นซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดอย่างหนึ่งของการออกแบบ 296 GTB คือห้องโดยสาร ซึ่งมีกระจกบังลมที่โค้งโอบล้อมไปถึงกระจกข้าง แบบเดียวกับที่เคยนำมาใช้ในเฟอร์รารี่แบบลิมิเต็ดเอดิชั่นหลายรุ่น รวมถึง J50 และรุ่นพิเศษ เช่น P80/C ธีมนี้จึงแสดงให้เห็นถึงขีดสุดของ Road Car รูปแบบด้านหน้าเชื่อมโยงต่อเนื่องอย่างเป็นธรรมชาติกับเสาหลังคาด้านหลัง พร้อมด้วยฝาท้ายแบบโปร่งใสที่เผยให้เห็นเครื่องยนต์ที่งดงาม
ความงดงามและสมรรถนะของ 296 GTB สามารถเห็นได้ชัดเจนทันที จากส่วนท้ายของรถ ความสัมพันธ์อันทรงพลังระหว่างตัวถังและห้องโดยสารถูกขับให้โดดเด่นด้วยเส้นตัดของหลังคา, โครงสร้างของเสาหลัง และความกำยำของโป่งล้อ ผลลัพธ์ที่ได้คือรถยนต์ขนาดกะทัดรัด ที่ห้องโดยสารถูกจัดวางไว้ท่ามกลางการโอบล้อมของสัดส่วนที่งดงาม
296 GTB เผยให้เห็นความสง่างามทั้งหมดเมื่อมองจากด้านข้าง โดดเด่นด้วยความกำยำของโป่งล้อที่เส้นสายด้านข้างชัดเจนและแข็งแกร่งจะวิ่งไปตามแนวประตู ก่อนผสานเข้ากับช่องรับอากาศขนาดใหญ่ที่จัดวางไว้ในตำแหน่งซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักอากาศพลศาสตร์ ช่องดักอากาศทรงกระบอกทำให้เกิดเป็นสันยกตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไปยังปีกหลังที่บึกบึน ส่วนตัดขวางของปีกหลังได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันเพื่อรับประกันว่าการไหลของอากาศไปยังสปอยเลอร์มีเพียงพอที่จะมอบประสิทธิภาพด้านแอโรไดนามิกระดับสูงตามที่รถคันนี้ต้องการ
สัดส่วนด้านหน้าของ 296 GTB นั้นสะอาดตาและกะทัดรัดอย่างยิ่ง นี่คือผลที่เกิดจากการปรับแต่งรูปทรงเของพื้นผิวอย่างพิถีพิถัน เมื่อเทียบกับรุ่นเครื่องยนต์ V8 วางกลางด้านหลัง ส่วนหน้าของ 296 GTB จะดูเรียวบางกว่ามาก เมื่อมองจากด้านบน ส่วนนูนของซุ้มล้อหน้าจะแบ่งแยกเค้าโครงด้านหน้าของรถทั้งหมด ทำให้เกิดสไตล์ที่สง่างามซึ่งแบ่งพื้นที่ของชุดไฟหน้าทั้งสองข้างออกจากกันอย่างชัดเจน
ไฟหน้านำแรงบันดาลใจจากไฟ “ทรงหยดน้ำ” ในอดีตมาใช้ ใน 296 GTB ธีมนี้ได้รับการตีความผ่าน “หยดน้ำตาแบบแฟริ่ง” สองอันที่วางอยู่ด้านหน้ารถราวกับอัญมณี เติมเต็มความสมบูรณ์แบบด้วย DRL ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของด้านหน้ารถ ร่วมด้วยช่องดักอากาศของระบบเบรก กระจังหน้าเดี่ยวตรงกลางได้รับการปรับโฉมใหม่โดยการลดความสูงของกระจังหน้าตรงกลางลงมาเล็กน้อย ผลที่ได้คือรูปทรงแบบบาร์เบลซึ่งบ่งบอกถึงการมีอยู่ของหม้อน้ำทั้ง 2 ตัว ในส่วนตรงกลางมีปีกขนาดกะทัดรัดซึ่งชวนให้นึกถึงปีกที่ใช้ในรถแข่ง F1
พื้นผิวด้านบนของด้านท้ายสุดล้ำสมัย ถูกครอบด้วยเสาหลังคาที่สูงตระหง่าน ด้านล่างประกอบด้วยฝาครอบห้องเครื่องซึ่งใช้กระจกแบบสามมิติที่เป็นเอกลักษณ์ ส่วนกลางของรถมีองค์ประกอบที่โดดเด่นเป็นสีเดียวกับตัวถัง ซึ่งอ้างอิงถึงธีมการออกแบบอันเป็นที่รักของมาราเนลโล ที่สามารถสืบย้อนไปได้ถึงรถระดับตำนานอย่าง Ferrari Testarossa และ F355 GTB
สไตล์ส่วนท้ายอื่นๆ ของ 296 GTB คือส่วนท้ายที่เรียกว่า Kamm Tail ซึ่งเป็นพื้นผิวที่ออกแบบจนได้สัดส่วนที่งดงาม และเน้นย้ำถึงความกะทัดรัดของรถ ด้านบนของส่วนท้ายยังมีองค์ประกอบแนวนอนที่รวมไฟท้ายและสปอยเลอร์แบบแอคทีฟเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อปิดไฟท้าย เส้นสีดำบางๆ จะเห็นเป็นแนวนอนตลอดความกว้างด้านหลังของรถ เมื่อเปิดไฟท้าย แถบไฟจะปรากฏขึ้นที่ปลายทั้งสองด้าน ทีมออกแบบเลือกที่จะตีความไฟท้ายทรงกลมคู่แบบดั้งเดิมใหม่ โดยผสมผสานฟังก์ชั่นไฟอื่นๆ เข้าไปในรูปทรงครึ่งวงกลม 2 ช่อง ที่ด้านล่างของแถบไฟท้าย
296 GTB มีท่อไอเสียเดี่ยวติดตั้งไว้กึ่งกลางทำให้ดูทันสมัย ดีไซน์ของท่อไอเสียเติมเต็มส่วนล่างของกลางกันชนให้สมบูรณ์แบบ พร้อมแถบที่ขยายขึ้นไปถึงไฟท้ายที่ปลายทั้งสองข้าง เน้นให้รู้สึกความแบนกว้างตามแนวนอนของท้ายรถ สปอยเลอร์หลังถูกเก็บซ่อนไว้ในตัวถังระหว่างไฟท้ายเพื่อทำให้ดีไซน์โดยรวมดูสมบูรณ์แบบ และรับประกันได้ว่าประสิทธิภาพทางแอโรไดนามิกจะไม่ไปรบกวนความงดงามของดีไซน์
296 GTB มาพร้อมกับล้ออัลลอยดีไซน์ก้านคู่แบบใหม่ที่มีรูปทรงแบบดาวห้าแฉก และยังมีชุดล้อฟอร์จแบบ 5 ก้าน รวมถึงมีลายแบบ Diamond-cut ให้เลือกอีกด้วย แต่ละก้านล้อจะเป็นแบบคู่พร้อมด้วยองค์ประกอบทรงโค้งแบบได้นามิกที่ทำให้เกิดร่องระหว่างแต่ละก้านเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูดอากาศออกจากซุ้มล้อ นอกจากนี้ยังมีล้อคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเบากว่าล้อฟอร์จ 8 กก. ที่เป็นมาตรฐานใหม่แห่งสมรรถนะ ให้เลือกอีกด้วย
COCKPIT
ห้องโดยสารของ 296 GTB ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดแห่งอินเตอร์เฟซดิจิตอลเต็มรูปแบบซึ่งเฟอร์รารี่ได้เปิดตัวครั้งแรกใน SF90 Stradale เลย์เอาท์ของห้องโดยสารนี้รังสรรค์ขึ้นให้มีรูปแบบที่สอดคล้องกับ SF90 ในขณะที่ผู้ออกแบบ SF90 Stradale ต้องการเน้นย้ำถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและความแตกต่างที่ชัดเจนจากอดีต; ในกรณีของ 296 GTB แนวคิดคือการทำให้เทคโนโลยีนั้นสมบูรณ์แบบ ผลลัพธ์ที่ได้คือความบริสุทธิ์และเรียบง่าย โดดเด่นด้วยความสง่างามอันทรงพลังที่สะท้อนการออกแบบภายนอกได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ห้องโดยสารของ 296 GTB ยกระดับแนวคิดเรื่องความงดงามขององค์ประกอบฟังก์ชั่นต่างๆ ให้สูงขึ้นไปอีกขั้น เมื่อดับเครื่องยนต์หน้าจอในรถจะเป็นสีดำมืดสนิท ช่วยเติมภาพลักษณ์ที่เรียบง่ายให้กับห้องโดยสาร เบาะนั่งหุ้มด้วยหนังอิตาเลียนสุดพิเศษ และชิ้นส่วนของอุปกรณ์สำหรับการใช้งานใช้วัสดุที่ผลิตขึ้นด้วยเทคนิคขั้นสูง
เมื่อแตะปุ่ม ‘Start Engine’ แบบสัมผัส ส่วนประกอบทั้งหมดจะค่อยๆ เปล่งประกายขึ้นมา 296 GTB เผยให้เห็นความรุ่งโรจน์ทางเทคโนโลยีในรูปแบบของอินเทอร์เฟซที่ทันสมัย, ถูกหลักสรีรศาสตร์ และเป็นระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ หน้าจอหลักติดตั้งลึกลงไปในกรอบบนแดชบอร์ด โดดเด่นด้วยพื้นผิวที่จงใจให้ดูเรียบง่ายสะอาดตา ด้วย 5 สไตล์แบบนี้ จึงเกิดเป็นส่วนโครงสร้างรองรับพวงมาลัยและแผงหน้าปัดที่มองเห็นได้ 2 ชิ้น ซึ่งจะเรียวลงไปในแผงหน้าปัดอย่างแนบเนียน เติมเต็มให้สมบูรณ์แบบด้วยชุดควบคุมระบบสัมผัสที่แยกเป็นสองส่วนขนาบข้างจอหลัก และช่องลมของระบบปรับอากาศ ฝั่งผู้โดยสารมีสไตล์แบบมินิมัล มาพร้อมกับจอแสดงผลสำหรับผู้โดยสารที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน ช่วยให้ผู้โดยสารได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่จนอาจเรียกได้ว่าเป็น co-driver
แผงประตูออกแบบให้ต่อเนื่องกลมกลืนกับแดชบอร์ดทั้งในเรื่องของวัสดุและสีสัน พื้นที่ส่วนกลางของประตูเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ดูลึกลงไป ซึ่งเป็นองค์ประกอบแบบสามมิติ สถาปัตยกรรมรูปแบบนี้ทำให้แผงประตูทั้งบานดูเบาบางมาก และมีธีมที่ต่อเนื่องไปยังด้านหลังของห้องโดยสาร อุโมงค์เกียร์ออกแบบสมัยใหม่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก SF90 Stradale เข้ากับร่องเกียร์แบบคลาสสิก พร้อมช่องสำหรับเก็บกุญแจที่มีตราสัญลักษณ์ม้าลำพอง สำหรับ 296 GTB ผู้ออกแบบได้สร้างเบาะนั่งแบบ Diapason-style ขึ้น โดยใช้เส้นตัดซึ่งมีสีเดียวกับแถบในมาตรวัด
ตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ปรัชญาสูงสุดของเฟอร์รารี่คือ HUD (Head Up Display) ซึ่งติดตั้งกลมกลืนไปกับหนังแท้ที่ใช้ตกแต่งห้องโดสาร ดีไซน์ของลำโพงก็ใช้หลักการเดียวกัน แทนที่จะใช้โลหะ นักออกแบบเลือกใช้ฝาปิดผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่มีสีเดียวกับแดชบอร์ด
ASSETTO FIORANO
สำหรับผู้ที่ต้องการปลดปล่อยพลังและสมรรถนะสูงสุดของรถจะมีแพ็คเกจ Assetto Fiorano สำหรับ 296 GTB ให้เลือกเช่นกัน; ด้วยสมรรถนะระดับสูงสุดจากการลดน้ำหนักและชุดแอโรต่างๆ ที่โดดเด่นที่สุดก็คือโช้คอัพ Multimatic แบบปรับได้ จากรถแข่ง GT สำหรับใช้ในสนามแข่งโดยเฉพาะ; ชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์สำหรับเสริมไปที่กันชนหน้าที่สามารถเพิ่มดาวน์ฟอร์ซได้อีกถึง 10 กก., กระจกหลัง Lexan ตลอดจนชิ้นส่วนที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบาอย่างเช่นคาร์บอนไฟเบอร์อีกมากมายสำหรับทั้งภายในห้องโดยสารและตัวถังภายนอก
แพ็คเกจ Assetto Fiorano มีมากกว่าแค่การเปลี่ยนองค์ประกอบบางชิ้นส่วนจำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างพื้นฐานมาตรฐานใหม่ รวมไปถึงแผงประตู ส่งผลให้น้ำหนักโดยรวมลดลง 12 กก. สุดท้ายคือ ลวดลายพิเศษที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก 250 Le Mans สามารถสั่งซื้อได้เฉพาะผู้เป็นเจ้าของที่เลือกใช้แพ็คเกจ Assetto Fiorano เท่านั้น ดีไซน์เริ่มจากปีกด้านหน้าที่โอบรับกระจังกลาง สไตล์นี้ยังต่อเนื่องไปบนฝากระโปรง ทำให้เกิดรูปทรงแบบค้อน ก่อนที่จะพาดยาวต่อเนื่องขึ้นไปบนหลังคาและเหนือสปอยเลอร์หลัง นอกจากนั้น ยังมีรายการอื่นๆ ให้เลือกสั่งซื้อแยกต่างหากจากแพคเกจ Assetto Fiorano ซึ่งรวมถึงกระจกหลัง Lexan® ที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ ช่วยตัดน้ำหนักรวมออกไปได้ถึง 15 กก., ยางสมรรถนะสูง Michelin Sport Cup2R ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในสนามแข่งเนื่องจากมีประสิทธิภาพการยึดเกาะระดับสูง
7 YEARS MAINTENANCE
มาตรฐานคุณภาพที่เหนือชั้นของเฟอร์รารี่และการมุ่งเน้นที่การบริการลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญของโปรแกรมการบำรุงรักษาขยายระยะเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปี สำหรับ 296 GTB โปรแกรมนี้ครอบคลุมการบำรุงรักษาตามปกติทั้งหมดในช่วง 7 ปีแรกของรถ การบำรุงรักษาตามกำหนดเวลานี้เป็นบริการพิเศษที่ช่วยให้ลูกค้ามั่นใจได้ว่ารถของท่านจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยตลอดเวลา บริการพิเศษนี้มีให้สำหรับผู้ที่ซื้อเฟอร์รารี่มือสองด้วยเช่นกัน
การบำรุงรักษาตามปกติ (ตามระยะทาง 20,000 กม. หรือปีละครั้ง ไม่จำกัดระยะทาง), อะไหล่แท้ และการตรวจเช็คอย่างพิถีพิถันโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงที่ศูนย์ฝึกอบรมของเฟอร์รารี่ในมาราเนลโล โดยใช้เครื่องมือวินิจฉัยที่ทันสมัยที่สุด บริการนี้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการทั้งหมด
โปรแกรมการบำรุงรักษานี้ จะขยายขอบเขตของบริการหลังการขายที่เสนอโดยเฟอร์รารี่ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่ต้องการรักษาประสิทธิภาพและความเป็นเลิศ อันเป็นเอกลักษณ์ของรถยนต์ทุกคันที่สร้างขึ้นจากโรงงานในมาราเนลโล
ข้อมูลทางเทคนิค: Ferrari 296 GTB
ระบบขับเคลื่อน
- ประเภท: V6 – 120° • ความจุกระบอกสูบ: 2992 ซีซี.
- กระบอกสูบ x ช่วงชัก: 88 มม. x 82 มม. • กำลังเครื่องยนต์สูงสุด*: 663 แรงม้า
- กำลังสูงสุดในระบบไฮบริด**: 610 กิโลวัตต์ (830 แรงม้า) ที่ 8000 รอบ/นาที
- แรงบิดสูงสุด: 740 นิวตันเมตร ที่ 6250 รอบ/นาที
- รอบเครื่องยนต์สูงสุด: 8500 รอบ/นาที • อัตราส่วนกำลังอัด: 9.4:1
- ความจุแบตเตอรี่แรงดันสูง: 7.45 กิโลวัตต์ชั่วโมง
มิติ และน้ำหนัก
- ความยาว: 4565 มม. • ความกว้าง 1958 มม. • ความสูง 1187 มม.
- ความยาวฐานล้อ 2600 มม. • ความกว้างฐานล้อหน้า 1665 มม. • ความกว้างฐานล้อหลัง 1632 มม.
- น้ำหนักรถเปล่า*** 1470 กก. • อัตราส่วนน้ำหนักรถเปล่า/แรงม้า 1.77 กก./แรงม้า
- การกระจายน้ำหนัก 40.5% หน้า/59.5% หลัง
- ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 65 ลิตร
ล้อ และยาง
- หน้า: 245/35 ZR 20 J9.0 • หลัง: 305/35 ZR 20 J11.0
เบรก
- หน้า: 398 x 223 x 38 มม. • หลัง: 360 x 233 x 32 มม.
ระบบส่งกำลัง และเกียร์ 8 จังหวะ F1 DCT
ระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ eSSC: eTC, eDiff, SCM, FDE2.0, EPS, ABS Evo, 6w-CDS; ABS/EBD แบบไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ พร้อมระบบนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่
สมรรถนะ
- ความเร็วสูงสุด > 330 km/h
- อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 2.9 วินาที • อัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. 7.3 วินาที
- ระยะเบรก 200-0 กม./ชม. 107 เมตร • เวลาต่อรอบที่สนาม Fiorano: 1 นาที 21 วินาที
อัตราสิ้นเปลืองและการปล่อยมลพิษเป็นไปตามข้อกำหนด
* ใช้น้ำมันเบนซิน 98 RON, ** ใช้ eManettino ในโหมด Qualify, *** ร่วมกับออปชั่นอุปกรณ์น้ำหนักเบา
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: Cavallino Motors
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th