Ferrari GTC4Lusso : ม้าป่าสุดอเนกประสงค์
เมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนที่ Ferrari เปิดตัว FF ออกมา คำถามที่เกิดขึ้นคือ ‘พวกเขากำลังคิดอะไรกัน ?’ แต่หลังผ่านจุดนั้นมาได้ Ferrari ก็ยังทำเช่นเดิมอีกกับการเปิดตัวผลผลิตใหม่ที่คล้ายกันในแง่ Positioning และ Concept ในการทำตลาด แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็น GTC4Lusso…หรือว่าพวกเขากำลังมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่กำลังจะมา ?
ปี 2016 น่าจะเรียกว่าเป็นปีที่ค่อนข้างสำคัญในแง่ของผลิตภัณฑ์สำหรับ Ferrari พวกเขาคือ แบรนด์ซูเปอร์คาร์ชั้นนำของโลก ซึ่งความคาดหวังของลูกค้าที่มีต่อคำว่า Ferrari และโลโก้ม้าลำพองบนแก้มตัวถังทั้ง 2 ฝั่ง คือ สมรรถนะ ความเร้าใจ และภาพลักษณ์ของความเป็นรถสปอร์ตแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบ GT หรือเครื่องยนต์วางกลาง
แต่กับสิ่งที่เกิดขึ้นนับจาก Geneva Motorshow 2016 เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คือสิ่งที่ไม่เหมือนเดิม เพราะทายาทของ FF ถูกเปิดตัวออกมาในชื่อ GTC4Lusso ที่นี่ เหมือนกับเป็นการยืนยันกลายๆ ว่า สิ่งที่พวกเขาทำกันมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วได้รับการตอบรับที่ดี
ตรงนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ เพราะถ้ายังจำกันได้ ตอนที่ Porsche เปิดตัว Cayenne ออกมาเมื่อปี 2002 เชื่อว่าผู้บริหารที่นั่งอยู่ที่สตุ๊ตการ์ทต้องเตรียมรับมือกับคำถามมากมายและแรงต้านจากพวกหัวอนุรักษ์ เพราะการที่ผู้ผลิตซูเปอร์คาร์สักแบรนด์จะกล้าฉีกธรรมเนียมปฏิบัติของตัวเองมาสู่การทำอะไรใหม่ๆ ข้อสงสัยตามมาเยอะแน่
กับ Ferrari ก็เช่นเดียวกัน FF ผ่านจุดของ Q&A ลักษณะนี้มาแล้ว คราวนี้ GTC4Lusso จะเป็นสิ่งที่ยืนยันและอนุมานได้ว่า สิ่งที่พวกเขาคิดนั้นได้ผลและได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า เพราะไม่อย่างนั้นต้องพับไปตั้งแต่ตอน FF หมดอายุตลาดแล้วสิ
ถ้าใครลองศึกษาประวัติศาสตร์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ระดับซูเปอร์คาร์มาตลาด จะพบว่าพวกเขามักจะเจอกับสิ่งที่เรียกว่า ‘วิกฤต’ กันอยู่เสมอ Lamborghini เปลี่ยนเจ้าของไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งก่อนจะมามั่นคงอยู่ในร่มเงาของ Volkswagen Group เช่นเดียวกับ Bugatti ที่ต้องปิดกิจการไปก่อนที่จะถูก Volkswagen ชุบตัวขึ้นมาใหม่ ขณะที่ Ferrari ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาเคยเจอยุคของการเปลี่ยนผ่านมาแล้ว ซึ่งจากการวิเคราะห์จากข้อความและเรื่องราวที่เกิดขึ้น พอจะเข้าใจอย่างหนึ่งถึงเหตุที่พวกเขาตกอยู่ในสภาวะนั้น คือ การปรับตัวไม่ทันกับตลาด และความเชื่อมั่นที่ค่อนข้างสูง
พวกเขาคือบริษัทผลิตซูเปอร์คาร์เพียงอย่างเดียว บนโชว์รูมเมื่อก่อนมีรถจอดโชว์เต็มที่ไม่เกิน 2 รุ่น แถมยอดขายทีต่อปีแทบจะอยู่ในระดับหลักพันกลางๆ เท่านั้น ดังนั้น จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อตลาดมีการพลิกตัวครั้งใหญ่
Cayenne และ Panamera จากค่าย Porsche และ FF กับ GTC4Lusso จาก Ferrari ก็น่าจะคือ คำตอบเดียวกัน แต่ที่สำคัญคือ เป็นการทำตลาดในลักษณะบูรณาการแบบไม่ให้ลูกค้าหลุดไปไหนจากแบรนด์ของตัวเอง
ลองคิดดูว่าถ้าคุณได้ครอบครองรถสปอร์ตระดับสุดยอดมี Brand Royalty สูง แน่นอนว่า คุณไม่สามารถขับมันได้ทุกวันเพราะไลฟ์สไตล์ส่วนตัว แต่จำเป็นจะต้องหา Everyday Car ที่ไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของคุณหล่นลง คราวนี้ทางเลือกคงมีไม่มาก คือ ถ้าแบรนด์ที่ตัวเองหลงใหลไม่มีทางเลือกนี้ ก็อาจจะต้องยอมกัดฟันตัวเองนิดๆ หันมาใช้ผลผลิตที่เป็นคู่แข่งระดับเดียวกันแต่ตอบโจทย์ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ คุณจะไม่ยอมลดระดับภาพลักษณ์ของตัวเองลงไปสู่ตลาดรถบ้านอย่างแน่นอน
ดังนั้นจะดีกว่าไหม ถ้าในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ คุณจะสามารถเติมช่องว่างตรงนี้ให้กับลูกค้าตัวเองได้
20 ชั่วโมงของการเดินทางจากกรุงเทพมายังชายขอบทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีตามคำเชิญของทางบริษัท คาวาลลิโน่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายรถยนต์ Ferrari ในประเทศไทย เพื่อสัมผัสกับสมรรถนะของ GTC4Lusso เราได้คำตอบเรื่องนี้จากการบรี๊ฟก่อนการขับทดสอบ ซึ่งสปอร์ตหน้าตาสวยแต่มีรูปทรงแปลกๆ คือกลยุทธ์ใหม่ของ Ferrari ในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าลูกค้าปกติถึง 10 ปี และใช้รถในการเดินทางด้วยระยะทางเฉลี่ยมากกว่าลูกค้า Ferrari ถึง 50% ที่สำคัญชอบเดินทางเป็นกลุ่ม ซึ่งซูเปอร์คาร์สนองตอบไม่ได้
และนี่คือ สิ่งที่ Ferrari ต้องเสียให้กับคู่แข่งไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ชื่อของ GTC4Lusso เกิดจากการผสมคำกันของคำว่า GT ที่หมายถึง Grand Touring และ C คือ Coupe กับ 4 ที่หมายถึงจำนวนการรองรับผู้โดยสารพร้อมคนขับ และ Lusso ที่มีความหมายถึง Luxury หรือความหรูหรา ซึ่งภายใต้คอนเซ็ปต์ที่เรียกว่า Adventurous การพัฒนาตัวรถเน้นการนำเสนอความแตกต่างจากการเป็นรถสปอร์ต เน้นความหลากหลายในการใช้งาน
ที่พูดมาทั้งหมดหมายความว่า GTC4Lusso ยังคงสมรรถนะในแง่ของการเป็นรถสปอร์ตระดับไฮเอนด์แบบ GT เหมือนกับพวก 612 หรือ 599GTB ด้วยเครื่องยนต์วี12 ความจุ 6,262 ซีซี 690 แรงม้า ที่วางอยู่ด้านหน้า แต่กลับใช้งานง่ายขึ้น Ferrari เรียกตัวถังทรงแท่งๆ ของ GTC4Lusso ว่า Shooting Brake ซึ่งว่าจะไปแล้วมันเป็นสิ่งที่มีความใกล้เคียงกับนิยามดั้งเดิมของคำนี้ ซึ่งคือ การนำรถสปอร์ตคูเป้มาดัดแปลงเป็นตัวถังแบบแวกอน พูดง่ายๆ คือ เป็นการติดเขี้ยวเล็บให้กับรถสปอร์ต แต่เป็นสมรรถนะในด้านอื่นนะ
พื้นฐานทางวิศวกรรมบางจุด โดยเฉพาะขุมพลังมีการปรับให้รองรับกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การเติมน้ำมันออกเทน 91-98 เบาะนั่งซึ่งดีไซน์อย่างสวยสุดสปอร์ตแต่นั่งสบายอย่างไม่น่าเชื่อแม้ต้องขับทางไกล การออกแบบให้เกียร์แบบ Dual-Clutch7 จังหวะทำงานได้ฉลาด เมื่อบวกกับ 80% ของแรงบิดจำนวน 697 นิวตัน-เมตร หรือ 557.6 นิวตัน-เมตร (56.8 กก.-ม.) ของเครื่องยนต์ที่ถูกส่งออกมาตั้งแต่รอบต่ำเพียง 1,750 รอบ/นาที ทำให้ขับสบายมากเฉพาะในเมือง แถมยังไม่เครียดแม้จะต้องเจอกับสภาพการจราจรที่ติดขัดเวลาต้องขับไปทำงาน เรียกว่าแค่กดคันเร่งเบาๆ ก็พร้อมพุ่งทะยานแล้ว เพราะ 80% ของทอร์คมาจ่ออยู่ที่ฟลายวีลแล้ว
ประเด็นหลังนี้…ผมละรู้ซึ้งเลยในการทดสอบวันต่อมาเมื่อต้องขับบนเส้นทางคดเคี้ยวบนภูเขา แต่บนถนนดันเต็มไปด้วยรถ เพราะวันที่เราทดสอบ ตรงกับช่วงซัมเมอร์และทางผ่านของ Trip เรามีการจัดงานเฟสติวัลอะไรสักอย่าง ทำเอาการจราจรเป็นอัมพาตไปช่วงหนึ่ง และทำให้เรารู้ซึ้งกับข้อดีของ Ferrari ยุคนี้ว่า ถึงขับในเมืองก็ไม่เหนื่อยกายและใจ และเกียร์ F1 แบบ 7 จังหวะถูกปรับเซ็ตมาได้อย่างลงตัวทั้งการใช้งานในเมืองและนอกเมือง ชนิดที่คุณกดคันเร่งแบบรถเคลื่อนตัวอย่างไหลลื่น
หลังจากที่เราหลุดมาจากการจราจรนรกบนเส้นทางลัดเลาะริมไหล่เขามาแล้ว เท่ากับว่า โอกาสได้สัมผัสกับฝีเท้าของ GTC4Lusso มาถึงแล้ว อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงในระดับ 3.4 วินาทีบ่งบอกถึงความจัดจ้านที่เครื่องยนต์วี12 มอบให้เราได้เป็นอย่างดี เพียงแต่สภาพเส้นทางขึ้นเขา ที่อีกฝั่งคือหน้าผา ทำเอาเราค่อนข้างเกร็งเหมือนกันที่จะหวดแส้แบบไม่บันยะบันยังลงบนต้นขางามๆ ของเจ้าม้าหนุ่มตัวนี้ ดังนั้น สภาพการขับคือ การกดคันเร่งแบบ 1-2 ถ้าโชคดีอาจจะได้ขึ้นเกียร์ 3 แล้วก็…ขอเชิญพบกับแป้นเบรก
ดังนั้น สิ่งที่เราได้สัมผัสกันแบบเต็มๆ ภายใต้ข้อจำกัดของเส้นทางและใจคนขับ การสัมผัส Handling การทรงตัว และการตอบสนองของเครื่องยนต์ในรอบต่ำเมื่อต้องกระแทกคันเร่งหนักๆ ในจังหวะออกจากโค้งที่มีให้เราสัมผัสกันจนเต็มอิ่มตลอดเส้นทางครั้งนี้ การปรับเซ็ตจากปุ่มบิดที่พวงมาลัยเพื่อเซ็ตโหมดการขับและช่วงล่างก็มีส่วนช่วยทำให้การขับครั้งนี้สนุกสนานมากขึ้นท่ามกลางเสียงคำรามแบบจากเครื่องยนต์วี12 ที่เล็ดรอดเข้ามาสู่ห้องโดยสารในระดับหนึ่ง…เอาเป็นว่าถ้าไม่นับรูปทรงภายนอก ให้ปิดตาเข้ามานั่งในห้องโดยสาร แล้วเปิดตาขึ้น ก็ขับออกไป โดยไม่รู้ว่ามันคือรถสปอร์ตรุ่นอะไร GTC4Lusso ตอบสนองได้ไม่ต่างจากรถสปอร์ต GT แท้ๆ อย่างพวก F12
ถ้าถามว่าเวลานั่งอยู่หลังพวงมาลัยของ GTC4Lusso แล้วจะทำให้คุณสูญเสียการตกเป็นเป้าสายตาบนท้องถนนหรือไม่ ? บอกได้เลยว่าไม่ ตอนที่เราได้มีโอกาสขับทดสอบตัวเป็นๆ ของ GTC4Lusso และแม้ว่าหลายความเห็นตอนที่ผม Post ลงบนเฟซบุ๊คส่วนตัวจะมีการเหน็บเล็กๆ ว่าดูไม่เหมือนกับ Ferrari เหมือนรถจ่ายกับข้าว แต่เชื่อเถอะ Ferrari ยังไงก็คือ Ferrari และมันเรียกความสนใจได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะนั่งอยู่ในรุ่นไหนก็ตาม แถมรุ่นนี้อาจจะได้คะแนนเพิ่ม เพราะความแปลกตาของมัน
ผมเชื่อว่าไม่มีใครสงสัยในเรื่องของสมรรถนะ เพราะกางสเปกออกดูกับตัวเลขที่เห็น บอกได้เลยว่า ไม่ธรรมดา ะถ้าคุณเท้าขวาหนัก ไม่ผิดหวังกับตรงนี้อย่างแน่นอน แต่สิ่งที่ได้มาเพิ่มเติมคือ ความอเนกประสงค์ของตัวรถ เผื่อคุณต้องทำอะไรกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่อาจจะมีบางเวลาที่ต้องเดินทางไปกับเพื่อนๆ ผมหล่ะทึ่งเมื่อลองเสิร์ชใน Youtube และพบคลิปทดสอบ ซึ่งคุณสามารถขับรุ่นพี่ของมันอย่าง FF ไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ที่ Ikea แถมยังบรรทุกกลับมาบ้านได้ด้วยชนิดที่สู้ได้ไม่อายพวก MPV เพราะด้านท้ายของตัวรถมีความจุในระดับ 450 ลิตรซึ่งมากพอๆ กับด้านท้ายของรถยนต์คอมแพ็กต์ แถมยังสามารถขยายความจุในการรองรับกับการบรรทุกได้ถึง 800 ลิตร
อีกทั้งจากการที่ตัวรถเป็นสปอร์ต 4 ที่นั่งแท้ๆ ไม่ใช่พวก 2+2 ที่มี Dog Seat อยู่ด้านหลัง ดังนั้น คนที่อยู่ข้างหลังก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องถูกแงะออกมาจากห้องโดยสารหลังถึงที่หมาย เพราะมีความกว้างขวางเพียงพอชนิดชายไทยที่มีความสูงเกิน 180 เซ็นติเมตรยังนั่งได้แบบสบายๆ แบบหัวเข่าไม่ชนกับด้านหลังของพนักพิงหลังของเบาะหน้า
กว่า 32 ล้านบาทคือ ค่าตัวของ GTC4Lusso ซึ่งกว่าจะเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าทั่วโลกได้จะเริ่มประมาณปลายปีนี้ คราวนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแล้วว่าจะโดนหรือไม่โดน
ขอบคุณบริษัท คาวาลลิโน่ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการเดินทางในครั้งนี้
Specification : Ferrari GTC4Lusso
เครื่องยนต์
แบบตัวถัง : สปอร์ต 4 ที่นั่ง
เครื่องยนต์ : วี12 ทวินแคม 48 วาล์ว V65 องศา
ความจุกระบอกสูบ : 6,262 ซีซี
กำลังสูงสุด : 690 แรงม้า ที่ 8,000 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด : 71.0 กก.-ม. ที่ 5,750 รอบ/นาที
ระบบขับเคลื่อน : 4 ล้อ
ระบบเกียร์ : F1 Dual Clutch 7 จังหวะ
ตัวถัง
ยาว : 4,922 มิลลิเมตร
กว้าง : 1,980 มิลลิเมตร
สูง : 1,383 มิลลิเมตร
ระยะฐานล้อ : 2,990 มิลลิเมตร
อัตราส่วนการกระจายน้ำหนักหน้า-หลัง : 47-53%
สมรรถนะ
ความเร็วสูงสุด : 335 กิโลเมตร/ชั่วโมง
อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง : 3.4 วินาที
อัตราเร่ง 0-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง : 10.5 วินาที
ระยะเบรก 100-0 กิโลเมตร/ชั่วโมง : 34 เมตร
ระยะเบรก 200-0 กิโลเมตร/ชั่วโมง : 138 เมตร
เรื่อง : สุรศักดิ์ จรินทร์ทอง
ภาพ : สุรศักดิ์ จรินทร์ทอง / PR Ferrari
เรียบเรียงข้อมูลโดย กรังด์ปรีซ์ออนไลน์ GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th