ย้อนเส้นทางความสำเร็จรถกระบะ ‘Ranger’–ร่วมฉลอง 25 ปี ฟอร์ด ประเทศไทย
เส้นทางความสำเร็จของ Ford ตลอดระยะเวลา 25 ปีในประเทศไทย คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารถกระบะ Ranger มีส่วนสำคัญมาตลอดนับตั้งแต่เจเนอเรชั่นแรกออกจากสายการผลิตของโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ (AAT) ในจังหวัดระยอง เมื่อเดือนพฤษภาคม 1998
จุดกำเนิดของ “กระบะพันธุ์แกร่ง” Ranger เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายๆ โมเดลของ Ford ที่เริ่มต้นการพัฒนาในประเทศสหรัฐฯ หลังจากพวกอเมริกันต้องการรถกระบะคอมแพ็กต์รุ่นใหม่มาแทนที่ Courier หลังจากใช้ชื่อนี้ทำตลาดมายาวนานตั้งแต่ทศวรรษ 1950 จนกลายเป็นที่มาของ “Project Yuma” ในปี 1976
เป้าหมายหลักของ Project Yuma ที่มีงบประมาณสูงระดับ 700 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.17 หมื่นล้านบาท) คือการยกระดับคุณภาพของรถกระบะรุ่นใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงให้ได้ตามข้อกำหนดที่จะใช้งานในประเทศสหรัฐฯ หลังจากนี้
ท่ามกลางขั้นตอนมากมายของการพัฒนารถยนต์ทั้งแนวทางดีไซน์, การเพิ่มความสะดวกสบายของห้องโดยสาร, รองรับความอเนกประสงค์ในการใช้งาน, การทดสอบในอุโมงค์ลมยาวนานหลายร้อยชั่วโมง และคัดสรรวัสดุน้ำหนักเบาในการผลิตชิ้นส่วน ก่อนจะเผชิญอุปสรรคใหญ่จากวิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1979 จนทำให้โปรเจ็กต์นี้เกือบจะไม่สำเร็จ
แต่ความเชื่อมั่นของ Don Petersen ประธาน Ford ในเวลานั้นผลักดันจนทำให้รถกระบะคอมแพ็กต์รุ่นนี้เข้าสู่สายการผลิตเพื่อออกขายจริงได้สำเร็จในเดือนมกราคม 1982 โดยเลือกใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Ranger” ที่มาจากรุ่นย่อยของ Ford F-Series และ Bronco
อย่างไรก็ตามรถกระบะ Ranger ที่ผลิตจากโครงสร้างตัวถังแบบ Body-on-frame เวอร์ชั่นนี้ถูกจำกัดการขายอยู่ในประเทศสหรัฐฯ และแถบทวีปอเมริกาเหนือ-ใต้เท่านั้น แต่ภูมิภาคอื่น Ford ที่มี Mazda เป็นพันธมิตรในการร่วมพัฒนารถกระบะมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 จะขายรถกระบะคอมแพ็กต์ในชื่อรุ่นอื่นอย่าง Mazda Proceed/Ford Courier และ Mazda Fighter/Ford Marathon
จนกระทั่ง Ford Motor ตกลงร่วมทุนกับ Mazda เพื่อเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงปลายปี 1993 พร้อมการสร้างโรงงานออโต้อัลลายแอนซ์ ในจังหวัดระยอง ก่อนจะเริ่มต้นเดินสายการผลิตรถกระบะ Ford Ranger เวอร์ชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล เจเนอเรชั่นแรกที่พัฒนาร่วมกับ Mazda Fighter เพื่อขายในประเทศไทย และส่งออกสู่ตลาดโลกในเดือนพฤษภาคม 1998
พิธีส่งออกรถกระบะ Ford Ranger และ Mazda Fighter สู่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ครั้งแรกในเดือนธ.ค. 1998
1st Gen (1998–2006)
Ranger จะมีดีไซน์ด้านหน้าที่แตกต่างจากคู่แฝด Mazda Fighter โดยตัวเลือกเครื่องยนต์แบ่งเป็นเบนซิน 2.6 ลิตร (123 แรงม้า/แรงบิดสูงสุด 206 นิวตันเมตร), ดีเซล 2.5 ลิตร (80 แรงม้า) และเทอร์โบดีเซล 2.5 ลิตร (113 แรงม้า/280 นิวตันเมตร) แบบ Single Over Head Camshaft (SOHC) ใช้วาล์วควบคุม 3 ตัวต่อ 1 สูบ, ติดตั้งอินเตอร์คูลเลอร์, ระบบหัวฉีดน้ำมันแบบ Indirect Fuel Injection, ติดตั้ง Balance Shaft 2 ตัวเพื่อลดแรงสั่น และเสียงรบกวน พร้อมชูจุดขายที่มีตัวถัง Open Cab เป็นเจ้าแรก และความเป็นกระบะนิรภัยคันแรกของประเทศไทย
หลังจากทำตลาดอยู่ราว 4 ปี Ford จัดการไมเนอร์เชนจ์ Ranger ด้วยการเปลี่ยนกระจังหน้าใหม่, ชุดไฟหน้า, ปรับดีไซน์กันชนหน้า และซุ้มล้อ รวมทั้งดีไซน์ภายในห้องโดยสารที่ได้รับอิทธิพลจากรถกระบะฟูลไซส์ F-Series ในประเทศสหรัฐฯ รวมทั้งติดตั้งพวงมาลัยพาวเวอร์เป็นมาตรฐานในทุกรุ่นย่อย
ในช่วงปลายอายุของโมเดลมีการเพิ่มขุมกำลังดีเซลเทอร์โบ 2.5 ลิตร คอมมอนเรลล์อินเจ็คชั่น ออกขายในปี 2005 โดยติดตั้ง Dual-mass Flywheel เพื่อการตอบสนองของเครื่องยนต์พร้อมทั้งลดแรงสั่นสะเทือนจากห้องเครื่อง รวมทั้งช่วยลดอาการเทอร์โบแล็ค และเพิ่มแรงบิดให้มากขึ้น รวมทั้งผลิตรุ่นเครื่องยนต์ V6 ในประเทศไทยเพื่อส่งขายในประเทศแอฟริกาใต้
กำเนิดกระบะอเมริกันพันธุ์แกร่ง (2006–2011)
เจเนอเรชั่นถัดมามีการนำเสนอรถต้นแบบ Ford 4-Trac Concept ที่ได้รับการพัฒนาโดย Paul Gibson หัวหน้าฝ่ายดีไซน์ Ford Asia-Pacific เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2005 ก่อนจะเพิ่มการออกแบบหลักของบริษัทแม่ในสหรัฐฯ เข้ามาเพิ่มในเวอร์ชั่นผลิตขายจริงที่พวกเขายังมีคู่แฝดเป็น Mazda BT-50
รูปลักษณ์ใหม่ของ Ranger ดูแข็งแกร่งและทรงพลัง ด้วยกระจังหน้าลาย 3 แถบอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมสัญลักษณ์ Ford บนวงรีสีน้ำเงินที่โดดเด่น และไฟหน้าทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบรีเฟล็กเตอร์ ให้ความสว่าง และเพิ่มทัศนวิสัยที่ดีเมื่อขับขี่ยามค่ำคืน ฝากระโปรงหน้าเป็นสันนูน เส้นสายการออกแบบด้านข้างดูสะอาดเรียบง่าย แต่มีพลัง ซุ้มล้อที่โป่งออกมาให้อารมณ์ดุดัน นอกจากนี้ยังมีล้ออัลลอย 16 นิ้ว และยางแบบออลเทอเรนที่ทำให้ Ranger มีรูปลักษณ์ของรถออฟโรด 4×4 อย่างแท้จริง
ภายในตกแต่งได้อย่างประณีต หรูหรามีสไตล์ ด้วยการใช้โทนสีครีม และวัสดุคุณภาพสูง แผงคอนโซลหน้าสะดุดตาด้วยการออกแบบขอบแผงหน้าปัดด้วยโครเมียม ทันสมัยด้วยมาตรวัดทรงกลมแบบ 3 ช่อง สอดรับกับช่องแอร์ทรงกลม เบาะนั่งออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ เพื่อให้รับกับสรีระของผู้นั่งมากที่สุด
ระบบความบันเทิงมาตรฐานครบถ้วนในทุกรุ่น เช่น เครื่องเล่นซีดี และวิทยุเอเอ็ม-เอฟเอ็ม รองรับการเล่นไฟล์ MP3 ระบบปรับอากาศใหม่ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษให้ทิศทางลมที่เหมาะสมกับสภาพอากาศร้อนสร้างความผ่อนคลายให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารโดยไร้เสียงรบกวน
เครื่องยนต์ทรงพลังที่ประจำการอยู่ใน Ranger เจเนอเรชั่นที่ 2 ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องยนต์ดีเซลคอมมอนเรลใหม่ล่าสุด Duratorq 380 คอมมอนเรล ไดเร็กอินเจ็กชั่น เป็นการผสานเทคโนโลยีคอมมอนเรลหัวฉีดแรงดันสูงรุ่นล่าสุดเข้ากับเทคโนโลยีเทอร์โบแปรผันอัจฉริยะ ระบบเทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์ และ Electronic Control Unit (ECU) ที่ติดตั้งโปรเซสเซอร์แบบ 32 บิตควบคุมการฉีดจ่ายน้ำมันในปริมาณที่เหมาะสมกับการทำงาน สร้างแรงม้าและแรงบิดได้สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ให้ความประหยัดน้ำมันที่มากขึ้น
ในช่วงแรกที่เปิดตัว Ranger มีตัวเลือกเครื่องยนต์ 2 ระดับ Duratorq TDCi 2.5 ลิตร 143 แรงม้าที่ 3,500 รอบต่อนาที และแรงบิดสูงสุด 330 นิวตันเมตรที่ 1,800 รอบต่อนาที ประหยัดน้ำมันมากกว่ารุ่น Ranger 2.5 ลิตร WLT เทอร์โบรุ่นที่แล้ว 22 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรุ่นเครื่องยนต์ความจุ 3 ลิตร ให้แรงบิดสูงสุดถึง 380 นิวตันเมตรที่ 1,800 รอบต่อนาที และแรงม้าสูงสุด 156 ตัวที่ 3,200 รอบต่อนาทีถือได้ว่าเป็นรถกระบะที่มี “แรงบิดสูงสุดในตลาดรถกระบะไทย” ยุคนั้นเลยทีเดียว
สานต่อความสำเร็จ Ranger ‘กระบะพันธุ์แกร่ง‘ (2011-ปัจจุบัน)
รถกระบะ Ranger เจเนอเรชั่นปัจจุบัน เผยโฉมสู่สาธารณชนครั้งแรกระหว่างงานออสเตรเลีย อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ที่เมืองซิดนีย์ ในเดือนตุลาคม 2010 โดยทีมงาน Ford Australia รับผิดชอบหลักทั้งด้านดีไซน์ และงานวิศวกรรม พร้อมทั้งเป็นการร่วมมือกับ Mazda เป็นครั้งสุดท้ายอีกด้วย
จากนั้นมีการเปิดตัวครั้งแรกในภูมิภาอาเซียนระหว่างงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 32 ในเดือนมีนาคม 2011 โดย Ranger ได้รับเสียงชื่นชมจากการนำเสนอประสบการณ์การเป็นเจ้าของรถกระบะที่มาพร้อมเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับเฟิร์สคลาส และระบบความปลอดภัยระดับโลก พร้อมตัวเลือกเครื่องยนต์ใหม่ 3 รุ่น ทั้งเบนซิน และดีเซลให้พละกำลังเป็นเยี่ยมและความประหยัดที่เหนือชั้น นำเสนอครบทุกเซ็กเมนต์ ทั้งแบบ Single Cab หรือ Open Cab เพื่องานเชิงพาณิชย์, สุดคุ้มสะดวกสบายกับรุ่น Double Cab สำหรับคนชอบลุยต้อง Hi-Rider ที่ปรับความสูงขึ้น มีให้เลือกทั้งแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และแบบ 4×4 และรุ่นพิเศษ Wildtrak สปอร์ตเข้มขึ้นอีกขั้นกับของแต่งชุดใหญ่
ดีไซน์ภายนอกคงความเป็นฟอร์ดเต็มเปี่ยมในทุกมุมมอง กระจังหน้าโครเมียมลาย 3 แถบเอกลักษณ์ใหม่ของรถ Ford พร้อมกับชื่อรุ่น Ranger กันชนหน้าเล่นมิติหลายชิ้น รับกับกระจังหน้าและไฟหน้าขนาดใหญ่ สปอตไลต์ทรงกลมเสริมด้วยกรอบดีไซน์สปอร์ต ขอบซุ้มล้อได้รับการออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวถังแทนการประกอบแบบแยกชิ้น เส้นสายด้านข้างตัวถังลื่นไหลต่อเนื่องจากด้านบนกระบะท้ายมายังประตูข้าง ลงตัวกับขอบฝากระโปรงหน้าทรงเปลือกหอย เหนือซุ้มล้อกระบะท้ายขยายให้กว้างขึ้น รองรับการวางสิ่งของที่มีความยาวเช่นแผ่นไม้ รวมทั้งขอบกระบะที่สูงขึ้นเก็บสัมภาระได้มากขึ้น ฝาปิดท้ายเปิด-ปิดสะดวก ไฟท้ายขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน กันชนท้ายแบบโครเมียมเสริมความหรูหรา
ห้องโดยสารมีความกว้างขวาง และทันสมัยจะเป็นจุดขายที่ดึงดูดให้ทุกคนหันมาสนใจ Ford Ranger วัสดุต่าง ๆ เน้นความทนทานต่อการใช้งาน ใช้สีทูโทน โดยเฉพาะสีดำเป็นหลัก รูปลักษณ์ดูดีมีคุณภาพ เข้า-ออกสะดวก แม้ว่าคุณจะมีความสูงมากกว่า 180 ซม. ครบครันด้วยอุปกรณ์ล้ำสมัยเพื่อการติดต่อสื่อสารและเทคโนโลยีด้านความบันเทิง อย่างระบบสั่งงานด้วยเสียง Voice Control และการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ระบบไฟส่องสว่างอัตโนมัติ และระบบปัดน้ำฝนอัตโนมัติ ทั้งหมดนี้เป็นนวัตกรรมอัจฉริยะช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้งานได้ง่ายขึ้นปลอดภัยมากขึ้น
พวงมาลัยแบบมัลติฟังก์ชันพร้อมปุ่มควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control ฟังก์ชันปรับระดับเสียง, เปลี่ยนคลื่นวิทยุ และระบบสั่งงานด้วยเสียง มาตรวัดพร้อมหน้าจอแสดงผลข้อมูลการขับขี่ อาทิ อัตราสิ้นเปลืองโดยเฉลี่ย และระยะทางที่ขับได้จากปริมาณน้ำมันในถัง บริเวณคอนโซลกลางบนสุดคือจอแสดงผลระบบเครื่องเสียงและระบบเชื่อมต่อต่าง ๆ ขนาด 4.2 นิ้ว ถัดมาคือแผงควบคุมการทำงานภายในห้องโดยสาร ผู้ออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบวิทยุ-ซีดีแบบ 1 แผ่น ติดตั้งลำโพง 4 จุด (ไวลด์แทรค 6 จุด) ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ Dual Zone แยกการควบคุมอิสระซ้าย-ขวา ช่องต่อ AUX และ USB บริเวณพนักวางแขนเป็นช่องเก็บของที่เชื่อมต่อระบบปรับอากาศ ช่วยเก็บความเย็นได้มากถึง 6 กระป๋อง
ขุมกำลัง Ford Ranger ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้กำลังและแรงบิดที่เหนือชั้นผสานกับประสิทธิภาพความประหยัดน้ำมันเป็นเลิศ โดยมีเครื่องยนต์รุ่นใหม่ 3 รุ่นที่เหมาะสำหรับการใช้งานในระดับราคาที่แตกต่างกัน สำหรับรุ่นสูงสุดคือเครื่องยนต์ดีเซล Duratorq TDCi 3.2 ลิตร VG Turbo ให้แรงบิด 470 นิวตันเมตร และให้กำลัง 200 แรงม้า ด้วยอัตราสิ้นเปลืองที่ 11.9 กม./ลิตร
เครื่องยนต์ Duratorq TDCi 2.2 ลิตร VG Turbo ให้แรงบิดสูงสุด 375 นิวตันเมตร ให้กำลัง 150 แรงม้า อัตราสิ้นเปลืองเพียง 13.2 กม./ลิตร และเครื่องยนต์เบนซิน Duratec 2.5 ลิตร iVCT ได้รับการพัฒนาขึ้นอีกขั้น โดยให้แรงบิดที่ 226 นิวตันเมตร ให้กำลัง 166 แรงม้า มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 10.2 กม./ลิตร ด้วยอัตราการประหยัดน้ำมันที่ดีเยี่ยม และขนาดของถังน้ำมันที่สามารถจุได้ถึง 80 ลิตร ทำให้ขับได้ระยะทางที่ไกลกว่า เครื่องยนต์ยังได้รับการปรับจูนให้มีอัตราการปล่อยมลภาวะในระดับเดียวกับมาตรฐานสูงสุดของประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่ Ford Ranger ในรุ่นเครื่องยนต์ดีเซลจะมีตัวเลือกทั้งเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ขณะที่รุ่นเครื่องยนต์เบนซินติดตั้งเกียร์ธรรมดา 5 สปีด
การไมเนอร์เชนจ์รอบใหญ่ของ Ranger เจเนอเรชั่นนี้เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2015 มีการปรับเปลี่ยนดีไซน์ใหม่ให้เป็นไปตามแนวทาง Ford Kinetic Design โดยตัวเลือกขุมกำลังในประเทศไทยจะเหลือเพียงดีเซลเท่านั้น แต่ที่สร้างความฮือฮากลายเป็นอีก 3 ปีต่อมากับการมาถึงของ Ranger Raptor รถกระบะสมรรถนะสูงถ่ายทอดดีเอ็นเอจาก Ford Performance ติดตั้งขุมกำลังดีเซล Bi-Turbo 2.0 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 213 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด พร้อมระบบ Terrain Management System (TMS) สามารถปรับโหมดการขับขี่ได้ถึง 6 แบบ รวมถึงโหมดการขับขี่ Baja สำหรับการขับขี่ออฟโรดด้วยความเร็วสูง และระบบช่วงล่าง Fox Racing Shox ในราคา 1,699,000 บาท
ความสำเร็จของ Ranger ทำให้มีการปรับโฉมย่อยอีกหลายครั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการนำเครื่องยนต์ Bi-Turbo มาใช้งานใน Ranger หลายๆ รุ่น พร้อมอัพเกรดเทคโนโลยีล้ำสมัยอยู่ตลอด จนทำให้รั้งอันดับ 3 ยอดขายรถกระบะในประเทศไทยเป็นรองเพียงแค่ Toyota และ Isuzu เท่านั้น
และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา Ford ฉลองครบรอบ 25 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยการเปิดตัว Ranger XL Street Special Edition กระบะตอนครึ่งตัวเตี้ยแต่งพิเศษ ขุมพลังเครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร ผสานเกียร์ธรรมดา 6 สปีด ให้กำลังสูงสุด 160 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 385 นิวตันเมตร ดีไซน์สะดุดตาด้วยชุดแต่งรอบคัน พร้อมสติ๊กเกอร์คาดตั้งแต่กันชนหน้าจนถึงท้ายกระบะเอกลักษณ์จากทีมแข่งฟอร์ด ไทยแลนด์ เรสซิ่ง ผลิตจำนวนจำกัด 300 คัน ในราคา 682,000 บาท
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: ฟอร์ด ประเทศไทย
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th