Fuji Motorsports Museum สวรรค์ของคนรักมอเตอร์สปอร์ต
Fuji Motorsports Museum สวรรค์ของคนรักมอเตอร์สปอร์ต ถ้าเราถามว่า ถ้าให้คิดถึงประเทศญี่ปุ่น คุณจะคิดถึงอะไร เชื่อว่าหลายท่านคงจะคิดถึง อาหารอันแสนอร่อย อากาศที่เย็นสบาย ย่านช็อปปิ้งสุดมันส์ ธรรมชาติที่งดงาม แต่วันนี้เราจะพาเพื่อนๆไปรู้จักอีกหนึ่งสถานที่ ที่สำหรับคนรักในกีฬามอเตอร์สปอร์ตโดยเฉพาะการแข่งขันรถยนต์ไม่ควรพลาด ผมว่าต้องมาชมให้ได้สักครั้งในชีวิต Fuji Motorsports Museum เพราะคุณจะได้เห็นรถโมเดลที่คุณสะสม กลายเป็นคันจริงๆอยู่ตรงหน้าคุณ
พิพิธภัณฑ์ Fuji Motorsports Museum เป็นสถานที่รวบรวมเอาประวัติศาสตร์แห่งวงการมอเตอร์สปอร์ตทั่วโลกยาวนานกว่า 130 ปีมาไว้ที่นี้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ภายในโรงแรม Fuji Speed Way เริ่มเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 เป็นพิพิธภัณฑ์ และโรงแรมแห่งแรกแห่งเดียวอยู่ติดกับสนามแข่ง ฟูจิ อินเตอร์เนชันแนล สปีดเวย์
การเดินทาง
ไม่ยากอย่างที่คิดสามารถขึ้นไฮเวย์บัสจากสถานีชินจุกุ หรือสถานีโตเกียวได้เลย ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง มาลงที่ JR Gotemba แล้วเดินไปที่ชานชลา 5 ของรถบัสเป็น Fujikyuu Bus ลงที่ป้ายรถประจำทาง Fuji Speedway West Gate ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที
พิพิธภัณฑ์ ฟูจิ มอเตอร์สปอร์ต เปิดทำการทุกวันไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ (เฉพาะช่วง 1 ปีแรกนับจากเริ่มเปิดให้เข้าชม) โดยผู้สนใจสามารถจองบัตรเข้าชมล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ https://fuji-motorsports-museum.jp/en/ อัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) วันธรรมดาอยู่ที่ 1,800 เยน (จองล่วงหน้าเหลือ 1,600 เยน)
วันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่ที่ 2,000 เยน (จองล่วงหน้าเหลือ 1,800 เยน) รวมถึงมีอัตราพิเศษสำหรับนักเรียนประถม-มัธยม, ผู้พิการ และผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์
Motorsports Museum
เขามาที่ภายในต้อนรับโดยรถแข่ง Toyota 7 โครงการความรวมมือระหว่างโตโยต้ากับยามาฮ่าในช่วงกลางทศวรรษ 1960 เพื่อแข่งขันรายการ Japan Grand Prix และ Can-Am ซีรีส์ เสร็จสิ้นเป็นรถแข่งคันจริงในปี 1970 มีกำลัง 800 แรงม้า สแกนตั๋วเดินเข้าด้านในมีการแบ่งยุคสมัยต่างๆรถแข่งตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของมอเตอร์สปอร์ต รถแข่งประเภทต่างๆที่แบ่งไว้อย่างชัดเจนให้ได้ชมอย่างใกล้ชิด ภายในพิพิธภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น โดยชั้นแรกเป็นการจัดแสดงรถแข่งในยุคเริ่มต้นรถเด่นๆในชั้นนี้มีมากมายหลากหลายรุ่น อาทิ
PANHARD ET LEVASSOR TYPE B2 ปี 1899
รถแข่งสัญชาติฝรั่งเศสคันแรกที่ชนะการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต ที่ใช้เครื่องยนต์ระบายความร้อนด้วยน้ำ 4 สูบ 3,562 ซีซี 12 แรงม้า ที่ 750 รอบต่อนาที Panhard et Levassor เป็นบริษัทรถที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส เปิดตัวระบบ FR ครั้งแรกในปี 1981 FR หรือ Front-Engine, Rear-Drive จัดเรียงคลัตช์และระบบถ่ายทอดกำลังไว้ด้านหลังเครื่องยนต์ ขับเคลื่อนล้อหลังด้วยโซ่ และระบบดิฟเฟอเรนเชียลแบบกลไก นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนารถยนต์ยุคใหม่
THOMAS FLYER MODEL L ปี 1909
รถยนต์สัญชาติอเมริกันที่มีความโดดเด่นเรื่องความเชื่อถือได้และความทนทาน ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบเรียง ระบายความร้อนด้วยน้ำ 4,377 ซีซี 40 แรงม้า Thomas Flyer พิสูจน์ความทนทานด้วยการคว้าชัยชนะจากการแข่งขันแรลลี่ที่ขับจาก New York ถึง Paris ซึ่งกลายเป็นการจุดชนวนให้รถยนต์มีความแพร่หลายอย่างกว้างขวาง
FORD 999
เฮนรี่ ฟอร์ด ระดมทุนเพื่อพัฒนารถรุ่น 999 โดยเลือกจะใช้กลยุทธ์ใหม่ในกระตุ้นการขายรถยนต์ ด้วยการจัดทดสอบรถแข่งของ Ford Motor และนัดนักข่าวจากสำนักใหญ่ ๆ ไปชมการเปิดตัวรถรุ่น Ford 999 ที่ทะเลสาบน้ำแข็ง St. Clair การทดสอบรถครั้งนี้รถสามารถทำความเร็วสูงถึง 1.6 กิโลเมตรในเวลาเพียง 39.4 วินาที ทำลายสถิติรถยนต์ที่มีความเร็วที่สุดของโลก ณ เวลานั้น การทดสอบครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สร้างชื่อเสียงให้กับ Ford Motor อย่างมาก เขายังใช้กลยุทธ์การตลาดในการเดินสายแนะนำและสาธิตรถรุ่น Ford 999 ไปตามที่ต่าง ๆ จนคนทั่วไปรู้จักบริษัท Ford Motor มากขึ้น
TOYOPET RACER
คันนี้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งคันครับ เพราะคันจริงพังจนไม่สามารถก็กลับมาได้แล้ว แต่คันนี้ทางวิศวกรถอดแบบออกมาจากพิมพ์เขียวที่อยู่ในโกดังเหมือนกับรถคันจริงทุกชิ้นส่วน มร.คิอิจิโระ โตโยดะ (Kiichiro Toyoda) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทโตโยต้า มีแผนบุกเบิกอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นด้วยการเข้าร่วมในกีฬามอเตอร์สปอร์ต โดยโตโยต้ามีส่วนร่วมในการแข่งขัน Round Australia Rally ในปี 1957 แต่ว่าก่อนหน้านั้น Kiichiro มีโครงการที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอยู่ในใจ
นั่นคือ Toyopet Racer รถแข่งแฮนด์เมดใช้แชสซีส์แบบบันไดและเกียร์ของรถเก๋ง Toyopet รุ่น SD ปี 1949 ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซิน Type S สี่สูบ 995 ซีซี 27 แรงม้า การถือกำเนิดของรถแข่งคันแรกในยามที่แบรนด์มีความลำบาก การรวบรวมหลักฐานที่มีอยู่และที่ตีพิมพ์ใหม่ มีการเปิดเผยว่า รถแข่ง Toyopet Racer เป็นรถแข่งหนึ่งเดียวที่ท่านประธาน Kiichiro Toyoda มีส่วนร่วมในการพัฒนาฃ
MOTORSPORT IN ASIA
จุดเริ่มต้นของมอเตอร์สปอร์ตในญี่ปุ่นและเอเชีย ต้องย้อนกลับไปมากกว่า 100 ปี โดยในปี 1907 Okura Kishichiro ซึ่งขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ในสหราชอาณาจักร คว้าตำแหน่งที่ 2 ในการแข่งขันในสนามแข่งขันแบบถาวรซึ่งเปิดเป็นที่แรกในโลกที่บรูคแลนด์ และเป็นครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นได้ยืนบนโพเดียม จากนั้นในปี 1936 เซอร์กิตแบบเต็มรูปแบบแห่งแรกของญี่ปุ่นก็สร้างเสร็จสมบูรณ์ ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำทามากาวะ
จากนั้นในเดือนมิถุนายนปีเดียวกันก็ประเดิมการแข่งขันครั้งแรกกับรายการ All Japan Auto Racing Tournament มีรถเข้าร่วมแข่งขัน 35 คัน และผู้ชมกว่า 3 หมื่นคน สนามแข่งรูปวงรีที่มีความยาว 1,200 เมตรแห่งนี้
รองรับรถแข่งสมรรถนะสูงของญี่ปุ่น และเป็นสถานที่สร้างทรัพยากรณ์บุคคลที่มีส่วนช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวเอเชียคนแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันรายการกรังด์ปรีซ์คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์เจ้าพีระ ชนะการแข่งขันรายการ Monaco Grand Prix ประเภท Light Car Class ในปี 1936 และเข้าร่วมการแข่งขันเลอมังส์ 24 ชั่วโมง
ในปี 1939 ทำให้เป็นที่รู้จักดีในยุโรป พระองค์เจ้าพีระ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการแข่งขัน Bangkok Grand Prix โดยเชิญนักแข่งชั้นนำมาแข่งขันบนเส้นทางรอบสนามหลวงและพระบรมมหาราชวัง ระยะทางประมาณ 3.2 กิโลเมตร ในวันที่ 10 ธันวาคม 1939 แต่ต้องยกเลิกเพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
JAPAN GRAND PRIX
อีกหนึ่งไฮไลท์นั้นก็คือรถแข่งรายการ Japan Grand Prix ที่จัดแข่งในช่วงปี 1963-1969 รถที่ลงแข่งขันในช่วงท้ายของรายการนี้มีกำลังมากกว่า 600 แรงม้า เป็นรถแข่งที่ทรงพลังที่สุดและเร็วที่สุดในโลกในเวลานั้น นิสสันครองตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น โดย R380, R381 และ R382 คว้าแชมป์รายการนี้ในปี 1966, 1968 และ 1969 ตามลำดับ ส่วนโตโยต้ามีรถแข่ง Toyota 7 เปิดตัวในปี 1970 ส่วนนิสสัน พัฒนารถแข่งรุ่นใหม่ R383 เทอร์โบคู่ ระบุว่ามีกำลัง 900 แรงม้า น้ำหนัก 600 กิโลกรัม
ขึ้นลิฟท์มาต่อกันที่ชั้น 2
ชั้นนี้เป็นการจัดแสดงรถแข่งในยุคที่ทันสมัยขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นรถแข่งแรลลี WRC, Le Mans, Formula 1, Indycar, Super GT, Drift อาทิ Porsche 904 GTS, Pennzoil Nissan GTR R33 GT 500,A73 Lancer 1600 GSR, Toyota 2000GT เป็นต้น
PORSCHE 904 GTS
เปิดลิฟต์ออกมาจะพบกับ Porsche 904 GTS บอกเลยว่าสามารถชมคันจริงได้เฉพาะที่นี่ที่เดียว เป็นรถที่ใช้แข่งขันในรายการ Targa Florio อิตาลี Porsche 904 GTS คันนี้เป็นรถที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อลงแข่งโดยเฉพาะ
ตัวถังทำจากไฟเบอร์กลาสห่อหุ้มโครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักเพียง 655 กิโลกรัม เท่านั้น เครื่องยนต์วางกลาง 2.0 ลิตร 4 สูบ 180 แรงม้า ขับเคลื่อนล้อหลัง และมันถูกผลิตออกมาทั้งหมดเพียง 106 คัน เท่านั้น
NASCA CAMRY #18
รถแข่งคันแรกของโตโยต้า ที่ชนะการแข่งขันรายการนี้ NASCA โตโยต้าเข้าร่วมการแข่งรายการนี้ในปี 2004 และ 2007 ด้วยรถกระบะ ทุนดร้า และ คัมรี่ ในปี 2006 และคว้าชัยชนะทั้งประเภทผู้ขับและผู้ผลิตด้วยรถรุ่นทุนดร้า ส่วนคัมรี่ชนะรายการนี้ครั้งแรกในปีที่ 2 ที่ลงแข่งขัน
เครื่องยนต์ วี8 โอเวอร์เฮดวาล์ว ใช้รอบสูงประมาณ 9,000 รอบต่อนาที ข้อเหวี่ยงจึงต้องผลิตด้วยวัสดุพิเศษ แบริ่งที่ประกบกับข้อเหวี่ยงต้องมีระยะห่างที่พอดีเพื่อให้น้ำมันเครื่องเข้าไปหล่อลื่นและชั้นฟิล์มมีความหนาที่สม่ำเสมอคงที่
TOYOTA 2000 GT
สำหรับ Toyota 2000GT เป็นรถที่อยู่ในหนัง เจมส์ บอนด์ ตอน You only live twice และเป็นรถที่ทำให้โตโยต้ามีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่น เพราะทำลายสถิติโลกได้หลายครั้ง ผลิตเพียง 351 คัน ราคาเป็นเงินได้กว่า 20 ล้านบาท เปิดตัวครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show ในปี 1965 ภายใต้สัญญาร่วมกันกับยามาฮ่า
เป็นรถสปอร์ตแบบ 2-Doors Fastback ที่ดีไซน์เรียบเนียนทั่วทั้งคัน ผสานความคลาสสิคของงานออกแบบภายในด้วยลายไม้บริเวณแผงคอนโซลรวมถึงพวงมาลัย 3 ก้าน
มาพร้อมเครื่องยนต์ 6 สูบขนาด 2.0-litre in-line 6-cylinder engine เครื่องตัวแรงที่ยกมาจาก Toyota Crown ถูกปรับจูนใหม่ให้พลัง 148 แรงม้าและแรงบิดที่ 175 นิวตันเมตร
ส่งกำลังผ่านเกียร์แมนนวล 5-Speed สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 209 กิโลเมตร/ชั่วโมง รวมถึงรุ่นพิเศษอีก 9 คันที่ใช้เป็นเครื่องยนต์ขนาด 2.3 ลิตรที่มาพร้อมเกียร์ออัตโนมัติ 3-Speed เป็นครั้งแรกของรถยนต์จากญี่ปุ่นที่ติดตั้ง Limited slip differential และ Power-assisted disc brakes
TOYOTA CELICA GT-FOUR (ST185)
สานต่อความสำเร็จจากรุ่น ST165 โดย ST185 คว้าชัยชนะรายการ WRC ประเภทนักขับในปี 1990 จากนั้นในปี 1993 ก็เป็นบริษัทรถญี่ปุ่นแห่งแรกที่ชนะทั้งประเภทนักขับและผู้ผลิตด้วยรถรุ่น ST185 เครื่องยนต์ 4 สูบ DOHC 1,998 ซีซี 299 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที
TOYOTA SUPRA TURBO A (MA70)
ในปี 1987 SUPRA TURBO A เข้าร่วมการแข่งขันรายการ All Japan Touring Car Championship และเมื่อชนะการแข่งขันก็ต้องเพิ่มน้ำหนักจากเดิม 1,325 เป็น 1,420 กิโลกรัม ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ DOHC เทอร์โบ 2,954 ซีซี
GR SUPRA DRIFT BY HKS
ใช้พื้นฐานจาก GR Supra โดย HKS ปรับปรุงให้รถเหมาะกับการแข่งขันดริฟต์ด้วยชุดแต่งจาก HKS รถรุ่นนี้ขับโชว์ในงาน Goodwood Festival of Speed ในปี 2019 เป็นรถที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในงานที่จัดขึ้นที่สหราชอาณาจักรทุกปี ใช้เครื่องยนต์ 6 สูบ DOHC เทอร์โบ 3,352 ซีซี 700 แรงม้า
TOYOTA GT-ONE (TS020)
ปี 1999 รถแข่ง เลอมังส์ 24 ชั่วโมง ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างโตโยต้า มอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น (ญี่ปุ่น) และ TMG หรือ Toyota Motorsport GmbH ในเยอรมนี เพื่อพัฒนารถแข่งที่มีระบบอากาศพลศาสตร์ที่ดี
โดยตัวมีความยาว 4,840 มิลลิเมตร กว้าง 2,000 มิลลิเมตร สูง 1,125 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,800 มิลลิเมตร น้ำหนัก 900 กิโลกรัม เครื่องยนต์ วี8 DOHC เทอร์โบ 3,576 ซีซี 600 แรงม้า
TOYOTA TF109
โตโยต้าเข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้ในช่วงปี 2002-2009 ภายใต้ชื่อทีม Panasonic Toyota Racing โดยเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งที่ 2 ต่อจากฮอนด้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์และแชสซีส์ด้วยตัวเอง โดยใช้เครื่องยนต์ วี8 DOHC 2,398 ซีซี 700 แรงม้า ที่ 18,000 รอบต่อนาที โตโยต้าได้อันดับดีที่สุดคือ ที่ 2 จำนวน 5 ครั้ง
ในส่วนของบริเวณชั้น 3
จะเป็นคาเฟ่ขายเครื่องดื่ม ร้านขายของที่ระลึก และมีจุดนั่งชิลล์ชมวิวสนาม Fuji Speedway อีกต่างหาก
นี่ยังไม่หมดนะครับรถเยอะมากจริงๆ เอาเป็นว่าต้องบอกเลยครับว่าที่นี่ทำเอาผม flashback ย้อนกลับไปในยุค 90 ภาพโมเดลรถแข่งที่ตอนนั้นอยากได้มาโชว์ในตู้นั้นลอยขึ้นในมา คุณลองคิดดูวันนี้ผมได้เห็นคันจริงๆที่ไม่ใช่โมเดล ความรู้สึกมันเกินคำบรรยายเลยครับ ผมว่าใครชอบรถยนต์ รถแข่ง ชื่นชอบการแข่งขันรถยนต์ คุณต้องมาเห็นด้วยตาครับว่าไอ้รถโมเดลที่เราสะสมตอนเด็กมันกลายเป็นของจริงที่อยู่ตรงหน้าคุณแบบใกล้ชิดมันเป็นอย่างไร อยากรู้คุณต้องมาชมสักครั้งครับ
เรื่อง : ณัฐพล เดชสิงห์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานต์ยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th