‘อนาคตรถกระบะในประเทศไทย อะไรคือคำตอบ ไฮบริด-พลังไฟฟ้า?’
รถกระบะไฟฟ้า รถกระบะไฮบริด 2025
What’s Next? Future of Hybrid & BEV Truck in Thailand – ‘อนาคตรถกระบะในประเทศไทย อะไรคือคำตอบ ไฮบริด-พลังไฟฟ้า?’
กระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่เริ่มชะลอตัวทั่วโลก ส่งผลกระทบกับแผนพัฒนาเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในโมเดลอื่นๆ รวมถึงรถกระบะที่ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตสำคัญ และเป็นยานพาหนะตัวเลือกอันดับต้นๆ ของคนไทย จนทำให้เกิดคำถามถึงการเปิดตัวรถกระบะขุมกำลังดีเซลไฮบริดของแบรนด์เจ้าตลาด หลังจากนี้จะมีกระแสตอบรับอย่างไร?, ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นตัดสินใจถูกต้องกับการเลือกนำเสนอเครื่องยนต์ไฮบริดเพื่อรอเวลาให้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าของรถกระบะสมบูรณ์แบบที่สุด? และบทสรุปสุดท้าย ‘อนาคตรถกระบะในประเทศไทย อะไรคือคำตอบ ไฮบริด-พลังไฟฟ้า?’
รถยนต์ไฟฟ้า Battery Electric Vehicle (BEV) เริ่มกลายเป็นที่พูดถึงในประเทศไทยราว 2 ปีก่อนที่ทั้งโลกจะหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กลายเป็นว่าความนิยมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นจากการเข้ามาของแบรนด์รถยนต์จีนที่อาศัยความได้เปรียบของสิทธิพิเศษทางภาษีทำให้มีราคาที่สามารถจับต้องได้มากกว่าผู้ผลิตรถยนต์ฝั่งยุโรป และญี่ปุ่น จนทำให้ทุกวันนี้เราเห็นรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งบนถนนทั่วประเทศจนกลายเป็นเรื่องปกติ
บทวิเคราะห์: สถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศไทยในปี 2025
และอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเร่งการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต้องไม่ลืมว่าเกิดจากการตื่นตัวด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการที่กรุงเทพฯ และหลายจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศเผชิญมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ที่เลวร้ายลงทุกปี รวมถึงการรับรู้ข้อมูลในภาพรวมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – Climate Change ส่งผลให้เกิดสภาวะโลกร้อน, การสูญพันธ์ของสัตว์ป่า และสภาพอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง จนทำให้รัฐบาลของหลายประเทศ และบริษัทชั้นนำของโลกพยายามดำเนินนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้เร็วที่สุด
ถึงจะมีการผลักดันจากทั้งภาครัฐ และผู้ผลิตรถยนต์ที่มีฐานการผลิตในประเทศอยู่แล้ว หรือแบรนด์ที่เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่ทุกฝ่ายรับรู้ว่าการจะเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าต้องผลักดันให้รถกระบะที่คนไทยใช้งานทั้งในชีวิตประจำวันปกติ และเชิงพาณิชย์ จนมียอดขายสูงถึง 1 ใน 3 ของยอดขายรถยนต์รวมในแต่ละปี
ความพยายามของเจ้าตลาด
ท่ามกลางความคาดการณ์ และกระแสข่าวลือที่ยาวนาน ในที่สุด Toyota ผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในประเทศไทย แสดงความชัดเจนกับแผนการสู่อนาคตของพวกเขาทั้งในบ้านเรา และระดับโลก ระหว่างงานฉลองการดำเนินงานครบ 60 ปีในประเทศไทย เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2022 โดย Akio Toyoda ที่เวลานั้นดำรงตำแหน่งประธาน และประธานบริหาร Toyota Motor Corporation ประกาศแผนพัฒนารถกระบะพลังงานไฟฟ้า Hilux Revo BEV Concept เป็นครั้งแรกของโลกบนเวทีแสดงวิสัยทัศน์ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
อย่างไรก็ตามด้วยการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นที่ต้องรอบคอบในทุกรายละเอียด ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา รถกระบะไฟฟ้าของ Toyota ยังไม่เปลี่ยนสถานะจากต้นแบบสู่ขั้นตอนการผลิตขายจริงอย่างที่ลูกค้าชาวไทยหลายคนรอคอย โดยมีเพียงการนำมาให้สื่อมวลชนทดสอบที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต เมื่อเดือนธันวาคม 2023 พร้อมรถต้นแบบพลังงานทางเลือก Hilux Diesel HEV ขุมกำลังดีเซลไฮบริด และ Hilux FCEV ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน
ความคืบหน้าล่าสุดของรถกระบะไฟฟ้าต้นแบบของ Toyota คือการส่งมอบ Hilux Revo-e จำนวน 12 คัน เพื่อทดลองให้บริการในรูปแบบรถสองแถวโดยสารประจำทางสาธารณะ (Fixed Route) ในพื้นที่เมืองพัทยา ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนปีที่แล้วจนถึงเดือนธันวาคม 2025 ซึ่งเป็นไปตามแนวทาง Multi Pathway การนำเสนอพลังงานขับเคลื่อนยานพาหนะในหลากหลายรูปแบบเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนที่เป็นเป้าหมายหลัก
ในขณะที่ Isuzu คู่แข่งสำคัญในตลาดรถกระบะประเทศไทยของ Toyota ถึงจะเดินเกมช้ากว่า แต่เพียง 7 เดือนหลังจากที่พวกเขาเผยโฉมรถต้นแบบทั้ง Isuzu D-Max EV Concept และ Isuzu D-Max Hi-Lander MHEV ในงานแถลงนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลก และระดับประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม 2024 รถกระบะพลังงานทางเลือกของพวกเขาเริ่มต้นขายอย่างเป็นทางการ
New Isuzu D-Max 1.9 Ddi MHEV ที่มีตัวเลือกทั้งรุ่น Hi-lander 4 ประตู และรุ่น Cab4 เปิดให้จับจองในเว็บไซต์ isuzu-tis.com เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2024 โดยเทคโนโลยี Mild Hybrid ของพวกเขาเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ 1.9 Ddi MHEV มาตรฐาน Euro 5 กับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเสริมการขับเคลื่อน โดยติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 48 โวลต์ 8.4 แอมป์ ความจุ 370 วัตต์-ชั่วโมง เพื่อช่วยลดการปล่อยไอเสีย และสามารถปั่นไฟเพื่อชาร์จพลังงานเมื่อถอนคันเร่ง (Engine Brake) รวมทั้งมีระบบแปลงพลังงานที่สูญเสียในขณะถอนคันเร่งหรือเบรกเป็นพลังงานไฟฟ้า (Regenerative Braking System) โดยตั้งราคาขายไว้ที่ 1,145,000 บาท เรียกว่าไม่ได้โดดจนเกินไปจากโมเดลรุ่นบนของ D-Max ที่ทำตลาดในปัจจุบัน
สำหรับการเปิดตัวรถกระบะไฟฟ้า Isuzu D-Max BEV ตามข้อมูลที่ Shinsuke Minami ประธานกรรมการบริหารอีซูซุ มอเตอร์ส (ประเทศญี่ปุ่น) ให้สัมภาษณ์ระหว่างงานเปิดตัว New D-Max เมื่อเดือนตุลาคม 2023 รถกระบะไฟฟ้าของพวกเขามีกำหนดเริ่มต้นขายในทวีปยุโรปภายในปี 2025 ก่อนจะทำตลาดในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยที่จะถูกใช้เป็นฐานการผลิตสำคัญในการก้าวสู่ยุคยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของ Isuzu อีกด้วย
RIDDARA RD6 – รถกระบะพลังไฟฟ้า 100% คันแรกของประเทศไทย
แต่ถึง 2 เจ้าตลาดรถกระบะเมืองไทยจะเตรียมความพร้อมล่วงหน้าเป็นปี ก็ไม่ทันความไวของทางฝั่งจีนที่อาศัยความได้เปรียบของสิทธิพิเศษทางภาษีของข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) โดย Riddara แบรนด์รถยนต์ในเครือ Geely Group หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่แดนมังกร กลับกลายเป็นแบรนด์แรกที่เปิดตัวขายรถกระบะพลังงานไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์รุ่นแรกในบ้านเราภายใต้ชื่อ ‘Riddara RD6’
Riddara เป็นชื่อสำหรับการทำตลาดนอกประเทศจีนของ Radar Auto ที่ก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 2 ปีเศษเท่านั้น โดย Geely วางตำแหน่งให้เป็นแบรนด์ที่โฟกัสเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าแบบไลฟ์สไตล์ และวางเป้าหมายยอดขายปีแรกของ RD6 ในประเทศไทยไว้ที่ 10,000 คัน ซึ่งหากทำได้จริงชื่อของ Riddara จะขึ้นมาอยู่อันดับ 4-5 ของตลาดรถกระบะประเทศไทยเลยทีเดียว – แต่คงต้องถามคู่แข่งที่เหลือด้วยว่าจะยอมปล่อยให้พวกเขาทำได้สำเร็จหรือไม่?
ในขณะที่ Riddara วางตำแหน่ง RD6 เป็นรถกระบะที่มอบความสะดวกสบายระดับเดียวกับรถอเนกประสงค์ SUV คู่แข่งชาติเดียวกันอย่าง Deepal แบรนด์ในเครือ Changan Automobile สวนกลับด้วยการเปิดตัว E07 โมเดลลูกผสมระหว่างเอสยูวีกับรถกระบะออกขายในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่พวกเขาเลือกจะย้ำชัดเจนถึงความเป็น SUV มากกว่ารถกระบะถึงจะมีตัวถังด้านท้ายที่ลาดเอียง และสามารถเปิดโล่งเพื่อบรรทุกสัมภาระเหมือนรถกระบะทั่วไปก็ตาม
ที่สำคัญ Deepal พยายามนำเสนอภาพของความเป็น SUV พลังงานไฟฟ้าที่โดดเด่นด้วยดีไซน์ล้ำยุค และเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งสมรรถนะที่ยอดเยี่ยมมากกว่า โดยตั้งราคาระดับล้านกลางๆ จนถึง 2 ล้านบาท สำหรับรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ AWD แต่จะเพิ่มความพิเศษกับ 3 รุ่นผลิตจำนวนจำกัดที่ราคาไปสิ้นสุดที่ 3 ล้านบาท
ทางด้าน GWM อีกหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากแดนมังกร รอฤกษ์เข้าสู่ตลาดรถกระบะมานานหลายปี หากนับตั้งแต่ตอนที่นำ Poer EV รถกระบะไฟฟ้ามาให้คนไทยได้เห็นคันจริงในบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2021 แต่ต้องทิ้งช่วงมานานกว่า 3 ปีกว่าจะพร้อมจำหน่าย และกลายเป็นว่าพวกเขาตัดสินใจนำเสนอโมเดลไฮบริดแทน ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น GWM Poer Sahar HEV โดยรุ่นเริ่มต้นขับเคลื่อนสองล้อราคา 1,189,000 บาท และรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ ราคา 1,389,000 บาท
ในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของ Poer Sahar HEV ระหว่างงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 GWM เลือกนำเสนอนิยามที่แตกต่างของรถกระบะ ครบครันด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ขับขี่ และผู้โดยสาร โดยพัฒนาบนแพลตฟอร์ม Tank และมั่นใจว่าระบบขับเคลื่อนขุมพลังไฮบริดมีความทรงพลังไม่แพ้คู่แข่งในเซกเมนต์นี้แน่นอน ถึงจะมีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมัน 10.5 กม./ลิตร (การทดสอบในสภาวะรวมตามมาตรฐาน Eco Sticker สำหรับรุ่น AWD) ที่เรียกว่ายังตามหลังผู้นำตลาดรถกระบะอย่าง Isuzu อีกไกล หลังจาก D-Max 1.9 Ddi MHEV ของพวกเขามีอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันสูงถึง 15.6 กม./ลิตร (การทดสอบในสภาวะรวม Eco Sticker)
การประคองสถานการณ์ของ 2 พันธมิตร Nissan และ Mitsubishi
วกกลับมาที่ค่ายผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเคยครองหัวแถวตลาดรถกระบะเมืองไทยอย่าง Nissan และ Mitsubishi Motors หลังจากพลาดท่าให้กับ Ford Ranger ตลอดหลายปีหลัง จนเหมือนว่าพวกเขาไม่อาจหาหนทางที่จะสร้างยอดขายกลับมาใกล้เคียง Toyota และ Isuzu เหมือนในอดีตได้อีกเลย
สถิติยอดขายรถยนต์ของประเทศไทยในปี 2567 (Overall Thailand Vehicle Sale 2024)
Nissan ที่เตรียมจะแยกตัวจากกลุ่มพันธมิตร Alliance ที่มี Mitsubishi Motors เข้าร่วมตั้งแต่ปี 2016 (โดยพวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของ Honda ภายในกลางปี 2026) พยายามผลักดันรถกระบะ Navara เจเนอเรชั่นปัจจุบันที่ลากขายยาวมาตั้งแต่ปี 2014 ด้วยการเปิดตัวรุ่นพิเศษทั้ง Black Edition และ PRO-4X ที่มีการเพิ่มชุดแต่งให้ดุดันมากขึ้น
จนกระทั่งเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว New Navara 2024 มีการไมเนอร์เชนจ์รอบใหญ่ ด้วยการเปลี่ยมขุมกำลังใหม่เป็นเครื่องยนต์ดีเซลทวินเทอร์โบ 2.3 ลิตร รหัส YS23DDTT โดยปรับปรุงการปล่อยไอเสียให้เข้ามาตรฐานยูโร 5 รวมทั้งปรับดีไซน์ภายใน และเพิ่มออปชั่นใหม่เข้ามา แต่ไม่ได้ช่วยกระตุ้นยอดขายมากนักเท่าไรนัก
เหมือนกับ Triton Athlete รถกระบะตัวท็อปของฝั่ง Mitsubishi ที่ใช้เครื่องยนต์ Hyper Power X2 ที่ไม่มีการคอนเฟิร์มว่าผ่านมาตรฐานยูโร 5 แล้วรึยัง?
แต่ทั้ง 2 ค่ายนี้ยังพออาศัยยอดการผลิตของโรงงานประเทศไทยเพื่อส่งออกขายทั่วโลกประคองตัวไปได้ ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคงเป็น Mazda หลังจาก BT-50 เจเนอเรชั่นล่าสุดที่เป็นการพัฒนาร่วมกับ Isuzu ยอดขายอยู่รั้งท้ายมาตลอด นับตั้งแต่เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อต้นปี 2021
อย่างไรก็ตามในงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 Mazda สร้างเซอร์ไพรส์เล็กๆ ด้วยการเปิดตัวโมเดลไมเนอร์เชนจ์ของ BT-50 เพียง 1 เดือนเศษหลังจากเผยโฉมครั้งแรกที่ออสเตรเลีย โดยมีการปรับดีไซน์ใหม่รอบคัน เพิ่มระบบช่วยเหลือการขับขี่ และระบบความปลอดภัย รวมทั้งนำเครื่องยนต์ใหม่ดีเซลเทอร์โบ 3.0 ลิตร 190 แรงม้า มาเป็นตัวเลือกในรุ่นขับเคลื่อนสองล้อยกสูง Hi-Racer อีกด้วย เรียกว่าค่ายรถยนต์จากเมืองฮิโรชิม่าขอฮึดสู้ต่ออีกสักยกในตลาดรถกระบะเมืองไทย
แต่จากสถานการณ์โดยรวมของ Nissan, Mitsubishi และ Mazda ต้องรอดูว่า 2 ผู้นำตลาดรถกระบะเมืองไทย Toyota และ Isuzu จะตัดสินใจเลือกทางไหน? ระหว่างการก้าวสู่ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฮบริดควบคู่กันไป แต่ไม่ว่าคำตอบจะออกมาอย่างไร ก็เชื่อว่าพวกญี่ปุ่นจะแพ็คไปด้วยกันแน่นอน
Ford ทางเลือกระหว่าง ‘กระบะพันธุ์แกร่ง’ กับ ‘พลังงานไฟฟ้า’
ปิดท้ายกับค่ายอเมริกันหนึ่งเดียวในบ้านเรา Ford ที่รักษาตำแหน่งอันดับ 3 ยอดขายรถกระบะประเทศไทยต่อเนื่องมานานหลายปี นับตั้งแต่ Ranger รหัส T6 ที่สร้างภาพลักษณ์ของความเป็น ‘กระบะพันธุ์แกร่ง’ ก่อนจะตามมาด้วยจอมโหด Ranger Raptor และเข้าสู่ Next-Gen Ranger เมื่อปี 2022
แต่นับจนถึงตอนนี้ Ford ไม่มีความชัดเจนถึงแผนการอนาคตสำหรับประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันพวกเขามีเพียง Ranger และรถเอสยูวี Everest เท่านั้นที่ทำตลาดในบ้านเรา (หลังจาก Mustang จะไม่มีการนำเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาขายต่อ) ทั้งที่ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายอื่นๆ มีการปรับกลยุทธ์เพื่อนำเสนอรถกระบะไฮบริด และพลังงานไฟฟ้าตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ฝั่งยุโรป Ford เตรียมเปิดตัว All-New Ranger PHEV รถกระบะที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อนปลั๊ก-อิน ไฮบริด สามารถขับด้วยโหมดไฟฟ้า EV ได้ไกลกว่า 45 กิโลเมตร เพื่อแทนที่โมเดลขุมกำลังดีเซล ซึ่งต้องยุติการขายตามข้อกำหนดการปล่อยไอเสียของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู)
แต่สำหรับประเทศไทยเหมือนกับว่าพวกอเมริกันยังคงเลือกนำเสนอสมรรถนะความแรงในสไตล์รถกระบะพันธุ์แกร่งต่อไป หลังจากเพิ่มรุ่นย่อยใหม่ Ranger MS-RT ที่เป็นการร่วมมือระหว่าง Ford กับ MS-RT สำนักแต่งรถชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ สร้างสรรค์ชุดแต่งพิเศษเพิ่มสมรรถนะให้รถกระบะที่ใช้พื้นฐานจาก Ranger Wildtrak ขุมกำลังดีเซลเทอร์โบ 3.0 ลิตร ที่มีความแรง 240 แรงม้า เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าสายทางเรียบ เป็นการประคองสถานการณ์ในภูมิภาคนี้ไปอีกระยะหนึ่ง
จุดเปลี่ยนที่กำลังจะมาถึง
ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะเปลี่ยนผ่านสู่ระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าอย่างแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้แผนการที่หลายประเทศทั่วโลกกำหนดเป้าหมายเอาไว้อาจต้องล่าช้าออกไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการใช้งานของ BEV รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นคืนกลับมา
เช่นเดียวกับในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นพยายามยืดระยะเวลาการใช้งานเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ของกลุ่มรถกระบะ และรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (Passenger Car) ให้ยาวนานที่สุด จนกว่าพวกเขาจะสามารถเจรจาต่อรองกับรัฐบาลไทยให้ออกนโยบายสนับสนุนการเข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่น่าพอใจมากที่สุด เพื่อทำให้พวกเขาพลิกสถานการณ์กลับมาชนะบรรดาแบรนด์จีนที่ถือความได้เปรียบจากสิทธิพิเศษทางภาษีในเวลานี้
เมื่อผลประโยชน์ทุกอย่างลงตัว และถึงเวลาที่เหมาะสม สถานะที่แข็งแกร่งของตลาดรถกระบะในประเทศไทยจะกลับมาอีกครั้ง…
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: บริษัทรถยนต์
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
รถกระบะไฟฟ้า รถกระบะไฮบริด 2025