เจาะลึกฐานบัญชาการใหญ่ GAC เมืองกว่างโจว-พร้อมยกทัพรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION บุกเมืองไทย
หลังจากเปิดตัวแบรนด์ AION พร้อมเริ่มต้นขาย YPlus เอสยูวีพลังงานไฟฟ้าเป็นโมเดลแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา GAC Group บริษัทแม่ของ AION นำสื่อมวลชนไทยกว่า 30 ชีวิต เดินทางสู่ฐานบัญชาการใหญ่ที่เมืองกว่างโจว เพื่อเยี่ยมชมความล้ำสมัยของโรงงานผลิต, ศูนย์วิจัย และพัฒนาที่กำลังทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีจัดแสดงความเป็นมาของพวกเขาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
นับตั้งแต่รถบัสของคณะสื่อมวลชนเคลื่อนตัวออกจากสนามบินกว่างโจวไป่หยุน เพื่อเดินทางสู่ตัวเมืองกว่างโจว ต้องยอมรับว่าที่นี่คือถิ่นของ GAC ตามชื่อเต็มของพวกเขาจริงๆ (Guangzhou Automobile Group) โดยเท่าที่เห็นรถยนต์ที่แล่นบนถนนประมาณ 8 ใน 10 คันจะติดโลโก้ GAC หรือ Aion ส่วนที่เหลืออีก 2 คัน ไม่ใช่คนอื่นไกลก็แบรนด์รถญี่ปุ่นที่มาร่วมทุนกับพวกเขานั่นเอง
GAC ปักหมุดประเทศไทย ยกเครือข่ายซัพพลายเชน-ตั้งโรงงานผลิต พร้อมเดินเครื่องกลางปีหน้า
เมื่อเดินทางสู่ GAC Aion New Energy Automobile สำนักงานใหญ่ และสถานที่ตั้งโรงงานผลิตที่ควบคุมด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI (Artificial intelligence) คณะผู้บริหาร GAC และ Aion Thailand ออกมาร่วมกล่าวต้อนรับ ด้านหลังจะเป็นการโชว์ศักยภาพของการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของประเทศ โดยจะมีรถยนต์รุ่นใหม่ล่าสุดของพวกเขาถูกนำมาจัดแสดงทั้ง Hyper SSR ไฮเปอร์คาร์พลังงานไฟฟ้าโดดเด่นอยู่ตรงกลางร่วมกับ Hyper GT, Hyper HT เอสยูวีประตูปีกนก, Aion V Plus เอสยูวีอีกหนึ่งรุ่นของพวกเขา, Aion S Max ซีดานไฟฟ้า, E9 PHEV รถตู้จาก Trumpchi อีกแบรนด์ในเครือ GAC รวมทั้งรถยนต์ที่พวกเขาผลิตให้ Toyota และ Honda ในฐานะบริษัทร่วมทุน
หลังจากนั้นเป็นการรับฟังข้อมูลเกี่ยวกับ AEP แพลตฟอร์มสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ และเทคโนโลยี Magazine Battery รวมทั้งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีต่างๆ และเข้าใจที่มาของสโลแกน “เลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เลือกแพลตฟอร์ม EV AION” มากขึ้น ให้ผู้ใช้รถยนต์สามารถมั่นใจในเรื่องเทคโนโลยีของ GAC AION ที่จะเข้ามาพัฒนาในประเทศไทย
“เราคิดค้น Magazine Battery ขึ้นมา และเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของ GAC AION เท่านั้น ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 100 เปอร์เซ็นต์ และตั้งแต่เรานำ Magazine Battery มาใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า ก็ยังไม่เคยเกิดไฟไหม้หรือระเบิดเลยสักครั้ง ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่เราจำหน่ายในประเทศไทยรุ่นแรกคือ AION Y Plus ก็ได้ติดตั้ง Magazine Battery เช่นกัน ซึ่งสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าชาวไทยได้ว่า AION Y Plus มีความปลอดภัยสูง” คุณเฉิน หว่าน ผู้อำนวยการธุรกิจระหว่างประเทศบริษัท GAC กล่าวกับสื่อมวลชนระหว่างเดินเยี่ยมชม
ไฮไลต์พิเศษของสื่อมวลชนไทยกลุ่มแรกที่ได้เยี่ยมชมฐานบัญชาการใหญ่ GAC คือการได้เห็นไลน์ประกอบรถยนต์ของพวกเขาอย่างใกล้ชิดในทุกกระบวนการผลิต และประกอบชิ้นส่วนที่ควบคุมผ่าน AI ที่มีความแม่นยำ และรวดเร็ว และความสำเร็จทางเทคโนโลยีของ GAC AION ในด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ทำให้โรงงานแห่งนี้รองรับการผลิตรถยนต์พร้อมกันหลากหลายรุ่น, ไม่จำกัดสีตัวถัง และออปชั่นที่แตกต่าง โดยกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 600,000 คันต่อปี
ก่อนจะไปเจาะลึกความล้ำหน้าในเทคโนโลยีของ GAC AION ทั้งระบบเครือข่ายอัจฉริยะ และระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ในส่วนของงานเชื่อมตัวถังต้องยอมรับว่ามีการเกิดประกายไฟน้อยมาก นับว่าเป็นการช่วยลดมลพิษภายในโรงงาน) ปัจจุบัน AION กำลังสร้างสรรค์ห่วงโซ่อุตสาหกรรม และเป็นผู้นำด้านพลังงานใหม่ โดยกำลังพัฒนาหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้า (ระบบขับเคลื่อน, แบตเตอรี่ และระบบควบคุม) และก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำด้านการออกแบบ และการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูงในประเทศจีนก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลก
ในขณะที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง GAC AION ยังได้มีกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อบุกตลาดต่างประเทศ โดยเลือกไทยเป็นประเทศแรก เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคุณเฉิน หว่าน แสดงความมุ่งมั่นกับแผนในอนาคตว่า “GAC AION เลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งโรงงานอัจฉริยะมาตรฐานระดับโลก ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณภาพสูง ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูกค้ามั่นใจ และไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของ GAC AION และปัจจุบัน GAC AION ประเทศไทยได้อนุมัติสร้างศูนย์จำหน่ายแล้ว 30 แห่งทั่วประเทศ (ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 25 แห่ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างก่อสร้าง และตั้งเป้าอนุมัติเปิดศูนย์จำหน่ายให้ได้ 50 แห่งภายในสิ้นปีนี้”
หลังจากนั้นสื่อมวลชนไทยมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ลองนั่งในรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง Aion LX Plus, Aion V Plus และ Hyper GT เพื่อสัมผัสสมรรถนะเบื้องต้น รวมทั้งการสาธิตระบบขับขี่อัจฉริยะแบบไร้คนขับที่สามารถสั่งรถจอดอัตโนมัติได้ระยะทางไกลกว่า 150 เมตรที่ติดตั้งใน V Plus แสดงให้เห็นถึงความล้ำสมัยด้านเทคโนโลยีของ GAC
ศูนย์วิจัย และพัฒนา GAC R&D Center
ในช่วงบ่ายเป็นการเยี่ยมชมศูนย์วิจัย และพัฒนา GAC R&D Center ที่ใช้เวลาเดินทางด้วยรถบัสประมาณ 10 นาทีจากฝั่งโรงงานผลิต โดยพื้นที่ส่วนนี้ห้ามสื่อมวลชนบันทึกวีดิโอหรือภาพนิ่ง ส่วนแรกจะเป็นศูนย์วิจัยยานยนต์เชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Connected Vehicle Lab: ICV LAB) ที่จะมีการเก็บข้อมูลรถยนต์ GAC ที่อยู่บนถนนทั่วประเทศจีน
อีกด้านหนึ่งจะเป็นแผนกทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) ที่ต้องยอมรับว่าพวกเขาล้ำหน้าไปมากๆ จากการที่กำลังอยู่ระหว่างทดสอบระดับ Level 4 (รถยนต์สามารถควบคุมการขับขี่ภายใต้สถานการณ์ที่กำหนด) บนถนนจริงโดยทีมพัฒนา GAC จะนั่งอยู่บนรถโดยปล่อยมือจากพวงมาลัยที่จะมีกล้องคอยจับภาพแบบเรียลไทม์ส่งกลับมาที่ GAC R&D Center
จากนั้นเป็นอีกไฮไลต์คือบรรดาคอนเซปต์คาร์ของ GAC นำมาจัดแสดงให้สื่อมวลชนได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยมีทั้งรถต้นแบบของแบรนด์ Aion และ Hyper ที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา โดยบางโมเดลเท่าที่ดูแล้วเชื่อว่าจะเป็นแบรนด์ใหม่ของพวกเขาที่จะเปิดตัวในอนาคต
ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเดินทางไป GAC Technology Museum (พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหนานซา GAC AION) ที่จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ส่วน ทั้งรถยนต์ที่ผลิตในปัจจุบัน, เทคโนโลยีแบตเตอรี่, ประวัติการก่อตั้งบริษัทในอดีต และเทคโนโลยีการเดินทางแห่งอนาคตที่ถูกนำเสนอผ่าน GOVE ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าสำหรับการเดินทางภาคพื้นดิน และอากาศที่สามารถแยกส่วนห้องโดยสารออกจากกัน
เรียกว่าตลอด 1 วันที่ได้เข้าไปสัมผัสความล้ำสมัยของโรงงานผลิต และความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีของ GAC AION ต้องยอมรับว่าเพิ่มความเชื่อมั่นที่มีต่อแบรนด์นี้มากขึ้น สำหรับการเข้ามาทำตลาดในบ้านเรา หลังจากนี้คงเหลือแต่ว่าพวกเขาต้องบริหารตัวแทนจำหน่ายให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ และที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยคือบริการหลังการขาย ถึงรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ต้องดูแลเยอะเหมือนรถยนต์น้ำมัน แต่ความใส่ใจ และจริงใจคือสิ่งสำคัญที่จะเอาชนะใจลูกค้าชาวไทยให้เปลี่ยนใจมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ AION ในอนาคต
เรื่อง: พูนทวี สุวัตถิกุล
ขอบคุณข้อมูล: GAC AION
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th
GAC AION YPlus