GINKA Charge Point เปิดตัวต้นแบบเล็งขยาย 1,000 จุด ปีนี้
GINKA Charge Point ได้ฤกษ์เปิดตัวต้นแบบ ชูจุดเด่นไม่มีแอปฯก็ชาร์จได้ แค่เลือก-จ่าย-ชาร์จ ผ่านหน้าจอ Touch Screen เหมือนตู้บุญเติมและเต่าบินผู้บริหารวางโมเดลธุรกิจร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่เน้น Solution การบริหารจัดการแบบครบครัน
ตั้งแต่ติดตั้งเครื่อง ระบบคิดเงินและจ่ายเงิน ระบบ Call Center ตลอด 24 ชม. พร้อมดูแลรักษาตลอดอายุสัญญา เป้าหมายแรกปีนี้ 500-1,000 จุดก่อนขยายเพิ่มตามอัตราเร่งของจำนวนรถยนต์ในอนาคต มั่นใจเป็น S Curve ใหม่ที่จะทยอยสร้างรายได้ให้บริษัท
ต่อยอดจากบุญเติม สู่ กิ้งก่า ชาร์ พอยท์
นายพงษ์ชัย อมตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) “FSMART” เปิดเผยว่า GINKA Charge Point เกิดจากการพยายามมองหาโอกาสด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกระแสความต้องการของผู้ใช้งานของกลุ่มบริษัท ฟอร์ท กรุ๊ป ด้วยการคิดค้นและพัฒนาจากทีมวิจัยและพัฒนา(R&D) ภายใต้บริษัทแม่อย่าง บริษัท ฟอร์ท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) “FORTH”
หลังจากประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ของช่องทางการเงินและชำระเงินครบวงจร “บุญเติม” ต่อเนื่องมาถึง ‘เต่าบิน’ Robotic Barista คาเฟ่อัตโนมัติ 24 ชั่วโมง โดย กิ้งก่า ชาร์จ พอยท์ เป็นการผสานประสบการณ์และเทคโนโลยีด้านการชำระเงินจาก “บุญเติม” เข้ากับนวัตกรรมและภาพลักษณ์สไตล์ “เต่าบิน” ที่มีความทันสมัย และยังคงคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ ให้ใช้ง่าย สะดวก พร้อมด้วยบริการหลังการขายตลอดอายุการใช้งาน
สำหรับ กิ้งก่า ชาร์จ พอยท์ มีความแตกต่างด้านดีไซน์ที่ทันสมัย พร้อมกับระบบการจัดการสายชาร์จด้วยสายเคเบิลอัจฉริยะระบบจัดการสายไฟที่มีประสิทธิภาพที่สายดึงกลับ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานหัวชาร์จ ได้รวดเร็ว สะอาด และปลอดภัย ระบบการใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน หน้าจอแสดงผลแบบสัมผัส ไม่จำเป็นต้องติดตั้งแอปพลิเคชันบนมือถือ
มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS เมื่อชาร์จเต็ม และมีระบบการชำระเงินได้หลายช่องทาง อาทิ Mobile Banking ของทุกธนาคาร, E-Wallet และ กิ้งก่า เครดิต เช่นเดียวกับเต่าบิน ซึ่งเป็นสิทธิบัตรในการเก็บเครดิตในเบอร์โทรศัพท์ของกลุ่มบริษัทฟอร์ทเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีบริการ Call Center ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง รวมถึงกรณีต้องการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญในการปรึกษาด้านระบบทั้งแบบออนไลน์ และในพื้นที่เพื่อบำรุงรักษาเครื่องให้พร้อมใช้งานตลอดเวลาอีกด้วย
“การเข้ามาในธุรกิจเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจมาแล้วเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้า ซึ่งได้มีการพัฒนาและผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ FORTH แต่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้าในขณะนั้นมีปริมาณน้อย และยังไม่มีมาตรการสนับสนุนจากทางภาครัฐ จึงเป็นการทดสอบระบบ รวมถึงทำให้บริษัทได้มีระยะเวลาในการเก็บรวบรวมรูปแบบการใช้งานของผู้ใช้ จนทำให้บริษัทมีข้อมูล มาใช้ในการพัฒนา GINKA
ในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ กิ้งก่า ได้มีปรับดีไซน์รูปแบบเครื่องและการใช้งาน ทั้งระบบสายชาร์จแบบเคเบิล ระบบการชำระเงิน และการสร้างตราสัญลักษณ์ เพื่อการจดจำ แตกต่าง น่าสนใจ สอดคล้องกับ “เต่าบิน” จึงออกมาเป็น “กิ้งก่า” ซึ่งมีสีเขียวสอดคล้องกับ Concept ความเป็น Green Energy และแนวคิดที่สามารถเปลี่ยนสีเครื่องตามสภาพแวดล้อมในจุดติดตั้ง”นายพงษ์ชัย กล่าว
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส กล่าวว่า กิ้งก่า ชาร์จ พอย เป็นเครื่องชาร์ทรถยนต์ไฟฟ้าที่ให้บริการแบบระบบไฟฟ้ากระแสสลับ หรือ AC ซึ่งจะออกสู่ตลาดก่อน และ DC จะตามมาในอนาคต โดยบริษัทวางแผนให้บริการบนพื้นที่เป้าหมายเบื้องต้นประมาณ 500-1,000 จุด อาทิ อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม โรงพยาบาล ลานเช่าจอดรถ ลานจอดในตลาด ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งาน เนื่องจาก กิ้งก่า ชาร์จ พอยท์ มีขั้นตอนการใช้ง่ายๆ เพียงผู้ใช้งานเสียบหัวชาร์จ เลือกวิธีการชำระเงิน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการชาร์จ หากเงินคงเหลือจากการชาร์จสามารถเก็บเป็นเครดิตในเบอร์โทรศัพท์ไปใช้ใน กิ้งก่า เครื่องอื่นได้ และเมื่อชาร์จเต็มจำนวนเงินสามารถนำหัวชาร์จออกได้ทันที โดยจะมี SMS แสดงการชำระเงินสำเร็จ
ทั้งนี้ บริษัทไม่ต้องการจำหน่ายเครื่องชาร์จเพียงอย่างเดียว เพราะบริษัทมีรูปแบบทางธุรกิจและระบบที่ครบครันทั้งระบบ และการบริการ จึงได้นำรูปแบบการร่วมลงทุนกับเจ้าของพื้นที่มาใช้ เพื่อให้เจ้าของพื้นที่ไม่ต้องลงทุนสูง และมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยการร่วมลงทุนจะเป็นการแบ่งรายได้การใช้บริการจากการชาร์ทที่ชัดเจน และเป็นธรรมทั้งเจ้าของพี้นที่และบริษัท เจ้าของพื้นที่เพียงจัดเตรียมสถานที่ติดตั้ง พร้อมเดินระบบไฟจนถึงจุดติดตั้งเท่านั้น
ในด้านการลงทุนร่วมกัน บริษัทมีรูปแบบการสนับสนุนตั้งแต่การติดตั้ง การอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ Over-the-Air เชื่อมต่อระยะไกลและมีระบบซอฟต์แวร์การจัดการบนคลาวด์ที่ชาญฉลาด สามารถเข้าถึงข้อมูลแบบ Real time และในส่วนของการรับประกันเครื่องตลอดอายุสัญญา ระบบสนับสนุนการใช้งาน ทั้งรูปแบบการคิดเงินตามการใช้งานจริง และสามารถสะสมเงินไว้ใช้ในครั้งถัดไปได้ มีระบบบริหารที่จอดรถ (ระบบล็อกล้อ ถ้าไม่จ่ายชำระจะไม่สามารถนำรถออกได้)
ระบบคิดค่าบริการแบบรายชั่วโมง และรายยูนิต มีทีมงานที่เชี่ยวชาญให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน มีผู้เชี่ยวชาญดูแลระบบทั้งแบบออนไลน์ และในพื้นที่เพื่อบำรุงรักษาเครื่องให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา มีเว็บไซค์ให้เจ้าของพื้นที่ได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้งาน และมีเจ้าหน้าที่ Call center ให้บริการ 24 ชม. ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในโมเดลธุรกิจแบบร่วมลงทุน ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ในการจัดเตรียมพื้นที่ และระบบไฟฟ้า
ขณะที่ กิ้งก่า มีหน้าที่ในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าสำรวจพื้นที่ก่อนติดตั้งเครื่องชาร์จที่พ่วงด้วย Solution ที่กล่าวมา เพื่อบริหารจัดการรายได้ผ่านเว็บไซต์ชอง กิ้งก่า นำมาซึ่งความสะดวกและง่ายต่อการบริหารจัดการพื้นที่อย่างเป็นระบบ และสามารถต่อยอดนวตกรรมใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อให้การร่วมลงทุนมีการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน
“การเข้าสู่ตลาดจะช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ใช้งานที่ต้องการความสะดวกสบาย ใช้งานง่าย ลดขั้นตอนการติดตั้งแอพพลิเคชั่น สามารถใช้งานได้ทันที และจ่ายง่ายแค่สแกนจ่ายผ่าน QR code ที่หน้าจอเครื่อง หากเงินคงเหลือจากการชาร์จสามารถเก็บเป็นเครดิตในเบอร์โทรศัพท์เช่นเดียวกับสินค้าอื่นในเครือฟอร์ท กรุ๊ป”นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทเชื่อว่า กิ้งก่า ชาร์จ พอยท์ จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีอนาคต และเป็น S Curve ตัวใหม่ให้กับ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส ในการทยอยสร้างรายได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป
อีกทั้งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจร่วมธุรกิจ ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโต จากมาตรการของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ด้วยการมอบส่วนลดให้กับค่ายรถยนต์ที่เซ็น MOU เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ ช่วยผลักดันให้มีการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งจากค่ายรถยนต์และบริษัทเอกชนที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรื่อง : ณัฐพล จีระมงคลกุล
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสารยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ได้ที่ www.grandprix.co.th
อีกทั้งเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจร่วมธุรกิจ ตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโต จากมาตรการของรัฐในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ด้วยการมอบส่วนลดให้กับค่ายรถยนต์ที่เซ็น MOU เข้าร่วมโครงการกับภาครัฐ ช่วยผลักดันให้มีการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งจากค่ายรถยนต์และบริษัทเอกชนที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประชาชนเลือกซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง