ZF พัฒนา Heat Belt เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ช่วยประหยัดไฟให้รถไฟฟ้าในเมืองหนาว
ตามปกติแล้วในประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นมักมีพวงมาลัยและเบาะปรับความอุ่นได้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถบางรุ่น แต่ล่าสุด ZF ได้มีการพัฒนา Heat Belt หรือเข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ออกมา ซึ่งนอกจากช่วยสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายแล้วยังระบุว่าสามารถช่วยให้รถไฟฟ้าประหยัดพลังงานมากขึ้นส่งผลให้เดินทางได้ไกลขึ้นด้วย
เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ของ ZF ถูกระบุว่าออกแบบมาเพื่อให้รูปแบบความอุ่นใกล้กับร่างกายคนและสามารถใช้งานได้ดีที่สุดเมื่อใช้ร่วมกับเบาะปรับความอุ่นได้ โดยเข็มขัดนิรภัยจะให้ความอบอุ่นทันทีที่ผู้ขับเริ่มขับรถด้วยการปล่อยความร้อนอุณหภูมิประมาณ 36-40 องศาเซลเซียสออกมา ซึ่งจุดเด่นของมัน ถูกระบุว่าลดความต้องการใช้พลังงานในการสร้างความร้อนลงเมื่อเทียบกับการใช้ระบบปรับอากาศปกติของรถ เนื่องจากเป็นการเน้นไปที่ร่างกายของผู้ขับรถและผู้โดยสารแทนการสร้างความอุ่นให้กับทั่วทั้งห้องโดยสาร
ประโยชน์ที่ได้ตามมาของเข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ คือช่วยลดการใช้พลังงานของรถซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในรถไฟฟ้า BEV ที่ระบบปรับอากาศใช้พลังงานจากแบตเตอรี ในขณะที่รถใช้เครื่องยนต์สันดาปใช้ความร้อนที่ปล่อยออกมาของเครื่องยนต์ ซึ่งหมายความว่าหากใช้เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้จะมีการใช้พลังงานแบตเตอรีน้อยลงซึ่งเป็นการเพิ่มระยะการเดินทางให้กับรถไฟฟ้าได้มากขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ภายใต้สภาพอากาศที่หนาวเย็นซึ่งมักส่งผลกระทบต่อรถไฟฟ้า
ด้วยอัตราการใช้พลังงานที่ลดลงซึ่งเพิ่มระยะการเดินทางให้รถไฟฟ้า BEV ตามที่ ZF ระบุ หมายความว่ารถไฟฟ้า BEV ที่ปกติเดินทางได้ 322 กิโลเมตรในสภาพอากาศที่หนาวเย็นจะมีระยะการเดินทางเพิ่มขึ้น 48 กิโลเมตร เมื่อใช้เข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ แทนการใช้ระบบปรับอากาศตามปกติเพื่อสร้างความอุ่นในห้องโดยสาร
นอกจากนี้ Heat Belt ของ ZF ยังไม่ได้มีลักษณะที่หนามากไปกว่าเข็มขัดนิรภัยปกติ เนื่องจากใช้สิ่งที่เรียกว่า Special Webbing และ Heating Conductor Woven ในโครงสร้างของเข็มขัดนิรภัย รวมไปถึงยังมีการใช้งานและมาตรฐานการป้องกันผู้ขับและผู้โดยสารเหมือนกับเข็มขัดนิรภัยปกติ และไม่ต้องใช้อุปกรณ์สำหรับรั้งเข็มขัดนิรภัยเป็นพิเศษจึงทำให้ผู้ผลิตรถยนต์สามารถติดตั้งกับรถของตนได้ง่าย
อย่างไรก็ตามทาง ZF ไม่ได้ระบุว่าเข็มขัดนิรภัยปรับความอุ่นได้ที่พัฒนาออกมานี้พร้อมสำหรับการผลิตออกมาใช้งานหรือยัง ซึ่งหากพร้อมผลิตเมื่อใดก็อาจกลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถไฟฟ้าในประเทศที่มีสภาพอากาศหนาวเย็นได้
เข็มขัดนิรภัยอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ขาดไม่ได้
เข็มขัดนิรภัย นับเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปกป้องผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเพื่อความปลอดภัยที่มีผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 70 นั่นเท่ากับว่าเข็มขัดนิรภัยมีประโยชน์มากจริงๆ แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าเราคาดเข็มขัดนิรภัยแบบผิดวิธีอาจทำให้เจ็บตัวได้
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประเภทของเข็มขัดนิรภัยกันสักหน่อยเพราะในเมืองไทยมีใช้ 2 แบบหลักๆ ดังนี้
เข็มขัดนิรภัยแบบ ELR หรือมีชื่อย่อว่า Emergency Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรั้งตัวและดึงกลับอัตโนมัติ เมื่อเกิดการชนด้วยกลไกภายในที่เก็บสายเข็มขัด โดยจะมีชุดเฟืองที่ถูกออกแบบมาให้สามารถล็อกเฟืองได้ทันที เมื่อตัวล็อกสายเกิดการเปลี่ยนแปลงองศาจากการถูกดึงอย่างรุนแรง และจะค่อยๆ คลายเฟืองและสายให้อยู่ในสภาพปกติ โดยส่วนมากจะพบได้ในเข็มขัดนิรภัยแบบล็อก 3 จุด ที่เบาะนั่งคู่หน้า, เบาะนั่งริมหน้าต่าง รวมไปถึงเบาะนั่งตรงกลางด้านหลังของรถรุ่นใหม่ จะใช้เข็มขัดแบบล็อก 3 จุด ด้วยเช่นกัน
เข็มขัดนิรภัย แบบ ALR หรือมีชื่อย่อว่า Automatic Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบชุดดึงกลับที่สามารถล็อกได้โดยอัตโนมัติ ณ ตำแหน่งความยาวที่ต้องการ โดยจะทำการล็อกทันที เมื่อดึงสายอย่างรวดเร็ว หรือดึงยาวในระดับหนึ่ง คล้ายกับระบบ ELR แต่กลไกไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ได้ความยาวของสายเข็มขัดที่ต้องการรัดอย่างเหมาะสม อยู่ทรงได้ดีกว่า ซึ่งส่วนมากจะพบได้ในแบบล็อก 2 จุด บริเวณแถวนั่งด้านหลังทั้งแบบพาดบ่ากับแบบพาดตัก
ข้อดีและประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัย
- ช่วยไม่ให้คนกระเด็นออกไปนอกตัวรถจากแรงกระแทกหรือแรงเหวี่ยง
- ช่วยกระจายแรงกระแทกที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ช่วยป้องกันศีรษะหรือร่างกายส่วนบนเหวี่ยงไปกระแทกกับพวงมาลัยหรือบริเวณแผงหน้ารถ เป็นต้น
- ช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวช้าลง เพื่อลดอาการบาดเจ็บ เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงได้
- ช่วยป้องกันสมองและกระดูกสันหลังจากอันตราย เพราะหากศีรษะได้รับแรง
สามารถอ่านต่อได้ที่ > เข็มขัดนิรภัยอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่ขาดไม่ได้
เรื่อง: กองบรรณาธิการ
เรียบเรียงข้อมูลโดย GRANDPRIX ONLINE
ติดตามข่าวสาร ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ รถใหม่ ได้ที่ www.grandprix.co.th